มติศาล รธน.เสียงข้างมาก ชี้มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเรื่องนับอายุความคดี มาใช้กับกรณีโฮปเวลล์ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เหตุมิได้ดำเนินการตาม ม.5-ม.6 วรรคหนึ่ง
...................................................
จากกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 วันที่ 27 พ.ย. 2545 ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 44 กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 197 ขอให้สั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว เรื่องพิจารณาที่ ต. 59/2563
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีคำสั่งรับไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ศาลปกครองสูงสุดส่งเอกสารรายงานการประชุมตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าว รวมทั้งระเบียบและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ต่อมาศาลปกครองสูงสุดส่งหนังสือชี้แจงและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญรวม 2 ครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรวบรวมไว้ในสำนวน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันนี้ ครบองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 52 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า องค์คณะของศาลในการพิจารณาคดีและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการไม่น้อยกว่า 7 คน
เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถอนตัวจากการพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่ต้นตาม พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34 ประกอบมาตรา 32 (1) และนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เลือกนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง เป็นการออกระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่
สำหรับ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2544 มาตรา 44 บัญญัติว่า การดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับการฟ้อง การร้องสอด การเรียกบุคคล หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเป็นคู่กรณีในคดี การดำเนินกระบวนการพิจารณา การรับฟังพยานหลักฐาน และการพิพากษาคดีปกครอง นอกจากที่บัญญัติไว้แล้วใน พ.ร.บ.นี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
มาตรา 5 บัญญัติว่า บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่ออกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด หรือโดย ก.ศป. โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด หรือโดย ก.บ.ศป. หรือโดย ก.ขป. เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา 6 บัญญัติว่า ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามมาตรา 44, 46, 60/1, 66, 70, 75/1, 75/2, 75/4 ต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ออกระเบียบดังกล่าว เพื่อให้ ส.ส.ตรวจสอบได้ ถ้าต่อมามีการเสนอญัตติและสภาผู้แทนราษฎรมีมติภายใน 30 วันนับแต่วันที่ส่งระเบียบดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ยกเลิกระเบียบใดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น
กำหนดวันตามวรรคหนึ่งให้หมายถึงวันในสมัยประชุม
ส่วนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 3 วรรคสอง บัญญัติว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
มาตรา 197 วรรคสี่ (อยู่ส่วนที่ 3 ศาลปกครอง) บัญญัติว่า การจัดตั้ง วิธีพิจารณาคดี และการดำเนินงานของศาลปกครองให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกระทรวงคมนาคม รฟท. เป็นคู่สัญญาฝ่ายรัฐในสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินยื่น อ้างว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถใช้บังคับได้
ต่อมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการตรวจสอบและมีมติเห็นว่า เมื่อมติที่ประชุมใหญ่ฯดังกล่าวไม่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถใช้บังคับได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 มาตรา 6 และ มาตรา 44 อีกทั้งมติที่ประชุมใหญ่ฯดังกล่าวยังกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “ศาลปกครองเปิดทำการ” คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2544 ผิดไปจากพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี” ดังนั้นจึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 188 และมาตรา 197 ทำให้เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่อาจใช้บังคับได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าวสามารถใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ60 ประกอบ มาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561
หมายเหตุ : ภาพประกอบศาลปกครอง จาก https://static.thairath.co.th/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage