เอกสารใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 11 ก.ค. 2563 นั้นจัดทำให้กับนายบาราคัต และประทับตราโดยบริษัทฟาดา โดยมีการระบุค่าจัดส่งในใบเสร็จรับเงินว่าอยู่ที่ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (53,249 บาท) ซึ่งมูลค่านี้ถือว่าเกินกว่าต้นทุนของราคารูปปั้นที่อยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ แน่นอนว่าใบเสร็จระบุรายละเอียดพัสดุว่าเป็นรูปปั้นสำหรับตกแต่งสวน
สืบเนื่องจากที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอข่าวกรณีร้านค้าในประเทศไทย ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนโบราณวัตถุจากอียิปต์ อายุหลายพันปี ลักลอบนำเข้าสู่สหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2563-2564
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศราจึงได้นำรายละเอียดเอกสารทางกฎหมายของนายอารอน ไคลน์ (Aaron Klein) เจ้าหน้าที่สืบสวนกระทรวงความมั่นคงมาตภูมิ สหรัฐอเมริกาที่ได้บรรยายถึงตัวละครที่เกี่ยวข้องและพฤติการณ์ต่างๆ มานำเสนอ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
สืบเนื่องจากที่กระทรวงความมั่นคงฯหรือ HSI และหน่วยงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนหรือ CBP ได้ดำเนินการสืบสวนเกี่ยวกับเครือข่ายข้ามชาติของกลุ่มผู้ปล้นสะดมโบราณวัตถุ และผู้ลักลอบขนของที่มีพฤติการณ์ลักลอบค้าโบราณวัตถุอียิปต์ ซึ่งถูกปล้นมาจากที่ต่างๆ และดำเนินการลักลอบขนผ่านหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเพื่อนำเข้าสู่สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆในยุโรป ด้วยจุดประสงค์เพื่อนำสิ่งของที่ถูกปล้นเหล่านี้ไปขายยังตลาดโบราณวัตถุต่อไป โดยบางกรณีการขายโบราณวัตถุก็กระทำผ่านเว็บขายของออนไลน์ชื่อดังซึ่งมีผู้ขายได้แก่ผู้ที่ทำงานกับผู้ที่ลักลอบ
สำหรับตัวละครที่เกี่ยวข้องในการนำเสนอครั้งนี้มีดังต่อไปนี้
1.บริษัทฟาดา (ขอสงวนชื่อเต็ม) เป็นบริษัทขนส่งที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ โดยข้อมูลจากทางการไทยระบุว่านายจาเว็ด (ขอสงวนชื่อเต็ม) ชาวปากีสถานที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นผู้อำนวยการบริษัทและผู้ถือหุ้นอันดับสองของบริษัทฟาดา
2.นายนาชี บาราคัต (Nazieh Barakat) ชาวแคนาดาที่อาศัยอยู่ที่เมืองแฮมิลตัน รัฐออนแทรีโอ แคนาดา และดําเนินกิจการหอศิลป์ที่เกี่ยวข้อง
3.บริษัทเอเชียแปซิฟิก (HK) เป็นบริษัทชิปปิ้งจากฮ่องกง
@กรณีบริษัทฟาดาพยายามที่จะส่งวัตถุโบราณเข้ามายังแคนาดา
ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2563 CBP ได้ดำเนินปฏิบัติการสกัดการขนส่งและตรวจสอบพัสดุที่ส่งมากับบริษัทขนส่งเฟดเอ็กซ์ (FedEx) โดยมีผู้ส่งได้แก่บริษัทฟาดา จากกรุงเทพ ส่งถึงนายบาราคัต ที่ประเทศแคนาดา ทว่าพัสดุถูกถูกตรวจสอบโดย CBP ที่นครแองเคอเรจ รัฐอลาสกา ก่อนที่จะมีการต่อยานพาหนะเพื่อขนส่งต่อไป
โดยบิลค่าเดินทางการขนส่งทางอากาศของเฟดเอ็กซ์ที่แนบมาด้วยนั้นมีการลงใบแจ้งหน้าลงวันที่ 11 ก.ค. 2563 จากบริษัทฟาดา และในใบแจ้งหนี้อธิบายถึงพัสดุที่มีการจัดส่งว่าเป็นประติมากรรมสวนหินสําหรับสวนในบ้าน มูลค่าอยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ (39,895 บาท)
เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบก็พบว่าแท้จริงแล้วพัสดุเป็นรูปปั้นของชายที่กำลังนั่งอยู่ (ดูภาพประกอบ)
รูปปั้นซึ่งถูกยึดได้ที่แองเคอเรจ
พอมาถึงวันที่ 20 ก.ค.2563 นักประวัติศาสตร์ด้านศิลปะอียิปต์โบราณ ได้มีการอธิบายถึงรูปภาพของรูปปั้นดังกล่าวและสรุปว่าแท้จริงแล้ว รูปปั้นนั้นเป็นงานศิลปะอียิปต์ของแท้ สามารถย้อนไปได้ถึงยุคราชวงศ์ที่ 4 หรือราชวงศ์ที่ 5 ในสมัยอาณาจักรอียิปต์โบราณ
นักประวัติศาสตร์รายนี้ยังให้ข้อมูลกับ CBP ว่ารูปปั้นประเภทนี้เป็นสิ่งที่มักพบกันเป็นปกติในพื้นที่แหล่งโบราณคดีใกล้กับพีระมิดกิซาและพีระมิดซัคคารา ซึ่งเป็นสุสานของราชวงศ์ใกล้กับนครหลวงโบราณเมมฟิส
เจ้าหน้าที่สืบสวนยังได้รับภาพนิ่งจากวิดีโอที่ส่งโดยผู้ลักลอบขนโบราณวัตถุในดูไบที่ส่งวิดีโอไปยังผู้ลักลอบขนโบราณวัตถุในเยอรมนีในปี 2555 และการขนส่งถูกสกัดกั้นโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศ
โดยภาพนิ่งดังกล่าว พบว่าเป็นรูปปั้นชิ้นเดียวกันกับที่ CBP ยึดได้ที่แองเคอเรจ และภาพด้านบน ซึ่งเป็นภาพที่แองเคอเรจ เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่ารูปปั้นนี้เคยผ่านการซื้อขายกันในตลาดมืด และต่อมาในวันที่ 3 ส.ค. 2563 ผู้ประเมินซึ่งผ่านการรับรอง ได้ประเมินว่ารูปปั้นชิ้นนี้มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (199,620,000 บาท)
รายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับรูปปั้น
ทั้งนี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 นายบาราคัตได้ส่งอีเมลตอบข้อซักถามจากทาง CBP เกี่ยวกับกรณีรูปปั้น ในอีเมลยังมีเอกสารแนบมาในหัวข้อว่า “เอกสารยืนยัน” ลงวันที่ 28 ก.ค. 2563 พร้อมทั้งเอกสารแจ้งหนี้ลงวันที่ 10 มิ.ย. 2563 เอกสารทั้งสองรายการ มีการเขียนบนหัวกระดาษ ระบุชื่อบริษัทอีกแห่งชื่อว่าบริษัท Asia Pacific (HK) Company ไม่ใช่บริษัทฟาดา อย่างไรก็ตามเอกสารทั้งสองฉบับไม่ได้ระบุรายละเอียดของการขนส่งต้นทางของรูปปั้นนี้
ข้อมูล “เอกสารยืนยัน” อธิบายถึงรูปปั้นว่าเป็นของจำลอง แต่อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างที่ว่าเป็นของจำลองนั้นไม่สอดคล้องกับมุมมองของนักประวัติศาสตร์ที่มองว่ารูปปั้นนั้นเป็นของแท้ จากยุคอาณาจักรอียิปต์โบราณอย่างแน่นอน
ข้อมูลจากใบแจ้งหนี้ยังมีความไม่สอดคล้องกับข้อมูลจากผู้ที่ประเมินราคาของรูปปั้นในท้องตลาด โดยในใบแจ้งหนี้ระบุว่ารูปปั้นนั้นมีมูลค่าประมาณ 2,500 ดอลลาร์ฮ่องกง (10,735 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 10 มิ.ย. 2563)
ใบแจ้งหนี้จากฮ่องกง ส่งถึงบริษัทฟาดาในประเทศไทย ซึ่งมีการระบุที่อยู่ของบริษัทฟาดาชัดเจน
ในวันที่ 31 ก.ค. 2563 นายบาราคัตได้ตอบข้อซักถามต่อคำถามเพิ่มเติมของ CBP เกี่ยวกับประเด็นเรื่องรูปปั้น โดยนายบาราคัตกล่าวว่าเขาซื้อรูปปั้นมาจากบริษัทฟาดา และรูปปั้นก็ถูกผลิตโดยบริษัท Asia Pacific (HK) Ltd นอกจากนี้เขายังได้แนบเอกสารสำเนาใบเสร็จส่งมาทางอีเมลประกอบกัน
เอกสารใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 11 ก.ค. 2563 นั้นจัดทำให้กับนายบาราคัต และประทับตราโดยบริษัทฟาดา โดยมีการระบุค่าจัดส่งในใบเสร็จรับเงินว่าอยู่ที่ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (53,249 บาท) ซึ่งมูลค่านี้ถือว่าเกินกว่าต้นทุนของราคารูปปั้นที่อยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ แน่นอนว่าใบเสร็จระบุรายละเอียดพัสดุว่าเป็นรูปปั้นสำหรับตกแต่งสวน นอกจากนี้นายบาราคัตยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมทั้งเบอร์โทรติดต่อของบุคคลที่อยู่ที่บริษัท Asia Pacific (HK) Ltd
เอกสารใบเสร็จจากบริษัทฟาดา ที่แจ้งค่าขนส่งแพงกว่าค่าพัสดุ
ขณะที่ข้อมูลที่ได้จากการใช้หมายค้น ค้นบัญชีใช้งานเว็บกูเกิลของนายบาราคัต เปิดเผยให้เห็นว่าในเดือน มิ.ย. 2563 นายบาราคัตได้ติดต่อกับตัวแทนจำหน่ายโบราณวัตถุชาวแคนาดา เนื้อหาการติดต่อเกี่ยวกับบริการแปลอักษรอียิปต์โบราณ
มีข้อสังเกตด้วยว่าในเดือน มี.ค.2562 นายบาราคัตได้ส่งภาพรูปปั้นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไปยังตัวแทนจำหน่ายรายนี้และขอความเห็นเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน โดยตัวแทนจำหน่ายแคนาดาได้ตอบกลับมาว่า “แม้ว่ามันจะค่อนข้างน่าเชื่อถือ แต่มันก็ไม่โบราณ” ซึ่งนายบาราคัตก็ได้กล่าวขอบคุณตอบกลับไป
ในอีเมลลงวันที่ 9 มิ.ย. 2563 นายบาราคัตได้ส่งอีเมลแนบรายละเอียดเป็นรูปภาพสามภาพ ระบุว่าขอให้วิเคราะห์ภาพแสดงอักษรอียิปต์โบราณ ที่ด้านหลังของรูปปั้นซึ่งเป็นรูปเดียวกับที่ถูกอายัดไว้ที่แองเคอเรจ ซึ่งตัวแทนจำหน่ายก็ยอมรับว่านี่เป็นชิ้นส่วนที่มีความเก่าแก่จริง นายบาราคัตจึงอีเมลกลับไปว่าเป็นรูปปั้น Tjenti แน่นอนใช่หรือไม่ เขารู้ว่ามันมาจากอาณาจักรเก่าจากรูปแบบของการแกะสลัก แต่เขาต้องการทำให้แน่ใจว่าใครคือรูปปั้นของชายที่นั่งอยู่
ตัวแทนจำหน่ายจึงตอบกลับมาว่า “ใช่ ถูกต้อง มันน่าประทับใจมาก” และอีเมลต่อมาตัวแทนจำหน่ายได้ส่งข้อความพร้อมรูป โดยบอกว่าเขาส่งลิงก์เฟซบุ๊กไปให้ ซึ่งกดเข้าไปในลิงก์ก็ปรากฎว่าเป็นกลุ่มรูปปั้นที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่กรุงเบอร์ลิน
อักษรอียิปต์โบราณที่มีลักษณะคล้ายกับรูปปั้นที่ถูกยึดที่แองเคอเรจ
ทั้งนี้ถ้าหากวิเคราะห์จากการโต้ตอบทางอีเมล ก็พอจะเชื่อได้ว่านายบาราคัตรับรู้อย่างแน่นอนว่าเขากำลังนำเข้าวัตถุโบราณ ไม่ใช่ตุ๊กตาประดับสวนตามที่ได้มีการกล่าวอ้างไว้บนใบเสร็จ
ขณะที่บันทึกจากเฟดเอ็กซ์แสดงให้เห็นว่านายบาราคัตได้รับพัสดุอีกอย่างน้อยสี่รายการจากบริษัทฟาดา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฟาดา ในช่วงก่อนหน้านี้ในปี 2562 โดยเอกสารสำหรับการจัดส่งอธิบายลักษณะพัสดุว่าเป็น หม้อแก้วขนาดเล็ก 22 ชิ้น โถ และชาม แผ่นกระจกสีขนาดเล็ก ชามและเครื่องปั้นดินเผา จานทองแดงและเซรามิก
“ผมเข้าใจว่าผู้ส่งสินค้าบ่อยครั้งใช้คําอธิบายที่คลุมเครือเช่นนี้เมื่อพยายามลักลอบขนโบราณวัตถุ” นายไคลน์ระบุในเอกสาร
การสืบสวนพบว่าบาราคัตเคยขายโบราณวัตถุมาก่อน ตัวอย่างเช่น ประมาณวันที่ 24 พ.ย. 2557 นายบาราคัตจัดประมูลบนเว็บไซต์ Liveauctioneers.com และเสนอขายโบราณวัตถุอียิปต์ นอกจากนี้ ในวันที่ 29 พ.ย. 2560 หอศิลป์ของนายบาราคัตในเมืองออนแทริโอ มีการออกใบเสร็จให้กับบริษัท Archaeological Center โดยใบเสร็จบรรยายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายกับรูปปั้นที่ยึดได้ที่แองเคอเรจ อาทิ "แก้วโบราณ" "เครื่องปั้นดินเผาโบราณ" "หินโบราณ" และ "ทองสัมฤทธิ์โบราณ
สำหรับบริษัท Archaeological Center พบว่าเป็นบริษัทที่มีหอศิลป์ในเมืองแจฟฟา ประเทศอิสราเอล และยังปรากฏชื่ออยู่ในใบแจ้งหนี้ของบริษัท Asia Pacific (HK) ตามข้อมูลที่ได้รับมาจากการสอบสวน
และนี่ก็คือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวละครที่มีส่วนในการใช้ประเทศไทยเชื่อมโยงไปถึงกิจกรรมลักลอบนำเข้าและส่งออกโบราณวัตถุอียิปต์ ที่มีความเก่าแก่นับหลายพันปี
ส่วนข้อมูลเชิงลึกไม่ว่าจะทั้งเกี่ยวกับบริษัทฟาดาว่าเป็นใครกันแน่ รวมไปถึงข้อมูลตัวละครอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในประเทศไทย สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอในโอกาสถัดไป
*หมายเหตุ: สืบเนื่องจากรายงานเอกสารของเจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา ที่ระบุเกี่ยวกับผู้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมลักลอบขนโบราณวัตถุนั้นมีการระบุชื่อของบุคคลหรือนิติบุคคลที่อยู่ในประเทศไทยชัดเจน ดังนั้นสำนักข่าวอิศราจึงต้องปกปิดชื่อเต็มของบุคคลเหล่านี้ไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับการชี้แจงข้อมูลอีกด้านหนึ่ง