‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจ ธ.ค.67 ชะลอตัวจากเดือนก่อน หลัง ‘ส่งออก-การผลิตอุตสาหกรรม’ ลดลง คาดจีดีพีไตรมาส 4/67 เติบโตไม่ถึง 4% หลังตัวเลข ‘ภาคการผลิต’ ไม่เป็นไปตามคาด
...........................................
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ธ.ค. และไตรมาสที่ 4/2567 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ธ.ค. ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขนส่งสินค้าปรับลดลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว
อย่างไรก็ตาม รายรับภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ตามสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะไกลที่เพิ่มขึ้น ด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยในเกือบทุกหมวดหลัก ยกเว้นหมวดสินค้าไม่คงทนที่ชะลอลง หลังจากที่เร่งไปในช่วงแรกของมาตรการเงินโอนภาครัฐ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวต่อเนื่องจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงาน จากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อนทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2567 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากแรงขับเคลื่อนของกิจกรรมในภาคบริการและรายรับภาคการท่องเที่ยว ด้านการส่งออกสินค้าทรงตัวอยู่ในระดับที่สูง โดยทรงตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว โดยส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการโอนเงินภาครัฐ แม้ว่ายอดขายรถยนต์หดตัว ด้านการลงทุนภาคเอกชนลดลงเล็กน้อยจากหมวดยานพาหนะและหมวดก่อสร้าง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง จากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากหมวดพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นสำคัญ
“ท่านผู้ว่าฯเคยบอกว่า จะใกล้ๆ 4% แต่ถามว่า ออกมา Soft กว่าที่คาดไว้หรือไม่ ถ้าดูตามเครื่องชี้ ก็น่าจะ Soft กว่าที่คาดไว้ แต่ไม่น่าจะหายไปจนเยอะมาก ไม่ได้แย่ลงมาก แค่ทรงๆ แต่ส่วนที่ค่อนข้างจะเห็นชัดเจน คือ ภาคการผลิตที่ อาจไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดไว้เท่าไหร่ แต่ไตรมาส 4/2657 น่าจะดีกว่าไตรมาสที่ 3/2567 ถ้าดูจากเครื่องชี้ แค่ว่าตัวเลขเทียบปีต่อปีอาจไม่ได้ใกล้ 4% มากขนาดนั้น แต่ก็ถือว่า 3% บวกๆ” น.ส.ชญาวดี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2567 จะขยายตัวได้ 4% ตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในระยะต่อไป เศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการฟื้นตัวของรายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักแ และ 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการของร่าง พ.ร.บ.สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ พ.ศ.... หรือ NaCGA โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นฯตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.-9 ก.พ.2568 ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มีดังนี้
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะ 1) หมวดยานยนต์ จากการส่งออกรถยนต์นั่งเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกรถกระบะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะที่ส่งไปอาเซียน 2) หมวดปิโตรเลียม ตามการส่งออกไปอาเซียนและบังคลาเทศ และ 3) หมวดสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกผลไม้ เนื้อสัตว์ และน้ำตาล อย่างไรก็ตาม การส่งออกในบางสินค้าปรับเพิ่มขึ้น อาทิ โลหะมีค่า คอมพิวเตอร์ และเครื่องปรับอากาศ
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการผลิตหมวดอื่นๆ อาทิ โลหะประดิษฐ์ เครื่องจักร และเหล็ก รวมถึงการผลิตปิโตรเลียมที่ลดลง สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลิตในบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ หมวดเคมีภัณฑ์จากการผลิตปุ๋ย และหมวดอาหารและเครื่องดื่มจากการผลิตน้ำตาล
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะไกล โดยเฉพาะรัสเซียและออสเตรเลีย ขณะที่ลดลงในกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะใกล้ อาทิ จีนและมาเลเซีย สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะไกลที่เพิ่มขึ้น
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ ตามการผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือเพื่อใช้งานทั่วไป และคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง รวมทั้งการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น ด้านการลงทุนในหมวดยานพาหนะปรับเพิ่มขึ้น ตามยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นจากรถบรรทุกและรถยนต์รับจ้าง อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านการก่อสร้างลดลง ตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในทุกวัตถุประสงค์ที่ลดลง
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากอาเซียนและไต้หวัน รวมถึงปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลง ตามการนำเข้าทั้งสินค้าคงทนและไม่คงทน
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยในเกือบทุกหมวด ยกเว้นหมวดสินค้าไม่คงทน ซึ่งลดลงตามยอดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มและปริมาณการใช้ไฟฟ้า หลังจากที่เร่งไปในช่วงแรกของมาตรการเงินโอนภาครัฐ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการท่องเที่ยวในประเทศที่ดีขึ้น
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงจากการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคและคมนาคมเป็นสำคัญ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงาน จากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดอาหารสดลดลงจากผลของฐานสูงในราคาเนื้อสุกร ประกอบกับราคาผักลดลง เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยหมวดอาหารปรับเพิ่มขึ้น ตามราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร ขณะที่หมวดอุปกรณ์ซักล้างปรับลดลงตามการทำโปรโมชั่น สำหรับภาวะตลาดแรงงานโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อนทั้งในภาคการผลิตและบริการ
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่กลับมาเกินดุล ตามดุลบริการภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากการระดมทุนผ่านสินเชื่อเป็นสำคัญ จากธุรกิจกลุ่มการค้าและการผลิตยางและพลาสติก รวมถึงการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่ตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจในกลุ่มการแพทย์และกลุ่มสื่อสารเพื่อลงทุนขยายกิจการ
อย่างไรก็ตาม การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้สุทธิลดลงจากธุรกิจในภาคการเงินและอสังหาเป็นสำคัญ สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ในเดือนธันวาคม 2567 เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นนำสกุลภูมิภาค หลังตลาดปรับลดความกังวลต่อนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่จะส่งผลกระทบต่อไทย ประกอบกับแข็งค่าตามฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย สอดคล้องกับดุลรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
เศรษฐกิจไทยโดยรวมในไตรมาสที่ 4 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามแรงขับเคลื่อนของกิจกรรมในภาคบริการและรายรับภาคการท่องเที่ยว รวมถึงรายจ่ายลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำอยู่ในระดับสูง โดยทรงตัวจากไตรมาสก่อน จากการส่งออกสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว โดยส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการเงินโอนภาครัฐ แม้ยอดขายยานยนต์จะหดตัว
อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงจากหมวดยานพาหนะและหมวดก่อสร้าง ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุน ประกอบกับผลของฐานต่ำในหมวดพลังงานปีก่อนที่มีมาตรการลดราคาพลังงานของภาครัฐ
ด้านการจ้างงานทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคารปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาก่อสร้างลดลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่กลับมาเกินดุลเป็นสำคัญ
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ พ.ย.ชะลอ หลังเร่งตัวจาก‘เงินโอน’-แนะรัฐบาล‘ลงทุน’ได้ผลดีกว่า‘แจกเงิน’
IMF มองจีดีพีไทยปีหน้าโต 2.9% แนะ‘กนง.’ลดดบ.อีก 1 ครั้ง-‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ต.ค.67 ดีขึ้น
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย ก.ย.67 ชะลอลงจากเดือนก่อน-คาดจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัวใกล้ 3%
‘แบงก์ชาติ’รับดูแล‘ค่าเงินบาท’ดัน‘ทุนสำรองฯ’เพิ่ม-ชี้เศรษฐกิจ ส.ค.67 ทรงตัวจากเดือนก่อน
ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย ก.ค.67 ดีขึ้น-‘ลงทุนเอกชน’กลับมาขยายตัว ‘ผู้บริโภค’กังวลค่าครองชีพ
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย มิ.ย.67 ชะลอตัว-ย้ำปัจจัย‘เชิงโครงสร้าง’ถ่วง‘ส่งออก’ฟื้นตัวช้า
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ค.67 ชะลอตัวจากเดือนก่อน จับตาส่งออกฟื้นช้า-ลุ้นรัฐเร่งเบิกจ่ายฯ
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ เม.ย.67 ดีขึ้น มองGDPไตรมาส 2 โตเกิน 1.5%-แจง'คลัง'ไม่ทบทวนเกณฑ์ LTV
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ มี.ค.ชะลอตัว คาดGDPไตรมาส 1/67 โต 1%-เผยตั้งแต่ต้นปี'บาท'อ่อน 7.8%
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย ก.พ.67 ขยายตัวต่ำ-ย้ำจุดยืนแจก‘หมื่นดิจิทัล’พุ่งเป้ากลุ่มเปราะบาง
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ม.ค.67 โตต่ำ-‘ตลาดแรงงาน’แย่ลง ลุ้น‘ภาคส่งออก-ภาคผลิต’ฟื้นตัวต่อเนื่อง
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ธ.ค.ขยายตัว‘ชะลอลง’ จ่อหั่นจีดีพีปี 66 โตต่ำกว่า 2.4%-ทบทวนตัวเลขปี 67
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ย.66 ‘ทรงตัว’-มองปี 67 ยังเติบโตได้ จากอุปสงค์ในประเทศ-ส่งออกฟื้น
‘ธปท.’คาดจีดีพีไตรมาส 4 โต 3.7% ชี้เศรษฐกิจ ต.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-เงินเฟ้อลด
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจ ก.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว จับตาสงคราม‘ฮามาส-อิสราเอล’-นโยบายรัฐบาล
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจเดือน ส.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตา'ส่งออกฟื้น-นโยบายรัฐบาล-ภัยแล้ง'
‘ธปท.’ชี้ตั้งรัฐบาลลากยาว 10 เดือน กระทบเชื่อมั่น-เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.อยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ส่งออกมีสัญญาณดี! ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย พ.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตานโยบายรัฐบาลใหม่