เหตุอื้อฉาวข้ามชาตินั้นนอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม แม้บางเรื่องอื้อฉาวจะมีหน่วยงานไทยเริ่มเข้าไปรับลูกแก้ไขปัญหาและดำเนินการตรวจสอบแล้ว แต่ก็ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ดีว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร
ตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอข่าวคดีทุจริต และเรื่องอื้อฉาวในประเทศไทยหลายข่าว
แต่ว่ามีข่าวประเภทหนึ่งที่สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอ ก็คือข่าวความไม่โปร่งใสอันเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ซึ่งถูกนำเสนอจากทั้งสื่อมวลชน บุคคลและหน่วยงานที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งข่าวประเภทนี้มีให้เห็นตลอดปี และเหตุอื้อฉาวข้ามชาตินั้นนอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม แม้บางเรื่องอื้อฉาวจะมีหน่วยงานไทยเริ่มเข้าไปรับลูกแก้ไขปัญหาและดำเนินการตรวจสอบแล้ว แต่ก็ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ดีว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ชาวอังกฤษในไทย ถูกจ้างโปรโมตคริปโท Hyperverse
ข่าวนี้เป็นกรณีสืบเนื่องจากปี 2566 ทีสำนักข่าวอิศราได้นำเสนอข่าวช่วงปลายปีเกี่ยวกับชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย และมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการหลอกให้ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอเรนซี่ ต่อมาในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2567 ก็มีรายงานจากสำนักข่าวการ์เดียน ระบุว่า ชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยชื่อว่านายสตีเฟน แฮร์ริสัน ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกวางตัวให้เป็นหัวหน้าผู้บริหารของโครงการคริปโทที่ปิดตัว ได้ออกมายอมรับว่าเขาได้รับการจ่ายเงิน 3 ครั้งคิดเป็นจำนวน 180,000 บาท และเสื้อสูทคุณภาพดีเพื่อแลกกับการโปรโมตผ่านทวิตเตอร์ที่ระบุว่าเป็นผู้บริหารคริปโทให้คนมาลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวซึ่งชื่อว่าเหรียญ HyperVerse ซึ่งตัวเขาก็ตกใจและเสียใจกับเรื่องนี้มาก
โดยบริษัทวิเคราะห์บล็อกเชน Chainalysis ประเมินว่าแค่ในปี 2565 แค่เพียงปีเดียวพบว่ามีการลงเงินไปกับคริปโท Hyperverse ตัวนี้อยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (45,461,000,000 บาท)
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับเหรียญคริปโท HyperVerse พบว่ามีเจ้าของได้แก่บริษัท HyperTech Group โดยบริษัทนี้มีการดำเนินกิจการโดยนาย Sam Lee และ Ryan Xu โดยทั้งคู่เคยก่อตั้งบริษัทชื่อว่า Blockchain Global ซึ่งเป็นบริษัทบิตคอยน์สัญชาติออสเตรเลียที่ปิดตัวไปแล้ว โดยบริษัทปัจจุบันมีหนี้สินกับเจ้าหนี้เป็นมูลค่า 58 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (1,363,286,520 บาท)
ข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าว BehindMLM ระบุว่าตอนนี้ไม่มีใครทราบว่านาย Xu ไปอยู่ที่ไหน ส่วนนาย Lee ทราบว่าตอนนี้อยู่ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยนาย Lee ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเขามีส่วนก่อตั้ง HyperVerse และปฏิเสธข้อกล่าวอ้างว่ามันเป็นการหลอกลวงฉ้อโกง
ขณะที่ทางการสหรัฐอเมริกาได้มีการดำเนินการจับกุม นายร็อดนีย์ เบอร์ตัน (Rodney Burton) ผู้โปรโมตเหรียญคริปโท HyperVerse ไปเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ซึ่งนายเบอร์ตันถูกตั้งข้อหาว่าประกอบกิจการและสมคบกันประกอบธุรกิจส่งเงินโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยข้อมูลสรรพากรสหรัฐฯ พบว่านายเบอร์ตันได้รับเงินเป็นจำนวน 562 ครั้ง คิดเป็นเงินรวมกว่า 7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (272,430,600 บาท) ในช่วงระหว่างเดือนมิ.ย.2563-ม.ค.2565
ส่วนที่ประเทศไทย ทางพล.ต.ท. วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่าเรื่องนี้มาจากสื่อต่างประเทศ คงต้องมีการประสานให้ทาง สอท.3 ตรวจสอบก่อน เพื่อจะดำเนินการต่อไป
แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าได้มีการดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคริปโท HyperVerse ในประเทศไทยแล้วหรือยัง
- ผบช.สอท.แจงต้องสอบเพิ่มปมคนอังกฤษในไทยเอี่ยวHyperVerse-คดีหวัง หยี่ เฉิง ประสาน ปปง.แล้ว
- เปิดประวัติชาวอังกฤษในไทยถูกจ้าง 8 แสน โปรโมตคริปโทHyperVerse ดูดเงินหมื่นล.ก่อนปิดตัว
- สื่อนอกตีข่าวชาวอังกฤษในไทยถูกจ้าง8 แสน โปรโมตเหรียญคริปโทดูดเงิน4.5 หมื่นล.ก่อนปิดตัว
@ก.คลังสหรัฐฯ สั่งคว่ำบาตรชาวจีนเปิดบริษัทที่พัทยา ใช้งานบ็อตเน็ตก่ออาชญากรรม
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ปรากฎเป็นข่าวว่าข่าวกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศ คว่ำบาตรนายหวัง หยุนเหอ และชาวจีนคนอื่นๆรวม 3 คน และยังได้มีการคว่ำบาตรบริษัทในประเทศไทยที่ถูกจัดตั้งโดยนายหวังอีก 3 แห่ง ได้แก่บริษัท สไปซี่ โค้ด จํากัด (Spicy Code Company Limited), บริษัท ทิวลิป บิซ พัทยา กรุ๊ป จํากัด (Tulip Biz Pattaya Group Company Limited) และบริษัท ลิลลี่ สูทส์ จํากัด (Lily Suites Company Limited) เนื่องจากนายหวัง หยุนเหอ เป็นเจ้าของหรือควบคุมนิติบุคคลเหล่านี้ ส่วนที่ตั้งของทั้งสามบริษัทนั้นก็มีรายงานข่าวว่าอยู่ที่ตัวเมืองพัทยา จ.ชลบุรี
โดยบุคคลและนิติบุคคลเหล่านี้มีส่วนเชื่อมโยงกับการใช้งานบ็อตเน็ตเพื่อก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ต่างๆได้ รวมถึงการขู่วางระเบิด และหลอกลวงเพื่อสมัครขอรับความช่วยเหลือในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลสหรัฐฯได้รับความสูญเสียไปเป็นมูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
(บ็อตเน็ตมีความหมายว่าเป็นกลุ่มของอุปกรณ์ที่ติดมัลแวร์และถูกเปลี่ยนเป็น Bot (ย่อมาจาก Robot) ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เว็บแคม เราท์เตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ในบ้าน เพื่อรอรับคำสั่งจากแฮ็กเกอร์ )
หลังจากการคว่ำบาตร ก็มีข่าวในวันที่ 30 พ.ค. เช่นเดียวกันว่า ว่าทางการสิงคโปร์สามารถจับกุมนายหวัง หยุนเหอได้แล้ว และตามมาด้วยในวันที่ 31 พ.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ได้มีการสนธิกำลังกับตำรวจหน่วยงานอื่นๆ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกาหรือ FBI เข้าตรวจยึดเงินสด สกุลเงินไทยและต่างประเทศ จำนวน 7.5 ล้านบาท ,นาฬิกาหรู จำนวน 13 เรือน โดยมี นาฬิกา AUDEMARS PIGUET จำนวน 3 เรือน รวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท , เครื่องประดับ จำนวน 23 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท, รถยนต์ BMW X7 M50d สีดำ จำนวน 1 คัน ,โฉนดที่ดินและสัญญาการซื้อขาย ที่ดิน คอนโด จำนวนหนึ่ง ,บัญชีธนาคารของนายหวัง และบัญชีของบริษัทที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ตนถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏเป็นข่าวว่าทางการไทยได้มีการดำเนินการกับคนไทย ที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้อง กับคนจีนเหล่านี้ หรือว่ามีส่วนในการจัดตั้งบริษัททั้งสามบริษัทแต่อย่างใด
- รายงาน ก.คลังสหรัฐฯ เผยพฤติการณ์ชาวจีน ตั้งบริษัทในไทย ฟอกเงิน ซื้อคอนโดหรูริมหาดพัทยา
- กองปราบ-FBI บุกรวบเครือข่ายอาชญากรรม Yun He แฮกระบบ 19 ล้านเครื่องทั่วโลก
- 'สิงคโปร์' จับชาวจีนตั้งบริษัทในไทย โยงมัลแวร์ฉ้อโกง รบ.สหรัฐฯ เสียหายพันล้านดอลลาร์ฯ
- ก.คลังสหรัฐฯสั่งคว่ำบาตร 3 ชาวจีน- 3 บ.ไทย เอี่ยวฉ้อโกงไซเบอร์ สูญเสียพันล้านดอลลาร์ฯ
@UN เผย 2 บ.ไทยขายน้ำมันให้เมียนมา รับ 2.9 พันล.
ข่าวเกี่ยวกับเอกชนในประเทศไทยมีส่วนขายยุทธภัณฑ์ให้กับกองทัพเมียนมานั้นก็เป็นประเด็นที่สืบเนื่องมาจากปี 2566 เช่นกัน โดยในรายงานจากสหประชาชาติหรือ UNปลายเดือน มิ.ย. ระบุว่า พบข้อมูลว่ามีการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,948,160,000 บาท) ซึ่งการจัดซื้อเป็นการซื้อผ่านระบบการเงินนานาชาติ ในทุกการโอนเงินพบว่ามีผู้ซื้อได้แก่ บริษัทที่จดทะเบียนนเมียนมา ซึ่งถูกควบคุมโดยบริษัทพลังงานในเมียนมาชื่อว่าบริษัท National Energy Puma Aviation Services (NEPAS) และบริษัท Asia Sun group และมีผู้ขายน้ำมันได้แก่บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยสองแห่งได้แก่บริษัท ซีบี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท ตะวัน-ออยล์ เทรดดิ้ง จำกัดโดยธนาคารเอกชนในเมียนมาที่ถูกใช้เพื่อการชำระเงินได้แก่ธนาคารยูไนเต็ดอมรา (United Amara Bank) ซึ่งถูกใช้ถูกใช้เพื่อชําระเงินให้ผู้รับมอบฉันทะ NEPAS และ Asia Sun
โดยบริษัทซีบี เอ็นเนอร์ยี่นั้นพบว่ามีการขายน้ำมันรับเงินจากบัญชีธนาคารกรุงไทย คิดเป็นมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,414,520,000 บาท) บริษัท ตะวัน-ออยล์ เทรดดิ้ง รับเงินจากบัญชีธนาคารกสิกรไทยคิดเป็นมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (884,062,500 บาท) และทั้งสองบริษัทยังได้รับเงินจากบัญชีธนาคารกสิกรไทยและบัญชีธนาคารกรุงไทยไปอีกคิดเป็นมูลค่ารวม15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (530,250,000 บาท)
ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่มีรายงาน UN ระบุถึงพฤติการณ์ของทั้ง 2 บริษัทไทย เป็นช่วงเดียวกับที่ สมาคมธนาคารไทย ชี้แจงเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ระบุตอนหนึ่งว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเกณฑ์การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อลูกค้า สังคม และประชาคมโลกและตามหลักสิทธิมนุษยชน
จากกรณีดังกล่าวนั้นผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้พยายามติดต่อกับทั้ง 2 บริษัทไทย แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้
จนในที่สุดผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้เดินทางไปยังที่ตั้งของทั้ง 2 บริษัทก็ปรากฏว่าเป็นที่ตั้งของบริษัทซีบี เอ็นเนอร์ยี่นั้น นั้นเป็นห้องเช่าสำนักงานให้บริการออฟฟิศอยู่ที่เขตวัฒนา ขณะที่บริษัท ตะวัน-ออยล์ เทรดดิ้ง พบว่าเป็นห้องอยู่อยู่ภายในสำนักกฎหมายในเขตคลองเตย
นอกจากนี้ทั้ง 2 บริษัทไทยในรายงาน UN ที่ระบุว่าได้รายได้หลักร้อยล้านถึงพันล้านบาท จากการขายน้ำมันให้กับกองทัพเมียนมา ทั้ง 2 บริษัทกลับแจ้งรายได้ให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีรายได้อยู่แค่หลักพันจนถึงหลักหมื่นบาทเท่านั้น
โดยบริษัทบริษัท ซีบี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัดนำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ล่าสุด ณ 31 ธ.ค.2565 แจ้งว่ามีรายได้ 6,780.82 บาท รายจ่าย 28,239.25 บาท ขาดทุน 21,458.43 บาท ขณะที่บริษัท นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ล่าสุด ณ 31 ธ.ค.2565 แจ้งว่าไม่มีรายได้ แต่มีรายจ่าย 44,100 บาท ขาดทุน 44,100 บาท
จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าได้มีการตรวจสอบทั้ง 2 บริษัทนี้แล้วหรือยัง
- ตามไปดู 2 บ.ไทย ในรายงาน UN ขายน้ำมันอากาศยานให้เมียนมา 2.9 พันล.แจ้งรายได้หลักพัน
- รายงาน UN เผย 2 บ.ไทยขายน้ำมันให้เมียนมา รับ 9 พันล.-ส.ธนาคารฯยันไม่หนุนละเมิดสิทธิฯ
@ กลต.สหรัฐฯ เปิดโปง บ.เวิร์ทเก้น ให้สินบน-พา ขรก.ไทยเที่ยวร้านนวดแลกสัญญา ทอ.,ทล.,ทช. ร้อยล้าน
หนึ่งในข่าวเกี่ยวกับคดีทุจริตที่โด่งดังที่สุดในประเทศไทยในรอบปี ซึ่งถูกเปิดโปงจากทางหน่วยงานต่างประเทศ คงหนีไม่พ้นข่าวสินบนบริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด
โดยวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (SEC) ได้ระบุว่าบริษัทเดียร์ เจ้าของแบรนด์อุปกรณ์การเกษตรชื่อดังอย่างจอห์นเดียร์ ละเมิดบทบัญญัติการเก็บบันทึกและการควบคุมการบัญชีภายในที่ระบุไว้ในกฎหมายป้องกันการทุจริตในต่างแดน (FCPA) โดยไม่ยอมรับหรือปฏิเสธผลการตรวจสอบ ซึ่งบริษัทเดียร์ยินยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อยุติการดำเนินตรวจสอบเกี่ยวกับการละเมิดรวมเป็นเงิน 9.93 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 334 ล้านบาท
จากกรณีที่บริษัทลูกในประเทศไทยอย่างบริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการจ่ายสินบนให้กับหน่วยงานในประเทศไทยอันได้แก่กองทัพอากาศ (ทอ.),กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) และจ่ายสินบนให้กับบริษัทเอกชนไทยอีกแห่งที่ไม่ระบุชื่อ โดยสินบนที่ว่านั้นมีทั้งการจ่ายเงินสด การพาไปเที่ยวร้านนวด และการพาเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานบริษัทเอกชนไปเที่ยวยังต่างประเทศ ส่งผลทำให้บริษัท เวิร์ทเก้น สามารถหากำไรได้ประมาณ 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (144,731,536 บาท) จากสินบนเหล่านี้ ในช่วงปี 2560-2563
ขณะที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่าในช่วงปี 2560-2563 บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญากับทั้ง 3 หน่วยงานนี้ จำนวน 8 สัญญา แยกเป็นกรมทางหลวง 5 สัญญา รวมวงเงิน 127,104,036 บาท กรมทางหลวงชนบท 1 สัญญา รวมวงเงิน 41,310,000 บาท กองทัพอากาศ 2 สัญญา รวมวงเงิน 16,290,000 บาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 184,704,036 บาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ)
สำหรับการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับการทำสัญญาของบริษัทเวิร์ทเก้นในส่วนของทางกองทัพอากาศนั้น มีข่าวไปเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ว่า พล.อ.ต.บุญเลิศ อันดารา อดีตโฆษกกองทัพอากาศ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอิศรา ข้อมูลการตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งภายหลังจากรวบรวมข้อเท็จจริง (fact finding) ทั้งหมดแล้ว ได้ตรวจสอบทั้งรายละเอียดที่มาของโครงการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว โดยใคร อย่างไร หน่วยงานไหน มีมูลเหตุหรือไม่ ปรากฏว่า “ไม่พบข้อมูล” จึงไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงใด ๆ
ต่อมาในวันที่ 10 ต.ค. พล.อ.ท.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ ได้ให้สัมภาษณ์ระบุว่าขณะนี้ได้ทำการตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของเอกสารประกอบการจัดซื้อจัดจ้าง เรียบเรียงข้อมูลตามกรอบระยะเวลา และกระบวนการที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้ได้ผลการตรวจสอบที่ถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด และได้ประสานผ่านสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อขอเอกสารหลักฐานจาก SEC เกี่ยวกับการให้สินบนดังกล่าว
ขณะที่ในส่วนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ทางด้านของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้ข่าวไปเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ระบุว่าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท้จจริง กรณีข่าวการให้สินบนไปแล้ว โดยมีนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม มีกำหนดการทำงานให้แล้วเสร็จภายใจ 15 วัน
แต่จนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าการตรวจสอบทั้งในกรมทางหลวง,กรมทางหลวงชนบท และกองทัพอากาศ จะมีบทสรุปอย่างไร
ขณะที่สำนักข่าวอิศราได้ติดต่อไปยังผู้ที่ปรากฏชื่อในเอกสารสัญญาระหว่างกรมทางหลวงและบริษัท เวิร์ทเก้น โดยติดต่อไปยังทั้งอดีตผู้บริหารบริษัทและติดต่อไปยังข้าราชการแต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมาแต่อย่างใด
- จอห์นเดียร์ ยอมจ่าย330 ล.แลก SEC ยุติคดีบ.ลูกในไทยติดสินบนจนท.กองทัพอากาศ กรมทางหลวง (1)
- คว้างานรัฐ 16 โครงการ 243 ล.! เปิดตัว 'เวิร์ทเก้น' บ.ลูกในไทยจอห์นเดียร์ คดีติดสินบนจนท. (2)
- เจาะไส้ใน 8 ส.ปี 60-63 บ.เวิร์ทเก้นฯได้งานกองทัพอากาศ กรมทางหลวง/ชนบท ก่อนคดีติดสินบน (3)
- แฉยับ! พฤติการณ์จนท.'ทอ.-ทล.' รับสินบนบ.ลูกจอห์นเดียร์ จ่ายเงินสด-ร้านนวด-พาเมียดูงาน ตปท. (4)
- ป.ป.ช.เร่งสอบ-ประสาน SEC หลังจอห์นเดียร์ถูกปรับ เหตุ บ.ลูกจ่ายสินบนให้ จนท.ไทย (5)
- บ.ลูกจอห์นเดียร์ เผยเรียนผู้บริหารทราบข้อกล่าวหาสินบน ทอ. กรมทางหลวงแล้ว รอออกแถลงชี้แจง (6)
- ผบ.ทอ.สั่งหาข้อเท็จจริง ข่าว บ.ลูกจอห์นเดียร์จ่ายสินบน-เชื่อไม่เกี่ยวเหตุจัดซื้อกริพเพน (7)
- ขอประณามอย่างรุนแรง! 'เวิร์ทเก้น'แจงผู้เกี่ยวข้องสินบนพ้น พนง.แล้ว - ยันรักษาจริยธรรม (8)
- เปิดผลสอบ SEC (1) : แกะรอย บ.ก่อสร้างรายใหญ่ไทย พนง.รับสินบนทำกำไรให้เวิร์ทเก้น 49 ล. (9)
- ผลสอบ SEC (2) สารพัดสินบน'เวิร์ทเก้น' ประเคน ทล.-ทช.ให้เงินลูกกวาด-'บิ๊กขรก.'เข้าร้านนวด (10)
- ผลสอบ SEC (3) 'เวิร์ทเก้น' จ่ายค่าร้านนวด 4 ปี เฉียด 2 ล. แลกสัญญา 'ทอ.-ทล.-ทช.' ร้อยล้าน (11)
- ขีดวง! งานจ้าง 'ทอ.-ทล.' โครงการไหนบ้าง? เข้าข่ายถูกสอบกรณีสินบนบ.ลูกจอห์นเดียร์ (12)
- อดีต ขรก.ทช.ผู้ลงนาม แจงไม่เกี่ยวข้อง คกก.จัดซื้อ ให้เวิร์ทเก้น ชนะสัญญารถบดถนน 41 ล. (13)
- สินบนข้ามชาติ ทอ. อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ถ้าไม่มีหลักฐานยกประโยชน์ให้จำเลย (14)
- เปิดตัว ผอ.กองพัสดุช่างโยธา ทอ.ยันจัดซื้อบ.เวิร์ทเก้น ถูกระเบียบ ไม่เกี่ยวข้องปมสินบน (15)
- แกะรอยมีใครบ้าง? กก.บ.เวิร์ทเก้น ช่วงปี 60-63 ก่อนเจอข้อครหาจ่ายสินบน จนท. ทอ. ทล. ทช. (16)
- เทียบมาตรฐานสางคดีสินบน บ.เวิร์ทเก้น 'คค.'ตั้งคกก.สอบ-'ทอ.'ปิดสำนวนเร็วไร้หลักฐานหาคนผิด (17)
- คนในส่งให้! โชว์สัญญา บ.เวิร์ทเก้น ขายรถบด ทล.8 ล. ปี 63 ผู้เกี่ยวข้องยังไม่ชี้แจง (18)
@กระทรวงความมั่นคงฯสหรัฐฯ เผยปี 63-64 ยึดโบราณวัตถุอียิปต์ อายุหลายพันปี ต้นทางจากเอกชนไทย
ข่าวอื้อฉาวล่าสุดจากหน่วยงานต่างประเทศนั้นเป็นกรณีที่กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิสหรัฐฯหรือ DHS ได้มีเผยข้อมูลว่าในช่วงปี 2563-2564 รัฐบาลสหรัฐฯได้ยึดโบราณวัตถุอียิปต์ในยุคโบราณจำนวน 13 ชิ้น โดยต้นทางส่วนหนึ่งของโบราณวัตถุเหล่านี้มาบริษัท 2 แห่งในประเทศไทยชื่อบริษัทฟาดา เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท เซ็นจูรี่อาร์ต จำกัด
ทั้งนี้หนึ่งในการตรวจยึดของ DHS ซึ่งยึดโบราณวัตถุ ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปปั้นได้ที่เมืองแองเคอเรจ โดยมีผู้ส่งได้แก่บริษัทฟาดาฯ พบข้อมูลในบิลค่าเดินทางการขนส่งทางอากาศของเฟดเอ็กซ์ที่แนบมาด้วยมีการอ้างว่าพัสดุที่จัดส่ง เลขใบเสร็จลงวันที่ 11 ก.ค. 2563 นั้นเป็นประติมากรรมสวนหินสําหรับสวนในบ้าน มูลค่าอยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ (39,895 บาท) ขณะที่ค่าขนส่งของเฟดเอ็กซ์อยู่ที่ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (53,249 บาท) อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญได้มีการประเมินแล้วว่า รูปปั้นชิ้นนี้น่าจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (199,620,000 บาท)
จากกรณีดังกล่าวสำนักข่าวอิศราได้พยายามติดต่อไปทั้งบริษัทฟาดา เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท เซ็นจูรี่อาร์ต จำกัด ซึ่งพนักงานของบริษัท เซ็นจูรี่อาร์ต จำกัด ให้ข้อมูลยืนยันว่าบริษัทไม่ได้มีสิ่งของที่เกี่ยวกับโบราณวัตถุอียิปต์ขายแต่อย่างใด
ส่วนบริษัทฟาดาฯ สำนักข่าวอิศราไม่พบข้อมูลในฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราจึงได้เดินทางไปยังบริษัทฟาดาฯ โดยอาศัยข้อมูลจากใบเสร็จส่งของและข้อมูลบนโลกออนไลน์ โดยที่ตั้งของบริษัทฟาดาฯแห่งนี้พบว่าเป็นห้องเช่าอยู่ที่เขตทุ่งครุ โดยผู้ที่อาศัยอยู่ห้องเช่าข้างเคียงกล่าวว่าเคยมีคนเอาสิ่งของคล้ายกับโบราณวัตถุอียิปต์ขนาดใหญ่มาเก็บไว้ที่ห้องเช่านี้ก่อนจะขนออกไปในภายหลัง
ส่วนที่อยู่ของบริษัทฟาดาฯอีกแห่ง พบว่าเป็นห้องเช่าเช่นกันอยู่ที่เขตบางรัก ก็ปรากฏข้อมูลว่าเป็นห้องเช่น ซึ่งเคยเปิดเป็นบริษัทเกี่ยวกับการทำหนังสือเดินทาง
จากกรณีดังกล่าวนั้นผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้ติดต่อไปยัง พล.ต.ต.สุระพันธุ์ ไทยประเสริฐ ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อขอให้ชี้แจงแล้ว อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.สุระพันธุ์ชี้แจงเบื้องต้นว่าจนถึงบัดนี้ยังไม่ได้รับการประสานงานมาจากทาง DHS หรือจากทางประเทศอียิปต์เกี่ยวกับกรณีวัตถุโบราณแต่อย่างใด แต่คงต้องขอไปตรวจสอบอีกทีหนึ่ง
- สหรัฐฯ เผยปี 63-64 ยึดโบราณวัตถุอียิปต์อายุหลายพันปีได้นับสิบชิ้น ต้นทางจากเอกชนไทย
- ก.ความมั่นคงสหรัฐฯ เปิดโปงเอกชนไทยเอี่ยวลักลอบส่งออกโบราณวัตถุอียิปต์ 199 ล.เข้าอลาสกา
- รายงาน ก.ความมั่นคงฯ แฉเอกชนไทยแห่ง 2 ส่งโบราณวัตถุอียิปต์ 7 ครั้งเข้าสหรัฐฯ ช่วงปี 63
- พนักงาน บ.เซ็นจูรี่ยืนยัน ไม่เคยส่งออกโบราณวัตถุอียิปต์ หลังสหรัฐฯ ออกเอกสารแฉเอกชนไทย
- เปิดตัวเอกชนไทย! ก.ความมั่นคงสหรัฐฯ อ้างเอี่ยวปมลอบส่งออกโบราณวัตถุอียิปต์เข้าอลาสกา
- เป็นห้องเช่า! ตามไปที่อยู่แห่ง 2 บริษัทไทย สหรัฐฯ อ้างเอี่ยวปมลอบส่งออกโบราณวัตถุอียิปต์