‘ธปท.’ ชี้ค่าเงินบาท 'แข็ง' มาจากหลายปัจจัย รับการเข้าแทรกแซง ‘ค่าเงิน’ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ‘ทุนสำรองฯ’ เพิ่มขึ้น พร้อมเผยเศรษฐกิจไทย ส.ค.67 ทรงตัวจากเดือนก่อน
...........................................
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ส.ค.2567 ว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากหมวดสินค้าไม่คงทน ส่วนการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า ซึ่งบางส่วนเป็นปัจจัยชั่วคราว ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง และรายจ่ายลงทุนของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวชะลอลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวหลังจากเร่งไปในเดือนก่อน ประกอบกับสินค้าคงคลังในหลายหมวดยังอยู่ในระดับสูง
ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อนจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากทั้งผลของฐานสูงในปีก่อนและราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังปรับเพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารตามราคาอาหารสำเร็จรูป
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้า ตามมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นจากการจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ
น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงแนวโน้มการเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคบริการเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังทยอยฟื้นตัว ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของการผลิตและการส่งออก 2.ผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการของภาครัฐ 3.ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ 4.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีต่อเนื่อง
น.ส.ชญาวดี ยังกล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วและผันผวน ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นและมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณชะลอลง ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาด ทำให้คนมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวัฏจักรการลดดอกเบี้ย (easing cycle)
นอกจากนี้ ในส่วนของค่าเงินเยน เจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) หลายคน ออกมาให้ความเห็นค่อนข้าง Hawkish (ดุดัน) ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงล่าสุดยังมีการแข็งค่าของค่าเงินหยวน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่จะมีส่วนสนับสนุนให้ sentiment ในตลาดการเงินดีขึ้น
“ฉะนั้น เนื่องจากเราเป็นค่าเงินสกุลภูมิภาค ถ้ามองว่าเงินเยน ญี่ปุ่นจะแข็ง หยวนจะแข็ง ก็ทำให้ค่าเงินสกุลภูมิภาคแข็งตามไป ถามว่าเราแข็งที่สุดไหม มีคนแข็งกว่าเรา คือ มาเลเซีย มาเลเซียวันนี้ 11% แล้ว ที่แข็งขึ้นไป แต่เราก็อยู่อันดับ 2 อันดับ 3 อยู่ในกลุ่มที่แข็งกว่าคนอื่น และไทยเองก็มีปัจจัยเฉพาะด้วย จากรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ความชัดเจนในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็เริ่มมีเข้ามา และ sentiment ในตลาดหุ้นปรับดีขึ้น แล้วยังมีเรื่องราคาทองคำ โดยทุกครั้งที่บาทแข็งก็มีปัจจัยนี้เข้ามามีบทบาท
อันนี้ก็เลยเป็นทั้งปัจจัยจากโลกเอง ที่ทุกประเทศเจอเหมือนกันในภูมิภาคและของเราเอง ถามว่าเราเข้าไปทำอะไรหรือเปล่า ก็อย่างที่เรียนว่า เราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเข้าดูแลในช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวนแรง เพื่อลดผลกระทบ มันก็สะท้อนออกมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ทุนสำรองฯที่เพิ่มขึ้นอาจมีหลายส่วน ส่วนหนึ่งมาจากดอลลาร์ฯที่อ่อนค่าลง ก็ทำให้ตัว valuation ของทุนสำรองฯของเราปรับเพิ่มขึ้นด้วย และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดูแล” น.ส.ชญาวดี กล่าว
น.ส.ชญาวดี ย้ำว่า “เราดูแลอยู่ ในแง่ของสิ่งที่เราต้องการ เราดูแลด้านเสถียรภาพราคา ซึ่งค่าเงิน ก็คือราคาอย่างหนึ่งที่เราคงต้องดูแล สิ่งหนึ่งที่เราเข้าไปดู คือ ดูการทำงานของตลาด ต้องบอกว่า เมื่อมันมีการเปลี่ยนแปลงข้างนอกค่อนข้างเยอะ มันทำให้นักลงทุน ไม่ได้แค่ทำธุรกรรม แต่เขาเปลี่ยนราคา ปรับ Pricing ในหัวเขาด้วย เพราะฉะนั้น เวลาเขาโค้ดราคามา ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกรรมตลอดเวลา
จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมา พอมีหลายปัจจัย ก็ทำให้การปรับราคาเห็นค่อนข้างเยอะ และแรง ทำให้เกิดความผันผวนค่อนข้างสูง เราก็ต้องดูว่า การปรับเปลี่ยนทั้งเรื่องราคาและธุรกรรม ทำให้ดีมานด์และซัพพลาย ยังทำงานเป็นปกติหรือเปล่า ถ้าตรงไหนที่เราคิดว่าจะทำงานไม่ปกติ และอาจจะเกิดความผันผวนที่รุนแรง เราต้องเข้าไปดูแล และที่ผ่านมา เราก็ดูแลอยู่”
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนเพิ่มขึ้นตามปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง สอดคล้องกับราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้าคงทนลดลงสะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ และยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่หดตัว และหมวดบริการลดลงเล็กน้อย สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องจากความกังวลด้านค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำ รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วม
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไปยังประเทศคู่ค้าที่อุปทานขาดแคลน โดยเฉพาะการส่งออกยางไปอินเดีย และน้ำตาลไปกัมพูชา ประกอบกับการส่งออกยานยนต์ไปตะวันออกกลางที่เร่งขึ้นจากรอบการส่งมอบของผู้ส่งออกบางราย อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าในบางหมวดปรับลดลงจากเดือนก่อน อาทิ เซลล์แสงอาทิตย์ไปสหรัฐฯ ที่เริ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ และปิโตรเลียมหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดหลักจาก 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามปริมาณการนำเข้าเชื้อเพลิง และการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไต้หวัน 2) สินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์จากไต้หวันหลังเร่งนำเข้าไปในช่วงก่อนหน้า และ 3) สินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือจากจีนและเวียดนาม และผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมที่เร่งนำเข้าไปในเดือนก่อน
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วหดตัวจากเดือนก่อน โดยเฉพาะ 1) หมวดยานยนต์ หดตัวจากการผลิตรถกระบะและรถยนต์นั่งสำหรับขายในประเทศเป็นสำคัญ 2) หมวดยางและพลาสติก จากการผลิตถุงมือยางหลังเร่งผลิตไปในเดือนก่อน 3) หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า หลังเร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้าจากผลของสภาพอากาศที่ร้อนจัด ประกอบกับสินค้าคงคลังในหลายหมวดยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การผลิตบางสินค้าเช่น สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง น้ำตาล ขยายตัวจากเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออก
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซียหลังเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ญี่ปุ่นและอินเดีย สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อนจากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อทริปที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่การลงทุนด้านก่อสร้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นตามยอดจำหน่ายอิฐบล็อคและพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยลดลง อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของภาคธุรกิจทรงตัวจากเดือนก่อน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากการเบิกจ่ายค่าบำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล และค่าตอบแทนพนักงานของรัฐ รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายโครงการลงทุนด้านคมนาคมและชลประทาน สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคม
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อนจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของฐานสูงในปีก่อนและราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหมวดอาหารตามราคาอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นจากการจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมในระบบประกันสังคมที่ปรับลดลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้า ตามมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามค่าใช้จ่ายทรัพย์สินทางปัญญา
ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมลดลงจากเดือนก่อน ตามการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ในธุรกิจกลุ่มผลิตปิโตรเคมีและธุรกิจก่อสร้าง หลังเร่งระดมทุนไปในช่วงก่อน ประกอบกับรอความชัดเจนของทิศทางอัตราดอกเบี้ย ขณะที่การระดมทุนผ่านสินเชื่อธุรกิจสุทธิลดลงจากธุรกิจในภาคการผลิต สาธารณูปโภค และภาคก่อสร้าง อย่างไรก็ดี การระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากธุรกิจขนส่งและธุรกิจก่อสร้างรายใหญ่
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่าขึ้น เนื่องจาก 1) ตลาดปรับเพิ่มคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่คาด 2) การแข็งค่าขึ้นของหลายสกุลในภูมิภาคตามสกุลเงินเยน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตลาดคาด และ 3) แรงกดดันจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น
อ่านประกอบ :
ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย ก.ค.67 ดีขึ้น-‘ลงทุนเอกชน’กลับมาขยายตัว ‘ผู้บริโภค’กังวลค่าครองชีพ
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย มิ.ย.67 ชะลอตัว-ย้ำปัจจัย‘เชิงโครงสร้าง’ถ่วง‘ส่งออก’ฟื้นตัวช้า
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ค.67 ชะลอตัวจากเดือนก่อน จับตาส่งออกฟื้นช้า-ลุ้นรัฐเร่งเบิกจ่ายฯ
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ เม.ย.67 ดีขึ้น มองGDPไตรมาส 2 โตเกิน 1.5%-แจง'คลัง'ไม่ทบทวนเกณฑ์ LTV
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ มี.ค.ชะลอตัว คาดGDPไตรมาส 1/67 โต 1%-เผยตั้งแต่ต้นปี'บาท'อ่อน 7.8%
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย ก.พ.67 ขยายตัวต่ำ-ย้ำจุดยืนแจก‘หมื่นดิจิทัล’พุ่งเป้ากลุ่มเปราะบาง
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ม.ค.67 โตต่ำ-‘ตลาดแรงงาน’แย่ลง ลุ้น‘ภาคส่งออก-ภาคผลิต’ฟื้นตัวต่อเนื่อง
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ธ.ค.ขยายตัว‘ชะลอลง’ จ่อหั่นจีดีพีปี 66 โตต่ำกว่า 2.4%-ทบทวนตัวเลขปี 67
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ย.66 ‘ทรงตัว’-มองปี 67 ยังเติบโตได้ จากอุปสงค์ในประเทศ-ส่งออกฟื้น
‘ธปท.’คาดจีดีพีไตรมาส 4 โต 3.7% ชี้เศรษฐกิจ ต.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-เงินเฟ้อลด
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจ ก.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว จับตาสงคราม‘ฮามาส-อิสราเอล’-นโยบายรัฐบาล
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจเดือน ส.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตา'ส่งออกฟื้น-นโยบายรัฐบาล-ภัยแล้ง'
‘ธปท.’ชี้ตั้งรัฐบาลลากยาว 10 เดือน กระทบเชื่อมั่น-เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.อยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ส่งออกมีสัญญาณดี! ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย พ.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตานโยบายรัฐบาลใหม่