“…เกณฑ์การประเมินของ Moody's ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศในกลุ่ม Baa 1 (Rating ของไทยในปัจจุบัน) ไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 11 โดยโครงการ DW จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์นี้ ในปี 2568 ซึ่งหากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม…”
..............................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการและกรอบการดำเนินงานโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท (อ่านประกอบ : ครม.อนุมัติหลักการ‘ดิจิทัลวอลเลต’-สั่ง‘คลัง’หารือ‘กฤษฎีกา’ปมใช้เงิน‘ธ.ก.ส.’)
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาเรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีข้อคิดเห็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เสนอต่อ ครม. มีรายละเอียด ดังนี้
@ไม่ค้าน‘ดิจิทัลวอลเลต’แต่ต้องรักษา‘วินัยการเงินการคลัง’
สำนักงบประมาณ
สำนักงบประมาณพิจารณาแล้วขอเรียนว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital wallet เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประซาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น
และเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการฯ ในคราวการประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2567 แล้ว
จึงเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรี จะรับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ และพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการกรอบหลักการโครงการฯ และหน่วยงานตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
และมอบหมายคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ ที่จะจัดตั้งขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบรายละเอียดโครงการฯ รวมทั้งมุ่งเน้นการกำกับดูแลการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ข้อกฎหมาย รวมถึงรักษากรอบวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบและเคร่งครัด ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนเห็นควรให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับมติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน รวมถึงจัดให้มีการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวอย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์โดยเคร่งครัด
@ใช้เงิน ‘ธ.ก.ส.’ 1.7 แสนล.ต้องปฏิบัติตามกรอบกม.
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า กรณีที่กระทรวงการคลัง ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ
และให้ความเห็นชอบในหลักการ กรอบหลักการโครงการฯ และมอบหมายหน่วยงานตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ เสนอ เป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณารับทราบ เห็นชอบ และมอบหมายได้ตามที่เห็นสมควร
สำหรับกรณีที่กระทรวงการคลังมีข้อเสนอเพิ่มเติมให้มอบหมายสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลั ง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินโดยการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวนประมาณ 172,300 ล้านบาท นั้น
หากเป็นการมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการ จะต้องเป็นการดำเนินการที่อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์และในหน้าที่ และอำนาจตามกฎหมายของ ธ.ก.ส. ตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
และกระทรวงการคลังกับ ธ.ก.ส. จะต้องจัดทำแผนบริหารจัดการโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการประมาณการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับ และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในรายละเอียดก่อนดำเนินโครงการตามนัยมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไปด้วย
@แนะหาแนวทางรลดผลกระทบ‘การคลัง’ในระยะถัดไป
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สำนักงานฯ) พิจารณาแล้ว เห็นควรรับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ
สำหรับข้อเสนอกรอบหลักการโครงการฯ ตามที่เสนอนั้น กระทรวงการคลังในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีการตรวจสอบความสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผลประโยชน์ของโครงการอย่างรอบด้านแล้ว คณะรัฐมนตรีสามารถเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการในรายละเอียดตามที่กระทรวงการคลังเสนอต่อไปได้
โดยสำนักงานฯ มีความเห็นเพิ่มเติมเพื่อให้การดำเนินโครงการมีความรอบคอบและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงถัดไป ดังนี้
1.จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้น การใช้แหล่งเงินงบประมาณประจำปีเป็นแหล่งเงินสำหรับการดำเนินโครงการ ควรพิจารณาดำเนินการให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เงื่อนไขทางการคลังและกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ
รวมทั้งจัดเตรียมมาตรการรองรับในกรณีที่เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงถัดไป
2.สำหรับการมอบหมายให้สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการ โดยในรายละเอียดของการดำเนินโครงการในวงเงิน 172,300 ล้านบาท เห็นควรให้มีการพิจารณารายละเอียดอย่างรอบด้านของวิธีการดำเนินการที่ควรต้องสอดคล้องกับขอบเขตวัตถุประสงค์และกฎหมายการจัดตั้งหน่วยงานที่จะดำเนินการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยควรนำรายละเอียดดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนดำเนินการ
3.กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณากำหนดแนวทางในการลดผลกระทบทางการคลังในระยะถัดไป โดยให้ความสำคัญกับการบริหารการจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และควรมีการประเมินผลในช่วงระหว่างการดำเนินโครงการ เพื่อให้สามารถปรับการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างดำเนินโครงการและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและทำการประเมินผลภายหลังจากการดำเนินโครงการแล้วเสร็จ
4.การจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการดำเนินการโครงการฯ ควรให้ความสำคัญกับข้อกำหนดในการรักษาเสถียรภาพของระบบและการรักษาความปลอดภัย โดยการจัดทำระบบควรเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น
@‘สลค.’ทำหนังสือขอความเห็น‘ธปท.’ปมแจก‘หมื่นดิจิทัล’
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0506/ว(ล) 8235 ลงวันที่ 19 เม.ย.2567 แจ้งว่า กระทรวงการคลังได้เสนอเรื่อง โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital wallet (โครงการ DW) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยด่วน นั้น
ด้วยโครงการ DW เป็นโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานใช้งบประมาณจำนวนมาก และก่อให้เกิดภาระผูกพันต่อรัฐบาลในระยะยาว ดังนั้น เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้รับข้อมูล และความเห็นที่ครบถ้วนประกอบการพิจารณานโยบายสำคัญนี้
ธปท. จึงขอเรียนเสนอความเห็นและข้อสังเกตสำคัญ ที่ได้เคยแจ้งต่อคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital wallet และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet รวมถึงข้อห่วงใยอื่น ดังนี้
1.ความจำเป็นในการดำเนินโครงการ DW และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ
1.1 ควรทำโครงการ DW ในขอบเขตที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น (targeted) เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 15 ล้านคน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณ 150,000 ล้านบาท
เนื่องจากคนกลุ่มรายได้น้อยมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่น และมักซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า นอกจากนี้ควรพิจารณาดำเนินโครงการแบบแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังด้วย
ทั้งนี้ ความจำเป็นที่จะกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างมีไม่มาก โดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนของไทยขยายตัวได้ที่ร้อยละ 7.1 เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงปี 2553-2565 ที่ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 3 ต่อปี
@‘ดิจิทัลวอลเลต’ก่อภาระหนี้สูง-ปี 68 ไทยเสี่ยงโดนหั่นเครดิต
1.2 โครงการ DW ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ
เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody's ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศในกลุ่ม Baa 1 (Rating ของไทยในปัจจุบัน) ไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 11 โดยโครงการ DW จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์นี้ ในปี 2568 ซึ่งหากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม
1.3 การดำเนินโครงการ DW ที่ใช้วงเงินงบประมาณมูลค่าสูง ทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลง และมีความเสี่ยงที่จะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งการเพิ่มวงเงินกู้ปีงบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อนๆ ที่มากกว่า 100,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ การจัดสรรวงเงินจากงบประมาณปี 2567 ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นลดลงจนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น
1.4 รัฐบาลควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 500,000 ล้านบาท ไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ (ใช้วงเงินเฉลี่ย 3.8 ล้านบาทต่อตำแหน่ง) จะสามารถสร้างบุคลากรการแพทย์ได้กว่า 130,000 ตำแหน่ง
โครงการเรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (83,000 ล้านบาทต่อปี) จะสามารถสนับสนุนได้นานถึง 6 ปี โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - ชุมพร (40,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 10 สาย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (190,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 2 สาย เป็นต้น
@เสนอ‘คลัง’ส่งเรื่องให้‘กฤษฎีกา’ตีความปมใช้เงิน‘ธ.ก.ส.’
2.แหล่งเงินสำหรับดำเนินโครงการ DW
ตามที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเสนอวงเงินดำเนินโครงการรวม 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีที่มาจากงบประมาณรายจ่ายต่างปีและต่างประเภท และอีกส่วนหนึ่งจะมาจากการมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการโดยรัฐบาลจะรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
การใช้เงินงบประมาณจากแหล่งต่างๆ จะต้องมีความสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน
2.1 สิทธิการใช้จ่ายภายใต้โครงการ DW จะต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา โดยมูลค่าสิทธิใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้นจะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงการ
โดยหากรัฐบาลยังไม่สามารถ earmark งบประมาณเต็มมูลค่าสิทธิรวมในวันเริ่มโครงการด้วยเหตุใดๆ เช่น ไม่สามารถนำเงินงบประมาณส่วนใดมาใช้ได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ ก็จะมีผลให้การกำหนดสิทธิใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีงบประมาณรองรับเป็นการสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501
2.2 การให้ ธ.ก.ส. ร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการ DW เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร ควรมีความชัดเจนทางกฎหมายว่า การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจ และอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 ประกอบกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ จะต้องกำหนดกลไกการเติมเงินให้เกษตรกร แยกส่วนจากการเติมเงินให้ประชาชนทั่วไปอย่างชัดเจน ทั้งอาจต้องจำกัดขอบเขตการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณผิดประเภท
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้องและรอบคอบ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ดังเช่นที่ได้เคยหารือในประเด็นกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารออมสิน ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 แล้ว
ธปท. ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลความเสี่ยงและฐานะของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีข้อกังวลว่า การที่รัฐบาลจะมอบหมายให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส. ถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงต่อฐานะการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินการตามพันธกิจ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน
จึงควรมีแนวทางชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ให้แก่ ธ.ก.ส. พร้อมทั้งรับฟังความเห็นของคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ก่อนด้วย
@แนะใช้‘พร้อมเพย์-Thai QR Payment’ให้เกิดประโยชน์
3.ผู้พัฒนาและดำเนินการระบบสำหรับโครงการ DW
ด้วยระบบสำหรับโครงการ DW มีความซับซ้อนและต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร และมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) ธปท. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ มีข้อห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบ ดังนี้
3.1 ควรใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่
3.2 ด้วยเงื่อนไขของการใช้สิทธิที่มีความชับช้อนในหลายมิติ รวมทั้งการที่ระบบจะมีลักษณะเป็นระบบเปิด (Open-loop) ที่ต้องเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการที่หลากหลาย จึงควรต้องกำหนดโครงสร้างและสถาปัตยกรรมของระบบที่ชัดเจน ตลอดจนวางแผนการพัฒนาและทดสอบที่รัดกุมครบถ้วนเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ นจะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ
ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของระบบและข้อมูล ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงานและข้อมูล ความต่อเนื่องของการให้บริการ การจัดการการเข้าถึงข้อมูลธุรกรรม และการป้องกันภัยไซเบอร์ที่เข้มงวด รวมทั้งมีกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานตามระดับความเสี่ยงของภาคการเงินด้วย
3.3 ผู้พัฒนาระบบ (Developer) ต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาระบบการชำระเงินเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาระบบที่เป็น Open-loop เพื่อให้ระบบสอดคล้องกับมาตรฐานข้างต้นและดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่จำกัด ทั้งนี้ ตัวอย่างที่ผ่านมา ทีมงานของธนาคารพาณิชย์ต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญต้านระบบการชำระเงินเป็นจำนวนมากและใช้เวลาในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี
3.4 ผู้ดำเนินการระบบ (Operator) ต้องสามารถดูแลระบบที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก และสามารถดูแลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายของประชาชนมีความติดขัด หรือเกิดการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องมีการยกเลิกธุรกรรมและเรียกคืนสิทธิจากประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก และในกรณีที่มีการโจมตีทางไซเบอร์หรือมีการรั่วไหลของข้อมูลธุรกรรมหรือข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องสามารถหยุดยั้งและแก้ไขเหตุได้อย่างทันท่วงที
@เสนอกำหนดกลไกลดความเสี่ยง‘รั่วไหล-ทุจริต’ 5 ประเด็น
4.การบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต
หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นที่ปัญหาพึงคาดหมายได้ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น (1) แนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด (2) การป้องกันการลงทะเบียนเป็นร้านค้าปลอม
(3) การกำหนดประเภทและขนาดของร้านค้าเพื่อรองรับเงื่อนไขการใช้จ่าย (4) ประเภทสินค้าต้องห้ามและมาตรการป้องกันในการห้ามไม่ให้มีการซื้อสินค้าดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพ และ (5) การตรวจสอบว่ามีการซื้อขายสินค้าจริง และป้องกันไม่ให้มีการขายลดสิทธิ์ (discount) เป็นต้น
“ด้วยเหตุผลและข้อสังเกตข้างต้น ธปท. จึงมีความเห็นว่า การพิจารณากรอบหลักการและรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ DW ซึ่งเป็นโครงการที่มีรายละเอียดการดำเนินการซับซ้อน ใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระการคลังของประเทศในระยะยาว และมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่างๆ ควรดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง (Due Care) และมีกระบวนการที่ถูกต้องรัดกุม (Due Process) อย่างเต็มที่
ดังนั้น เพื่อให้การให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการโครงการ DW มีความรอบคอบครบถ้วน จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวซ้องทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการของโครงการ DW ต่อไป” หนังสือที่ ธปท. ฝกม. 285/2567 เรื่อง โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ลงนามโดย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ลงวันที่ 22 เม.ย.2566 ระบุ
@อนุมัติหลัการ'ดิจิทัลวอลเลต'-รับข้อสังเกตหน่วยงานรัฐ
มติ ครม.
ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2557 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ชี้แจงเพิ่มเติมว่า
1.เรื่องที่กระทรวงการคลังเสนอในครั้งนี้เป็นการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการของกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (โครงการฯ) หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อพิจารณาจัดทำรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนและครบถ้วน โดยนำความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้เสนอมาประกอบการพิจารณาด้วยและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
2.โครงการฯ มีแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการฯ จาก 3 แหล่ง ได้แก่ ส่วนที่ 1 การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ส่วนที่ 2 เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568
สำหรับส่วนที่ 3 ถือเป็นการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร ซึ่งเป็นนโยบายกึ่งการคลังของรัฐที่มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนัยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินส่วนที่ 3 ให้เกิดความถูกต้อง รอบคอบ ชัดเจน ก่อนดำเนินการต่อไป
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 262/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ลงวันที่ 4 ต.ค2566 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ให้ความเห็นชอบหลักการของกรอบหลักการโครงการฯ เท่านั้น
สำหรับรายละเอียดต่างๆ ของการดำเนินโครงการฯ เช่น นิติสัมพันธ์ในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประชาชนและร้านค้า หรือระหว่างร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งการออกแบบระบบให้เหมาะสมและเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีสามารถจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละหน่วยงาน แล้วนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนอีกครั้งหนึ่งต่อไป
นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เสนอว่า ในการจัดทำรายละเอียดโครงการฯ หากมีประเด็นข้อสงสัยหรือความไม่ชัดเจนในเรื่องใดๆ ให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ได้ข้อยุติที่ถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วนทุกประเด็น ก่อนดำเนินการต่อไปด้วย
คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติว่า
1.รับทราบตามที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ชี้แจงเพิ่มเติมและที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นเพิ่มเติม
2.เห็นชอบให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามที่นายกรัฐมนตรีเสนออย่างเคร่งครัด
3.รับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอและที่มีความเห็นเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
เหล่านี้เป็นความเห็น ข้อสังเกต และข้อห่วงใย ของหน่วยงานรัฐ 4 หน่วยงาน คือ สำนักงบประมาณ-สภาพัฒน์-สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา-แบงก์ชาติ’ ในการเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน!
อ่านประกอบ :
ครม.อนุมัติหลักการ‘ดิจิทัลวอลเลต’-สั่ง‘คลัง’หารือ‘กฤษฎีกา’ปมใช้เงิน‘ธ.ก.ส.’
เปิดรายละเอียดงบปี 68 เทงบกลางฯ 1.52 แสนล.เติม‘หมื่นดิจิทัล’-หั่น‘มหาดไทย’ 5.6 หมื่นล้าน
เปิดงบดุล'ธ.ก.ส.'ล่าสุด ก่อนรบ.จ่อกู้โปะ'ดิจิทัลวอลเลต'-พบค้างหนี้จำนำข้าว 2.26 แสนล้าน
‘ศิริกัญญา’ ห่วงดิจิทัลวอลเลตไม่มีรายละเอียดเพิ่ม ทำหนี้สาธารณะจะชนเพดาน 70%
'เศรษฐา' ประกาศแจกเงินหมื่น 50 ล้านคน ไตรมาส 4 ปี 67 เปิดแหล่งเงินไร้กู้
เช็ก'ฐานะการคลัง'ล่าสุด ก่อน'รบ.'เคาะแหล่งเงิน'หมื่นดิจิทัล'-'ธปท.-สศช.'เตือนลดขาดดุลงบฯ
เพิ่มรายจ่ายปีงบ 68 เป็น 3.75 ล้านล.! ครม.ไฟเขียว‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ฉบับใหม่
‘จุลพันธ์’ยันไม่เกิน 10 เม.ย.ได้ข้อสรุป‘ดิจิทัลวอลเลต’-กางไทม์ไลน์แจก 1 หมื่นภายในปีนี้
เปิดผลศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ฉบับ‘สตง.’ชี้ 3 ความเสี่ยงการคลัง เสนอใช้‘งบปกติ’แจก 1 หมื่น
‘เศรษฐา’ แย้ม 1-2 สัปดาห์นี้ นัดประชุมบอร์ดเงินหมื่นดิจิทัลวอลเลต
ครม.รับทราบ 8 ข้อเสนอแนะ‘ป.ป.ช.’ป้องกันทุจริต'ดิจิทัลวอลเลต'-มอบ'คกก.นโยบายฯ'หาข้อยุติ
ระมัดระวังไม่ให้ระบบศก.เสียหาย! สตง.ชี้ความเสียงแจกเงินดิจิทัล แผนใช้หนี้ต้องชัดเจน
บอร์ดเงินหมื่นตั้ง 2 คณะทำงาน ผ่าข้อเสนอ ‘กฤษฎีกา-ป.ป.ช.’
‘เศรษฐา’ รับหนังสือ ป.ป.ช.เตือน ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ถึงมือแล้ว
ป.ป.ช.แนะ 8 ข้อนโยบายดิจิทัลวอลเลต-ปัดชี้นำให้ทำตาม รบ.ที่แล้ว ปมเสนอให้แจกเงินเป็นงวด
ฉบับสมบูรณ์! เปิดข้อเสนอแนะป้องทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ เสียงเตือนจาก‘ป.ป.ช.’ถึง‘รบ.เศรษฐา’
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(จบ) ธปท.ย้ำ‘ดิจิทัลวอลเลต’ต้องไม่สร้าง‘เงินใหม่’-เตือนเสี่ยงทุจริต
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(2) สศช.ห่วง‘ดิจิทัลวอลเลต’ดันหนี้สูง ฉุดเครดิตปท.-ชี้ศก.ไม่วิกฤติ
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(1) ‘คลัง’เตือน‘ดิจิทัลวอลเลต’กระตุ้นศก.ระยะสั้น-หนี้ปท.พุ่ง 66.65%
เปิด 9 ข้อเสนอแนะฯป้องกันทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชง‘บอร์ด ป.ป.ช.’เคาะอีกครั้งใน 2 สัปดาห์