"...บริษัทซีบี เอ็นเนอร์ยี่นั้นพบว่ามีการขายน้ำมันรับเงินจากบัญชีธนาคารกรุงไทย คิดเป็นมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,414,520,000 บาท) บริษัท ตะวัน-ออยล์ เทรดดิ้ง รับเงินจากบัญชีธนาคารกสิกรไทยคิดเป็นมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (884,062,500 บาท) และทั้งสองบริษัทยังได้รับเงินจากบัญชีธนาคารกสิกรไทยและบัญชีธนาคารกรุงไทยไปอีกคิดเป็นมูลค่ารวม15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (530,250,000 บาท)..."
สืบเนื่องจากเมื่อช่วงปลาย มิ.ย. ผู้รายงานพิเศษองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นได้ออกรายงานตอนหนึ่งในรายงานระบุว่า พบข้อมูลว่ามีการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,948,160,000 บาท) ซึ่งการจัดซื้อเป็นการซื้อผ่านระบบการเงินนานาชาติ ในทุกการโอนเงินพบว่ามีผู้ซื้อได้แก่ บริษัทที่จดทะเบียนนเมียนมา ซึ่งถูกควบคุมโดยบริษัทพลังงานในเมียนมาชื่อว่าบริษัท National Energy Puma Aviation Services (NEPAS) และบริษัท Asia Sun group และมีผู้ขายน้ำมันได้แก่บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยสองแห่งได้แก่บริษัทซี และบริษัทที (ขอสงวนชื่อบริษัท) โดยธนาคารเอกชนในเมียนมาที่ถูกใช้เพื่อการชำระเงินได้แก่ธนาคารยูไนเต็ดอมรา (United Amara Bank) ซึ่งถูกใช้ถูกใช้เพื่อชําระเงินให้ผู้รับมอบฉันทะ NEPAS และ Asia Sun
ตลอดช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้พยายามติดต่อข้อมูลของทั้งบริษัทซี และ บริษัท ที หรือที่มีชื่อเต็มว่าบริษัท ซีบี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท ตะวัน-ออยล์ เทรดดิ้ง จำกัด เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีที่ทั้งสองบริษัทถูกระบุว่าเป็นบริษัทที่ขายน้ำมันส่งให้กองทัพเมียนมามาโดยตลอด แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้
โดยบริษัทซีบี เอ็นเนอร์ยี่นั้นพบว่ามีการขายน้ำมันรับเงินจากบัญชีธนาคารกรุงไทย คิดเป็นมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,414,520,000 บาท) บริษัท ตะวัน-ออยล์ เทรดดิ้ง รับเงินจากบัญชีธนาคารกสิกรไทยคิดเป็นมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (884,062,500 บาท) และทั้งสองบริษัทยังได้รับเงินจากบัญชีธนาคารกสิกรไทยและบัญชีธนาคารกรุงไทยไปอีกคิดเป็นมูลค่ารวม15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (530,250,000 บาท)
สำหรับในฝั่งผู้ซื้อน้ำมันจากเมียนมาได้แก่บริษัท NEPAS,และบริษัทในเครือชื่อว่าบริษัท Intraco และบริษัท Swan Energy บริษัท Myan-Oil และบริษัท Rich Ray Trading ซึ่งทั้งสามบริษัทนั้นอยู่ในเครือบริษัท Asia Sun group โดยทั้งหมดชำระเงินให้บริษัทในประเทศไทยผ่านธนาคารยูไนเต็ดอมราของเมียนมา (ดูภาพประกอบ)
จากกรณีดังกล่าวสำนักข่าวอิศราได้พยายามสืบค้นข้อมูลของทั้งบริษัท ซีบี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท ตะวัน-ออยล์ เทรดดิ้ง จำกัด
1.บริษัท ซีบี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่าบริษัท ซีบี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 ทุนปัจจุบัน 1ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 591 อาคารสมัชชาวาณิช 2 ห้องเลขที่ 2001-2006 ชั้น 20 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบการขายส่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ปรากฏชื่อ เม เญน อเย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ล่าสุด ณ 31 ธ.ค.2565 แจ้งว่ามีรายได้ 6,780.82 บาท รายจ่าย 28,239.25 บาท ขาดทุน 21,458.43 บาท
เบื้องต้นผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้เดินทางไปยัง อาคารสมัชชาวาณิช 2 ห้องเลขที่ 2001-2006 เพื่อติดต่อขอสัมภาษณ์บริษัทอย่างเป็นทางการ
เมื่อไปถึงที่ชั้น 20 ห้องเลขที่ 2001-2006 ก็พบว่าเป็นที่ตั้งของบริษัทให้เช่าออฟฟิศอีกแห่งหนึ่ง (ดูภาพประกอบ)
จากการสอบถามพนักงานของบริษัทผู้ใช้เช่าออฟฟิศให้ข้อมูลว่าตั้งแต่เข้ามาทำงานก็ยังไม่เคยเจอกับตัวพนักงานของบริษัทซีบี-เอ็นเนอร์ยี่เลย เข้าใจว่าพนักงานบริษัทแห่งนี้น่าจะติดต่อผ่านไปยังเซลของบริษัทผู้ให้เช่าออฟฟิศเท่านั้น
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการติดต่อกับบริษัทซีบี-เอ็นเนอร์ยี่ครั้งสุดท้าย พนักงานบริษัทให้เช่าออฟฟิศกล่าวว่าส่วนมากติดต่อกับผ่านทางอีเมล ครั้งสุดท้ายที่ติดต่อเขาก็น่าจะประมาณเดือน พ.ค. เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการต่อสัญญาค่าเช่าพื้นที่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราจึงได้ฝากนามบัตรเพื่อให้ติดต่อกับผู้เกี่ยวข้องก่อนจะเดินทางกลับ
2.บริษัท ตะวัน-ออยล์ เทรดดิ้ง จำกัด
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่าบริษัท ซีตะวัน-ออยล์ เทรดดิ้ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 140 อาคารวันแปซิฟิคเพลส ห้องเลขที่ 1705 ชั้นที่ 17 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบการขายส่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ปรากฏชื่อ นายสามารถ แสงนอกเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ล่าสุด ณ 31 ธ.ค.2565 แจ้งว่าไม่มีรายได้ แต่มีรายจ่าย 44,100 บาท ขาดทุน 44,100 บาท
เบื้องต้นผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราจึงได้เดินทางไปยังอาคารวันแปซิฟิคเพลส ซึ่งอยู่ในกลุ่มอาคารแปซิฟิคเพลส
เมื่อขึ้นไปถึงห้องเลขที่ 1705 ชั้นที่ 17 ก็พบว่าที่ตั้งดังกล่าวนั้นเป็นห้องของบริษัทให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายแห่งหนึ่ง (ดูภาพประกอบ)
จากการสอบถามบริษัทกฎหมาย พนักงานบริษัทชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นว่าไม่ทราบรายละเอียดอะไรมาก เพราะบริษัทกฎหมายแห่งนี้ให้บริษัทหลายแห่งมาเช่า จดทะเบียนใช้พื้นที่บริษัทมาก แต่อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าบุคคลที่มาติดต่อใช้บริการบริษัทนั้นไม่มีชาวเมียนมาแน่นอน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราจึงได้ฝากนามบัตรเพื่อให้นำเรียนไปยังบุคลากรของบริษัท ตะวัน-ออยล์ เทรดดิ้ง จำกัด ก่อนจะเดินทางกลับ
เหล่านี้ คือ ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเอกชน 2 ราย ที่ถูกระบุใน รายงานพิเศษองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น เกี่ยวกับการขายน้ำมันให้กองทัพเมียนมา ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับประเด็นนี้ คงต้องรอฟังคำชี้แจงเป็นทางการจากผู้บริหารเอกชนทั้งสองแห่งอีกครั้ง ว่าข้อมูลของยูเอ็น ถูกต้องหรือไม่? อย่างไร?
หากผู้บริหารบริษัททั้งสองแห่ง มีความประสงค์ที่จะชี้แจงข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา สามารถติดต่อกลับมาได้ตลอดเวลา