“…รฟท.จึงไม่สามารถสรุปผลใดๆ ได้ ต้องนำกลับมาตรวจสอบและพิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสก่อนการจ่ายชำระค่าเสียหายให้กับบริษัทฯ ขณะนี้เรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) และหากมีการ ‘ชี้มูลความผิด’ การจ่ายเงินค่าเสียหายให้กับบริษัทฯ จะไปสู่ผลเสียหายกับประเทศชาติ และหยิบยกกรณีการชำระเงินของภาครัฐกรณี ‘คลองด่าน’ ต่อที่ประชุมเป็นตัวอย่าง…”
..................
หมายเหตุ : บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง พิจารณาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียนจัดตั้ง และการดำเนินกิจการของ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2563
สืบเนื่องจากกรณีศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้ กระทวงคมนาคมและ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชำระเงินชดเชยจากการบอกเลิกสัญญาโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2563 คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร เชิญผู้แทนจากรฟท. ผู้แทนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนจากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าชี้แจงเกี่ยวกับการจดทะเบียนจัดตั้ง และการดำเนินกิจการของ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
คณะกรรมาธิการฯเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายต่อภาครัฐอย่างมหาศาล เพราะต้องชำระเงินตามคำพิพากษาจำนวนมาก ทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลและประเทศไทย การดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาติ และรวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยของนักลงทุนชาวต่างชาติ
@ ‘บ.โฮปเวลล์’ จี้ถามเหตุใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด
ประธานคณะกรรมาธิการ (อันวาร์ สาและ) ขอให้ผู้แทนจากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และหน่วยงานอื่นชี้แจงประเด็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ผู้แทนจากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงว่า กรณีของบริษัทฯ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่าง ‘กระชับและง่ายขึ้น’ ขอเสนอให้ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาให้ผู้แทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทยชี้แจงว่า ‘เหตุใดจึงไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด’
ผู้แทนจาก รฟท.ชี้แจงว่า ในกรณีนี้ ถึงแม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ยังมีประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบ ซึ่งมีข้อมูลจากการพิจารณาของคณะกรรมาธิการคณะอื่นของสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการต่างๆ ที่ตั้งขึ้นโดยกระทรวงคมนาคม
หลังจากที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองสูงสูด เมื่อเดือนเมษายน 2562 นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้มีดำริให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานต่างๆ กรณีบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 143/2562 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2562
จากการตรวจสอบของคณะทำงานพบว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าวมีประเด็นปัญหาความผิดปกติหลายประเด็น และได้มีการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และส่งรายงานให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช)
ต่อมากระทรวงคมนาคมได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นอีกคณะหนึ่ง ซึ่งเป็นคณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาความเสียหายในกรณีนี้ ตามคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 248/2562 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2562 คณะทำงานคณะนี้ได้ทำการตรวจสอบและพบว่า มีประเด็นปัญหาต่างๆ เช่นกัน
ต่อมาคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ และได้จัดทำรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวัน 3 กันยายน 2563 รายงานฉบับดังกล่าวได้นำเสนอประเด็นปัญหาต่างๆ
ทั้งนี้ โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพฯ มิใช่โครงการที่ดำเนินการโดยรฟท. เพียงหน่วยงานเดียว แต่เป็นโครงการที่กระทรวงคมนคมเสนอต่อรัฐบาล และรัฐบาลอนุมัติให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการลงนามในสัญญาสัมปทาน โดยรฟท.เข้าไปดำเนินการในฐานะผู้เป็นเจ้าของพื้นที่โครงการ
@กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายัน ‘บ.โฮปเวลล์’ จดทะเบียนถูกต้อง
ผู้แทนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าชี้แจงว่า จากข้อมูลที่รฟท.ชี้แจงว่า การตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ของคณะทำงานฯ พบประเด็นความผิดปกติเกี่ยวกับการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลและการดำเนินกิจการของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เห็นว่า ‘เป็นประเด็นเพียงเล็กน้อย’
โดยการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่ดำเนินการในปี พ.ศ.2533 มีขั้นตอน 2 ข้อ คือ การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ และการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งระเบียบที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น การรับจดทะเบียนนิติบุคคลที่เป็นต่างด้าวจะดำเนินการมิได้ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281
บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ได้รับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคม และได้มีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการ จึงเกิดประเด็นว่า บริษัทจะต้องดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทย จึงได้มีดำเนินการกับกรมทะเบียนการค้าในขณะนั้น
การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เห็นว่า ‘ไม่ขัดต่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 เนื่องจากบริษัทได้รับสัมปทานตามมติคณะรัฐมนตรี และขอยืนยันว่าการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งบริษัทเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย’
@รฟท.ยันรอผลชี้มูล ‘ป.ป.ช.’ ก่อนชดใช้-ยกกรณี ‘คลองด่าน’ เป็นตัวอย่าง
ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวควรดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายอย่างรอบคอบและเหมาะสม เพื่อมิให้เกิดความเสียหายกับประเทศ
เนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ‘จะก่อให้เกิดผลกับการต้องชำระดอกเบี้ยจำนวน 2.4 ล้านบาทต่อวัน’ ความเสียหายดังกล่าวนี้หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ เห็นว่าควรพิจารณาถึงการเปิดให้มีการเจรจาประนีประนอมตกลงกัน เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวสิ้นสุดโดยเร็ว
ผู้แทนจากรฟท.ชี้แจงว่า กรณีปัญหานี้ รฟท.ไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 หน่วยงาน คือ คณะทำงานที่ตั้งขึ้นโดยนายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย
ผู้แทนจาก บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงโดยให้ความคิดเห็นว่า กรณีนี้ภาครัฐควรดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งการดำเนินการตามโครงการที่บริษัทได้รับสัมปทานภาครัฐ มิได้มีการใช้เงินงบประมาณในการลงทุนแต่อย่างใด เป็นการลงทุนด้วยเงินของบริษัททั้งหมด…
และมีข้อสังเกตว่า หากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นไปในทางกลับกัน คือ ภาครัฐมิต้องชดใช้ค่าเสียหายใดๆ จะมีการตรวจสอบดังเช่นที่เป็นอยู่หรือไม่ และเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เกิดการเลือกปฏิบัติ อันส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ
ผู้แทนจากรฟท.ชี้แจงว่า เนื่องจากการตรวจสอบของคณะทำงานฯ ตามที่ได้ชี้แจงไปเบื้องต้นพบว่า มีประเด็นความผิดปกติเกิดขึ้น ทางรฟท.จึงไม่สามารถสรุปผลใดๆ ได้ ต้องนำกลับมาตรวจสอบและพิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสก่อนการจ่ายชำระค่าเสียหายให้กับบริษัทฯ
ขณะนี้เรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) และหากมีการ ‘ชี้มูลความผิด’ การจ่ายเงินค่าเสียหายให้กับบริษัทฯจะไปสู่ผลเสียหายกับประเทศชาติ และหยิบยกกรณีการชำระเงินของภาครัฐกรณี ‘คลองด่าน’ ต่อที่ประชุมเป็นตัวอย่าง
ข้อซักถามของคุณะกรรมาธิการ
1.การพิจารณาว่า การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมีปัญหาความผิดปกติ เป็นการพิจารณาจากเหตุผลหรือมีหลักฐานเอกสารใดประกอบ หรือไม่ อย่างไร ?
ผู้แทนจากรฟท.ชี้แจงว่า การตรวจสอบหลักฐานต่างๆ เป็นการดำเนินการของคณะทำงานหลายชุดตามที่ได้ชี้แจงไว้ และพบว่าไม่เป็นไปตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281…และได้นำเสนอหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0506/33322 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2563
“ข้อ 3 สำหรับกรณีที่กระทรวงพาณิชย์มิได้ดำเนินการหรือการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563 (ตามข้อ 1.2) ให้ถูกต้อง ชัดเจน แต่ได้มีการตีความมติคณะรัฐมนตรีและไปดำเนินการต่างๆ เอง โดยคลาดเคลื่อนไปจากที่คณะรัฐมนตรีระบุไว้ หากเกิดความผิดพลาด คลาดเคลื่อน ความเสียหาย หรือผลกระทบใดๆ กระทรวงพาณิชย์ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว”
การตรวจสอบของคณะทำงานทั้ง 3 ชุด ทำให้ รฟท.ได้รับข้อสั่งการจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการตรวจสอบ และพบว่าการดำเนินการในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทและสถานะความเป็นบริษัทนั้น ‘มีความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่’
@บ.โฮปเวลล์โต้ใช้ ‘พยานบุคคล’ หักล้าง ‘พยานเอกสารราชการ’ ไม่ได้
ผู้แทนจาก บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงว่า จากคำชี้แจงของผู้แทนรฟท. การศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่างๆ มีข้อมูลที่ ‘มิได้เป็นข้อเท็จจริง’ การตรวจสอบโครงการของบริษัทฯ ‘ไม่พบการทุจริต’ เกิดขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่สามาถนำโครงการอื่นใดมากล่าวอ้างเปรียบเทียบกับโครงการที่บริษัทดำเนินการ และได้ชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้
1.การได้รับอนุมัติตามมติครม.จนได้รับสัมปทานเป็นการอนุมัติตามรายละเอียดที่นำเสนอ และเป็นไปตามที่ได้มีการเจรจาทำความตกลงไว้ทุกประการ มิได้เป็นไปตามที่รฟท.ชี้แจงแต่อย่างใด
2.สภาพความเป็นนิติบุคคลของบริษัทฯ มิได้ถูกเพิกถอนสิทธิจากทั้งศาลปกครอง หรือศาลแพ่ง จึงยังคงมีสภาพความเป็นนิติบุคคลอย่างชัดเจน
3.การพิจารณาคดีในปี 2563 มีการนำ ‘พยานบุคคล’ เพื่อหักล้าง ‘พยานเอกสารทางราชการ’ ในปี 2533 ทางกฎหมายถือว่าไม่สามารถกระทำได้
4.การดำเนินโครงการของบริษัทที่มีการกล่าวอ้างว่า ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จหรือมีการกระทำผิดสัญญา ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินชี้ขาดแล้วว่า การที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จเป็นความผิดของรฟท.ที่ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ตามสัญญาสัมปทานได้ และยังมีเหตุผลประกอบอีกหลายประการ
@รฟท.ย้ำ 'บ.โฮปเวลล์' ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลมาแต่ต้น
ผู้แทนจากรฟท.ชี้แจงว่า ในส่วนของผลการพิจารณาตรวจสอบ ขอให้ประธานคณะกรรมาธิการเชิญประธานคณะอนุกรรมาธิการ ซึ่งแต่งตั้งโดยประธานคณะกรรมาธิการการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มาให้ข้อมูล รฟท.เป็นเพียงหน่วยงานที่นำข้อมูลจากการตรวจสอบมาพิจารณาเพื่อดำเนินการเท่านั้น
ในส่วนของสถานะของบริษัทฯ…กระทรวงพาณิชย์โดยอธิบดีกรมทะเบียนการค้าในขณะนั้นได้ออกระเบียบสำนักงานหุ้นส่วนบริษัทกลาง ปี 2533 เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
ข้อ 29 ของระเบียบฉบับดังกล่าวระบุว่า “ห้ามมิให้จดทะเบียนนิติบุคคลให้กับนิติบุคคลต่างด้าว เว้นแต่จะได้รับยกเว้นตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 หรือได้รับการส่งเสริมการลงทุน”
บริษัทจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 มีการยกเว้นตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 หรือไม่ เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา เนื่องจากเกิดข้อกังวลว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ จึงอาจกล่าวได้ว่า ‘บริษัทไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลมาตั้งแต่ต้น’
ซึ่งรฟท.ได้รับข้อสั่งการจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการฟ้องร้องบริษัทฯ และเรื่องอยู่ระหว่างขั้นตอนทางคดีในชั้นศาล และอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมและรฟท.มิได้จะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล
2.การรถไฟแห่ประเทศไทยได้มีการต่อสู้ทางคดีในชั้นศาลหรือไม่ อย่างไร
ผู้แทนจากรฟท.ชี้แจงว่า ได้มีการต่อสู้คดีในชั้นศาลเรื่องสถานะของบริษัทที่มีได้มีการตรวจสอบตั้งแต่แรก โดยตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในส่วนของเอกสารต่างๆ เช่น หนังสือรับรอง ทะเบียนผู้ถือหุ้น
โดยประเด็นที่เป็นปัญหาเกิดจากการตรวจสอบของคณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้นโดยนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ทราบข้อเท็จจริงบางประการที่ทำให้เกิดการร้อง ‘ขอทำคดีใหม่ในชั้นศาล’
@บ.โฮปเวลล์กังขาตรวจสอบการจดทะเบียนจัดตั้งหลังผ่านมา 30 ปี
ผู้แทนจาก บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงว่า คำชี้แจงของรฟท. มิได้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงแต่อย่างใด การดำเนินการในทางคดีได้กระทำไปจนครบทุกชั้นตอนในทุกศาลที่ได้มีการยื่นเรื่องฟ้องทางคดี
ทั้งนี้ การดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบความสามารถในการดำเนินกิจการของบริษัทมีขึ้นตั้งแต่ปี 2533 ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา การบอกเลิกสัญญา การยื่นข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด
ในขั้นตอนดังกล่าว รฟท.มีสิทธิ์ยื่นเรื่องเพื่อต่อสู้ทางคดี แต่รฟท.มิได้กระทำการใดๆ และยอมรับมาโดยตลอดว่า บริษัทเป็นคู่สัญญาโดยถูกต้อง โดยเมื่อเรื่องล่วงเลยเวลาแล้ว รฟท.ได้ยื่นเรื่องฟ้องหาคดีต่อศาลปกครองกลางในเรื่องการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โดยศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2663 ให้รับคำฟ้องของรฟท.ไว้พิจารณา เป็นที่สังเกตได้ว่า เมื่อรฟท.แพ้คดีจึงได้ยื่นฟ้องร้องดังกล่าว
สำหรับการตรวจสอบการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เหตุใดจึงพึ่งดำเนินการในปัจจุบันเมื่อผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี ทั้งที่สามารถกระทำได้ตลอดเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการในการดำเนินการต่าง ๆ มิได้แตกต่างกัน และได้รับคำยืนยันจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
3.ขั้นตอนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลการ ใช้กฎหมายของประเทศใด กระบวนการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการและการพิจารณาเกิดขึ้นที่ใด ?
ผู้แทนจาก บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงว่า สัญญาสัมปทานกำหนดไว้ว่า ถ้าเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาขึ้นให้นำเสนอคณะอนุญาโตตุลาการ
เมื่อรฟท.บอกเลิกสัญญา บริษัทฯได้ปฏิเสธและแจ้งกลับว่า เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไชอบด้วยกฎหมาย และได้ยื่นเรื่องไปยังคณะอนุญาโตตุลาการศาลยุติธรรม
โดยคณะอนุญาโตตุลาการประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมอัยการสูงสูด นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตหัวหน้าคณะผู้พิพากษาในศาลฎีกา กระบวนการพิจารณาใช้ประมวลกฎหมายแพ่งเป็นหลัก
คำวินิจฉัยมีมติเอกฉันท์ว่า รฟท.ต้องคืนเงินตามสัญญา 2,850 ล้านบาท ค่าธรรมนียมหนังสือค้ำประกันที่บริษัทจ่ายให้ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด 38 ล้านบาท และค่าหนังสือสัญญาค้ำประกัน 500 ล้านบาท ค่าก่อสร้างในการลงทุนเพื่อกลับสู่สถานะเดิมตามเอกสารที่บริษัทเสนอคณะอนุญาโตตุลาการ มีค่าเสียหายประมาณ 200 แฟ้ม มีค่าเสียหายกว่า 14,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาลดค่าก่อสร้างลงเหลือ 9,000 ล้านบาท จากที่บริษัทได้จ่ายเงินลงทุนรวมทั้งหมดไปกว่า 20,000 ล้านบาท
4.สิ่งก่อสร้างซึ่งเป็นซากที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการไว้ สามารถนำไปต่อยอดเป็นโครงสร้างในการก่อสร้างโครงการอื่น ๆ ได้หรือไม่ อย่างไร และขอทราบว่าหน่วยงานใดหรือบุคคลใดเป็นผู้ประเมินว่าโครงสร้างดังกล่าวไม่สมารถนำไปใช้ได้ และเส้นทางเดิมที่บริษัททำโครงการไว้จะมีการก่อสร้างโครงการใหม่อื่นอีกหรือไม่อย่างไร ?
ผู้แทนจากรฟท.ชี้แจงว่า จากการพิจารณาตรวจสอบโครงสร้างของตอม่อดังกล่าว ไม่สามารถไปใช้ในโครงการอื่นได้ ต้องทุบทิ้งเพียงประการเดียว การทุบทิ้งจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายกับภาครัฐ ตามสัญญาบริษัทจะต้องเป็นผู้ดำเนินการให้กลับสู่สภาพเดิม ซึ่งบริษัทมิได้ดำเนินการแต่อย่างใด
และยอมรับว่า การพิจารณาคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว แต่ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตร 75 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ศาลปกครองได้มีคำสั่งพิพากษาหรือคำสั่งขี้ขาดคดีปกครองเสร็จเด็ดขาดแล้ว คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีนั้น อาจมีคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้
กรณีการมอบหมาย ‘บุคคลภายนอก’ เป็นตัวแทนของรฟท.ในการต่อสู้คดีเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคม เนื่องจากบุคคลดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงาน ซึ่งกระทรวงฯ เป็นผู้แต่งตั้ง
สิ่งก่อสร้างที่มีอยู่เดิมไม่สามารถนำไปใช้กับโครงการที่จะเกิดขึ้นใหม่ได้ ถ้านำไปใช้อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม โครงการใหม่ที่สร้างขึ้นถ้าใช้วิธีสร้างขึ้นใหม่จะสะดวกกว่า
@เอกชนยันเสาตอม่อ ‘โฮปเวลล์’ มีอายุการใช้งาน 120 ปี
ผู้แทนจาก บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงว่า สิ่งก่อสร้างที่บริษัทได้ดำเนินการไว้สามารถนำไปใช้ในโครงการอื่นได้ การก่อสร้างถูกออกแบบโดยบริษัทระดับโลก อายุการใช้งาน 120 ปี โดยรองรับการขนส่ง 3 ระบบ คือ รถไฟฟ้า ทางด่วน และรถไฟราง ในระหว่างการก่อสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทยจ้างบริษัทระดับโลกตรวจสอบการก่อสร้างของบริษัท และบริษัทได้ว่าจ้างหน่วยงานอื่นตรวจสอบการก่อสร้างด้วย
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ
1.เรื่องการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ซึ่งจากคำชี้แจงได้ข้อยุติว่า ‘ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายแล้ว’
2.บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และรฟท. ควรประสานความร่วมมือหาแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ทำให้ประเทศเสียหายน้อยที่สุด
ทั้งนี้ ข้อตกลงอันเป็นที่สิ้นสุดที่จะเกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสามารถอธิบายให้สังคมเข้าใจและเป็นที่รับได้ ซึ่งการพิจารณาของคณะกรรมาธิการไม่สามารถตัดสินและก่อให้เกิดผลอย่างไรได้ เนื่องจากเรื่องนี้ได้เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของศาลและศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
3.รฟท.ควรพิจารณานำสิ่งก่อสร้างที่เป็นชาก มาปรับใช้กับโครงการก่อสร้างใหม่ๆ โดยการออกแบบโครงการใหม่ควรทำให้สอดรับกับโครงการหรือเส้นทางเดิมที่มีอยู่อันจะเป็นทางหนึ่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์และประหยัดงบประมาณของประเทศลงได้ด้วย
เหล่านี้เป็นคำชี้แจงของ รฟท. และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เกี่ยวกับความคืบหน้าในการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายในคดีโฮปเวลล์ ซึ่งวันนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2.5 หมื่นล้านบาทแล้ว
ขอบคุณภาพ : https://aromfoundation.org/
กระบวนการยังไม่จบ! ‘คมนาคม’ ยันสู้ต่อคดีโฮปเวลล์ 2.5 หมื่นล.-เอกชนชี้ไม่สุจริตรื้อสอบย้อนหลัง
มติที่ประชุมใหญ่ศาล ปค.สูงสุดไม่ชอบ! ‘ผู้ตรวจการฯ' ยื่นศาล รธน.ปมนับอายุความฟ้องคดีโฮปเวลล์
ยื่นโนติส15 วัน! ‘บ.โฮปเวลล์’ทวง‘คมนาคม-รฟท.’ชดใช้ 2.5 หมื่นล.-หากไม่จ่ายร้องศาลบังคับคดี
คดีพิพาทถึงที่สุดแล้ว! ศาลยกเหตุไม่รับคำฟ้อง ‘รฟท.’ ขอเพิกถอน ‘บ.โฮปเวลล์’
ศาลปค.ไม่รับคำฟ้องเพิกถอน ‘บ.โฮปเวลล์’! รัฐยื้อจ่ายชดเชยชี้การเจรจายังไม่ยุติ
สู้ต่อคดีจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์! ยกประเด็นสัญญา‘โมฆะ’-ผู้ว่าฯรฟท.มั่นใจมี ‘ข้อเท็จจริง’ ใหม่
บทบาท ‘คนไทยปริศนา' ในรายงานค่าโง่โฮปเวลล์ฉบับ 'พีระพันธุ์'
ยันจดทะเบียนถูกต้อง! 'บ.โฮปเวลล์ฯ' โต้ 10 ข้อกล่าวหา คณะทำงานฯ ‘พีระพันธุ์’
อธิบดีดีเอสไอรับตรวจสอบ บ.โฮปเวลล์ ปมนิติบุคคลต่างด้าว
ยังเจรจาได้! ‘วิษณุ’ ชี้ช่องถกเอกชนปมจ่ายค่าเสียหายคดี ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล้าน
ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น! ศาลปค.สูงสุดมีคำสั่ง ‘ยืน’ ไม่รื้อ ‘คดีโฮปเวลล์’-รัฐอ่วมชดใช้ 2.5 หมื่นล.
ชี้ขาดรื้อคดีจ่ายชดเชย ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล.! ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำสั่ง 22 ก.ค.นี้
ส่องที่อยู่ 2 ผู้ถือหุ้น บ.วิชเวลล์ฯ รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล้าน - ไม่มีใครเคยรู้จัก?
งบการเงิน บ.โฮปเวลล์ แจงที่มาคดีค่าโง่ เรียกค่าเสียหายแสนล้าน ชนะ 1.2 หมื่นล.
INFO: ผ่าโครงข่ายผู้ถือหุ้น บ.โฮปเวลล์ฯ 1.5 หมื่นล. จากฮ่องกง-มอริเชียส
ก่อนรับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล.บริติชเวอร์จิน! บ.วิชเวลล์‘อนุศักดิ์’ มีเงินสดแค่ 392 บาท
บ.รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล. บริติชเวอร์จิน ที่แท้ ‘อนุศักดิ์-กฤษนันทร์’ เจ้าของ
ส่องรอบโลกที่ตั้ง บ.ฮ่องกง-มอริเชียส-เวอร์จิน-มาเลฯ ใครเกี่ยวบ้าง? รับโอนหุ้น'โฮปเวลล์'500ล.
บ.เกาะบริติช เวอร์จิน โผล่ถือหุ้น 500 ล.‘โฮปเวลล์’ รับโอนจาก สัญชาติ‘มอริเชียส’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/