‘คมนาคม-รฟท.’ได้ลุ้น! ศาล รธน.รับวินิจฉัยคำร้องขอให้วินิจฉัยปมศาล ปค.สูงสุดนำมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการฯปี 45 มาอ้างในคดีสัญญาสัมปทานโฮปเวลล์ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ สั่งแจงรายงานการประชุม-ระเบียบ-เอกสารเกี่ยวข้องใน 7 วัน
...........................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอให้วินิจฉัยว่า กรณีศาลปกครองสูงสุดนำมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 วันพุธที่ 27 พ.ย. 2545 กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือวันที่ 9 มี.ค. 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 197 หรือไม่ และขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว
โดยศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบแล้วกรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ให้ศาลปกครองสูงสุดส่งเอกสาร รายงานการประชุมตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่พุธที่ 27 พ.ย. 2545 รวมทั้งระเบียบและเอกสารที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 7 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ
อนึ่ง กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกระทรวงคมนาคม รฟท. เป็นคู่สัญญาฝ่ายรัฐในสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินยื่น อ้างว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถใช้บังคับได้
ต่อมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการตรวจสอบและมีมติเห็นว่า เมื่อมติที่ประชุมใหญ่ฯดังกล่าวไม่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถใช้บังคับได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 มาตรา 6 และ มาตรา 44 อีกทั้งมติที่ประชุมใหญ่ฯดังกล่าวยังกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “ศาลปกครองเปิดทำการ” คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2544 ซึ่งผิดไปจากพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี” ดังนั้นจึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 188 และมาตรา 197 ทำให้เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่อาจใช้บังคับได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าวสามารถใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ60 ประกอบ มาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage