"...กรณีสินบนกับลูกค้า A เกิดขึ้นอย่างน้อยในช่วงปี 2561 และในปี 2562 โดยรายละเอียดสินบนมีทั้งการให้เงินค่าของขวัญ กิจกรรมบันเทิงที่มีลักษณะฟุ่มเฟือย การพาไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ภายใต้รายละเอียดการเดินทางว่าเป็นการพาไปชมโรงงาน และการมอบเงินสด ซึ่งถูกระบุว่าเป็นค่านายหน้าให้กับพนักงานบริษัทของลูกค้า A ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง โดยบริษัทเวิร์ทเก้นได้ประโยชน์จากการที่ลูกค้า A ได้ดำเนินการจัดซื้ออะไหล่ที่จำเป็นในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2566 ซึ่งการจัดซื้อดังกล่าวนั้นก็เป็นผลสืบเนื่องจากการให้สินบนนั่นเอง..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
กรณี สื่อต่างประเทศ รายงานข่าวอ้างอิงจากข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) สหรัฐ ระบุว่า บริษัทเดียร์ แอนด์ คอมพานี (Deere & Company) หรือจอห์นเดียร์ ผู้ผลิตรถแทรกเตอร์ชื่อดังได้ตกลงที่จะจ่ายเงินเกือบสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อยุติข้อกล่าวหาของ SEC ว่า ละเมิดกฎหมายการทุจริตในต่างประเทศหรือ FCPA โดยข้อกล่าวหานั้นระบุว่า บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด (Wirtgen Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในประเทศไทยได้มีการจ่ายเงินสินบนให้กับทางไทยนั้น
ขณะที่ บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัทอีกต่อไปแล้ว โดยบริษัทฯ ความมุ่งมั่นรักษามาตรฐานจริยธรรมและขอประณามการปฏิบัติดังกล่าวอย่างรุนแรง
- ขอประณามอย่างรุนแรง! 'เวิร์ทเก้น'แจงผู้เกี่ยวข้องสินบนพ้น พนง.แล้ว - ยันรักษาจริยธรรม
- บ.ลูกจอห์นเดียร์ เผยเรียนผู้บริหารทราบข้อกล่าวหาสินบน ทอ. กรมทางหลวงแล้ว รอออกแถลงชี้แจง
- คว้างานรัฐ 16 โครงการ 243 ล.! เปิดตัว 'เวิร์ทเก้น' บ.ลูกในไทยจอห์นเดียร์ คดีติดสินบนจนท.
- เจาะไส้ใน 8 ส.ปี 60-63 บ.เวิร์ทเก้นฯได้งานกองทัพอากาศ กรมทางหลวง/ชนบท ก่อนคดีติดสินบน
- แฉยับ! พฤติการณ์จนท.'ทอ.-ทล.' รับสินบนบ.ลูกจอห์นเดียร์ จ่ายเงินสด-ร้านนวด-พาเมียดูงาน ตปท.
- ป.ป.ช.เร่งสอบ-ประสาน SEC หลังจอห์นเดียร์ถูกปรับ เหตุ บ.ลูกจ่ายสินบนให้ จนท.ไทย
- ผบ.ทอ.สั่งหาข้อเท็จจริง ข่าว บ.ลูกจอห์นเดียร์จ่ายสินบน-เชื่อไม่เกี่ยวเหตุจัดซื้อกริพเพน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลพบว่าจากข่าวสินบนดังกล่าว ทาง SEC ได้มีการลงข้อมูลเอกสารบรรยายพฤติการณ์อดีตพนักงานบริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ได้จ่ายสินบนให้กับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงบริษัทเอกชนเอาไว้ด้วย
โดยพฤติการณ์ที่อดีตพนักงานบริษัทเวิร์ทเก้น จ่ายสินบนให้กับบริษัทเอกชนในไทย มีรายละเอียดดังนี้
ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการให้สินบนกับหน่วยงานรัฐในประเทศไทย มีรายงานว่าบริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ยังได้มีความเกี่ยวข้องกับสินบนทางการค้ากับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งทาง SEC ระบุชื่อย่อแค่ว่าเป็น ‘ลูกค้า A’ ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ในประเทศไทย แต่ไม่ได้ระบุชื่อเต็มว่าบริษัทก่อสร้างนี้บริษัทเอกชนรายใดกันแน่
งานวันเทคโนโลยีบริษัทเวิร์ทเก้น (อ้างอิงวิดีโอจาก Wirtgen Group)
โดยรูปแบบการดำเนินงานของบริษัทเวิร์ทเก้น ในการติดต่อลูกค้า A มีลักษณะคล้ายกับตอนที่ติดต่อกับหน่วยงานรัฐ เพื่อจะรักษายอดขายเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เอาไว้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการซื้ออะไหล่ในภายหลังเพื่อให้เครื่องจักรใช้งานได้
กรณีสินบนกับลูกค้า A เกิดขึ้นอย่างน้อยในช่วงปี 2561 และในปี 2562 โดยรายละเอียดสินบนมีทั้งการให้เงินค่าของขวัญ กิจกรรมบันเทิงที่มีลักษณะฟุ่มเฟือย การพาไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ภายใต้รายละเอียดการเดินทางว่าเป็นการพาไปชมโรงงาน และการมอบเงินสด ซึ่งถูกระบุว่าเป็นค่านายหน้าให้กับพนักงานบริษัทของลูกค้า A ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง
โดยบริษัทเวิร์ทเก้นได้ประโยชน์จากการที่ลูกค้า A ได้ดำเนินการจัดซื้ออะไหล่ที่จำเป็นในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2566 ซึ่งการจัดซื้อดังกล่าวนั้นก็เป็นผลสืบเนื่องจากการให้สินบนนั่นเอง
รายงาน SEC ระบุว่าบริษัทเวิร์ทเก้นได้มีการจ่ายเงินสดให้กับพนักงานบริษัทลูกค้า A ในช่วงปี 2561 และในปี 2562 เป็นเงินทั้งสิ้น 35,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,165,325 บาท) ซึ่งการจ่ายเงินนี้ถูกบันทึกไว้ในบัญชีและบันทึกว่าเป็นเงินสัดส่วน 3 เปอร์เซ็นต์ขอการชำระเงินค่านายหน้าสำหรับซื้อขายและเงินค่าคอมมิชชั่นในการดำเนินการขาย
รายละเอียดสินบนนั้นนอกเหนือจากเงินสดสำหรับพนักงานของลูกค้า A แล้ว ยังครอบคลุมไปถึงการพาสมาชิกครอบครัวจำนวน 3 คน ของพนักงานลูกค้า A ไปเที่ยวที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นเวลาหลายวัน โดยอ้างว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของทริปเยี่ยมชมโรงงาน
โดยหัวข้อของทริปต่างประเทศดังกล่าวถูกระบุว่าเป็นทริปพาเข้าร่วมชมงาน Bauma ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าในอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในช่วงเดือน เม.ย. 2562
มีการจ่ายเงินอีกครั้งหนึ่งที่ถูกพบว่าจ่ายให้กับหัวหน้าฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างของลูกค้า A โดยผู้จัดการให้มีการจ่ายเงินเกิดขึ้นได้ ได้แก่กรรมการผู้จัดการของบริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) และมีผู้อนุมัติการจ่ายเงินได้แก่กรรมการผู้จัดการบริษัทเวิร์ทเก้น ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรายละเอียดการจ่ายเงินให้กับพนักงานลูกค้า A ถูกระบุว่าเพื่อเป็นการขอบคุณ “การสนับสนุน” ของพวกเขาในการเลือกซื้อเครื่องจักรจากบริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย)
ตลอดช่วงปี 2561 และปี 2562 บริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ได้ดำเนินการติดสินบนลูกจ้างของลูกค้า A โดยจ่ายเงินเป็นมูลค่านับแสนดอลลาร์สหรัฐฯผ่านการพาไปเที่ยว โดยอ้างว่าเป็นทริปเยี่ยมชมโรงงาน ซึ่งบริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) เป็นเจ้าภาพในการต้อนรับตัวแทนจากลูกค้า A และบางครั้งก็มีการต้อนรับตัวแทนจากหน่วยงานอื่นๆทั้งบริษัทเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ
จุดประสงค์ของทริปไปเที่ยวดังกล่าวดูเหมือนว่าจะพาไปชมโรงงานที่เยอรมนี อย่างไรก็ตามเวิร์ทเก้นนั้นดำเนินการในแนวปฏิบัติที่ไม่ได้เขียนไว้ในการให้รางวัลกับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศอย่างไม่เหมาะสม และพนักงานของลูกค้าเชิงพาณิชย์ได้มีการจัดซื้ออะไหล่ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดด้วย “ทริปการเยี่ยมชมโรงงาน” ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นการพาไปท่องเที่ยวเป็นหลัก
ตัวอย่างเช่นในเดือน เม.ย.2561 มีกรณีพนักงานของลูกค้า A 2 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นรับสินบนเป็นเงินสดซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงยอดขายเครื่องจักรในปี 2561 ปรากฏว่าทั้ง 2 รายนี้ได้ไปเที่ยวทริปเป็นเวลา 8 วันที่อิตาลี เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงเดือน ต.ค.2561
เอกสารของบริษัทระบุถึงการเดินทางครั้งนี้โดยอ้างถึงการซื้อเครื่องจักรครั้งล่าสุดของลูกค้า A และระบุอีกว่า “เรายังมีศักยภาพสำหรับโครงการใหม่ ที่จะมาเร็วๆนี้”
พนักงานจากลูกค้า A รายเดียวกันกับที่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศในปี 2561 ต่อมาในเดือน เม.ย. 2562 พนักงานรายนี้ก็ยังได้ไปเที่ยวต่างประเทศที่เยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นเวลา 7 วัน และสมาชิกครอบครัวของเขาจำนวน 3 คนก็ยังได้ร่วมไปเที่ยวต่างประเทศด้วยเช่นกัน
งานวันลูกค้าของบริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) เมื่อปี 2566 จัดงาน ณ ที่ทำการบริษัทย่านบางนา (อ้างอิงวิดีโอจาก Gorilla Company Limited)
ท้ายที่สุด ตัวแทนจากลูกค้า A จำนวน 2 ราย ยังได้ไปเที่ยวต่างประเทศเป็นเวลา 9 วันในเดือน ต.ค. 2562 โดยไปที่เยอรมนี,สาธารณรัฐเช็กและออสเตรีย ซึ่งในรายละเอียดระบุว่าการไปเที่ยวนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเยี่ยมชมโรงงาน
ในเดือน เม.ย. 2562 บริษัทเวิร์ทเก้น ยังได้จ่ายเงินให้กับพนักงานของลูกค้า A รายหนึ่ง คิดเป็นจำนวนเงิน 7 หมื่นบาท โดยอ้างถึงการจ่ายเงินนี้ว่าเป็นค่าท่องเที่ยว ที่เกี่ยวกับทริปการเดินทางที่กำลังจะมาถึง และสัญญาว่าจะจัดเตรียมเท่าที่สามารถจะจ่ายได้ในอนาคต ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับทัวร์
กรรมการผู้จัดการบริษัทเวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ยังได้มีการส่งภาพแคปหน้าจอให้กับผู้จัดการฝ่ายการเงินของเวิร์ทเก้น รายละเอียดนั้นเป็นภาพของการสนทนาข้อความยืนยันการจ่ายเงิน 7 หมื่นบาท และอ้างอีกว่าเงินนี้มากกว่าเงินสินบนจำนวน 3 หมื่นบาทที่จ่ายไปก่อนหน้านี้ให้กับลูกค้า A
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำจากกรรมการผู้จัดการของเวิร์ทเก้นแนะนำให้ผู้จัดการฝ่ายการเงินฝากเงินสินบนเข้าบัญชีธนาคารพนักงานของลูกค้า A ด้วยเช่นกัน
บริษัทเวิร์ทเก้น ยังเคยพาพนักงานหลายคนของลูกค้า A ไปทำกิจกรรมบันเทิงที่ร้านนวด ซึ่งพนักงานหลายคนนี้ก็รวมถึงผู้จัดการด้านชิ้นส่วนของลูกค้า A รายเดิมที่เคยไปทริปต่างประเทศในเดือน ต.ค. 2561 โดยการพาไปร้านนวดนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561-2563 และเสียค่าใช้จ่ายรวม 2,261 ดอลลาร์สหรัฐฯ (75,138 บาท)
ผลจากการจ่ายสินบน ทั้งด้วยเงินสด ของขวัญ กิจกรรมบันเทิง การไปเที่ยวต่างประเทศ ส่งผลทำให้บริษัทเวิร์ทเก้นทำกำไรไปได้ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (49,854,750 บาท) จากยอดขายเครื่องจักรและอะไหล่ทั้งหมดที่ขายให้กับลูกค้า A ในช่วงปี 2561-2566 ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (176,174,650 บาท)
ส่วนข้อมูลสำคัญอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอในตอนต่อๆ ไป