"...ทำไม กระบวนการตรวจสอบของกองทัพอากาศ ถึงดู (เหมือน) จะเชื่อฟังข้อมูลจากคำชี้แจง ของผู้เกี่ยวข้องมากหนัก? (พูดชี้แจงอะไรก็เชื่อหมดหรือ?) ... การรวบรวมข้อเท็จจริง (fact finding) ของกองทัพอากาศ มีกระบวนการทำงานอย่างไร? แค่ทำหนังสือไปสอบถาม หรือเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงสอบสวนด้วย? มีการตรวจสอบยืนยันข้อมูลไปยัง SEC สหรัฐ เพื่อนำมาใช้ประกอบการตรวจสอบหรือไม่? เพราะมีการระบุพฤติการณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมไปช่วงเวลาการดำเนินโครงการฯ ไว้อย่างชัดเจน..."
คดีสินบน บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีการจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐของไทย เพื่อแลกสัญญางานมูลค่าหลายร้อยล้านบาท อันเป็นมาจากเปิดเผยข้อมูลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) สหรัฐ ที่ระบุว่า บริษัทเดียร์ แอนด์ คอมพานี (Deere & Company) หรือจอห์นเดียร์ ผู้ผลิตรถแทรกเตอร์ชื่อดังได้ตกลงที่จะจ่ายเงินเกือบสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อยุติข้อกล่าวหาของ SEC เกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายการทุจริตในต่างประเทศหรือ FCPA กรณีบริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด (Wirtgen Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในประเทศไทยได้มีการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐของไทย ได้แก่ กองทัพอากาศ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ในช่วงปี 2560 -2563
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามขยายผลตรวจสอบข้อมูลเชิงมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเกิดขึ้น ทั้งในส่วนของกระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด กรมทางหลวง , กรมทางหลวงชนบท และ กองทัพอากาศ พร้อมกัน
กล่าวคือ ในส่วนกระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2567 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงคมนาคม เลขที่ 127/2567 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้แล้ว มีนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการฯ หลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2567 นายสุริยะ ออกมาระบุว่า ขอเวลา 2 สัปดาห์ ในการหารายละเอียดเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เกีดขึ้นมานานแล้ว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญการกับตรวจสอบปัญหาเรื่องทุจริต
สำหรับการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ ที่มีนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน นั้น นายสุริยะ ย้ำว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล และรักษาผลประโยชน์ของราชการ พร้อมทั้งรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของกระทรวงคมนาคม โดยให้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนในกรณีที่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใดที่กล่าวอ้างหรือพาดพิงถึงบุคคล เอกสาร หรือวัตถุที่จะเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้คณะกรรมการฯ ทำการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานนั้นไว้ให้ครบถ้วน
นอกจากนี้ ให้คณะกรรมการฯ เรียกบุคคลใดมาเป็นพยานเพื่อชี้แจงหรือให้ถ้อยคำตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ได้ รวมถึงตรวจสอบหากมีการพาดพิงในกรณีอื่นที่มีบริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมด้วย อย่างไรก็ตาม ให้คณะกรรมการฯ พิจารณาทำความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมจัดทำรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาภายใน 15 วัน
นายสุริยะ ยังระบุด้วยว่า จากข้อมูลรายงานว่า บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้สินบนเจ้าหน้าที่ในสังกัด ทล. และ ทช. นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 - 2563 เพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโครงการจ้างต่าง ๆ หรือการจัดซื้อจัดจ้าง และข้อกำหนดของโครงการหรืองานจ้างของ ทล. และ ทช. ซึ่งได้ให้สินบนโดยทางตรงหรือทางอ้อมในหลายรูปแบบ เช่น การให้เงินสด การเลี้ยงอาหาร การจ่ายเงินในรูปค่าที่ปรึกษา การพาเจ้าหน้าที่รวมถึงญาติเที่ยวต่างประเทศ โดยอ้างว่าเป็นการศึกษาดูงานที่ประเทศสวิตเชอร์แลนด์ รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ตลอดทั้งการให้ความบันเทิงในสถานอาบอบนวด
สำหรับการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างหรืองานของ ทล. ได้แก่ 1) โครงการซื้อรถบดล้อยางเคลื่อนด้วยตัวเอง ขนาดไม่น้อยกว่า 10 ตัน จำนวน 20 คัน 2) โครงการซื้อรถบดสั่นสะเทือนล้อหน้าเหล็กล้อหลังยาง ขนาดไม่น้อยกว่า 3 ตัน จำนวน 18 คัน 3) โครงการซื้อรถบดสั่นสะเทือนล้อเหล็ก ขนาดไม่น้อยกว่า 17 ตัน จำนวน 5 คัน 4) โครงการซื้อรถขูดไสผิวถนน ความกว้างของเพลาขูดไส (DRUM) ไม่น้อยกว่า 1 เมตร 5) โครงการซื้อรถขูดไสผิวถนน ความกว้างของเพลาขูดไส (DRUM) ไม่น้อยกว่า 500 มม. จำนวน 2 คัน 6) โครงการซ่อมบำรุงเครื่องจักร/ยานพาหนะ ประเภทรถขูดไสหมายเลขทะเบียน 1-ตค 3415 กรุงเทพมหานคร และ 7) โครงการซื้อวัสดุยานพาหนะ ขณะที่ การให้สินบนในโครงการจัดซื้อจัดจ้างหรืองานของ ทช. เช่น โครงการซื้อรถบดแบบผสม (ล้อเหล็ก - ล้อยาง) ขนาดเล็ก ไม่เกิน 4 ตัน จำนวน 18 คัน และโครงการหรืองานอื่น ๆ
เหล่านี้ คือ กระบวนการตรวจสอบข้อกล่าวหาสินบน บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ของเจ้าหน้าที่รัฐไทย ในส่วนของกระทรวงคมนาคม
ข้ามฝากไปดูในส่วนของกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2567 พล.อ.ต.บุญเลิศ อันดารา อดีตโฆษกกองทัพอากาศ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการรวบรวมข้อเท็จจริงข้อกล่าวหากรณีสินบน บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด เช่นกัน
พล.อ.ต.บุญเลิศ ระบุว่า ข้อมูลการตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งภายหลังจากรวบรวมข้อเท็จจริง (fact finding) ทั้งหมดแล้ว ได้ตรวจสอบทั้งรายละเอียดที่มาของโครงการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว โดยใคร อย่างไร หน่วยงานไหน มีมูลเหตุหรือไม่ ปรากฏว่า “ไม่พบข้อมูล” จึงไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงใด ๆ
พล.อ.ต.บุญเลิศ ยังกล่าวย้ำว่า เมื่อสอบถามหน่วยงานที่ปรากฎในข่าวไปแล้ว ไม่มีเหตุตรงนี้เกิดขึ้น จึงไม่มีข้อเท็จจริงให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงได้ ยกเว้นในอนาคตมีหลักฐานเพิ่มเติม
พร้อมระบุด้วยว่า
"ได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้างโครงการที่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่งได้รับการยืนยันกลับมาว่า ไม่มีการเรียกร้องใด และไม่มีหลักฐานใดที่เป็นประเด็นเกิดขึ้นจึงไม่มีการเดินหน้าต่อ"
“พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ได้กำชับว่า จากนี้ไปเรื่องแบบนี้ต้องไม่เกิด ซึ่งที่ผ่านมากองทัพอากาศทำอย่างโปร่งใสมาโดยตลอดและสามารถตรวจสอบได้”
“กองทัพไม่ได้นิ่งเฉย ถ้าวันหนึ่งเรามี evidence (หลักฐาน) ผมเชื่อว่า ไม่มีทางปกปิดอยู่แล้ว ผู้บังคับบัญชาไม่มีทางปกปิดเรื่องนี้แน่นอน และถ้ามี evidence ลงโทษทันที ทำทันที ด้วยศักดิ์ศรีของเรา เราไม่แลกกับเรื่องแบบนี้เด็ดขาด”
ทั้งนี้ การให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ต.บุญเลิศ ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พล.อ.ต.บุญเลิศ ออกมาระบุว่า กำลังค้นหาข้อเท็จจริง (fact finding) ว่า ที่กล่าวอ้างคืออะไร และได้ประสานไปยัง ‘แหล่งข่าว’ แล้วว่า มีข้อมูลอ้างอิง (reference) ให้หรือไม่ ซึ่งกองทัพอากาศให้ความสำคัญและสั่งการให้ติดตามอย่างใกล้ชิด
พล.อ.ต.บุญเลิศ ยังย้ำว่า "จะติดตามทีมงานที่ได้สั่งการให้ไปสืบค้นเรื่องนี้มีฐานข้อมูลอะไรเพิ่มเติมบ้างเพื่อไปเช็กที่ต้นตอของข่าว เช่น SEC หลังจากนั้นถึงจะกลับมาตรวจสอบกับหน่วยงานว่ามีส่วนใดที่เกี่ยวข้อง ถ้าเกี่ยวข้องตรงกันก็จะเรียบผบ.ทอ.และดำเนินการสืบค้นหาข้อเท็จจริง เนื่องจากเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อกองทัพอากาศ”
ขณะที่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผบ.ทอ.ระบุถึงกรณีนี้เช่นกันว่า ได้รับทราบข้อมูลแล้ว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างปี 2562-2563 เป็นลักษณะการจัดซื้อจัดหาทั่วไป และโครงการดังกล่าวอยู่ในรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ e-Bidding ไม่สามารถเลือกบริษัทได้ แต่ดูว่าบริษัทไหนให้ราคาดีตรงตามสเปกมากที่สุด
พร้อมยืนยันว่า “การปฏิบัติส่วนตัว ส่วนบุคคล เราไม่อาจทราบได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบันกองทัพอากาศพยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ หากอยู่นอกเหนือการควบคุม เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ทราบจริงๆ เชื่อว่ากองทัพอากาศทำทุกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้”
เหล่านี้ คือ กระบวนการตรวจสอบข้อกล่าวหาสินบน บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ของเจ้าหน้าที่รัฐไทย ในส่วนของกองทัพอากาศ
@ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล
จากข้อมูลความเคลื่อนไหวท่าทีของกระทรวงคมนาคม และกองทัพอากาศ ในการตรวจสอบกรณีสินบน บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด หากเปรียบเทียบกัน จะพบว่า
หนึ่ง.
กระบวนการตรวจสอบของกระทรวงคมนาคม ภายหลังจากผู้บริหารระดับสูงรับทราบเรื่อง มีการสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อหารายละเอียด ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีการสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นทางการ มีการระบุข้อมูลช่วงเวลาที่เกิดเหตุ รูปแบบการให้สินบน รายชื่อโครงการที่เข้าข่ายถูกตรวจสอบอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน (ข้อมูลส่วนใหญ่สอดคล้องกับรายงานตรวจสอบของ SEC สหรัฐ) แต่ต้องติดตามดูต่อไปว่า กระบวนการสอบสวนจะได้ผลออกมาอย่างไร? มีขบวนการช่วยเหลือกันหรือไม?
สอง.
กระบวนการตรวจสอบของกองทัพอากาศ เท่าที่ปรากฏต่อสาธารณะ มีเพียงแค่การให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารระดับสูง ว่าจะมีการตรวจสอบเรื่องนี้ ขณะที่กระบวนการวิธีการมีลักษณะมุ่งเน้นการสอบถามไปที่ แหล่งข่าว เพื่อหาที่มาของข่าว และการรวบรวมข้อเท็จจริง (fact finding) สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบทั้งรายละเอียดที่มาของโครงการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว โดยใคร อย่างไร หน่วยงานไหน มีมูลเหตุหรือไม่
เมื่อได้รับการยืนยันข้อมูลตอบกลับมาว่า ไม่มีการเรียกร้องใด และไม่มีหลักฐานใดที่เป็นประเด็นเกิดขึ้น จึงไม่มีการเดินหน้าต่อ ไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เปิดช่องไว้ว่า ยกเว้นในอนาคตมีหลักฐานเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี หากโฟกัสข้อมูลกระบวนการตรวจสอบในส่วนของกองทัพอากาศ จะพบข้อสังเกตและคำถามสำคัญดังนี้
1. ทำไม กระบวนการตรวจสอบของกองทัพอากาศ ถึงดู (เหมือน) จะเชื่อฟังข้อมูลจากคำชี้แจง ของผู้เกี่ยวข้องมากหนัก? (พูดชี้แจงอะไรก็เชื่อหมดหรือ?)
2. การรวบรวมข้อเท็จจริง (fact finding) ของกองทัพอากาศ มีกระบวนการทำงานอย่างไร? แค่ทำหนังสือไปสอบถาม หรือเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงสอบสวนด้วย? มีการตรวจสอบยืนยันข้อมูลไปยัง SEC สหรัฐ เพื่อนำมาใช้ประกอบการตรวจสอบหรือไม่? เพราะมีการระบุพฤติการณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมไปช่วงเวลาการดำเนินโครงการฯ ไว้อย่างชัดเจน
3. ที่สำคัญ ทำไมไม่แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้มีอำนาจหน้าที่เต็มที่เข้าไปตรวจสอบอย่างเป็นระบบเหมือนกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนครบถ้วนรอบด้าน ก่อนค่อยพิจารณาตัดสินใจ ทำไมรีบปิดสำนวนสอบโดนทั้งคำถามไว้มากมายแบบนี้ (ข้อมูลหลักฐานที่ยืนยันว่าไม่มีใครผิด คืออะไร?)
หรือกองทัพอากาศ ต้องการที่จะรีบตัดจบเรื่อง และโยนภาระหน้าที่ให้หน่วยงานตรวจสอบ อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาติดตามตรวจสอบเรื่องนี้เอง เพราะคิดว่าน่าจะใช้เวลานาน ถ้าผลการตรวจสอบในอนาคตออกมาไม่พบความผิด เรื่องก็จะได้เงียบๆ จบๆ กันไป
ด้วยกระบวนการตรวจสอบ แบบที่เห็นและเป็นไปอยู่ในขณะนี้ จึงอาจจะทำให้ กองทัพอากาศ เสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบว่า มีความจริงใจ ให้ความสำคัญในเรื่องการตรวจสอบปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานของตนเอง มากน้อยเพียงใด
ทั้งที่ กองทัพอากาศ คือ หน่วยงานทหารที่สำคัญของประเทศ ควรต้องเป็นแบบอย่าง เรื่องความโปร่งใส ยุติธรรม ให้กับหน่วยงานอื่นๆ และสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ในกระบวนการทำงานทุกเรื่อง
กรณีนี้ จึงยังไม่สาย ที่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผบ.ทอ. จะรีบสั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นทางการ ตรวจสอบปัญหาการทุจริตในหน่วยงานอย่างจริงจัง จริงใจ ด้วยอำนาจตามระเบียบที่มีอยู่ทั้งหมด
ตามคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ที่ระบุว่า "เชื่อว่ากองทัพอากาศทำทุกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้"
เพราะเมื่อท่านพูดคนจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำคนจะเชื่อถือ มิใช่หรือ?
อ่านประกอบ :
- จอห์นเดียร์ ยอมจ่าย330 ล.แลก SEC ยุติคดีบ.ลูกในไทยติดสินบนจนท.กองทัพอากาศ กรมทางหลวง (1)
- คว้างานรัฐ 16 โครงการ 243 ล.! เปิดตัว 'เวิร์ทเก้น' บ.ลูกในไทยจอห์นเดียร์ คดีติดสินบนจนท. (2)
- เจาะไส้ใน 8 ส.ปี 60-63 บ.เวิร์ทเก้นฯได้งานกองทัพอากาศ กรมทางหลวง/ชนบท ก่อนคดีติดสินบน (3)
- แฉยับ! พฤติการณ์จนท.'ทอ.-ทล.' รับสินบนบ.ลูกจอห์นเดียร์ จ่ายเงินสด-ร้านนวด-พาเมียดูงาน ตปท. (4)
- ป.ป.ช.เร่งสอบ-ประสาน SEC หลังจอห์นเดียร์ถูกปรับ เหตุ บ.ลูกจ่ายสินบนให้ จนท.ไทย (5)
- บ.ลูกจอห์นเดียร์ เผยเรียนผู้บริหารทราบข้อกล่าวหาสินบน ทอ. กรมทางหลวงแล้ว รอออกแถลงชี้แจง (6)
- ผบ.ทอ.สั่งหาข้อเท็จจริง ข่าว บ.ลูกจอห์นเดียร์จ่ายสินบน-เชื่อไม่เกี่ยวเหตุจัดซื้อกริพเพน (7)
- ขอประณามอย่างรุนแรง! 'เวิร์ทเก้น'แจงผู้เกี่ยวข้องสินบนพ้น พนง.แล้ว - ยันรักษาจริยธรรม (8)
- เปิดผลสอบ SEC (1) : แกะรอย บ.ก่อสร้างรายใหญ่ไทย พนง.รับสินบนทำกำไรให้เวิร์ทเก้น 49 ล. (9)
- ผลสอบ SEC (2) สารพัดสินบน'เวิร์ทเก้น' ประเคน ทล.-ทช.ให้เงินลูกกวาด-'บิ๊กขรก.'เข้าร้านนวด (10)
- ผลสอบ SEC (3) 'เวิร์ทเก้น' จ่ายค่าร้านนวด 4 ปี เฉียด 2 ล. แลกสัญญา 'ทอ.-ทล.-ทช.' ร้อยล้าน (11)
- ขีดวง! งานจ้าง 'ทอ.-ทล.' โครงการไหนบ้าง? เข้าข่ายถูกสอบกรณีสินบนบ.ลูกจอห์นเดียร์ (12)
- อดีต ขรก.ทช.ผู้ลงนาม แจงไม่เกี่ยวข้อง คกก.จัดซื้อ ให้เวิร์ทเก้น ชนะสัญญารถบดถนน 41 ล. (13)
- สินบนข้ามชาติ ทอ. อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ถ้าไม่มีหลักฐานยกประโยชน์ให้จำเลย (14)
- เปิดตัว ผอ.กองพัสดุช่างโยธา ทอ.ยันจัดซื้อบ.เวิร์ทเก้น ถูกระเบียบ ไม่เกี่ยวข้องปมสินบน (15)
- แกะรอยมีใครบ้าง? กก.บ.เวิร์ทเก้น ช่วงปี 60-63 ก่อนเจอข้อครหาจ่ายสินบน จนท. ทอ. ทล. ทช. (16)