‘เศรษฐา’ ควง ‘แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล’ แถลง ครม.เห็นชอบหลักการโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ พร้อมสั่ง ‘คลัง’ หารือ ‘กฤษฎีกา’ปมใช้เงิน ‘ธ.ก.ส.’ ด้าน ‘จุลพันธ์’ ยันแจก ‘หมื่นดิจิทัล’ เป็นไปตามกรอบเวลาเดิม ขณะที่ ‘นายกฯ’ ถก 4 แบงก์ใหญ่ วอนลดดอกเบี้ยช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
.....................................
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็นของคณะทำงานฯ และมีมติเห็นชอบหลักการและกรอบการดำเนินงานโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการฯ แนวทางเข้าร่วมโครงการของประชาชน เงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้า และการลงทะเบียนร้านค้า
รวมถึงแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงบประมาณ จะดำเนินการศึกษาในรายละเอียดต่อไป ส่วนข้อห่วงใยใดๆ เช่น ประเด็นอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. นั้น ได้สั่งการว่า หากมีประเด็นข้อสงสัยใดๆให้ส่งเรื่องไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา ในขณะที่ทุกพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบในหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ดังกล่าว แล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการแถลงข่าวครั้งนี้ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้เข้าร่วมการแถลงข่าวด้วย ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย , นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ,พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
และนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนผู้เข้าร่วมแถลงข่าวอื่นๆ ได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ,นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ,นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ,นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ,นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
ด้านนายจุลพันธ์ แถลงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังระบุไม่ได้ว่า ประชาชนจะได้รับเงิน 10,000 บาทในวันไหน เพราะต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบ แต่ยืนยันว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามกรอบเวลาเดิม คือ เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในช่วงไตรมาส 3 และเปิดใช้ในไตรมาส 4 ปีนี้
“ยังเคาะวันไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเราพยายามเร่งรัดที่สุด ในกระบวนทำทุกอย่าง แต่เราต้องรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องความเสถียรของตัวแอปพลิเคชัน รวมถึงความมั่นคงปลอดภัย ทั้งเรื่องข้อมูลของประชาชน และราชการ รวมถึงการทำ transaction ตัวเลข ตัวเงินต่างๆ ต้องมีความมั่นคงและปลอดภัย เพราะฉะนั้น เราจะเร่งเกินไป ไปกำหนดเวลา เพื่อบีบจนกระทั่งถึงเวลาแล้วมีปัญหา ก็เป็นสิ่งที่เราไม่ปฏิบัติ แต่เรายังยืนยันตามกรอบเดิม คือ เปิดลงทะเบียนในช่วงไตรมาส 3 และเปิดใช้ในไตรมาส 4” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า นายกฯได้สั่งในวันนี้ (23 เม.ย.) ว่า หากมีข้อสงสัยประเด็นในใดเกี่ยวกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่เป็นเรื่องข้อกฎหมาย ก็ให้ดำเนินการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย ส่วนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ ธ.ก.ส. นั้น ได้ดูในรายละเอียดแล้ว และมั่นใจว่าเป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. แต่หากต้องทำการทำให้เกิดความกระจ่างชัด ก็จะถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพร้อมทำตลอดเวลา
“ประเด็นใดก็ตาม หากมีประเด็นข้อสงสัยทางกฎหมาย เราก็พร้อมส่งไป (กฤษฎีกา)” นายจุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า จะมีการเสนอบอร์ด ธ.ก.ส. เพื่อให้ความเห็นชอบการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้เมื่อใด นายจุลพันธ์ ระบุว่า การดำเนินการกระบวนการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ถือเป็นกระบวนการงบประมาณประเภทหนึ่งที่เรียกว่า การดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง ซึ่งการดำเนินการตามกรอบของมาตรา 28 จะเริ่มต้นประมาณเดือน ต.ค. ซึ่งคงต้องใกล้ๆช่วงนั้นก่อน จึงจะมีการพิจารณาผ่านบอร์ด ธ.ก.ส. และในการดำเนินการตามมาตรา 28 จะต้องเสนอให้ ครม.อนุมัติอีกครั้ง
“ระหว่างวันนี้ไปจนถึงเดือน ต.ค. จะต้องมีการดำเนินการอะไรหลายอย่าง และในรายละเอียดให้ครบถ้วน โดยคณะกรรมการกำกับโครงการฯที่ตั้งขึ้นมาแล้ว จะไปหารือรายละเอียดให้ครบ รวมถึงการสอบถามกฤษฎีกาเพื่อให้เกิดความกระจ่าง เราก็พร้อมดำเนินการ ซึ่งเหลือเวลาอีก 4-5 เดือน ซึ่งวันนี้ ครม.เห็นชอบในหลักการโครงการฯแล้ว ส่วนรายละเอียดก็ไปดำเนินการให้ครบถ้วน” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) ได้ชี้แจงกับสหภาพแรงงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (สร.ธ.ก.ส.) ในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันดี และสหภาพฯก็พร้อมเดินหน้านโยบายนี้ เพราะเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สหภาพฯเป็นห่วงที่สุด คือ กรอบอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. ซึ่งเราจะส่งเรื่องสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ
“ส่วนเรื่องสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. นั้น ธ.ก.ส.มีความมั่นคง และอย่าลืมว่ารัฐบาลถือหุ้น 100% เรามีแต่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับ ธ.ก.ส. สิ่งที่ผมชี้แจง สหภาพฯ ธ.ก.ส. ไปเมื่อวาน มีหลายประเด็น คือ 1.การดำเนินการต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายทุกประการ รวมถึงอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. หากมีข้อสงสัยใดการดำเนินการ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด รัฐบาลยินดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฤษฎีกาก็ตาม
2.เรื่องเสถียรภาพของ ธ.ก.ส. มีความมั่นคงสูง สิ่งที่เราจะดำเนินการ อยู่ในศักยภาพที่ ธ.ก.ส.จะดำเนินการได้โดยที่ไม่มีประเด็นปัญหาอะไร และจะมีแต่การเสริมให้ ธ.ก.ส. แข็งแกร่ง เพราะ ธ.ก.ส.เป็นปีกหลักปีกหนึ่งในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลทุกชุดก็ใช้บริการ ธ.ก.ส.มาโดยตลอด และ3.สิ่งที่ดำเนินการจะไม่กระทบสวัสดิภาพและสวัสดิการใดๆของพนักงานและลูกจ้างของ ธ.ก.ส.โดยเด็ดขาด” นายจุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า มีแนวโน้มเพิ่มทุนให้ ธ.ก.ส. หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพูดคุยกัน มีกระบวนการในการพูดคุยอยู่ ทั้งนี้ เวลาที่มีการเติมทุนให้กับธนาคารในกำกับ เช่น ธ.ก.ส. นั้น การเติมเงิน 1 บาท จะทำให้เกิดวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรได้ 11 บาท เรื่องนี้จึงเป็นการเติมความแข็งแกร่งให้ ธ.ก.ส. ที่เราพิจารณาอยู่ ส่วนจะเติมเท่าไหร่ และเมื่อไหร่นั้น ขอประชุมและพิจารณากัน 1-2 ครั้ง ก่อนมีข้อสรุปต่อไป
@หารือซีอีโอ 4 แบงก์ใหญ่ลดดอกเบี้ยช่วยกลุ่มเปราะบาง
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนการประชุม ครม. นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเช้าวันนี้ (23 เม.ย.) ได้เชิญผู้บริหารธนาคาร 4 แห่ง ประกอบด้วย นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ
โดยได้พูดคุยหารือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจทั่วๆไป และได้พูดคุยกันว่าสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่งมากจากผลประกอบการที่ออกมา จึงได้พูดกับผู้บริหารธนาคารว่า พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็น SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย มีปัญหาเรื่องดอกเบี้ยสูง จึงขอร้องธนาคารใหญ่ทั้ง 4 แห่ง พิจารณาดูแลเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งผู้บริหารธนาคารทั้ง 4 แห่งรับปากว่าจะไปพูดคุยกัน
“ได้ขอร้องและพูดคุยแบบคนที่เคยรู้จักกันมา 10 ปี 20 ปี ตั้งแต่อยู่ในวงการมา โดยขอร้องทั้ง 4 ท่านว่า ขอให้พิจารณาดูแลเรื่องดอกเบี้ยบ้าง โดยทั้ง 4 ท่าน รับปากจะไปพิจารณาในเรื่องดังกล่าว และอย่างที่เคยกล่าวไว้ รัฐบาลเห็นปัญหา เห็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเรื่องดอกเบี้ย จึงได้เชิญผู้บริหารมาตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว แต่เพิ่งจะสะดวกพร้อมกันในเช้าวันนี้ มาคุยให้พร้อมกันเพื่อความเสมอภาคเท่าเทียม
เรื่องนี้ไม่ใช่การแข่งขันด้านธุรกิจหรือว่าชิงดีชิงเด่นว่า ใครลดมากหรือน้อยกว่า แต่อยากให้ทุกคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แล้วมาพิจารณาดูว่าสามารถที่จะช่วยเหลือได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ขอให้ทุกคนไปคุยกันและน่าจะมีอะไรออกมาหลังจากนี้" นายเศรษฐา กล่าว
เมื่อถามว่า ผู้บริหารทั้ง 4 ท่าน ให้กรอบเวลาที่จะให้คำตอบในเรื่องนี้เมื่อใด นายเศรษฐา กล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นการให้เกียรติกัน เรารู้จักกันมา 20 ปี มองตาก็รู้ใจว่า เราต้องการอะไรจากกันและกัน ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น คงไม่ไปกดดันอะไร เราต้องให้เกียรติ ทั้ง 4 ท่าน”
เมื่อถามย้ำว่า แนวโน้มการพูดคุยเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยเป็นไปด้วยดีใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยดี แต่อยากให้รอคอยสักนิด เพื่อให้ทั้ง 4 แบงก์มีเวลาพิจารณาทั้งระบบว่า ต้องทำอย่างไร โดยเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางซึ่งต้องการความช่วยเหลือ ทั้งนี้ หากมีเวลาที่เหมาะสม จะมีการเรียกเชิญแต่ละท่านมาพูดคุยกันในส่วนนี้ต่อไป
อ่านประกอบ :
เปิดรายละเอียดงบปี 68 เทงบกลางฯ 1.52 แสนล.เติม‘หมื่นดิจิทัล’-หั่น‘มหาดไทย’ 5.6 หมื่นล้าน
เปิดงบดุล'ธ.ก.ส.'ล่าสุด ก่อนรบ.จ่อกู้โปะ'ดิจิทัลวอลเลต'-พบค้างหนี้จำนำข้าว 2.26 แสนล้าน
เปิดโครงสร้างรายจ่ายงบปี 68 รัฐบาลอัดฉีดลงทุน 8.65 แสนล้าน-ขาดดุลฯแตะ 4.4% ต่อ GDP
เช็ก'ฐานะการคลัง'ล่าสุด ก่อน'รบ.'เคาะแหล่งเงิน'หมื่นดิจิทัล'-'ธปท.-สศช.'เตือนลดขาดดุลงบฯ
ที่ประชุม 4 หน่วยงาน เคาะกรอบวงเงินรายจ่ายงบปี 68 แตะ 3.752 ล้านล้าน-ขาดดุล 8.65 แสนล.
เพิ่มรายจ่ายปีงบ 68 เป็น 3.75 ล้านล.! ครม.ไฟเขียว‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ฉบับใหม่
ครม.เคาะกรอบงบรายจ่ายปี 68 วงเงิน 3.6 ล้านล้าน-ขาดดุล 7.13 แสนล. คิดเป็น 3.56% ต่อ GDP
เปิด‘แผนการคลังฯ’ฉบับใหม่ แนวโน้มหนี้‘รัฐบาล-รสก.’เพิ่ม-คาดปีงบ 67-71 กู้ 4.26 ล้านล.
ครม.ไฟเขียว'แผนการคลังฯ'ฉบับใหม่ คาดปี 68 ตั้งงบรายจ่ายฯ 3.6 ล้านล้าน-ขาดดุล 7.13 แสนล.
ย้อนดู‘หนี้ประเทศ-ภาระผูกพัน’ ก่อน‘รบ.เศรษฐา’เร่งหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล.โปะ‘ดิจิทัลวอลเลต’