"...เมื่อปี 2562 บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ได้จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐสี่คนจากกรมทางหลวงของไทยสำหรับการเดินทางไปยังประเทศเยอรมนี ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ว่านี้ก็รวมถึงสมาชิกของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างที่มีอย่างน้อยสองคนซึ่งพาคู่สมรสไปด้วย ..."
กรณีสื่อต่างประเทศ รายงานข่าวอ้างอิงจากข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) ระบุว่า บริษัทเดียร์ แอนด์ คอมพานี (Deere & Company) หรือจอห์นเดียร์ ผู้ผลิตรถแทรกเตอร์ชื่อดังได้ตกลงที่จะจ่ายเงินเกือบสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อยุติข้อกล่าวหาของ SEC ว่า ละเมิดกฎหมายการทุจริตในต่างประเทศหรือ FCPA โดยข้อกล่าวหานั้นระบุว่า บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด (Wirtgen Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในประเทศไทยได้มีการจ่ายเงินสินบนให้กับทางไทย
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขยายผลการตรวจสอบพบข้อมูลสำคัญหลายประการมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องในขณะนี้นั้น
- บ.ลูกจอห์นเดียร์ เผยเรียนผู้บริหารทราบข้อกล่าวหาสินบน ทอ. กรมทางหลวงแล้ว รอออกแถลงชี้แจง
- คว้างานรัฐ 16 โครงการ 243 ล.! เปิดตัว 'เวิร์ทเก้น' บ.ลูกในไทยจอห์นเดียร์ คดีติดสินบนจนท.
- เจาะไส้ใน 8 ส.ปี 60-63 บ.เวิร์ทเก้นฯได้งานกองทัพอากาศ กรมทางหลวง/ชนบท ก่อนคดีติดสินบน
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบคืนข้อมูลคดีนี้ในต่างประเทศเพิ่มเติม พบว่าสำนักข่าววอลสตรีทเจอร์นอลของสหรัฐอเมริกา (WSJ) ได้มีการลงรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์การให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐไทยเอาไว้ มีรายละเอียดดังนี้
@ จอห์นเดียร์ ยอมจ่าย334 ล.แลกระงับข้อกล่าวหา
บริษัทเดียร์จะจ่ายเงินทั้งสิ้น 9.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (334,620,000 บาท) เพื่อที่จะระงับข้อกล่าวหาของหน่วยงานกำกับดูแลที่ระบุว่าบริษัทย่อยของบริษัทเดียร์ในประเทศไทยได้โน้มน้าวและจูงใจเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเอื้อให้บริษัทย่อยนั้นชนะผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งสิ่งจูงใจเจ้าหน้าที่ไทยที่ว่านี้ก็มีทั้งทริปพาไปต่างประเทศอันหรูหรา และการพาไปใช้บริการร้านนวด
บริษัทเดียร์ตั้งอยู่ เมืองโมลีน รัฐอิลลินอยส์ ได้ทำข้อตกลงเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยตกลงกับทาง SEC ที่จะยุติข้อกล่าวหาว่าบริษัทได้มีการละเมิดกฎหมายการทุจริตในต่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ FCPA โดยบริษัทไม่ได้ยอมรับหรือปฏิเสธผลการตรวจสอบของหน่วยงานกำกับดูแลที่สืบค้นว่ามีการกระทำผิด
“ข้อกล่าวหาเหล่านี้แสดงถึงการละเมิดนโยบายและมาตรฐานทางจริยธรรมของบริษัทของเราอย่างชัดเจน” โฆษกหญิงของบริษัทกล่าวในแถลงการณ์และกล่าวต่อไปว่า “บุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ไม่ได้สังกัดกับบริษัทอีกต่อไป”
@ พฤติการณ์ จนท.'ทอ.-ทล.' รับสินบน
ย้อนไปตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2563 บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทก่อสร้างถนนของเยอรมนีที่บริษัทเดียร์ได้เข้าซื้อกิจการเมื่อปลายปี 2560 ได้มอบเงินสด ค่าธรรมเนียมการให้คําปรึกษาปลอมๆ และของขวัญอื่นๆ รวมถึงชุดไม้กอล์ฟ ตามรายงานของ SEC
การประพฤติมิชอบนั้นเกิดขึ้นก่อนที่บริษัทเดียร์จะเข้าซื้อกิจการบริษัท เวิร์ทเก้น กรุ๊ป หรือก็คือก่อนที่จะมีการบังคับใช้การปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเต็มที่ และการประพฤติมิชอบที่ว่านี้ยังเกี่ยวข้องกับผู้จัดการและพนักงานระดับสูงในภูมิภาค ตามคำสั่งทางปกครองของ SEC ที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ก.ย.
SEC ระบุว่าเพื่อที่จะชนะสัญญากับหน่วยงานรัฐของไทย พนักงานของบริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการพาเจ้าหน้าที่ไปยังร้านนวด และพาไปเที่ยวสถานที่ต่างๆโดยอ้างว่าเป็นการพาไปเยี่ยมชมโรงงาน ซึ่งกรรมการและผู้จัดการของบริษัททั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการอนุมัติเงินเพื่อใช้จ่ายในการติดสินบนอย่างสม่ำเสมอ
มีกรณีหนึ่ง ค่าใช้จ่ายสำหรับการพาไปร้านนวดถูกระบุว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพอากาศไทยที่มีส่วนในการรับผิดชอบในการร่างและเลือกผู้ชนะการประกวดราคา ตามข้อมูลของ SEC ซึ่งปรากฏว่าในปี 2563 บริษัทเวิร์ทเก้นชนะการประกวดราคาในสัญญาของกองทัพอากาศเป็นจำนวนสองครั้ง มูลค่าสัญญารวม 665,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,460,373 บาท)
SEC กล่าวอีกว่าย้อนไปเมื่อปี 2562 บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ได้จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐสี่คนจากกรมทางหลวงของไทยสำหรับการเดินทางไปยังประเทศเยอรมนี ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ว่านี้ก็รวมถึงสมาชิกของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างที่มีอย่างน้อยสองคนซึ่งพาคู่สมรสไปด้วย
จุดประสงค์ที่ระบุไว้สำหรับการเดินทางก็คือการไปเยี่ยมชมโรงงาน แต่กำหนดการการเดินทางกลับไม่มีการแวะไปที่โรงงานแต่อย่างใด โดยทั้งกลุ่มได้ไปเที่ยวที่สวิตเซอร์แลนด์ พักโรงแรมหรูบนเทือกเขาแอลป์ ขณะที่บริษัทเดียร์ระบุว่าใช้จ่ายเงินเป็นจำนวน 47,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,603,243 บาท) สำหรับทริปการเดินทางแปดวันที่ว่านี้ และพอหลังจากทริปการเดินทางสิ้นสุดลง เดียร์ก็ได้รับสัญญารัฐคิดเป็นมูลค่า 498,567 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,818,411 บาท)
เอกสารแถลงข่าวของ SEC
มีรายงานว่าบริษัทในเครือที่อยู่ในประเทศไทยยังได้ดำเนินการจ่ายเงินด้วยเงินสดเป็นจำนวนหลายครั้ง โดยกรรมการผู้จัดการของบริษัทซึ่งได้มีการติดต่อด้วยการส่งข้อความกับผู้จัดการฝ่ายการเงินได้อ้างถึงเงินสดนี้ว่าเป็นเงินลูกกวาด (candy money)
“ประสานงานกับ DOH (ไม่ได้ระบุว่าเป็นหน่วยงานไหนของไทย) เตรียมซองจดหมายไว้ 5 ซอง” กรรมการผู้จัดการเขียนไว้ตอนหนึ่ง ตามรายงานของ SEC
นอกเหนือจากการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว SEC ยังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ด้วยว่าบริษัทในเครือของบริษัท Deere ได้ติดสินบนลูกค้าอีกรายซึ่งเป็นบริษัทเอกชนด้วยของขวัญที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตามลูกค้าจากเอกชนซึ่งซื้อเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จากบริษัทเวิร์ทเก้น ไม่ถูกระบุชื่อว่าเป็นใครกันแน่ ตามคําสั่งของหน่วยงาน กํากับดูแล
บริษัท Deere กล่าวเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ว่าบริษัทได้ให้ความร่วมมือกับการสอบสวนของ SEC และเลิกจ้างพนักงานที่รับผิดชอบกับการประพฤติมิชอบ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลกล่าวว่านอกเหนือจากที่บริษัทเดียร์จะดำเนินการเพื่อเสริมสร้างการปฏิบัติตามกฎระเบียบแล้ว บริษัทจะมีการสื่อสารด้วยจดหมายข่าวและพอดแคสต์นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อกำหนดด้วยความถี่สองครั้งต่อเดือน
รายงานข่าวกรณีบริษัทจอห์นเดียร์ยอมจ่ายเงินเพื่อยุติคดีกับ SEC (อ้างอิงวิดีโอจาก 6KWQC)
บริษัทเดียร์ยินยอมที่จะจ่ายเงินค่าปรับกับทาง SEC เพื่อยุติการดำเนินตรวจสอบเกี่ยวกับการละเมิด โดยจ่ายเงินค่าดอกเบี้ยก่อนการตัดสินรวมประมาณ 5.4 ล้านดอลลาร์ (181,750,500 บาท) และจ่ายเงินค่าปรับทางแพ่งอีก 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (151,458,750 บาท) ซึ่ง SEC ระบุว่าเงินจำนวนนี้แสดงถึงผลกําไรที่ Deere ได้รับจากการประพฤติมิชอบ บวกดอกเบี้ย
อนึ่งข่าวในแง่ลบของบริษัทเดียร์นั้นเกิดขึ้นหลังจากเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทเดียร์ออกรายงานว่ายอดขายของบริษัทลดลงและบริษัทกำลังพิจารณาเลิกจ้างคนงานท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจการเกษตรที่ชะลอตัว โดยบริษัทซึ่งเป็นผู้ผลิตแทรกเตอร์รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ณ เวลานี้กำลังถูกโจมตีจากนักกิจกรรมฝ่ายอนุรักษ์นิยมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความหลากหลายและความคิดริเริ่มในด้านการรวมกลุ่ม ทำให้ในเดือน ก.ค.บริษัทออกมารับปากว่าจะยกเลิกนโยบายบางส่วน
เรียบเรียงจาก:https://www.wsj.com/articles/deere-fined-for-providing-thai-officials-with-extravagant-trips-massage-parlor-visits-f768e92b
สำหรับบริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) สำนักข่าวอิศราได้มีการส่งอีเมลติดต่อไปยังบริษัทดังกล่าวแล้ว และเจ้าหน้าที่บริษัทแจ้งกับทางสำนักข่าวว่าจะขอนำประเด็นคำถามนำเรียนไปยังผู้บริหารแล้วจะทำคำชี้แจงทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษออกมาอีกทีหนึ่ง