‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค.66 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว ได้แรงหนุนจาก ‘การบริโภค-ลงทุนเอกชน’ คาดจีดีพีไตรมาส 4 เติบโต 3.7% ทำให้ทั้งปี 66 เศรษฐกิจขยายตัว 2.4%
..................................
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน ต.ค.2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค.2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนการส่งออกสินค้าและภาคบริการชะลอลงจากเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงานและอาหารสด ตามมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐและราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลง ขณะที่หมวดอาหารสดลดลงจากฐานที่ค่อนข้างสูงในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.2566 และในระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีแรงส่งสำคัญจากบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้า 2.ผลกระทบของเอลนีโญต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร และ 3.ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีต่อราคาพลังงาน
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 4/2566 จะขยายตัวสูงถึง 3.7% เพราะปีที่แล้วที่ต่ำมาก และทำให้เศรษฐกิจทั้งปี 2566 ขยายตัวได้ 2.4% ส่วนเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3/2566 ที่ขยายตัว 1.5% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดนั้น มาจากฝั่งภาคการผลิตเป็นสำคัญ เช่น ตัวเลข MPI ที่เติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้ ขณะที่การส่งออกในช่วง 2 เดือนหลัง ก็ไม่ดีมาก ซึ่งเป็นผลจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมาช้ากว่าที่คาด อีกทั้งเศรษฐกิจในฝั่งคู่ค้า เช่น จีน ที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนแล้ว จึงคาดว่าในช่วงไตรมาส 4/2566 หรือไตรมาส 1/2567 จะเห็นการส่งออกฟื้นตัวดีกว่านี้ ซึ่งรวมไปถึงการฟื้นตัวในภาคการผลิตด้วย นอกจากนี้ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกไม่ได้ชะลอตัวลงมา แต่เศรษฐกิจมีการพึ่งพาภาคบริการมาก ดังนั้น ในปีหน้าหากเศรษฐกิจต่างประเทศสมดุลขึ้น คือ ภาคบริการแผ่วลงและภาคการผลิตกลับขึ้นมาได้ ประเทศไทยจะได้อานิสงส์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา
“3 ไตรมาสที่ผ่านมา เราทราบข้อมูลแล้ว และเราคาดว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2566 น่าจะเติบโต 3.7% เพราะไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ฐานต่ำมาก ดังนั้น ในแง่คณิตศาสตร์แล้ว เราคิดว่าน่าจะเห็นตัวเลขที่สูงอยู่” น.ส.ชญาวดี กล่าว
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้นจากยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและการนำเข้าสินค้าทุน ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามนักท่องเที่ยวรัสเซียหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า และนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ชะลอการเดินทางเพื่อรอวันหยุดพิเศษในเดือน พ.ย. หลังจากที่ทางการได้ประกาศเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวบางสัญชาติปรับดีขึ้น อาทิ จีน ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการยื่นวีซ่า และกลุ่มยุโรป โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรและเยอรมนี สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวชะลอลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักแรมที่ลดลง
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวด อาทิ 1) การส่งออกเครื่องประดับไปฮ่องกง หลังเร่งไปในเดือนก่อนที่มีงานจัดแสดงสินค้า 2) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จากการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ลดลงตามรอบการส่งมอบสินค้า และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงตามการส่งออกไปสหรัฐฯ และฮ่องกง
และ 3) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกผลไม้ไปจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ยานยนต์ไปออสเตรเลีย และปิโตรเลียมไปอาเซียน
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนจาก 1) หมวดเชื้อเพลิง ตามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ 2) สินค้าอุปโภคและบริโภค ตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และ 3) สินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์หลังเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงในหลายหมวด หลังเร่งผลิตไปในเดือนก่อน ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มตามการผลิตน้ำตาล หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ลดลงตามรอบการส่งมอบสินค้า และหมวดเคมีภัณฑ์ตามการผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น อย่างไรก็ดี การผลิตหมวดปิโตรเลียมปรับดีขึ้น ตามการกลับมาดำเนินการผลิตหลังปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในเดือนก่อน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ ตามการเบิกจ่ายที่ลดลงจากการทบทวนงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่รายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางขยายตัว ตามการเบิกจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษา สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงานและอาหารสด โดยหมวดพลังงานลดลงจากมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ และราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่หมวดอาหารสดลดลงจากผลของฐานสูงในราคาผักเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดปรับเพิ่มการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน ประกอบกับความไม่แน่นอนของผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส
อ่านประกอบ :
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจ ก.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว จับตาสงคราม‘ฮามาส-อิสราเอล’-นโยบายรัฐบาล
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจเดือน ส.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตา'ส่งออกฟื้น-นโยบายรัฐบาล-ภัยแล้ง'
‘ธปท.’ชี้ตั้งรัฐบาลลากยาว 10 เดือน กระทบเชื่อมั่น-เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.อยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ส่งออกมีสัญญาณดี! ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย พ.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตานโยบายรัฐบาลใหม่
เศรษฐกิจไทย เม.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว 'ธปท.'เกาะติดความไม่แน่นอนจัดตั้ง'รัฐบาลใหม่'
'แบงก์ชาติ' เผยเศรษฐกิจไทย มี.ค.66 ชะลอตัวจากเดือนก่อน หลัง 'ส่งออก-ลงทุนเอกชน' ลดลง
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ ก.พ. ดีขึ้นจากเดือนก่อน-'ดุลบัญชีเดินสะพัด'พลิกบวก 1.3 พันล้านดอลล์
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ม.ค.66 ดีขึ้น ลุ้นครึ่งปีหลัง‘ส่งออก’ฟื้น-ยันดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวน
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ธ.ค.65 ฟื้นต่อเนื่อง-คาด‘เงินเฟ้อทั่วไป’กลับสู่กรอบฯครึ่งหลังปี 66
‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทย พ.ย.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตาผลกระทบ 4 ปัจจัย
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’