สื่อนอกตีข่าวชาวอังกฤษในไทยรับค่าจ้าง 1.8 แสน พร้อมชุดสูทสุดหรูหรา โปรโมตเหรียญคริปโท HyperVerse ดูดเงินกว่า 4.5 หมื่น ล.ก่อนปิดตัว เจ้าตัวรับเสียใจ ขณะที่สหรัฐฯ ทางการจับกุมผู้โปรโมตเหรียญ HyperVerse ด้วยข้อหาประกอบธุรกิจส่งเงินไม่ได้รับใบอนุญาต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตว่าเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวการ์เดียนได้รายงานข่าวว่าชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกวางตัวให้เป็นหัวหน้าผู้บริหารของโครงการคริปโทที่ปิดตัว ได้ออกมายอมรับว่าเขาได้รับการจ่ายเงินเป็นจำนวน 180,000 บาท และเสื้อสูทคุณภาพดีเพื่อแลกกับการโปรโมตให้คนมาลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวซึ่งชื่อว่าเหรียญ HyperVerse
ชาวอังกฤษคนนี้มีชื่อว่านายสตีเฟน แฮร์ริสัน โดยเขาถูกว่าจ้างให้นำเสนอตัวเองในชื่อว่านายสตีเวน รีซ ลูอิส หรือ Steven Reece Lewis (ในเนื้อหาข่าวไม่ได้ระบุว่าการนำเสนอตัวเองด้วยชื่ออื่นเป็นแนวคิดของนายแฮร์ริสัน หรือว่าของผู้ว่าจ้าง) เป็นประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารในช่วงที่เหรียญคริปโท HyperVerse เปิดตัว ซึ่งก็คือในช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565
วิดีโอของนายนายสตีเฟน แฮร์ริสัน ซึงในวิดีโอใช้ชื่อนายสตีเวน รีซ ลูอิส (อ้างอิงวิดีโอจากช่อง Hyperserse)
นายแฮร์ริสันให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวการ์เดียนออสเตรเลีย โดยเขาออกมายอมรับว่ารู้สึกตกใจมากที่บริษัทซึ่งได้นำตัวเขาไปใช้เพื่อโปรโมตคริปโท นั้นเป็นบริษัทที่มีพฤติกรรมการปลอมแปลงหนังสือรับรองบริษัทเพื่อใช้ในการโปรโมตโครงการคริปโท
นายแฮร์ริสันกล่าวว่าเขารู้สึกเสียใจกับผู้ที่เสียเงินไปกับการลงทุนในคริปโทนี้ แต่เขายืนยันว่าไม่ได้มีส่วนในบทบาทการหลอกลวงนี้แต่อย่างใด ขณะที่บริษัทวิเคราะห์บล็อกเชน Chainalysis ประเมินว่าแค่ในปี 2565 แค่เพียงปีเดียวพบว่ามีการลงเงินไปกับคริปโทตัวนี้อยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (45,461,000,000 บาท)
“ผมขอโทษสำหรับคนเหล่านี้ เพราะพวกเขาเชื่อในแนวคิดแบบเดียวกับที่ผมเชื่อเมื่อได้เห็นแค่ฉากหน้า และพวกเขาเชื่อในสิ่งที่ผมพูด และผมรู้สึกแย่กับเรื่องนี้” นายแฮร์ริสันกล่าว
สำหรับเงื่อนไขสัญญานั้นนายแฮร์ริสันกล่าวว่าเป็นสัญญาที่มีระยะเวลา 3 เดือน สามารถต่อสัญญาได้เรื่อยๆ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเขาจะได้รับเงินประมาณเดือนละ 20,000 บาท แลกกับการทำงานสูงสุด 6 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งเขาทำงานจริงในแต่ละเดือนแค่ประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น
โดยรายละเอียดงานของนายแฮร์ริสันในแต่ละเดือนจะเป็นการนำเสนอวิดีโอโปรโมตคริปโทเป็นจำนวน 3 คลิปต่อเดือน ซึ่งก่อนการทำคลิปจะมีการส่งสคริปต์ในแต่ละครั้ง และผู้ว่าจ้างยังได้เคยบอกกับนายแฮร์ริสันว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งจะมีแผนที่จะพานายแฮร์ริสันไปร่วมงานที่สหรัฐอเมริกา ทว่าเรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด
สำหรับกระบวนการถ่ายทำนั้นนายแฮร์ริสันจะได้รับเสื้อสูทวูลและสูทแคชเมียร์,เสื้อสูทสำหรับใส่ในทางธุรกิจอีกสองตัว เนคไท 2 เส้นและรองเท้าอีก 2 คู่ เพื่อใช้ในการแต่งตัวในคลิปวิดีโอ โดยการถ่ายทำคลิปจะถ่ายที่สตูดิโอชั่วคราวแห่งหนึ่งที่อยู่ในอพาร์ทเมนท์ย่านเอกมัย และต่อมาก็ย้ายไปถ่ายทำที่ตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์ในย่านสาธร
นายแฮร์ริสันกล่าวว่าสำหรับบัญชีทวิตเตอร์ซึ่งเป็นชื่อผู้บริหารปลอมๆของเหรียญคริปโทตัวนี้นั้น ก็ไม่มีการมากำกับดูแลแต่อย่างใด โดยพบว่าบนทวิตเตอร์บัญชีนี้มีข้อความสนับสนุนมาจากคนดังมากมาย อาทินายสตีฟ วอซเนียก ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล และชัค นอร์ริส ดาราฮอลลีวูด
นายแฮร์ริสินกล่าวต่อไปว่าส่วนสัญญาของเขาได้รับการต่อเป็นจำนวนสองครั้งได้แก่ในช่วงเดือน ก.ย.2564 และในช่วงเดือน มิ.ย.2565 หลังจากนั้นเขาก็ได้ทำเรื่องขอให้มีการปิดบัญชีทวิตเตอร์นี้ลง
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับเหรียญคริปโท HyperVerse พบว่ามีเจ้าของได้แก่บริษัท HyperTech Group โดยบริษัทนี้มีการดำเนินกิจการโดยนาย Sam Lee และ Ryan Xu โดยทั้งคู่เคยก่อตั้งบริษัทชื่อว่า Blockchain Global ซึ่งเป็นบริษัทบิตคอยน์สัญชาติออสเตรเลียที่ปิดตัวไปแล้ว โดยบริษัทปัจจุบันมีหนี้สินกับเจ้าหนี้เป็นมูลค่า 58 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (1,363,286,520 บาท)
ข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าว BehindMLM ระบุว่าตอนนี้ไม่มีใครทราบว่านาย Xu ไปอยู่ที่ไหน ส่วนนาย Lee ทราบว่าตอนนี้อยู่ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยนาย Lee ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเขามีส่วนก่อตั้ง HyperVerse และปฏิเสธข้อกล่าวอ้างว่ามันเป็นการหลอกลวงฉ้อโกง
อนึ่งการจับกุมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ม.ค. โดยที่สหรัฐอเมริกามีการจับกุมบุคคลชื่อว่านายร็อดนีย์ เบอร์ตัน (Rodney Burton) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Bitcoin Rodney ผู้โปรโมตเหรียญคริปโท HyperVerse เช่นเดียวกัน ซึ่งนายเบอร์ตันถูกตั้งข้อหาว่าประกอบกิจการและสมคบกันประกอบธุรกิจส่งเงินโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ตามข้อมูลสรรพากรสหรัฐฯ พบว่านายเบอร์ตันได้รับเงินเป็นจำนวน 562 ครั้ง คิดเป็นเงินรวมกว่า 7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (272,430,600 บาท) ในช่วงระหว่างเดือนมิ.ย.2563-ม.ค.2565
เรียบเรียงจาก:https://www.theguardian.com/technology/2024/jan/11/hyperverse-stephen-harrison-crypto-investors