“…ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว เห็นว่า ‘การพิจารณาพิพากษาคดีของตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามที่ผู้ร้อง (ผู้ตรวจการแผ่นดิน) กล่าวอ้างในคดีระหว่างผู้ร้องเรียน (กระทรวงคมนาคมและรฟท.) กับบริษัทฯ (โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด) นั้น ‘เป็นการกระทำทางตุลาการ’…”
.................
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง เป็นการออกระเบียบตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 44
แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ‘จึงขัดหรือแย้ง’ ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ (อ่านประกอบ : ศาล รธน.ข้างมากชี้มติที่ประชุมศาล ปค.สูงสุดนับอายุความค่าโง่โฮปเวลล์ขัดรัฐธรรมนูญ)
ผลจากคำวินิจฉัยฯดังกล่าว ทำให้ กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังพิจารณาว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอรื้อ ‘คดีโฮปเวลล์’ ในประเด็นการ ‘นับอายุความ’ หรือไม่ (อ่านประกอบ : สบช่องรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์! ‘คมนาคม-รฟท. ยื่นศาล ปค. ให้นับอายุความใหม่)
ล่าสุดมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 5/2564 เรื่องพิจารณาที่ ต.59/2563 วันที่ 17 มี.ค.2563 เรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) โดยการร้องเรียนของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปรายละเอียดคำวินิจฉัยให้สาธารชนได้รับทราบ ดังนี้
@เหตุผลและที่มาคำร้อง
ผู้ร้อง (ผู้ตรวจการแผ่นดิน) ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก กระทรวงคมนาคม และ รฟท. โดยผู้ร้องเรียน (กระทรวงคมนาคมและ รฟท.) อ้างว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2533 รฟท. กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำสัญญาสัมปทานระบบขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพ (โฮปเวลล์)
แต่ต่อมา กระทรวงคมนาคมและ รฟท. มีหนังสือลงวันที่ 27 ม.ค.2541 แจ้งบอกเลิกสัญญาและห้ามมิให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าไปเกี่ยวข้องกับพื้นที่โครงการ ต่อมาบริษัทฯ มีหนังสือลงวันที่ 30 ม.ค.2541 และลงวันที่ 2 ก.พ.2541 แจ้งว่า การบอกเลิกสัญญาต้องปฏิบัติตามขั้นตอนสัญญา กระทรวงคมนาคมและ รฟท. เป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทฯ
บริษัทฯ จึงเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 และคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคมและรฟท. คืนเงินค่าตอบแทนให้บริษัทฯ 2,850 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย คืนหนังสือค้ำประกันฯ และให้ใช้เงินค่าก่อสร้างโครงการ 9,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
ต่อมากระทรวงคมนาคมและ รฟท. ฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมและ รฟท. มีหนังสือบอกเลิกสัญญาสัมปทาน และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับหนังสือแล้วเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541
นอกจากนี้ การที่บริษัทฯเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2547 เป็นการเสนอข้อพิพาทเกินกำหนดระยะเวลาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 51
ต่อมาบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แต่ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษา
โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 221-223/2562 เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ว่า คดีนี้ สัญญาลงวันที่ 9 พ.ย.2533 ไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้โดยเฉพาะ
เมื่อการเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สัญญาในสัญญาสัมปทาน อันเป็นสัญญาทางปกครองตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 มาตรา 3 และเกิดขึ้นก่อนที่ศาลปกครองเปิดทำการ
ดังนั้น การนับอายุความการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค.2544 และต้องนับอายุความตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 มาตรา 51 ซึ่งกำหนดให้ยื่นฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่ ‘วันรู้’ หรือ ‘ควรรู้’ ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 อันเป็นการยื่นภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา ข้อพิพาทนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่เสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาโดยชอบแล้ว
อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคม และ รฟท. กล่าวอ้างว่า ตนได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จากการถูกบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
และมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 วันที่ 27 พ.ย.2545 ขัดต่อพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 เนื่องจากมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว กำหนดให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ ‘ศาลปกครองเปิดทำการ’
ส่งผลให้การเริ่มนับระยะเวลาอายุความ ‘แตกต่าง’ ไปจากที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 มาตรา 51 ที่ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ ‘รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี’
อีกทั้งมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และไม่มติได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎร มติดังกล่าวจึงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้อง (ผู้ตรวจการแผ่นดิน) จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ดังนี้
1.มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 วันที่ 27 พ.ย.2545 ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียน (กระทรวงคมนาคมและรฟท.) ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 197
2.ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดหรือการกระทำดังกล่าว
@ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาในเบื้องต้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้อง (ผู้ตรวจการแผ่นดิน) ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คดีมีปัญหาว่า มติดังกล่าวของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด มีลักษณะเป็นการออกระเบียบ กำหนด หลักเกณฑ์ และวิธีฟ้องหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 จึงมีคำสั่ง ‘รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย’
@ยื่นคำร้องเพิ่มขอศาลรธน.วินิจฉัย ‘คดีโฮปเวลล์’
ต่อมาผู้ร้อง (ผู้ตรวจการแผ่นดิน) ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 30 ธ.ค.2563 สรุปได้ว่า การกระทำของ ‘องค์คณะตุลาการในศาลปกครองสูงสุด’ ที่พิจารณาคดีพิพาทระหว่างกระทรวงคมนาคมและรฟท. กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยใช้วิธีการนับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 นั้น
เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม และไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 197 เนื่องจากระเบียบที่ออกตามมติประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ออกโดยไม่ชอบตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542
ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ‘มติประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว และการกระทำขององค์คณะตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ที่พิจารณาคดีพิพาทระหว่างกระทรวงคมนาคมและรฟท. กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 197 หรือไม่’
พร้อมทั้ง ‘ขอให้สั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว หรือการกระทำดังกล่าว’
@ศาลรธน.ไม่รับวินิจฉัยคำร้องเพิ่มเติม ‘คดีโฮปเวลล์’
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว เห็นว่า การพิจารณาพิพากษาคดีของตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามที่ผู้ร้อง (ผู้ตรวจการแผ่นดิน) กล่าวอ้างในคดีระหว่างผู้ร้องเรียน (กระทรวงคมนาคมและรฟท.) กับบริษัทฯ (โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด) นั้น ‘เป็นการกระทำทางตุลาการ’
ประกอบกับการยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ‘จึงสั่งไม่รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทางตุลาการในศาลปกครองสูงสุดไว้พิจารณาวินิจฉัย…’
แต่สั่งรับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง ‘เฉพาะข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องเท่านั้น’
@ศาลฯชี้มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการเป็น ‘ระเบียบ’ นับเวลาฟ้องเป็นการทั่วไป
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง หนังสือชี้แจง และเอกสารประกอบแล้ว ได้กำหนดประเด็นที่วินิจฉัย และมีคำวินิจฉัย สรุปได้ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 วันที่ 27 พ.ย.2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง เป็นการ ‘ออกระเบียบ’ ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 มาตรา 44 หรือไม่
เห็นว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 มาตรา 44 ที่บัญญัติให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับการฟ้อง การร้องสอด การเรียกบุคคล หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเป็นคู่กรณีในคดี ฯลฯ นั้น
ก็เพื่อให้ศาลปกครองสามารถดำเนินการได้ในช่วง ‘เปลี่ยนผ่าน’ อำนาจพิจารณาคดี จาก ‘ศาลยุติธรรม’ มาเป็น ‘ศาลปกครอง’ เนื่องจากพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 อาจบัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการไม่ครอบคลุม และสภาพของระเบียบที่ออกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ‘ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่ใช่บังคับเฉพาะคดีใดคดีหนึ่ง’
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง ฯลฯ และคำชี้แจงของศาลปกครองสูงสุด เกี่ยวกับมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 วันที่ 27 พ.ย.2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดี ประกอบกับการอภิปรายของผู้เข้าร่วมประชุมในรายงานการประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดแล้ว
มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ‘มิใช่เป็นการพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดี’ และ ‘มิได้มีการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะ’ มติของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจึง ‘เป็นเสมือนการบัญญัติบทเฉพาะกาลกำหนดหลักเกณฑ์การนับระยะเวลาฟ้องคดีไว้เป็นการทั่วไป’
ดังนั้น มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง เป็นการ ‘ออกระเบียบ’ ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 มาตรา 44
@ระเบียบขัดรัฐธรรมนูญเหตุไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกม.
ประเด็นที่สอง หากเป็นการ ‘ออกระเบียบ’ ต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 มาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่งหรือไม่ และขัดหรือแย้งต่อรัฐรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 197 หรือไม่
เห็นว่า เมื่อการออกระเบียบตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 มาตรา 44 เป็นการเสมือนการตรากฎหมายขึ้นใหม่ ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 5 และมาตรา 6 บัญญัติว่า ให้ต้องส่งระเบียบตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ให้สภาผู้แทนได้มีโอกาสตรวจสอบ หากสภาผู้แทนราษฎรไม่โต้แย้ง ยังต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน จึงจะมีผลใช้บังคับได้
ในคดีนี้ แม้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด มีอำนาจออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านเขตอำนาจศาล แต่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 5 และมาตรา 6 ด้วย
ดังเช่นระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยการดำเนินกระบวนการพิจารณาและพิพากษาคดีปกครองที่โอนมาจากเรื่องร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2544 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2544
อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 วันที่ 27 พ.ย.2545 ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง เป็นการออกระเบียบตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ‘จึงขัดหรือแย้ง’ ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่
เหล่านี้ คือ สาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่าระเบียบที่ว่าด้วย ‘การนับอายุความ’ ตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
แต่ไม่ได้รับคำร้องวินิจฉัยการนับอายุความ ‘คดีโฮปเวลล์’ ของ 'องค์คณะตุลาการในศาลปกครองสูงสุด' ที่พิจารณาคดีโฮปเวลล์ว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่อย่างใด
หากกระทรวงคมนาคมและรฟท.จะเข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอรื้อคดีโฮปเวลล์ในประเด็น ‘การนับอายุความ’ คงต้องรอฟังว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาอย่างไร!
อ่านประกอบ :
'วิษณุ-พีระพันธุ์'เชื่อสัญญาณบวก ลุ้นสู้คดีโฮปเวลล์
สบช่องรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์! ‘คมนาคม-รฟท. ยื่นศาล ปค. ให้นับอายุความใหม่
ศาล รธน.ข้างมากชี้มติที่ประชุมศาล ปค.สูงสุดนับอายุความค่าโง่โฮปเวลล์ขัดรัฐธรรมนูญ
ศาล รธน.นัด 17 มี.ค.วินิจฉัยปมนับอายุความคดีค่าโง่โฮปเวลล์ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
‘สุเทพ’ลุยฟ้องหมิ่นประมาท‘สุทิน-เพื่อไทย’ปมอภิปรายเรื่องโฮปเวลล์
ภท.ควงผู้ว่า ร.ฟ.ท.-คมนาคมแจงอายุความคดีค่าโง่โฮปเวลล์ ยันยังไม่หมดอายุความ
ฟังจากปาก‘วิษณุ’อายุความค่าโง่โฮปเวลล์หมดเมื่อไหร่-เสียดอกเบี้ยวันละ 2 ล.?
‘ศักดิ์สยาม’ตั้ง กก.หาตัวผู้รับผิดชอบค่าโง่โฮปเวลล์ นัดถก 25 ก.พ.-แย้มคนเอี่ยวอื้อ
‘คค.-รฟท.’ลุ้น! ศาล รธน.รับวินิจฉัยปมนับอายุความคดีโฮปเวลล์-ให้ศาล ปค.สูงสุดแจงใน 7 วัน
เปิดบันทึกกมธ. : 'รฟท.' ยกเคส ‘คลองด่าน’ ยื้อจ่ายคดีโฮปเวลล์-เอกชนโวยผ่านมา 30 ปีเพิ่งยื่นสอบ
กระบวนการยังไม่จบ! ‘คมนาคม’ ยันสู้ต่อคดีโฮปเวลล์ 2.5 หมื่นล.-เอกชนชี้ไม่สุจริตรื้อสอบย้อนหลัง
มติที่ประชุมใหญ่ศาล ปค.สูงสุดไม่ชอบ! ‘ผู้ตรวจการฯ' ยื่นศาล รธน.ปมนับอายุความฟ้องคดีโฮปเวลล์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/