"...จากข้อมูลส่วนนี้ ชี้ให้เห็นว่า โครงการของกองทัพอากาศ ที่เข้าข่ายมีปัญหาเรื่องการรับสินบน อยู่ในช่วงปี 2563 จำนวน 2 สัญญา รวมมูลค่างาน 22,460,373 บาท ส่วนโครงการที่มีปัญหาของกรมทางหลวง อยู่ในช่วงปี 2562 มูลค่างาน 16,818,411 บาท..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
กรณี สื่อต่างประเทศ รายงานข่าวอ้างอิงจากข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) สหรัฐ ระบุว่า บริษัทเดียร์ แอนด์ คอมพานี (Deere & Company) หรือจอห์นเดียร์ ผู้ผลิตรถแทรกเตอร์ชื่อดังได้ตกลงที่จะจ่ายเงินเกือบสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อยุติข้อกล่าวหาของ SEC ว่า ละเมิดกฎหมายการทุจริตในต่างประเทศหรือ FCPA
โดยข้อกล่าวหานั้นระบุว่า บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด (Wirtgen Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในประเทศไทยได้มีการจ่ายเงินสินบนให้กับทางไทยนั้น
ข้อมูลสำคัญล่าสุด ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
คงหนีไม่พ้นรายงานข่าวของสำนักข่าววอลสตรีทเจอร์นอลของสหรัฐอเมริกา (WSJ) ที่มีการเปิดเผยรายละเอียดพฤติการณ์การให้สินบนของเจ้าหน้าที่ บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ต่อเจ้าหน้าที่รัฐไทยเพื่อแลกสัญญางานมูลค่าหลายร้อยล้านบาท
หากพิจารณาข้อมูลตามรายงานข่าวของสำนักข่าววอลสตรีทเจอร์นอล จะพบว่า นอกจากการระบุถึงพฤติการณ์ลักษณะการให้สินบนตั้งแต่ช่วงปี 2560 คือ การมอบเงินสด ค่าธรรมเนียมการให้คําปรึกษาปลอมๆ ของขวัญอื่นๆ ชุดไม้กอล์ฟ รวมถึงการพาเจ้าหน้าที่ไปยังร้านนวด และพาไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ โดยอ้างว่าเป็นการพาไปเยี่ยมชมโรงงาน ซึ่งกรรมการและผู้จัดการของบริษัททั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการอนุมัติเงินเพื่อใช้จ่ายในการติดสินบนอย่างสม่ำเสมอแล้ว
ยังมีการระบุถึงข้อมูลช่วงเวลา ชื่อหน่วยงานของเจ้าหน้าที่รัฐไทย และมูลค่างาน เอาไว้หลายส่วน ดังนี้
1. มีกรณีหนึ่ง ค่าใช้จ่ายสำหรับการพาไปร้านนวดถูกระบุว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพอากาศไทยที่มีส่วนในการรับผิดชอบในการร่างและเลือกผู้ชนะการประกวดราคา ตามข้อมูลของ SEC ซึ่งปรากฏว่าในปี 2563 บริษัทเวิร์ทเก้นชนะการประกวดราคาในสัญญาของกองทัพอากาศเป็นจำนวนสองครั้ง มูลค่าสัญญารวม 665,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,460,373 บาท)
2. ย้อนไปเมื่อปี 2562 บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ได้จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐสี่คนจากกรมทางหลวงของไทยสำหรับการเดินทางไปยังประเทศเยอรมนี ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ว่านี้ก็รวมถึงสมาชิกของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างที่มีอย่างน้อยสองคนซึ่งพาคู่สมรสไปด้วย จุดประสงค์ที่ระบุไว้สำหรับการเดินทางก็คือการไปเยี่ยมชมโรงงาน แต่กำหนดการการเดินทางกลับไม่มีการแวะไปที่โรงงานแต่อย่างใด โดยทั้งกลุ่มได้ไปเที่ยวที่สวิตเซอร์แลนด์ พักโรงแรมหรูบนเทือกเขาแอลป์ ขณะที่บริษัทเดียร์ระบุว่าใช้จ่ายเงินเป็นจำนวน 47,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,603,243 บาท) สำหรับทริปการเดินทางแปดวันที่ว่านี้ และพอหลังจากทริปการเดินทางสิ้นสุดลง เดียร์ก็ได้รับสัญญารัฐคิดเป็นมูลค่า 498,567 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,818,411 บาท)
จากข้อมูลส่วนนี้ ชี้ให้เห็นว่า โครงการของกองทัพอากาศ ที่เข้าข่ายมีปัญหาเรื่องการรับสินบน อยู่ในช่วงปี 2563 จำนวน 2 สัญญา รวมมูลค่างาน 22,460,373 บาท ส่วนโครงการที่มีปัญหาของกรมทางหลวง อยู่ในช่วงปี 2562 มูลค่างาน 16,818,411 บาท
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ย้อนกลับไปสืบค้นข้อมูลสัญญาว่าจ้างหน่วยงานภาครัฐ ที่ บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับไปผ่านเครื่องมือ https://actai.co/ ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 18 โครงการ วงเงินสัญญาที่ได้งานทั้งหมด 242,860,058 บาท (ดูตารางท้ายเรื่อง)
พบว่า ในช่วงปี 2563 กองทัพอากาศ มีการว่าจ้างงาน บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 2 สัญญา (ตามที่เคยนำเสนอไปแล้ว) คือ
1. ประกวดราคาซื้อเครื่องปูแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ขนาดไม่ต่ำกว่า 75 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประะมาณ 8,000,000 บาท วงเงินตามสัญญา 6,090,000 บาท
2. ประกวดราคาซื้อเครื่องปูแอสฟัลท์ติกคอนกรีต จำนวน 1 เครื่อง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณ 13,800,000 บาท วงเงินตามสัญญา 10,200,000 บาท
รวมวงเงินตามสัญญาอยู่ที่ 16,290,000 บาท
แต่ถ้าคำนวนจากตัวเลขวงเงินงบประมาณจะอยู่ที่ 21,800,000 บาท ก็จะใกล้เคียงตัวเลข มูลค่างาน 22,460,373 บาท
ส่วนโครงการในช่วงปี 2562 ของกรมทางหลวง ไม่พบโครงการที่มีมูลค่างาน 16,818,411 บาท
แต่พบโครงการในช่วงปี 2563 ที่มีมูลค่าใกล้เคียง 1 โครงการ คือ ประกวดราคาซื้อรถขูดไสผิวถนน ความกว้างของเพลาขูดไส (DRUM) ขนาดไม่น้อยกว่า 500 มม. จำนวน 2 คัน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณ 15,000,000 บาท วงเงินตามสัญญาจ้าง 14,800,000 บาท
โครงการฯ เหล่านี้ จึงอาจเข้าข่ายถูกตรวจสอบกรณีรับสินบนจาก บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ได้?
อย่างไรก็ดี ข้อมูลโครงการฯ เหล่านี้ เป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น โดยเทียบเคียงข้อมูลจากช่วงเวลา ตามผลตรวจสอบของ SEC สหรัฐ ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า เป็นโครงการฯ ที่มีปัญหาการรับสินบนเกิดขึ้นจริงหรือไม่
ขณะที่ ผู้บริหารทั้งในส่วนของ กองทัพอากาศ กรมทางหลวง รวมไปถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาชี้แจงต่อสาธารณชนแล้วว่า จะมีการเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
โครงการใดบ้างที่เข้าข่ายมีการรับสินบน ผู้เกี่ยวข้องมีใครบ้าง จึงยังคงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง
อ่านประกอบ :
- จอห์นเดียร์ ยอมจ่าย330 ล.แลก SEC ยุติคดีบ.ลูกในไทยติดสินบนจนท.กองทัพอากาศ กรมทางหลวง
- คว้างานรัฐ 16 โครงการ 243 ล.! เปิดตัว 'เวิร์ทเก้น' บ.ลูกในไทยจอห์นเดียร์ คดีติดสินบนจนท.
- เจาะไส้ใน 8 ส.ปี 60-63 บ.เวิร์ทเก้นฯได้งานกองทัพอากาศ กรมทางหลวง/ชนบท ก่อนคดีติดสินบน
- แฉยับ! พฤติการณ์จนท.'ทอ.-ทล.' รับสินบนบ.ลูกจอห์นเดียร์ จ่ายเงินสด-ร้านนวด-พาเมียดูงาน ตปท.
- ป.ป.ช.เร่งสอบ-ประสาน SEC หลังจอห์นเดียร์ถูกปรับ เหตุ บ.ลูกจ่ายสินบนให้ จนท.ไทย
- บ.ลูกจอห์นเดียร์ เผยเรียนผู้บริหารทราบข้อกล่าวหาสินบน ทอ. กรมทางหลวงแล้ว รอออกแถลงชี้แจง
- ผบ.ทอ.สั่งหาข้อเท็จจริง ข่าว บ.ลูกจอห์นเดียร์จ่ายสินบน-เชื่อไม่เกี่ยวเหตุจัดซื้อกริพเพน