‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ มีมติยื่น ‘ศาลรธน.’ ตีความปมนับอายุความฟ้องคดี ‘โฮปเวลล์’ หลังวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เหตุไม่ส่งสภาฯตรวจสอบ-ไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
..............
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีคำวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน กรณีกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายรัฐในสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ ได้ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 เกี่ยวกับมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 197 หรือไม่
พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยให้นับอายุความตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 ที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ ทำให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอ้างว่ามติดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ และไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถใช้บังคับได้
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า กรณีมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบและไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สามารถใช้บังคับได้ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 มาตรา 6 และ มาตรา 44
นอกจากนี้ มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ยังกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “ศาลปกครองเปิดทำการ” คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2544 ซึ่งผิดไปจากพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี” ดังนั้น จึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 188 และมาตรา 197 อันเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่อาจใช้บังคับได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าวสามารถใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม
ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบ มาตรา 46 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2562 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 ระหว่างกระทรวงคมนาคมและรฟท. ผู้ร้อง กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน อันเป็นคดีที่ผู้ร้องทั้ง 2 ร้อง ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และผู้คัดค้านร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคดีดังกล่าวศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและปฏิเสธไม่รับคำบังคับตามคำขาดดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่า การที่ผู้คัดค้านได้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 เป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปี นับจากวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 ทั้งนี้ ตามมาตรา 51 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว เนื่องจากต้องนับอายุความตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2544 อันเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ และศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรพิจารณาคดีในเนื้อหาแห่งคดีต่อไป ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้กระทรวงคมนาคมและรฟท. ชำระเงินจำนวนประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร (โฮปเวลล์)
อ่านประกอบ :
ยื่นโนติส15 วัน! ‘บ.โฮปเวลล์’ทวง‘คมนาคม-รฟท.’ชดใช้ 2.5 หมื่นล.-หากไม่จ่ายร้องศาลบังคับคดี
คดีพิพาทถึงที่สุดแล้ว! ศาลยกเหตุไม่รับคำฟ้อง ‘รฟท.’ ขอเพิกถอน ‘บ.โฮปเวลล์’
ศาลปค.ไม่รับคำฟ้องเพิกถอน ‘บ.โฮปเวลล์’! รัฐยื้อจ่ายชดเชยชี้การเจรจายังไม่ยุติ
สู้ต่อคดีจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์! ยกประเด็นสัญญา‘โมฆะ’-ผู้ว่าฯรฟท.มั่นใจมี ‘ข้อเท็จจริง’ ใหม่
บทบาท ‘คนไทยปริศนา' ในรายงานค่าโง่โฮปเวลล์ฉบับ 'พีระพันธุ์'
ยันจดทะเบียนถูกต้อง! 'บ.โฮปเวลล์ฯ' โต้ 10 ข้อกล่าวหา คณะทำงานฯ ‘พีระพันธุ์’
อธิบดีดีเอสไอรับตรวจสอบ บ.โฮปเวลล์ ปมนิติบุคคลต่างด้าว
ยังเจรจาได้! ‘วิษณุ’ ชี้ช่องถกเอกชนปมจ่ายค่าเสียหายคดี ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล้าน
ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น! ศาลปค.สูงสุดมีคำสั่ง ‘ยืน’ ไม่รื้อ ‘คดีโฮปเวลล์’-รัฐอ่วมชดใช้ 2.5 หมื่นล.
ชี้ขาดรื้อคดีจ่ายชดเชย ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล.! ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำสั่ง 22 ก.ค.นี้
ส่องที่อยู่ 2 ผู้ถือหุ้น บ.วิชเวลล์ฯ รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล้าน - ไม่มีใครเคยรู้จัก?
งบการเงิน บ.โฮปเวลล์ แจงที่มาคดีค่าโง่ เรียกค่าเสียหายแสนล้าน ชนะ 1.2 หมื่นล.
INFO: ผ่าโครงข่ายผู้ถือหุ้น บ.โฮปเวลล์ฯ 1.5 หมื่นล. จากฮ่องกง-มอริเชียส
ก่อนรับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล.บริติชเวอร์จิน! บ.วิชเวลล์‘อนุศักดิ์’ มีเงินสดแค่ 392 บาท
บ.รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล. บริติชเวอร์จิน ที่แท้ ‘อนุศักดิ์-กฤษนันทร์’ เจ้าของ
ส่องรอบโลกที่ตั้ง บ.ฮ่องกง-มอริเชียส-เวอร์จิน-มาเลฯ ใครเกี่ยวบ้าง? รับโอนหุ้น'โฮปเวลล์'500ล.
บ.เกาะบริติช เวอร์จิน โผล่ถือหุ้น 500 ล.‘โฮปเวลล์’ รับโอนจาก สัญชาติ‘มอริเชียส’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/