สิงคโปร์จับ 'หวัง หยุนเหอ' ชาวจีนเอี่ยวใช้นิติบุคคลในไทยโยงมัลแวร์ฉ้อโกง รบ.สหรัฐฯ นับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้าน ก.ยุติธรรมสหรัฐฯ เผยคอมพิวเตอร์กว่า 200 ประเทศส่อติดเชื้อมัลแวร์ ชี้ 'หวัง หยุนเหอ' ขายไอพีแอดเดรสที่ถูกมัลแวร์ปล้น ได้เงินกว่า 3 พันล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวความคืบหน้ากรณีที่ทางการสหรัฐได้คว่ำบาตรนายหวัง หยุนเหอ และชาวจีนคนอื่นๆรวม 3 คน และยังได้มีการคว่ำบาตรบริษัทในประเทศไทยที่ถูกจัดตั้งโดยนายหวังอีก 3 แห่ง เนื่องจากทั้งบุคคลและนิติบุคคลเหล่านี้มีส่วนเชื่อมโยงกับการใช้งานบ็อตเน็ตเพื่อก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ต่างๆได้ รวมถึงการขู่วางระเบิด และหลอกลวงเพื่อสมัครขอรับความช่วยเหลือในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลสหรัฐฯได้รับความสูญเสียไปเป็นมูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
(บ็อตเน็ตมีความหมายว่าเป็นกลุ่มของอุปกรณ์ที่ติดมัลแวร์และถูกเปลี่ยนเป็น Bot (ย่อมาจาก Robot) ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เว็บแคม เราท์เตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ในบ้าน เพื่อรอรับคำสั่งจากแฮ็กเกอร์ )
ล่าสุดมีข่าวเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมาจากสำนักข่าวในสิงคโปร์ระบุว่าทางการสิงคโปร์ได้จับกุมนายหวัง หยุนเหอ วัย 35 ปีได้แล้วตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยการจับกุมนั้นเป็นปฎิบัติการร่วมกันระหว่างประเทศ และยังมีการตั้งข้อหานายหวังว่ามีความผิดเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงขนาดใหญ่ และความผิดในข้อหาแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก
เจ้าหน้าที่ตำรวจสิงคโปร์ (SPF) ยืนยันการจับกุมนายหวังเนื่องจากต้องสงสัยว่าเขาเป็นผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดทางด้านไซเบอร์ในสหรัฐฯ ซึ่งหลังจากการจับกุมไม่นานทางการสหรัฐฯก็ได้ยื่นคำร้องขอส่งตัวข้ามแดนมายังสิงคโปร์ ตามสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่สหรัฐฯมีกับสิงคโปร์
ทางการสหรัฐฯกล่าวว่านายหวังได้ดำเนินการใช้งานบ็อตเน็ตขนาดใหญ่มากว่าทศวรรษแล้ว
ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) กล่าวโดยอ้างคำพูดของนายคริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอว่า 911 S5 บ็อตเน็ตนั้นเป็นเครือข่ายมัลแวร์ที่เข้าไปแพร่เชื้อควบคุมคอมพิวเตอร์หลายเครื่องใน 200 ประเทศทั่วโลก หรือก็คือเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก
บ็อตเน็ตเหล่านี้สามารถสะสมกำไรได้เป็นจำนวนมหาศาล ด้วยการขายการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ ทำให้อาชญากรที่ใช้คอมพิวเตอร์ที่ติดเชื้อบ็อตเน็ตสามารถขโมยข้อมูลประจําตัว แสวงประโยชน์จากเด็กและการฉ้อโกงทางการเงินรวมถึงการหลอกลวงการสมัครเพื่อขอรับการบรรเทาทุกข์จากโรคระบาดโควิด-19
ทางด้านของนายเบร็ท เลเธอร์แมน รองผู้ช่วยผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการไซเบอร์ของเอฟบีไอได้ให้สัมภาษณ์ว่าตอนนี้มีการออกหมายค้นทั้งในประเทศสิงคโปร์และในประเทศไทยแล้ว
ขณะที่ DOJ กล่าวในแถลงการณ์ลงวันที่ 29 พ.ค. ว่านายหวังและบุคคลอื่นที่ไม่ได้ระบุชื่อถูกกล่าวหาว่าสร้างและเผยแพร่มัลแวร์ซึ่งเข้าบุกรุกไปยังเครือข่ายเน็ตเวิร์กซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนหลายล้านเครื่องทั่วโลก
นับตั้งแต่ปี 2561-2565 นายหวังได้รับเงินจำนวน 99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3,634,438,500 บาท) จากการขายไอพีแอดเดรสที่ถูกบ็อตเน็ตปล้นมา โดยเงินที่งานหวังได้รับนั้นมาทั้งในรูปแบบของสกุลเงินดิจิทัลหรือสกุลเงินเฟียต (สกุลเงินที่ถูกประกาศให้มีค่าโดยธนาคารกลางหรือรัฐบาลแต่ละประเทศ)
ทางการประเมินว่าในกรณีการขอความช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 คาดว่าน่าจะมีการยื่นแบบการขอความช่วยเหลือที่ไม่โปร่งใสเป็นจำนวน 560,000 แบบฟอร์ม มาจากไอพีแอดเดรสที่ถูกปล้นไป
นายหวังยังถูกกล่าวหาว่าได้มีการจัดการบ็อตเน็ตผ่านเซิร์ฟเวอร์เฉพาะอีก 150 เครื่อง ครึ่งหนึ่งเช่าจากผู้ให้บริการออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา
DOJ กล่าวว่าปฏิบัติการดังกล่าวมีส่วนมาจากความพยายามของหลายหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา,สิงคโปร์,ไทย และเยอรมนี
ตํารวจสิงคโปร์กล่าวเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ว่าพวกเขาและสํานักงานอัยการสูงสุดได้ทํางานเกี่ยวกับคดีนี้ร่วมกับ DOJ และเอฟบีไอตั้งแต่เดือนส.ค. 2565
เรียบเรียงจาก:https://www.channelnewsasia.com/world/largest-ever-cybercrime-botnet-manager-arrested-4372541