สำหรับบ่อก๊าซในไซบีเรียตะวันตกนั้นพบว่ามีผู้เป็นเจ้าของร่วมกันได้แก่บริษัทวินเทอร์แชลล์ ซึ่งโครงสร้างบริษัทพบว่าส่วนใหญ่แล้วมีเจ้าของได้แก่กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมข้ามชาติของเยอรมนีชื่อว่า BASF และเจ้าของร่วมบ่อก๊าซอีกรายได้แก่รัฐวิสาหกิจแก๊ซพรอมของรัสเซีย โดยบ่อก๊าซดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการก่อตัวทางธรณีวิทยาทำให้เกิดแหล่งก๊าซอาคิมอฟ อันประกอบไปด้วยก๊าซธรรมชาติเหลวจำนวนมาก
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอกรณีที่บริษัทพลังงานแห่งหนึ่งในเยอรมนี ถูกเปิดโปงพบว่ามีส่วนช่วยเหลือการจัดหายุทธปัจจัยให้กับกองทัพรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครนที่กินเวลามานานกว่าปีแล้ว
โดยรายงานข่าวจากสำนักข่าววิทยุเสรียุโรปหรือ RFE ระบุว่าจากการทำข่าวเชิงสืบสวนพบว่าบริษัทก๊าซและน้ำมันยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีแห่งหนึ่งชื่อว่าวินเทอร์แชลล์หรือ Wintershall ที่เป็นเจ้าของแหล่งเชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนในไซบีเรีย กับรัฐวิสาหกิจแก๊ซพรอมของรัสเซียนั้นมีส่วนเชื่อมโยงกับกรณีการจัดส่งน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในกองทัพและในหน่วยข่าวกรองของรัสเซีย
สำนักข่าว RFE ที่ได้ทำข่าวร่วมกับภาคีต่อต้านทุจริตของอังกฤษชื่อว่า Global Witness ได้มีการตั้งคำถามต่อไปถึงบริษัทวินเทอร์แชลล์ว่าเหตุใดบริษัทยังคงมีการลงทุนและทำข้อตกลงทางธุรกิจในรัสเซีย ในขณะที่บรรดาประเทศตะวันตกพากันคว่ำบาตรรัสเซียหลังการรุกรานยูเครนในเดือน ก.พ. 2565
ข้อมูลที่มาจาก Global Witness ที่มาจากกลุ่มข้อมูลต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยในยุโรปแสดงให้เห็นว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติเหลวที่มาจากบ่อก๊าซของบริษัทวินเทอร์แชลล์ในไซบีเรียตะวันตกนั้นยังคงมีการขนส่งไปยังโรงกลั่นในเมืองซาลาวัต สาธารณรัฐบัชคอร์โตสถาน รัสเซียตอนกลาง
โรงกลั่นที่ว่านี้มีการจัดส่งน้ำมันดีเซลไปให้กับหน่วยงานของกองทัพรัสเซียจำนวนหลายหน่วย และยังส่งน้ำมันดีเซลไปให้กับหน่วยงานด้านความมั่นคงรวมไปถึงหน่วยงานอารักขาความปลอดภัยของรัฐบาลกลางหรือว่า FSO ซึ่งหน่วยงานนี้จะทำหน้าที่เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยส่วนตัวให้กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน
สำหรับบ่อก๊าซในไซบีเรียตะวันตกนั้นพบว่ามีผู้เป็นเจ้าของร่วมกันได้แก่บริษัทวินเทอร์แชลล์ ซึ่งโครงสร้างบริษัทพบว่าส่วนใหญ่แล้วมีเจ้าของได้แก่กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมข้ามชาติของเยอรมนีชื่อว่า BASF และเจ้าของร่วมบ่อก๊าซอีกรายได้แก่รัฐวิสาหกิจแก๊ซพรอมของรัสเซีย โดยบ่อก๊าซดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการก่อตัวทางธรณีวิทยาทำให้เกิดแหล่งก๊าซอาคิมอฟ อันประกอบไปด้วยก๊าซธรรมชาติเหลวจำนวนมาก
ข้อมูลและหลักฐานอื่น ๆ ที่ตรวจสอบโดย RFE/RL และ Global Witness ยังไม่มีรายละเอียดที่มากพอจะสรุปได้ว่าน้ำมันดีเซลที่มีการจัดส่งจากโรงกลั่นในซาลาวัตนั้นมาจากผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติเหลวที่มีการสกัดโดยกลุ่มบริษัทวินเทอร์แชลล์หรือไม่ แต่เป็นที่ทราบแน่นอนว่าหน่วยงานต่างๆรวมถึง FSO น้ำมันดีเซลกลั่นมาจากโรงกลั่นแห่งนี้
รายงานข่าวว่าบริษัทเยอรมนีมีการทำธุรกิจในรัสเซียในช่วงปี 2565 หลังการรุกราน (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าว DW)
ย้อนไปเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวแดร์ สปีเกล ของเยอรมนีได้มีการรายงานข่าวเช่นกันว่าก๊าซธรรมชาติเหลวจากวินเทอร์แชลล์นั้นอาจจะถูกนำไปใช้เพื่อผลิตเชื้อเพลิงให้กับกองทัพอากาศรัสเซีย ขณะที่บริษัทได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาและยังกล่าวหาสื่อต่อไปอีกว่าล้มเหลวในการหาหลักฐานอันน่าเชื่อถือเพื่อจะมาเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ของบริษัทกับกองทัพรัสเซีย
วินเทอร์แชลล์ได้อ้างต่อไปในครั้งนั้นด้วยว่าบริษัทไม่ได้เข้าไปควบคุมกิจการร่วมค้ากับทางรัสเซียและไม่ได้ไปควบคุมบัญชีธนาคารของบริษัทที่มีการใช้ร่วมกับแก๊ซพรอมแล้ว และทางผู้บริหารของบริษัทยังได้มีการหารือว่าจะชดเชยให้กับผู้ถือหุ้นบริษัทอย่างไรบ้าง ซึ่งในตอนนี้บริษัทกำลังจะพิจารณาขอเงินค่าชดเชยกับทางรัฐบาลเยอรมนีอยู่
เจ้าหน้าที่ของบริษัทวินเทอร์แชลล์รายหนึ่งยังได้บอกกับ Global Witness ว่าบริษัทไม่เคยมีส่วนร่วมใดๆเลยกับกรณีการขนส่งไฮโดรคาร์บอนและการตลาดในรัสเซีย และก็ไม่เคยมีหลักฐานด้วยเช่นกันว่าก๊าซธรรมชาติเหลวจากแหล่งอาคิมอฟถูกนำไปใช้เพื่อผลิตเชื้อเพลิงให้กับกองทัพรัสเซียเพื่อทำสงครามในยูเครน
ทว่าการรุกรานที่กินเวลานานกว่า 15 เดือนแล้ว อาจทำให้เป็นการยากขึ้นสำหรับวินเทอร์แชลล์ที่จะประเมินว่าเชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนจะไปที่ไหนต่อไป เพราะทางเครมลินได้มีการขยายทั้งหน่วยงานในด้านการข่าวกรองและการทหารที่เข้าหลักเกณฑ์ว่าสามารถปกปิดการเปิดเผยการจัดซื้อจัดจ้างต่อสาธารณะได้ ซึ่งก็รวมถึง FSO ด้วยเช่นกัน
@ห่วงโซ่อุปทานสู่ซาลาวัต
เป็นระยะเวลาหลายปีแล้วที่บริษัทวินเทอร์แชลล์ได้ไปเป็นกิจการร่วมค้าในภาคส่วนหลายๆแห่งในประเทศรัสเซีย รวมไปถึงการเป็นกิจการร่วมค้ากับรัฐวิสาหกิจแก๊ซพรอม และบริษัทย่อยของแก๊ซพรอมที่ชื่อว่าแก๊ซพรอม โดบิชา อูเรนโกอิ
ในช่วงเดือน ม.ค. 2566 หรือก็คือ 11เดือนหลังจากที่รัสเซียได้บุกยูเครน บริษัทวินเทอร์แชลล์ได้ออกมากล่าวว่ามีการแทรกแซงของรัฐบาลรัสเซียเกิดขึ้น ทรัพย์สินของบริษัทถูกเวนคืนทางเศรษฐกิจ และบริษัทได้ตัดสินใจที่จะออกจากประเทศรัสเซีย
ทว่าเอกสารงบประจำปีของบริษัทที่เผยแพร่หลังจากนั้นเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนกลับนำเสนอสิ่งที่ตรงกันข้ามกับข้อกล่าวอ้างของบริษัท เพราะยังพบข้อมูลว่ามีสองธุรกิจที่บริษัทได้เป็นหุ้นส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ และ 25 เปอร์เซ็นต์กับบริษัทรัสเซียที่ชื่อว่าแก๊ซพรอม อาคิมกาซ และอาคิม ดีเวลลอปเมนท์ ตามลำดับ ส่วนบันทึกทางธุรกิจของรัสเซียก็ได้แสดงเอกสารความเป็นเจ้าของร่วมที่มีมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
แหล่งก๊าซอาคิมอฟนั้นพบว่ามีส่วนในการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นจำนวนมาก ซึ่งก๊าซนั้นถูกจัดการโดยโรงงานแปรรูปใกล้กับเมืองโนวี่ อูเรนโก และโรงงานแปรรูปนี้ยังถูกควบคุมโดยหน่วยงานอีกแห่งของแก๊ซพรอม
โดยเมื่อก๊าซธรรมชาติเหลวผ่านกระบวนการแปรรูปแล้วก็จะมีการส่งไปยังโรงกลั่นต่อไป ซึ่งข้อมูลจากบันทึกการขนส่งทางรถไฟพบว่า 66 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซธรรมชาติเหลวที่ออกจากสถานีเมืองซูร์กุต มุ่งหน้าไปยังสถานีรถไฟที่ถูกใช้งานโดยโรงกลั่นในเมืองซาลาวัต ซึ่งโรงกลั่นนี้มีผู้ดูแลกิจการได้แก่ แก๊ซพรอม เนฟเตกิม ซาลาวัต หรือก็คือบริษัทลูกของแก๊ซพรอมนั่นเอง
วิดีโอโปรโมตโรงกลั่นน้ำมันของรัฐวิสาหกิจแก๊ซพรอม (อ้างอิงวิดีโอจากรัฐวิสาหกิจแก๊ซพรอม)
@ห่วงโซ่อุปทานที่แผ่ขยายสาขากับลูกค้าที่เชื่อมโยงกับทหาร
เพียงไม่กี่เดือนก่อนที่จะมีการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ กองทัพรัสเซียได้มีการอนุมัติให้ใช้น้ำมันดีเซลจากเมืองซาลาวัตเพื่อการทหาร และในช่วงเวลาเดียวกันนี้การขนส่งน้ำมันจากเมืองซาลาวัตไปยังภูมิภาคที่มีพรมแดนติดกับยูเครนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
การขนส่งไปยังภูมิภาคพรมแดนดังกล่าวก็ยังเป็นไปโดยสม่ำเสมอและเพิ่มขึ้นสูงอีกครั้งในปลายปี 2565
จากการวิเคราะห์บันทึกการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลรัสเซีย ที่ดำเนินโดย Global Witness และ RFE แสดงให้เห็นว่าโรงกลั่นซาลาวัตได้มีการส่งน้ำมันดีเซลโดยตรงไปยังบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับการทหารและอื่นๆ
หน้าเว็บไซต์บริษัทวินเทอร์แชลล์
หนึ่งในบริษัทที่ได้รับมอบน้ำมันดีเซลจำนวนหลายครั้งจากโรงกลั่นในซาลาวัตได้แก่บริษัทที่ชื่อว่าเคดร์ โดยบริษัทนี้เซ็นสัญญาหลายสัญญากับกองทัพรัสเซียตั้งแต่ปี 2564 ในรายละเอียดสัญญาระบุว่าจะมีการส่งน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลไปให้กับหน่วยทหารที่ชื่อว่าหน่วย 38953-K และ หน่วย 69793
หน่วยทหาร 66793 นั้นเป็นหนึ่งในหน่วยของ FSO โดยมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยทหารเบื้องต้นนี้ปฏิบัติการในเมืองโซชิ เมืองรีสอร์ทติดกับทะเลดำ และยังเป็นสถานที่ที่มีบ้านพักอาศัยของประธานาธิบดีปูตินอยู่ ซึ่งเขามักจะไปใช้เวลาที่นั่นอยู่บ่อยครั้ง
สำหรับบริษัทเคดร์พบว่ามีที่ตั้งบริษัทอยู่ในแหลมไครเมียที่ถูกรัสเซียยึดครองไปตั้งแต่ปี 2557 โดยบริษัทแห่งนี้ได้ดำเนินการด้านเครือข่ายสถานีเติมน้ำมันที่นั่นภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า ATAN ตามการรายงานของสื่อรัสเซีย
เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่าบริษัทเคดร์ได้มีการว่าจ้างพนักงานที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติในระดับท้องถิ่นที่มาจากพรรค United Russia (พรรคของประธานาธิบดีปูติน) อย่างน้อยหนึ่งราย ได้มีการเซ็นสัญญาว่าจะจัดหาน้ำมันเบนซินให้กับกองกำลังกึ่งทหารที่ให้ความช่วยเหลือตำรวจรัสเซียในพื้นที่คาบสมุทรที่ถูกยึดครอง
@ความเชื่อมโยงกับสตาฟโรโพล
มีหลักฐานเพิ่มเติมอีกว่าก๊าซธรรมชาติเหลวของบริษัทวินเทอร์แชลล์ นั้นถูกจัดส่งไปให้กับหน่วยทหารกองทัพรัสเซียที่อยู่ในภูมิภาคสตาฟโรโพล ทางตอนใต้ของรัสเซีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีฐานประจำการของกองทัพผสมที่ 49 ของรัสเซียอยู่
โดยตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชื่อว่าบริษัท Agro-Snab ได้มีการลงนามในสัญญาหลายฉบับ ระบุว่าบริษัทจะดำเนินการจัดเก็บผลิตภัณฑ์น้ำมัน อาทิจัดเก็บน้ำมันดีเซลให้กับหน่วยทหาร 2432 ในสตาฟโรโพลในช่วงปี 2557-2560
ข้อมูลบันทึกจากรถไฟที่ Global Witness และ RFE ได้มีการสำรวจยังระบุอีกว่า Agro-Snab ได้รับการจัดส่งน้ำมันดีเซลหลายครั้งจากเมืองซาลาวัต ในปี 2565 รวมถึงได้รับน้ำมันดีเซลมากกว่า 550 ตันจากโรงงานในเดือนมกราคม 2566
นอกจากนี้ในช่วงปี 2558 ยังพบข้อมูลว่าบริษัทขายส่งน้ำมันชื่อว่า Promkhim มีการเซ็นสัญญาให้เช่าถึงเก็บน้ำมันดีเซลกับหน่วยทหาร 5559 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพิทักษ์ชาติของรัสเซียที่มีชื่อว่ารอสกวาร์เดีย และบริษัทแห่งนี้ยังได้รับการจัดส่งน้ำมันดีเซลอีกหลายครั้งจากเมืองซาลาวัต ในเดือนมิถุนายน 2565 สี่เดือนหลังจากการรุกรานเริ่มขึ้น โดยยังไม่ชัดเจนว่าในช่วงเวลานั้นสัญญายังคงมีผลหรือไม่
ล่าสุดมีรายงานจากข่าวรัสเซียว่าหนึ่งในสมาชิกหน่วย 5559 อย่างน้อยหนึ่งนาย ถูกสังหารในยูเครน
@กรณีค่าชดเชยสำหรับวินเทอร์แชลล์
ในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ส ได้รายงานข่าวอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของวินเทอร์แชลล์ ระบุว่าบริษัทเคยคาดหวังว่าจะได้เงินจากการดำเนินงานในรัสเซีย ที่จะถูกจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท หลังจากที่สงครามนี้สิ้นสุดลง และในบทความเดียวกันนี้เอง ทางด้านของนายมาริโอ เมห์เรน ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่าบริษัทได้ขายกิจการในรัสเซียไปหมดแล้วหรือยัง
มีรายงานอีกว่าผู้บริหารของวิทเทอร์แชลล์ ยังได้พิจารณาว่าจะขอค่าชดเชยสําหรับการสูญเสียกิจการร่วมค้าของรัสเซีย โดยหันไปเรียกร้องจากหลักค้ำประกันของรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งหลักค้ำประกันดังกล่าวนั้นพบว่ามีที่มีของเงินทุนส่วนใหญ่มาจากภาษีของประชาชนเยอรมนี
- ส่องคดีทุจริตโลก: สกอตแลนด์ทำสัญญาจ้างตุรเคีย ต่อเรือ 9 พัน ล. ท้องถิ่นไม่ได้ประโยชน์
- ส่องคดีทุจริตโลก:เอกสารหลุดเพนตากอน แฉความสัมพันธ์ รัสเซีย- UAE ช่วยหลบมาตรการคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก:เจาะลึกระบบธนาคารใต้ดินจีน เอี่ยวฟอกเงินพันล้านแก๊งยาเสพติดยุโรป
- ส่องคดีทุจริตโลก: อัยการ EU สั่งสอบ งบฟื้นฟูเมืองหลวงบัลแกเรียไม่โปร่งใส เสียหาย ร้อย ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: รบ.เซอร์เบีย ส่อใช้งานนักจารกรรมข้อมูลการเงินอิสราเอลโจมตีฝ่ายตรงข้าม
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกชนใกล้ชิดพรรคการเมือง ได้สัญญาส่งอาหารกองทัพลัตเวีย 8 พัน ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:อัยการสวิสสั่งฟัน 4 นายธนาคาร เอื้อประโยชน์คนสนิทปูตินฝากเงินนับพัน ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปง 3 เอกชนเยอรมนี นำเข้าไม้สักผิด กม.จากเมียนมานานนับปี
- ส่องคดีทุจริตโลก:แฉ หน.ทหารรับจ้างวากเนอร์ หลบคว่ำบาตรตะวันตก หารายได้ พัน ล.ในแอฟริกา
- ส่องคดีทุจริตโลก: แฉคอร์รัปชั่นวงการก่อสร้างตุรเคีย ต้นเหตุยอดตายแผ่นดินไหว 4.6 หมื่นศพ
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดปม บ.เกลมาโต้ถูกกล่าวหาจ่ายคอมมิชชั่นเอื้อทำสัญญาหลาย รบ.ในแอฟริกา
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.พลังงานยักษ์ใหญ่ตะวันตก ทำธุรกิจหนุนเส้นเงินเผด็จการเมียนมา
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดปมฉาว กห.ยูเครนจัดซื้ออาหารไม่โปร่งใส กระทบความเชื่อมั่นต่างชาติ
- ส่องคดีทุจริตโลก:ขมวดปมอื้อฉาว ATK สะเทือนพรรคคอมฯเวียดนามอย่างไร หลัง ปธน.ลาออก
- ส่องคดีทุจริตโลก: ตามรอยบุหรี่จีนนับล้านมวนสูญหาย หลังเดินทางออกจากโรงงานในโรมาเนีย
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงเอกชนรับงานบูรณะถนนยูเครนพันล้าน เชื่อมโยงผู้ต้องหาหนีคดี FBI
- ส่องคดีทุจริตโลก: ประมวลข่าวคอร์รัปชันโลกปี 65 จากโอลิการ์ชรัสเซียถึงเอกสารแพนโดรา