“…รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังในระยะยาว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากแรงกดดันต่อหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและต้นทุนการระดมทุนของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเตรียมพื้นที่การคลัง (policy space) รองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า…”
........................................
ในวันที่ 10 เม.ย.นี้ คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานฯ จะสรุป ‘แหล่งเงิน’ ที่จะนำมาใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet วงเงิน 5 แสนล้านบาท (อ่านประกอบ : 'เศรษฐา' ยัน 10 เม.ย. กระจ่างทุกประเด็น 'ดิจิทัลวอลเลต')
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธาณชนได้เห็นภาพรวมของสถานะการคลังของประเทศ ก่อนที่จะมีการสรุปแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการ 'ดิจิทัลวอลเลต' สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอภาพรวม ‘ฐานะการคลัง’ ของรัฐบาลล่าสุด และ ‘หนี้สาธารณะ’ ของประเทศ ผ่าน ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน' ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ปีงบ 2568-2572 กู้ชดเชยขาดดุลรวม 3.6 ล้านล.
ฐานะการคลังของรัฐบาล
คาดการณ์ฐานะการคลังของรัฐบาลปีงบประมาณ 2567
หากการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเป็นไปตามประมาณการ คาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 2,787,000 ล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณ 2566 จำนวน 121,329 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 4.6) และคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 3,388,600 ล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณ 2566 จำนวน 126,207 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 3.9)
ประกอบด้วย รายจ่ายปีปัจจุบัน 3,236,400 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 93.0 ของวงเงินงบประมาณ (3,480,000 ล้านบาท) สูงกว่าปีก่อนหน้าร้อยละ 4.8 และรายจ่ายปีก่อน จำนวน 152,200 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 95.0 ของวงเงินรายจ่ายปีก่อน (160,200 ล้านบาท) ต่ำกว่าปีก่อนหน้าร้อยละ 12.5 ส่งผลให้ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด คาดว่าจะขาดดุล 483,239 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลจะบริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการ โดยการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 713,000 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังกู้ (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) เกินดุล จำนวน 229,761 ล้านบาท คาดว่าเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 จะมีจำนวนทั้งสิ้น 768,861 ล้านบาท
ประมาณการฐานะการคลังของรัฐบาลปีงบประมาณ 2568-2572
ปีงบประมาณ 2568 รัฐบาลจะมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 2,887,000 ล้านบาท มีรายจ่าย (งบประมาณรายจ่าย) จำนวน 3,475,300 ล้านบาท และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 865,700 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2569 รัฐบาลจะมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 3,040,000 ล้านบาท มีรายจ่าย (งบประมาณรายจ่าย) จำนวน 3,728,200 ล้านบาท และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 703,000 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2570 รัฐบาลจะมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 3,204,000 ล้านบาท มีรายจ่าย (งบประมาณรายจ่าย) จำนวน 3,729,200 ล้านบาท และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 693,000 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2571 รัฐบาลจะมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 3,394,000 ล้านบาท มีรายจ่าย (งบประมาณรายจ่าย) จำนวน 3,883,100 ล้านบาท และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 683,000 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2572 รัฐบาลจะมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 3,571,000 ล้านบาท มีรายจ่าย (งบประมาณรายจ่าย) จำนวน 4,062,100 ล้านบาท และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 673,000 ล้านบาท (อ่านตารางประกอบ)
ทั้งนี้ โดยสรุปแล้วในปีงบประมาณ 2568-2572 รัฐบาลจะมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลรวมทั้งสิ้น 3,617,700 ล้านบาท
@ปีงบ 68 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีแตะ 66.93
หนี้สาธารณะ
สถานะหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2566
ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634.20 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.44 ของ GDP
โดยเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 9,154,364.25 ล้านบาท หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) 625,422.50 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 1,076,922.26 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ าประกัน) 213,508.27 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 61,416.92 ล้านบาท
หนี้สาธารณะคงค้าง จำนวน 11,131,634.20 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้ในประเทศ 10,973,453.15 ล้านบาท หรือร้อยละ 98.58 และหนี้ต่างประเทศ 158,181.05 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.42 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
ทั้งนี้ หนี้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือจะเป็นหนี้ระยะยาว 9,514,321.57 ล้านบาท หรือร้อยละ 85.47 และหนี้ระยะสั้น 1,617,312.63 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.53 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
แผนความต้องการกู้เงินระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571)
แผนความต้องการกู้เงินระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 781,316 ล้านบาท (โดยไม่นับรวมวงเงินการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล)
จากสมมติฐานทางเศรษฐกิจ รายได้รัฐบาลสุทธิ งบประมาณรายจ่าย พร้อมทั้งแผนความต้องการกู้เงินระยะปานกลาง ส่งผลให้หนี้สาธารณะคงค้างในปีงบประมาณ 2566-2571 เป็นดังนี้
ปีงบประมาณ 2566 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง 11,131,634 ล้านบาท ,หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 62.44 และงบชำระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 9.63
ปีงบประมาณ 2567 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง 11,876,780 ล้านบาท ,หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 65.06 และงบชำระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 9.95
ปีงบประมาณ 2568 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง 12,841,743 ล้านบาท ,หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 66.93 และงบชำระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 12.51
ปีงบประมาณ 2569 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง 13,618,214 ล้านบาท ,หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 67.53 และงบชำระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 13.37
ปีงบประมาณ 2570 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง 14,307,506 ล้านบาท ,หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 67.57 และงบชำระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 14.18
ปีงบประมาณ 2571 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง 14,936,169 ล้านบาท ,หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 67.05 และงบชำระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 14.94
แนวทางการบริหารหนี้สาธารณะ
กระทรวงการคลังได้กำกับและติดตามต้นทุนการกู้เงินอันได้แก่ ภาระดอกเบี้ยจ่ายของหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระ ซึ่งเป็นภาระต่องบประมาณในส่วนงบรายจ่ายประจำไม่ให้สูงเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการจัดสรรงบประมาณในหมวดอื่นๆ เช่น งบลงทุนของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ สบน. ได้กำหนดเกณฑ์ภายในโดยกำหนดให้สัดส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งอ้างอิงจากเกณฑ์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ที่เทียบเท่าระดับ A- (Upper Medium Investment Grade) โดยสถานะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 8.31
@หนี้‘ม.28’อยู่ที่ 1 ล้านล.-ค้าง‘ประกันสังคม’7.1 หมื่นล.
ภาระผูกพันทางการเงินการคลังของรัฐบาล
ภาระผูกพันของรัฐบาล ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566
-ภาระผูกพันโดยตรง (Direct Liabilities) เป็นภาระผูกพันของรัฐบาลที่มีกฎหมาย สัญญา หรือข้อตกลงที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณให้อย่างชัดเจน ได้แก่
1.หนี้สาธารณะที่รัฐบาลรับภาระโดยตรง จำนวน 9,337,571.99 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 52.38 ของ GDP แนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย
1.1 หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 8,761,289 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มขึ้น
1.2 หนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลกู้ให้กู้ต่อและรับภาระ 345,049 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มขึ้น
1.3 หนี้รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลค้ำประกันและรับภาระ 231,234 ล้านบาท แนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 มีรายจ่ายในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอยู่ที่ 118,320 และ 228,060 ล้านบาท ตามลำดับ
2.ลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ 599,619 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 มีรายจ่ายเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 อยู่ที่ 81,658 ล้านบาท ขณะที่ประมาณการภาระผูกพันที่มาจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มีจำนวนรวมทั้งหมด อยู่ที่ 1,004,391 ล้านบาท
3.ภาระผูกพันที่มาจากสวัสดิการด้านหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และบำเหน็จบำนาญ ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลมีภาระงบประมาณในส่วนดังกล่าว 824,350 ล้านบาท และยังมีภาระค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคม 71,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
4.รายจ่ายบุคลากรภาครัฐ ในปีงบประมาณ 2567 มีจำนวน อยู่ที่ 785,958 ล้านบาท
5. ภาระผูกพันจาก พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. Soft loan) ประมาณการเบื้องต้น อยู่ที่ 1,816 ล้านบาท
6.การชดเชยความเสียหายตาม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ) ประมาณการเบื้องต้น อยู่ที่ 67,520 ล้านบาท
-ภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้น (Contingent Liabilities) เป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลอาจต้องจ่ายหรือชำระหนี้แทนตามกฎหมาย สัญญา หรือข้อตกลง รวมไปถึงความคาดหวังจากสังคม หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ได้แก่
1.หนี้สาธารณะที่รัฐบาลไม่ได้รับภาระ จำนวน 1,794,062.21 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.06 ของ GDP แนวโน้มเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ประกอบด้วย
1.1 หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่ FIDF จำนวน 625,423 ล้านบาท ลดลงต่อเนื่อง
1.2 หนี้รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลกู้ให้กู้ต่อ/ค้ำประกัน แต่ไม่รับภาระ 526,510 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มขึ้น
1.3 หนี้รัฐวิสาหกิจ (ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน) และหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน 642,129 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มขึ้น
2.การพิจารณาชดเชยการสูญเสียรายได้จากการดำเนินมาตรการลดภาษีที่ดินฯ ให้กับ อปท. ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ประมาณการการสูญเสียรายได้ที่ยังไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณในปี 2563 ,2564 และ 2566 อยู่ที่ 20,011 30,891 และ 6,288 ล้านบาท ตามลำดับ
@‘ธปท.-สภาพัฒน์’แนะลดขนาดขาดดุลงบฯ
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ ได้ให้ความเห็นประกอบการพิจารณา เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง’ (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ต่อที่ประชุม ครม. โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ดังนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ธปท. เห็นว่าพิจารณาแล้ว ไม่ขัดข้อง เนื่องจากเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 1/2567 และกรอบงบประมาณรายจ่ายที่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายการคลังที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังในระยะยาว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากแรงกดดันต่อหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและต้นทุนการระดมทุนของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเตรียมพื้นที่การคลัง (policy space) รองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำนักงานฯ มีข้อสังเกตว่าแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน มีการขาดดุลการคลังเฉลี่ยร้อยละ 3.52 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยร้อยละ 3.23 ของ GDP ในแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 2571 ฉบับปัจจุบัน ซึ่งทำให้พื้นที่การคลังลดลง
และอาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากภายปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนในเกณฑ์สูง
ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงควรให้ความสำคัญกับการลดการขาดดุลงบประมาณ รวมทั้งกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการเพิ่มรายได้และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ
ตลอดจนจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดแรงกดดันด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก
เหล่านี้เป็น ‘ฐานะการคลัง’ ของรัฐบาลล่าสุด ก่อนที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะมีการสรุป ‘แหล่งเงิน’ ที่จะนำมาใช้ในโครงการเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ในวันที่ 10 เม.ย.นี้ ท่ามกลางเสียงเตือนของ ‘แบงก์ชาติ-สภาพัฒน์’ ที่เห็นว่ารัฐบาลลดขนาด ‘การขาดดุลงบประมาณ’ เพื่อรองรับความเสี่ยงและสถานการณ์ฉุกเฉินในระยะข้างหน้า
อ่านประกอบ :
เพิ่มรายจ่ายปีงบ 68 เป็น 3.75 ล้านล.! ครม.ไฟเขียว‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ฉบับใหม่
‘จุลพันธ์’ยันไม่เกิน 10 เม.ย.ได้ข้อสรุป‘ดิจิทัลวอลเลต’-กางไทม์ไลน์แจก 1 หมื่นภายในปีนี้
เปิดผลศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ฉบับ‘สตง.’ชี้ 3 ความเสี่ยงการคลัง เสนอใช้‘งบปกติ’แจก 1 หมื่น
‘เศรษฐา’ แย้ม 1-2 สัปดาห์นี้ นัดประชุมบอร์ดเงินหมื่นดิจิทัลวอลเลต
ครม.รับทราบ 8 ข้อเสนอแนะ‘ป.ป.ช.’ป้องกันทุจริต'ดิจิทัลวอลเลต'-มอบ'คกก.นโยบายฯ'หาข้อยุติ
ระมัดระวังไม่ให้ระบบศก.เสียหาย! สตง.ชี้ความเสียงแจกเงินดิจิทัล แผนใช้หนี้ต้องชัดเจน
บอร์ดเงินหมื่นตั้ง 2 คณะทำงาน ผ่าข้อเสนอ ‘กฤษฎีกา-ป.ป.ช.’
‘เศรษฐา’ รับหนังสือ ป.ป.ช.เตือน ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ถึงมือแล้ว
ป.ป.ช.แนะ 8 ข้อนโยบายดิจิทัลวอลเลต-ปัดชี้นำให้ทำตาม รบ.ที่แล้ว ปมเสนอให้แจกเงินเป็นงวด
ฉบับสมบูรณ์! เปิดข้อเสนอแนะป้องทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ เสียงเตือนจาก‘ป.ป.ช.’ถึง‘รบ.เศรษฐา’
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(จบ) ธปท.ย้ำ‘ดิจิทัลวอลเลต’ต้องไม่สร้าง‘เงินใหม่’-เตือนเสี่ยงทุจริต
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(2) สศช.ห่วง‘ดิจิทัลวอลเลต’ดันหนี้สูง ฉุดเครดิตปท.-ชี้ศก.ไม่วิกฤติ
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(1) ‘คลัง’เตือน‘ดิจิทัลวอลเลต’กระตุ้นศก.ระยะสั้น-หนี้ปท.พุ่ง 66.65%
เปิด 9 ข้อเสนอแนะฯป้องกันทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชง‘บอร์ด ป.ป.ช.’เคาะอีกครั้งใน 2 สัปดาห์
‘เลขากฤษฎีกา’ แนะรัฐบาลควรรับฟังความเห็น ป.ป.ช. ก่อนทำดิจิทัลวอลเลต
‘ภูมิธรรม’ เลื่อนถกบอร์ดดิจิทัลวอลเลต เหตุรอความเห็น ป.ป.ช. 1-2 สัปดาห์นี้