‘ครม.’ เห็นชอบทบทวน ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ พ.ศ.2568-2571 ปรับเพิ่มรายจ่ายภาครัฐปีงบ 68 เป็น 3.75 ล้านล้าน เพิ่มขึ้นจากแผนเดิม 1.5 แสนล้าน ดันหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นปีงบ 68 อยู่ที่ 66.93%
.................................
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (พ.ศ.2568-2571) ฉบับทบทวน ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอ โดยแผนการคลังระยะปานกลางฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญ ได้แก่ การปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือ 2.7% จากแผนฯเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 3.2%
พร้อมทั้งปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของรัฐในปีงบประมาณ 2568 เป็น 3.7527 ล้านล้านบาท จากแผนฯเดิมที่กำหนดไว้ 3.6 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.527 แสนล้านบาท ในขณะที่ประมาณรายได้ของรัฐยังคงเดิม ซึ่งจะทำให้การขาดดุลงบประมาณในปีงบ 2568 อยู่ที่ 8.65 แสนล้านบาท และทำให้หนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพี ณ สิ้นปีงบ 2568 อยู่ที่ระดับ 66.93%
นายชัย ย้ำด้วยว่า การปรับเพิ่มรายจ่ายของรัฐในครั้งนี้ จะไม่ทำให้หนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีเกินกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 70% และการขาดดุลการคลังจะอยู่ในระดับไม่เกิน 3% ต่อจีดีพี เป็นต้น
“จากตัวเลขต่างๆทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มและแสดงผลลัพธ์ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น เช่น ปี 2567 เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวเพียง 2.2-3.2% การเติบโตจีดีพีไตรมาส 4/2566 หดตัว 0.6% จากไตรมาส 3/2566 อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาภายนอกและภายใน เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว
และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมาก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและส่งเสริมอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ย และสูงกว่าอัตราการขยายตัวตามศักยภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังมีความสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องทบทวนแผนการคลังระยะปานกลาง” นายชัย กล่าว
ด้าน นายเฉลิมผล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลางฉบับปรับปรุง โดยแผนฯดังกล่าว ได้ปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณในปีงบ 2568 เพิ่มขึ้น 1.5 แสนล้านบาท จากเดิมที่มีการตั้งกรอบการชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบ 2568 ไว้ที่ 7.13 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุม 4 หน่วยงาน เพื่อกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณปีงบ 2568 ก่อนเสนอให้ ครม. อนุมัติในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ถามว่า จะมีการปรับงบประมาณปี 2568 เพื่อนำเงินไปใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเลตหรือไม่ โดยนายเศรษฐา กล่าวว่า “ยังไม่ได้มีการพูด รอวันที่ 10 เม.ย.2567 และนำเข้าที่ประชุม ครม.หนเดียวดีกว่า จะได้ไม่เกิดความสับสน”
สำหรับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้
1.สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ
ในปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.8-3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3) และ GDP Deflator อยู่ที่ร้อยละ 1.6 สำหรับในปี 2569 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.8-3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3) และในปี 2570 และ 2571 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.7-3.7 (ค่ากลางร้อยละ 3.2) สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569-2570 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.3-2.3 และในปี 2571-2572 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5-2.5
2.สถานะและประมาณการการคลัง
2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2568-2571 เท่ากับ 2,887,000 3,040,000 3,204,000 และ 3,394,000 ล้านบาท ตามลำดับ
2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568-2571 เท่ากับ 3,752,700 3,743,000 3,897,000 และ 4,077,000 ล้านบาท ตามลำดับ
2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2568-2571 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 865,700 703,000 693,000 และ 683,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.42 3.42 3.21 และ 3.01 ต่อ GDP ตามลำดับ
2.4 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634.20 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.44 ของ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2568 - 2571 เท่ากับร้อยละ 66.93 67.53 67.57 และ 67.05 ตามลำดับ
3.เป้าหมายและนโยบายการคลัง
ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง ภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต โดยยังคงยึดหลักแนวคิด “Revival” ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ผ่านการสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังในด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็น ความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความครอบคลุมจากทุกแหล่งเงินในการใช้จ่ายภาครัฐ ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลดและยกเว้นภาษีให้มีเพียงเท่าที่จำเป็น การปฏิรูปโครงสร้าง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้
รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังและสร้างกันชนทางการคลัง ในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายที่จำเป็น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป
สำหรับเป้าหมายการคลังของแผนการคลังฉบับนี้ รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง
ทั้งนี้ หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง ทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม
อ่านประกอบ :
เปิด‘แผนการคลังฯ’ฉบับใหม่ แนวโน้มหนี้‘รัฐบาล-รสก.’เพิ่ม-คาดปีงบ 67-71 กู้ 4.26 ล้านล.
ครม.ไฟเขียว'แผนการคลังฯ'ฉบับใหม่ คาดปี 68 ตั้งงบรายจ่ายฯ 3.6 ล้านล้าน-ขาดดุล 7.13 แสนล.
ย้อนดู‘หนี้ประเทศ-ภาระผูกพัน’ ก่อน‘รบ.เศรษฐา’เร่งหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล.โปะ‘ดิจิทัลวอลเลต’
เปิด‘แผนการคลัง’ฉบับปี 67-70 รัฐเล็งกู้ใหม่ 4.7 ล้านล้าน-ภาระผูกพันคงค้างพุ่ง 1.03 ล้านล.
รอปรับตัวเลข! ‘บิ๊กตู่’ ยังไม่เคาะกรอบวงเงินงบปี 67 หลังนั่งหัวโต๊ะหารือ 4 หน่วยงาน
คุมขาดดุลไม่เกิน 3%! ครม.เคาะ‘แผนคลังระยะปานกลาง’ใหม่-ชงงบปี 67 รายจ่ายพุ่ง 3.35 ล้านล.
รัฐซุกหนี้ 1 ล้านล.! พบไม่รวมอยู่ใน‘หนี้สาธารณะ’-‘คลัง’ห่วงภาระช่วยเหลือ‘เกษตรกร’พุ่ง
ฉบับล่าสุด! เปิดรายงาน 'ความเสี่ยงการคลัง' ภาครัฐ รายจ่ายสวัสดิการฯพุ่ง-ชงทบทวนภาษี
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ
'มูดี้ส์'คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย มอง'เศรษฐกิจมหภาค-การคลังสาธารณะ'แข็งแกร่ง