ระหว่างวันที่ 30 ก.ค. 2563-23 ก.ย. 2563 พบว่ามีการจัดส่งพัสดุอีกเจ็ดครั้ง โดยผู้ส่งได้แก่บริษัท เซ็นจูรี่อาร์ต จำกัด จากประเทศไทย ส่งไปถึงนายเรแกน ผู้ดำเนินการขนส่งพัสดุได้แก่บริษัท DHL และมีการเปลี่ยนผ่านการขนส่งที่เมืองซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ
สืบเนื่องจากที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอข่าวกรณีร้านค้าในประเทศไทย ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนโบราณวัตถุจากอียิปต์ อายุหลายพันปี ลักลอบนำเข้าสู่สหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2563-2564
โดยคราวที่แล้ว สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอพฤติการณ์ของร้านค้าในไทยชื่อว่า บริษัท ฟาดา (ขอสงวนชื่อเต็ม) ไปแล้ว
คราวนี้มาถึงคิวของร้านค้าในไทยอีกแห่งชื่อว่า บริษัท เซ็นจูรี่อาร์ต จำกัด ซึ่งพนักงานบริษัท เซ็นจูรี่ฯ เคยยืนยันกับสำนักข่าวอิศราไปแล้วก่อนหน้านี้ว่าไม่มีคอลเลกชั่นเกี่ยวกับรูปอียิปต์ขายอยู่ที่ร้านแน่นอน
- พนักงาน บ.เซ็นจูรี่ยืนยัน ไม่เคยส่งออกโบราณวัตถุอียิปต์ หลังสหรัฐฯ ออกเอกสารแฉเอกชนไทย
- ก.ความมั่นคงสหรัฐฯ เปิดโปงเอกชนไทยเอี่ยวลักลอบส่งออกโบราณวัตถุอียิปต์ 199 ล.เข้าอลาสกา
- สหรัฐฯ เผยปี 63-64 ยึดโบราณวัตถุอียิปต์อายุหลายพันปีได้นับสิบชิ้น ต้นทางจากเอกชนไทย
สำหรับในรายงานของกระทรวงความมั่นคงมาตภูมิ สหรัฐอเมริกา (HSI)ที่ระบุตัวละครเกี่ยวกับบริษัทเซ็นจูรี่ฯ นั้นมีรายละเอียดดังนี้
1.นางซิลเวีย อิเวตต์ บาร์เรร่า (Sylvia Ivette Barrera) ชาวเม็กซิกันที่ตอนนี้อาศัยอยู่ที่เมืองซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส โดยเธอขายโบราณวัตถุผ่านเว็บอีเบย์ ผ่านไอดีชื่อว่า CENTURYART
2.บริษัท เซ็นจูรี่อาร์ต จำกัด จากประเทศไทย
3.นายมาร์ค เรแกน (Mark Ragan) พลเมืองสหรัฐฯ อาศัยอยู่ที่เมืองเอดจ์วอร์เตอร์ รัฐแมรี่แลนด์ โดยนายเรแกนเป็นผู้ซื้อโบราณวัตถุอียิปต์ จากนางบาร์เรร่า บนเว็บอีเบย์ โดยนายเรแกนใช้ไอดีบนเว็บว่า 3501kenr
สำหรับพฤติการณ์การซื้อโบราณวัตถุอียิปต์มีดังต่อไปนี้
ย้อนไปเมื่อเดือน ก.ค. 2563 หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายตรวจสอบพบว่ามีพัสดุที่กำลังอยู่ในระหว่างการขนส่ง โดยผู้ให้บริการขนส่งชื่อว่ารอยัลเมล์ (Royal Mail) พัสดุชิ้นนี้พบว่ามีขนส่งมาจากสหราชอาณาจักร ส่งถึงนายเรแกน นักสะสมโบราณวัตถุในเมืองเอดจ์วอร์เตอร์
รายละเอียดการจ่าหน้าระบุว่าส่งถึงนายเคน เรแกน (Ken Ragan) ณ ที่อยู่ในเมืองเอดจ์วอร์เตอร์ รัฐแมรี่แลนด์ มีการระบุรายละเอียดสิ่งของว่าคือจี้เครื่องปั้นดินเผาโบราณ ส่วนชื่อเคนแท้จริงแล้วคือ ชื่อกลางของนายมาร์ค เรแกน ผู้ใช้ไอดีบนเว็บอีเบย์ชื่อว่า 3501kenr
ทางหน่วยงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนหรือ CBP และสำนักสอบสวนกลางสหรัฐฯหรือ FBI ที่เข้าไปสืบเรื่องนี้ก่อน HIS ได้ติดต่อนายเรแกนเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2563 โดยได้อ้างถึงการจัดส่งดังกล่าวและแจ้งให้นายเรแกนทราบเกี่ยวกับข้อบังคับเรื่องการนำเข้าสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมเข้ามายังสหรัฐฯ ซึ่งตามกฎหมายแล้วต้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจมาควบคุมพัสดุและดำเนินการตรวจสอบด้วยตัวเอง ซึ่งในกรณีนี้ก็คือภัณฑารักษ์สหรัฐฯ ที่ตรวจสอบพัสดุแล้วพบว่าคือเครื่องรางไฟอียิปต์ ของเทวีฮัตเมฮิต จากเมืองโบราณเมนเดส
ระหว่างวันที่ 30 ก.ค. 2563-23 ก.ย. 2563 พบว่ามีการจัดส่งพัสดุอีกเจ็ดครั้ง โดยผู้ส่งได้แก่บริษัท เซ็นจูรี่อาร์ต จำกัด จากประเทศไทย ส่งไปถึงนายเรแกน ผู้ดำเนินการขนส่งพัสดุได้แก่บริษัท DHL และมีการเปลี่ยนผ่านการขนส่งที่เมืองซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ โดยระหว่างการเปลี่ยนผ่านการขนส่ง เจ้าหน้าที่ CBP ได้เข้าตรวจสอบพัสดุพบว่าพัสดุมีการบรรจุโบราณวัตถุอียิปต์เอาไว้หลายรายการ ดังนั้น CBP จึงได้เข้ายึดและโอนย้ายโบราณวัตถุอียิปต์เหล่านี้ไปยังนิวยอร์กเพื่อวิเคราะห์เพิ่มเติม
ภัณฑารักษ์สหรัฐฯ ได้ตรวจสอบสภาพของสิ่งของและพบว่ามันคือโบราณวัตถุอียิปต์ของแท้ ในการขนส่งทั้งหมด พบว่าไม่มีการจัดส่งใดที่มีเอกสารระบุว่าสิ่งของภายในพัสดุคือโบราณวัตถุอียิปต์ หรืออธิบายถึงที่มาของโบราณวัตถุแต่อย่างใด
เอกสารที่แนบมากับการขนส่ง มีการบรรยายสิ่งของไว้ต่างๆนาๆ เช่นอ้างว่ามันคือแจกันตกแต่ง,หินตกแต่ง หรือตุ๊กตาตกแต่งเป็นต้น
โดยทางด้านของนายอารอน ไคลน์ (Aaron Klein) เจ้าหน้าที่สืบสวนจากHSI กล่าวว่าตัวเขารู้ว่าผู้ลักลอบขนของมักจะใช้คำอธิบายพัสดุที่คลุมเครือเช่นนี้เมื่อพยายามลักลอบนำเข้าโบราณวัตถุ
ในการสอบปากคำในปลายเดือน ก.ย. 2563 นายเรแกนให้การกับ FBI ว่าเขาซื้อโบราณวัตถุส่วนมากมาจากนางบาร์เรร่าบนเว็บอีเบย์ ที่เธอใช้ไอดีว่า CENTURYART โดยมีการระบุว่าสินค้าจะถูกจัดส่งจากเมืองซานอันโตนิโอ ทั้งนี้นายเรแกนไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมพัสดุถึงมาจากประเทศไทย
ในการขนส่งครั้งหนึ่ง ที่ทาง CBP ได้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 21ก.ย. 2563 พบว่าพัสดุมีโน้ตสีเหลืองแปะอยู่ ระบุด้วยลายมือว่า IVETTE _13018469696 ซึ่ง Ivette นั้นเป็นชื่อกลางของนางซิลเวีย อิเวตต์ บาร์เรร่า โดยในเดือน ก.ย. 2563 นายเรแกนได้กล่าวระหว่างการสอบสวน ยืนยันกับ FBI ว่าเขาได้ติดต่อกับนางบาร์เรร่าผ่านโทรศัพท์
พอมาถึงวันที่ 22 ก.ย. 2563 CBP ได้ดำเนินการตรวจสอบพัสดุที่ถูกจัดส่งมาจากเซ็นจูรี่อาร์ตอีกรายการหนึ่ง เมื่อตรวจสอบในพัสดุพบว่ามันคือรูปปั้นอุชับติ ทว่าคำอธิบายพัสดุกลับอธิบายว่ามันคือเรือดินเผา โดยรูปปั้นอุชิบติที่ว่านี้เป็นหนึ่งในรูปปั้นที่เกี่ยวกับงานศพในอียิปต์โบราณ พร้อมกันนี้ยังมีโน้ตเขียนไว้ระบุถ้อยคำว่า “ฉันได้แพ็ครูปปั้นอุชับติ อันเล็กๆอันหนึ่งให้กับคุณฟรีๆ” และบนโน้ตยังระบุหมายเลขโทรศัพท์ของนางบาร์เรร่า
รูปปั้นอุชับติ
ภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑ์ที่อังกฤษได้มีการร่วมตรวจสอบรูปภาพของอุชับติของวันที่ 22 ก.ย. 2563 ที่ว่านี้ด้วย และอธิบายว่าการจัดส่งรูปปั้นนี้เป็น “การปล้นสะดมล่าสุดที่พิสูจน์ได้” โดยมันเชื่อมโยงไปถึงการขุดหาโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวนสองแหล่งด้วยกันในประเทศอียิปต์
ภัณฑารักษ์ชาวอังกฤษกล่าวต่อไปอีกว่ารูปปั้นอุชับตินี้ยังมีส่วนเชื่อมโยงไปถึงการสกัดจับพัสดุที่บรรจุอุชับติที่มีลักษณะสอดคล้องกัน เมื่อช่วงต้นปี 2563 โดยในการสกัดจับต้นปี 2563 นั้นพบว่าเป็นพัสดุที่มีต้นทางมาจากไทยส่งไปยังประเทศอังกฤษ
FBI ได้มีการสอบปากคำนายเรแกนอีกครั้งในเดือน ต.ค. 2563 ซึ่งในครั้งนั้นนายเรแกนได้ให้การว่าเขารับรูปภาพของโบราณวัตถุอื่นๆมาจากนางบาร์เรร่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอได้เสนอขายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามโบราณวัตถุดังกล่าวไม่ได้ปรากฎอยู่บนเพจอีเบย์ของผู้ใช้งานชื่อ CENTURYART
นายเรแกนกล่าวอีกว่านางบาร์เรร่าบอกกับเขาว่าเธอย้ายมาอาศัยอยู่ที่สหรัฐฯ หลังจากเคยอาศัยอยู่ประเทศไทย และเธอยังมีบ้านอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งในบ้านหลังนั้นมีคอลเลกชั่นวัตถุโบราณหลายชิ้น
นางบาร์เรร่าบอกกับนายเรแกนว่าเธอได้รับโบราณวัตถุทั้งหมดมาจากปู่ของเธอในฐานะที่เป็นมรดก โดยมีการส่งข้อความที่ตัดตอนมาส่วนหนึ่งที่อ้างว่าเป็นพินัยกรรมให้กับนายเรแกน
นายเรแกนจึงได้ให้ข้อมูลติดต่อนางบาร์เรร่ากับทาง FBI พร้อมกับขอให้นางบาร์เรร่าติดต่อมาทาง FBI ซึ่งในวันที่ 20 ต.ค. 2563 นางบาร์เรร่าก็ติดต่อมาผ่านวอยซ์เมล์และฝากข้อความ ซึ่งแน่นอนว่าข้อความมีรายละเอียดส่วนหนึ่งของพินัยกรรม โดยเธอได้ส่งข้อมูลหนึ่งหน้ากระดาษของพินัยกรรมให้กับนายเรแกนเพื่อให้ส่งต่อให้กับ FBI ด้วยเช่นกันในช่วงวันก่อนหน้านี้
ในพินัยกรรมระบุว่าด้วยเจตนาของนายอาเหม็ด อับดุลลาห์ (Ahmed Abdullah) นางบาร์เรร่า ซึ่งมีอีกชื่อว่าไซนา อับดุลลาห์ (Zayna Abdullah) หรือก็คือชื่อ ซิลเวีย อิเวตต์ บาร์เรร่า ขอให้บุคคลนี้เป็นผู้มีสิทธิในมรดกอียิปต์/ตะวันออกกลางของตระกูล
พินัยกรรมยังระบุอีกถึงสิ่งที่เรียกว่า “ข้อกำหนดการล้างทรัพย์สินในพินัยกรรม” (Wipeout Provision) โดยอ้างว่าสิ่งที่เหลืออยู่ของอสังหาริมทรัพย์ควรตกไปเป็นของนายอาเหม็ด จาเวด (Ahmed Javed) ซึ่งอาศัยอยู่ที่กรุงเทพ เพื่อให้ได้ใช้งานอย่างแน่นอน ถ้าหากพวกเขายังมีชีวิตอยู่
ในวันที่ 22 ต.ค. 2563 เจ้าหน้าที่สืบสวนยังได้มีการพูดคุยกับนางบาร์เรร่าผ่านโทรศัพท์ โดยนางบาร์เรร่ายอมรับว่าเธอเป็นเจ้าของ CENTURYART จริง และเธอยังกล่าวต่อด้วยว่ามีการเขียนพินัยกรรมเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1950 โดยผู้เขียนคือปู่ของเธอหรือว่าผู้รับมอบอำนาจที่เกี่ยวข้อง โดยชื่อ Zayna Abdullah เป็นชื่อที่ปู่ของเธอใช้สำหรับเธอ แต่ไม่ใช่ชื่อตามกฎหมายของเธอ
อย่างไรก็ตามข้อมูลจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระบุว่านางบาร์เรร่าน่าจะยังไม่เกิดอย่างน้อยก็จนถึง ค.ศ.1978
FBI ได้ร้องขอให้นางบาร์เรร่ารับรองหน้าและลายเซ็นสำหรับพินัยกรรมฉบับจริง ซึ่งเธอตอบกลับมาว่าจะต้องหาเอกสารพวกนั้นมาก่อนแล้วจะส่งอีเมลกลับมา แต่เธอก็ไม่เคยส่งหน้าพินัยกรรมตัวจริงกลับมาให้กับพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด
ข้อสงสัยอีกประการก็คือว่านางบาร์เรร่าบอกกับ FBI ผ่านโทรศัพท์ว่าพ่อของเธอมีคอลเลกชั่นโบราณวัตถุซึ่งสืบทอดมาจากปู่ของเธออีกที ทว่ามันขัดแย้งกับที่อ้างในพินัยกรรมว่าปู่ของเธอตั้งใจมอบพินัยกรรมให้กับตัวเธอโดยตรง ไม่ใช่ให้กับพ่อของเธอ
FBI ได้มีการสอบถามนางบาร์เรร่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับคนชื่ออาเหม็ด จาเวด ที่ถูกระบุไว้ในข้อกำหนดการล้างทรัพย์สินในพินัยกรรม ในส่วนของพินัยกรรม โดยเธอกล่าวว่านายจาเวดนั้นเป็นสามีของเธอ
ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือว่านายอาเหม็ด จาเวด หรือจะสลับเรียกว่าจาเวด อาเหม็ดพบว่ามีตำแหน่งในบริษัทฟาดา (ขอสงวนชื่อเต็ม) โดยบริษัทนี้อ้างว่ามีที่ตั้งในประเทศไทยและเคยส่งโบราณวัตถุอียิปต์ให้กับนายนาชี บาราคัต (Nazieh Barakat) ชาวแคนาดาที่อาศัยอยู่ที่เมืองแฮมิลตัน รัฐออนแทรีโอ แคนาดา ก่อนที่โบราณวัตถุจะถูกยึดที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอลาสกา
ทั้งนี้เมื่อถามข้อมูลจากนางบาร์เรร่าว่านายจาเวดเกิดวันที่เท่าไร เธอกล่าวว่าวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ.1973 ซึ่งข้อมูลนี้ตรงกับทางการไทยเกี่ยวกับวันเกิดของนางจาเวด
นางบาร์เรร่ายังได้บอกกับ FBI ยืนยันว่าเธอเกิดที่เมืองออสติน เท็กซัส และมักจะเดินทางไปๆมาๆระหว่างสหรัฐฯและไทยบ่อยครั้ง โดยสามีของเธอยังอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยพร้อมกับบุตรห้าคนของพวกเขา ซึ่งที่ประเทศไทยสามีของเธอได้ทำธุรกิจเครื่องประดับ
อย่างไรก็ตาม ฐานข้อมูลของ CBP ระบุว่านางบาร์เรร่าเกิดที่เม็กซิโกในปี ค.ศ.1978 ดังนั้นเธอเป็นชาวเม็กซิกัน ผู้ถือบัตรผู้พํานักถาวรตามกฎหมายที่ออกโดยสหรัฐอเมริกา
ทางด้านของนายไคลน์ เจ้าหน้าที่สืบสวนจากHSI กล่าวว่าเขาไม่พบข้อมูลหนังสือเดินทางของนางบาร์เรร่า และไม่มีบันทึกเกี่ยวกับการเดินทางของนางบาร์เรร่าที่เดินทางระหว่างไทยไปสหรัฐฯ หรือจากสหรัฐฯ มาที่ไทย
โดยข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศของนางบาร์เรร่าปรากฏเพียงครั้งเดียวก็คือในเดือน มี.ค.2567 เธอเดินทางด้วยหนังสือเดินทางเม็กซิกันไปยังประเทศกาตาร์ โดยใช้ชื่อเดินทางว่าซิลเวีย อิเวต มาร์ติเนซ กูติเอเรซ (Silvia Ivette Martinez Gutierrez)
บันทึกที่ได้จากเขตแฮร์ริส เท็กซัสระบุว่าคนชื่อ ซิลเวีย อิเวต มาร์ติเนซ กูติเอเรซ แต่งงานเมื่อเดือน ก.ย. 2566 แล้วก็เปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามีชื่อว่าบาร์เรร่า โดยในเดือน เม.ย. 2567 CBP ระบุว่ามีการจัดส่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีโบราณวัตถุนี้ไปหานางบาร์เรร่า ที่บ้านพักในเท็กซัสที่เธออาศัยตั้งแต่เดือน พ.ค. 2566 ซึ่งที่อยู่ในเท็กซัสนี้ก็คือที่อยู่แห่งเดียวกับที่ถูกใช้ในการจองเครื่องบินไปกาตาร์
ในระหว่างการสนทนาวันที่ 22 ต.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ FBI ได้ถามว่านางบาร์เรร่าว่าจะขายโบราณวัตถุต่อไปอีกหรือไม่ ซึ่งเธอกล่าวว่าจะไม่ทำ และบอกว่าเธอจะไม่ได้รับโบราณวัตถุอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ FBI จะโทรคุยกับนางบาร์เรร่าได้ไม่นาน CBP ระบุพบว่ามีพัสดุส่งตรงมาจากบริษัท Asia Pacific (HK) Company ในประเทศไทย ส่งมาถึง CENTURYART โดยใช้ที่อยู่บ้านของนางบาร์เรร่าในเท็กซัส ซึ่ง CBP ได้ตรวจสอบรายละเอียดการจัดส่งพัสดุครั้งนี้ได้ที่เมืองแองเคอเรจ ก็พบว่าเป็นโบราณวัตถุอียิปต์อีกเช่นกัน จึงได้มีการโอนโบราณวัตถุเหล่านี้ไปยังศูนย์ CBP ในนิวยอร์กเพื่อวิเคราะห์เพิ่มเติมต่อไป
โดยเบื้องต้นปรากฏว่าโบราณวัตถุที่ว่านี้ได้แก่กล่องชาบตี ซึ่งเป็นกล่องเก็บตุ๊กตาอุชิบติ ส่วนเอกสารการจัดส่งก็ระบุพัสดุว่าเป็นของตกแต่งบ้านเช่นกัน
กล่องชาบตี
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่ดูจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เกี่ยวกับกรณีที่กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิสหรัฐฯ ได้เปิดโปงตัวละครในประเทศไทยที่มีส่วนในการลอบส่งออกโบราณวัตถุอียิปต์อายุหลายพันปี
ส่วนรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับตัวละครเหล่านี้จะเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศราจะขอนำเสนอในครั้งถัดไป