“…หากนับเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 3 ปีการผลิต รวม 4 โครงการ ได้แก่ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ,โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 ,โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ปรากฏว่า รัฐบาลมีหนี้ค้างชำระ ธ.ก.ส. รวมทั้งสิ้น 226,272.57 ล้านบาท…”
............................................
ได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการจัดหา ‘แหล่งเงิน’ เพื่อนำใช้ในการดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ ‘โครงการดิจิทัลวอลเลต’ โครงการเรือธงของ ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกพื้นที่ กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยแหล่งเงินจาก 3 แหล่ง ได้แก่
1.แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2568 เพิ่มเป็น 3,752,700 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ 3,600,000 ล้านบาท แล้ว
2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 โดยรัฐบาลจะกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 172,300 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการดูแลเกษตรกร 17 ล้านคน
3.การบริหารจัดการงบประมาณปีงบ 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะปรับเปลี่ยนรายการงบประมาณปีงบ 2567 เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลต แต่หากยังไม่เพียงพอ ก็จะมีการจัดสรรงบกลางฯมาใช้จ่ายเพิ่มเติม (อ่านประกอบ : 'เศรษฐา' ประกาศแจกเงินหมื่น 50 ล้านคน ไตรมาส 4 ปี 67 เปิดแหล่งเงินไร้กู้)
“รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุดในการฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลาย จนวันนี้รัฐบาลทำตามสัญญาประชาชนได้แล้ว และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ รวมถึงอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
โดยร้านค้าและประชาชนจะลงทะเบียนยืนยันตัวตนในไตรมาสที่ 3 และเงินจะถึงมือประชาชนในไตรมาสที่ 4 ปี 2567” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แถลงเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ภายหลังรัฐบาลแถลงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเลตได้ไม่กี่ชั่วโมง ปรากฎเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การใช้จ่ายเงินในโครงการดิจิทัลวอลเลตครั้งนี้ จะทำให้ระดับ ‘หนี้สาธารณะ’ ใกล้ชนเพดาน 70% ต่อจีดีพี รวมทั้งมีการตั้งคำถามว่า การที่รัฐบาลจะกู้เงินจาก ธ.ก.ส. จำนวน 172,300 ล้านบาท มาใช้ในโครงการฯนั้น ทำได้หรือไม่
“เรื่องการใช้เงิน ธ.ก.ส. ยังมีประเด็นในเรื่องของข้อกฎหมาย เพราะตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ตามกฎหมายสามารถทำได้ในการช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ไม่มีวัตถุประสงค์ข้อใด ที่จะไปทำให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต
จึงยังเป็นประเด็นอยู่ว่า จะต้องส่งคณะกรรมกฤษฎีกาตีความเหมือนธนาคารออมสินหรือไม่ แต่ว่ามันมีความเทาๆ ที่จะสามารถตีความให้เข้าข้างรัฐบาล ก็สามารถทำได้” ศิริกัญญา ตันส กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว (อ่านประกอบ : ‘ศิริกัญญา’ ห่วงดิจิทัลวอลเลตไม่มีรายละเอียดเพิ่ม ทำหนี้สาธารณะจะชนเพดาน 70%)
ขณะที่ในวันถัดมา (11 เม.ย.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (สร.ธกส.) ได้ออกแถลงการณ์ 3 ข้อ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเลตของรัฐบาล
โดย 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องดังกล่าว สร.ธกส. เรียกร้องให้ส่งเรื่องไปให้กฤษฎีกาตีความในข้อกฎหมายว่า รัฐบาลสามารถกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ไปดำเนินการโครงการดิจิทัลวอลเลตได้หรือไม่
นอกจากนี้ แถลงการณ์ฉบับนี้ ยังมีการกล่าวอ้างถึงสถานการณ์เมื่อปี 2557 โดยระบุว่า มีฝ่ายการเมืองของ ‘รัฐบาลรักษาการ’ ในขณะนั้น พยายามกดดันให้บอร์ด ธ.ก.ส. อนุมัติเงินสภาพคล่องของธนาคารฯ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายให้เกษตรกรที่ถือใบประทวนในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดยไม่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองรับ
ก่อนที่ ธ.ก.ส.จะเผยแพร่ประกาศ ธ.ก.ส.เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเลต โดยระบุตอนหนึ่งว่า “โครงการดิจิทัล วอลเล็ต” ตามที่ได้มีการแถลงฯ นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งในโครงการของรัฐบาล ที่เกี่ยวข้องในมิติของเกษตรกรผู้รับที่ ธ.ก.ส. อยู่ระหว่างการประสานงานในรายละเอียดที่จะดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายและการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม”
ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนฐานะทางการเงินของ ธ.ก.ส. ในภาพรวม ก่อนที่รัฐบาลจะกู้เงินจาก ธ.ก.ส. จำนวน 1.72 เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลวอลเลต สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอ ‘งบดุล’ ล่าสุด สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 ให้สาธารณชนรับทราบ สรุปได้ดังนี้
@เปิดงบดุล‘ธ.ก.ส.’พบมีหนี้รอชดเชยจากรัฐบาล 6.19 แสนล.
งบดุล ธ.ก.ส. งวด 9 เดือน ปีบัญชี 2566 (สิ้นสุด 31 ธ.ค.2566)
ธ.ก.ส. มีสินทรัพย์รวม 2,244,588.99 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายการเงินสด 20,724.59 ล้านบาท ,เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยรับสุทธิ 1,154,250.77 ล้านบาท ,เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตามธุรกรรมนโยบายรัฐและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 71,087.52 ล้านบาท และลูกหนี้รอชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมนโยบายรัฐ 619,173.81 ล้านบาท เป็นต้น
ส่วนหนี้สินรวม มีจำนวน 2,089,368.84 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นเงินรับฝาก 1,817,357.34 ล้านบาท ,รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ 157,938.39 ล้านบาท , ตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม 51,000 ล้านบาท ,หนี้สินตามสัญญาเช่า 1,624.64 ล้านบาท และเจ้าหนี้โครงการนโยบายรัฐตามธุรกรรมนโยบายรัฐ 5,593.19 ล้านบาท เป็นต้น
ขณะที่เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) มีจำนวน 89,961.36 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อทั้งหมด 5.43 แยกเป็น NPL สินเชื่อตามธุรกรรมปกติ มีจำนวน 80,629.72 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อตามธุรกรรมปกติ 5.18% และ NPL สินเชื่อตามธุรกรรมนโยบายรัฐ มีจำนวน 9,331.64 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อตามธุรกรรมนโยบายรัฐ 9.34%
@รัฐบาลยังค้างหนี้‘จำนำข้าว’ปี 54-57 กว่า 2.26 แสนล้าน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายละเอียดรายการ ‘ลูกหนี้รอชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมนโยบายรัฐ’ จำนวน 619,173.81 ล้านบาท พบว่า รัฐบาลมีหนี้สินค้างชำระ ธ.ก.ส. ในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร (รวมทุกผลผลิตการเกษตร) ปีการผลิต 2552 ,ปีการผลิต 2554/55 ,ปีการผลิต 2555/56 และปีการผลิต 2556/57 รวมทั้งสิ้น 236,306.89 ล้านบาท
แต่หากนับเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 3 ปีการผลิต รวม 4 โครงการ ได้แก่ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ,โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 ,โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57
ปรากฏว่า รัฐบาลมีหนี้ค้างชำระ ธ.ก.ส. รวมทั้งสิ้น 226,272.57 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินทุนที่ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อน จำนวน 53,056.59 ล้านบาท และเงินทุนที่ ธ.ก.ส. กู้จากแหล่งเงินอื่น (กู้ยืมสถาบันการเงินอื่น) สำหรับนำมาให้รัฐบาลกู้ต่อเพื่อใช้จ่ายในโครงการฯ จำนวน 173,215.98 ล้านบาท
เหล่านี้เป็นสรุปฐานะการเงินของ ธ.ก.ส. ผ่าน ‘งบดุล’ ล่าสุด ณ งวด 9 เดือนของปีบัญชี 2566 สิ้น ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 โดย ธ.ก.ส.จะปิดบัญชีงบดุลปี 2566 (สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2567) อีกครั้งในช่วงเดือน พ.ค.2567 และยังคงต้องติดตามต่อไปว่า ในท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะกู้เงินจาก ธ.ก.ส. วงเงิน 1.73 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลต ได้ตามที่ตั้งความหวังไว้หรือไม่?
อ่านประกอบ :
‘ศิริกัญญา’ ห่วงดิจิทัลวอลเลตไม่มีรายละเอียดเพิ่ม ทำหนี้สาธารณะจะชนเพดาน 70%
'เศรษฐา' ประกาศแจกเงินหมื่น 50 ล้านคน ไตรมาส 4 ปี 67 เปิดแหล่งเงินไร้กู้
เช็ก'ฐานะการคลัง'ล่าสุด ก่อน'รบ.'เคาะแหล่งเงิน'หมื่นดิจิทัล'-'ธปท.-สศช.'เตือนลดขาดดุลงบฯ
เพิ่มรายจ่ายปีงบ 68 เป็น 3.75 ล้านล.! ครม.ไฟเขียว‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ฉบับใหม่
‘จุลพันธ์’ยันไม่เกิน 10 เม.ย.ได้ข้อสรุป‘ดิจิทัลวอลเลต’-กางไทม์ไลน์แจก 1 หมื่นภายในปีนี้
เปิดผลศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ฉบับ‘สตง.’ชี้ 3 ความเสี่ยงการคลัง เสนอใช้‘งบปกติ’แจก 1 หมื่น
‘เศรษฐา’ แย้ม 1-2 สัปดาห์นี้ นัดประชุมบอร์ดเงินหมื่นดิจิทัลวอลเลต
ครม.รับทราบ 8 ข้อเสนอแนะ‘ป.ป.ช.’ป้องกันทุจริต'ดิจิทัลวอลเลต'-มอบ'คกก.นโยบายฯ'หาข้อยุติ
ระมัดระวังไม่ให้ระบบศก.เสียหาย! สตง.ชี้ความเสียงแจกเงินดิจิทัล แผนใช้หนี้ต้องชัดเจน
บอร์ดเงินหมื่นตั้ง 2 คณะทำงาน ผ่าข้อเสนอ ‘กฤษฎีกา-ป.ป.ช.’
‘เศรษฐา’ รับหนังสือ ป.ป.ช.เตือน ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ถึงมือแล้ว
ป.ป.ช.แนะ 8 ข้อนโยบายดิจิทัลวอลเลต-ปัดชี้นำให้ทำตาม รบ.ที่แล้ว ปมเสนอให้แจกเงินเป็นงวด
ฉบับสมบูรณ์! เปิดข้อเสนอแนะป้องทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ เสียงเตือนจาก‘ป.ป.ช.’ถึง‘รบ.เศรษฐา’
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(จบ) ธปท.ย้ำ‘ดิจิทัลวอลเลต’ต้องไม่สร้าง‘เงินใหม่’-เตือนเสี่ยงทุจริต
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(2) สศช.ห่วง‘ดิจิทัลวอลเลต’ดันหนี้สูง ฉุดเครดิตปท.-ชี้ศก.ไม่วิกฤติ
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(1) ‘คลัง’เตือน‘ดิจิทัลวอลเลต’กระตุ้นศก.ระยะสั้น-หนี้ปท.พุ่ง 66.65%
เปิด 9 ข้อเสนอแนะฯป้องกันทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชง‘บอร์ด ป.ป.ช.’เคาะอีกครั้งใน 2 สัปดาห์