รายงาน UN เผย ปี 66 เอกชนในไทย 2 แห่งขายน้ำมันอากาศยานให้เอกชนเมียนมา 2.9 พันล้าน ใช้บัญชีรับเงินจากธนาคารในไทย ขณะผู้เชี่ยวชาญจี้ธนาคารตรวจสอบรายละเอียดฝ่ายผู้ซื้อ ด้านสมาคมธนาคารไทยปฏิเสธ อ้าง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับรายงานขององค์การสหประชาชาติหรือว่ายูเอ็นเกี่ยวกับกรณีบริษัทเอกชนในประเทศไทยที่มีส่วนในการทำการค้ากับเผด็จการทหารเมียนมา
โดยผู้รายงานพิเศษได้รายงานตอนหนึ่งในรายงานระบุว่า พบข้อมูลว่ามีการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,948,160,000 บาท) ซึ่งการจัดซื้อเป็นการซื้อผ่านระบบการเงินนานาชาติ ในทุกการโอนเงินพบว่ามีผู้ซื้อได้แก่ บริษัทที่จดทะเบียนนเมียนมา ซึ่งถูกควบคุมโดยบริษัทพลังงานในเมียนมาชื่อว่าบริษัท National Energy Puma Aviation Services (NEPAS) และบริษัท Asia Sun group และมีผู้ขายน้ำมันได้แก่บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยสองแห่งได้แก่บริษัทซี และบริษัทที (ขอสงวนชื่อบริษัท) โดยธนาคารเอกชนในเมียนมาที่ถูกใช้เพื่อการชำระเงินได้แก่ธนาคารยูไนเต็ดอมรา (United Amara Bank) ซึ่งถูกใช้ถูกใช้เพื่อชําระเงินให้ผู้รับมอบฉันทะ NEPAS และ Asia Sun
ขณะที่ในฝั่งประเทศไทยพบว่าบริษัทซีได้รับเงินจากบัญชีธนาคารกรุงไทย และบริษัทที่ได้รับเงินจากบัญชีธนาคารกสิกรไทย และในรายงานยังระบุด้วยว่าถ้าหากธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงไทยใช้มาตราการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะอย่างละเอียดอย่างละเอียด จะสามารถเปิดโปงกรณีความเชื่อมโยงของผู้ซื้อชาวเมียนมากับภาคส่วนการจัดซื้อน้ำมันเพื่อการบินในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่นมีบริษัทหนึ่งที่เป็นผู้ซื้อชื่อว่าบริษัท Swan Energy จากข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์บริษัทนี้พบว่า บริษัทได้ขายน้ำมันเครื่องบินให้กับทางเมียนมาเป็นจำนวน 1 หมื่นเมตริกตันในทุกเดือน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 100เปอร์เซ็นต์ ของสวนแบ่งการตลาด
อนึ่งกรณีที่มีการรายงานว่าธนาคารในประเทศไทยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมกับเผด็จการทหารเมียนมานั้น ทางรายงานจากยูเอ็นได้ระบุว่าธนาคารไทยอาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีส่วนเข้าไปช่วยในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพเมียนมาเป็นมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (183,820,000 บาท)
สัดส่วนการจัดซื้อของกองทัพเมียนมาที่ดำเนินการผ่านธนาคารในประเทศต่างๆรวมถึงในประเทศไทย
รายชื่อธนาคารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมกับกองทัพเมียนมา
ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ได้ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้วตอนหนึ่งระบุว่า จากกรณีธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกับประเทศเมียนมาตามที่ปรากฏในรายงานสื่อนั้น ธนาคารได้ตรวจสอบภายในแล้วพบว่า เป็นจำนวนธุรกรรมของลูกค้าองค์กรเพื่อการชำระค่าอุปโภคบริโภค และพลังงานซึ่งเป็นปกติธุระของธุรกิจและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการค้าอาวุธตามที่ปรากฏเป็นข่าว และเป็นมูลค่าธุรกรรมปกติ ซึ่งมิได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธนาคารมีการทำ Due Diligence ตรวจสอบความถูกต้อง และรายงานการทำธุรกรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนการทำธุรกรรมทุกรายการ
ขณะที่สมาคมธนาคารไทย ชี้แจงเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ระบุตอนหนึ่งว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเกณฑ์การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อลูกค้า สังคม และประชาคมโลกและตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้ยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบขององค์กรกำกับดูแล คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งมีการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินของประเทศไทย
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย มีนโยบายชัดเจนไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และห้ามนำธุรกรรมทางเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
*หมายเหตุ: สืบเนื่องจากรายงาน UN มีการระบุถึงชื่อบุคคลและนิติบุคคลที่อยู่ในไทย ซึ่งสำนักข่าวอิศรายังไม่ได้ไปติดต่อสัมภาษณ์เพื่อฟังข้อมูลอีกด้าน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายสำนักข่าวอิศราจึงได้ปิดรายละเอียดชื่อบุคคลเล่านี้เอาไว้จนกว่าจะมีการชี้แจงอีกด้านหนึ่ง
เรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนจาก:https://www.ohchr.org/sites/default/files/documents/hrbodies/hrcouncil/sessions-regular/session56/a-hrc-56-crp-7.pdf
อ่านประกอบ: