‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจ พ.ย.67 ชะลอตัวจากเดือนก่อน หลังเร่งตัวจากมาตรการ ‘เงินโอนภาครัฐ’ แนะรัฐบาลเดินหน้า ‘ลงทุน-อุปโภคบริโภค’ ชี้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่า ‘แจกเงิน’
.....................................
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน พ.ย.2567 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ย.2567 ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนลดลง หลังจากที่เร่งไปในเดือนก่อนจากมาตรการเงินโอนภาครัฐ หรือโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้กับกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ที่มีผลค่อนข้างมากในเดือน ต.ค.2567 สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการค้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงจากทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง
อย่างไรก็ดี ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ และการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นจากหมวดยานยนต์และสินค้าเกษตรแปรรูป สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำและลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากมีปัจจัยกดดันจากสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับบางภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันที่สูงขึ้น
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงาน จากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากหมวดอาหาร ตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากผลของภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า
ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการจ้างงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น แต่การจ้างงานในภาคการค้ารถยนต์และการผลิตวัสดุก่อสร้างปรับลดลง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่กลับมาสมดุล รวมถึงดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น
นางปราณี กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนภาคการผลิตยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อรายรับของภาคธุรกิจและรายได้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง
ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ 1.ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของแนวนโยบายเศรษฐกิจประเทศหลัก หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งในเดือน ม.ค.2568 ซึ่งต้องติดตามมาตรการที่จะออกมา และ 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
นางปราณี กล่าวถึงการดำเนินโครงการแจกเงินเฟส 1 และเฟส 2 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ และผู้สูงอายุ รวมถึงจะมีการแจกเงินในเฟส 3 ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า การแจกเงินทั้ง 3 เฟส ธปท.ได้นำไปรวมไว้ในประมาณการเศรษฐกิจแล้ว ส่วนผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ธปท. ก็เห็นว่าทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้นในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา และเมื่อมองไปข้าง ผลจะเป็นอย่างไร คงขึ้นอยู่กับว่าแจกกลุ่มไหนและพฤติกรรมการใช้จ่ายเป็นอย่างไร
“คนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางเฟสแรก จะเป็นกลุ่มที่มีมัลติพลายเออร์ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งคงต้องจับตาดูต่อไปว่า ผลต่อเศรษฐกิจที่จะช่วยในด้านการผลิตและการบริโภค จะได้มากน้อยอย่างไร” นางปราณี กล่าว
ส่วนกรณีที่ ธปท. เสนอความเห็นต่อ ครม. โดยแสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการแจกเงินของรัฐบาลนั้น นางปราณี กล่าวว่า การให้ความเห็นดังกล่าว ก็เป็นไปตามหลักการว่า เงินมีต้นทุนค่าเสียโอกาส โดย ธปท.ได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงผลของการนำเงินไปใช้ในโครงการแต่ละประเภท ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า หากนำเงินไปใช้ในการใช้จ่ายในการลงทุนหรือการอุปโภคบริโภคของภาครัฐ จะมีมัลติพลายเออร์ (ตัวคูณ) ต่อเศรษฐกิจมากกว่าการให้เงินโอน
“จากการศึกษาโครงการฯในอดีต ถ้าเปรียบเทียบประสิทธิผลการใช้เงิน 1 บาท ว่า ทางไหนมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ผลศึกษาฯพบว่า การนำไปใช้ในเรื่องการลงทุนหรือการใช้จ่ายของภาครัฐ จะมีประสิทธิผล ความคุ้มค่าของเงินมากกว่าเงินที่เป็นเงินโอน” นางปราณี กล่าวและว่า “จริงๆแล้ว รัฐบาลก็ทำหลายอย่างอยู่ ก็ไม่อยากให้ดูเฉพาะโครงการนี้ โครงการนั้น แล้วเทียบกัน เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจจะช่วยทั้งระยะสั้น กลาง และยาว จึงอยากให้มองเป็นภาพรวม”
นางปราณี กล่าวด้วยว่า ในส่วนความกังวลของ ธปท. เกี่ยวกับการขาดดุลทางการคลังนั้น ธปท.มองว่า เนื่องจากทรัพยากรของเราไม่ได้เหลือช่องว่างมากนัก ดังนั้น การนำไปใช้ในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และมีความคุ้มค่าในการใช้ ตรงนั้นจะช่วยได้ค่อนข้างมาก
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.2567 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงในเกือบทุกหมวดหลัก หลังจากที่เร่งไปในเดือนก่อนจากมาตรการเงินโอนภาครัฐ โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่คงทนตามปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และหมวดสินค้าคงทนตามยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์หลังจากที่เร่งขึ้นสูงในเดือนก่อน แม้ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านการใช้จ่ายในหมวดบริการทรงตัว สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวในประเทศที่ดีขึ้นหลังสถานการณ์ น้ำท่วมในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือคลี่คลาย และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลง จากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะรถกระบะและรถแทรกเตอร์ และการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลงหลังเร่งนำเข้าในเดือนก่อน นอกจากนี้ การลงทุนด้านการก่อสร้างลดลง จากทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะพื้นที่เพื่อที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นในหลายสัญชาติโดยเฉพาะ อินเดีย ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียลดลงชั่วคราวจากผลของน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ของไทย สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงหลังจากเร่งไปในช่วงก่อน ประกอบกับในเดือนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงปรับลดลง
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากหมวดยานยนต์และสินค้าเกษตรแปรรูปเป็นสำคัญ โดยหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นตามการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะไปออสเตรเลียและอาเซียน รวมถึงการส่งออกยางล้อไปสหรัฐฯ สำหรับหมวดสินค้าเกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้นตามการส่งออกยางสังเคราะห์ไปจีนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปสหรัฐฯ ในหลายสินค้าลดลง ได้แก่ เครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลจากการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาดโดยสหรัฐฯ
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลง ตามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับหมวดสินค้าอุปโภคและบริโภคลดลงเช่นกัน หลังจากเร่งไปในเดือนก่อน โดยสินค้าคงทนลดลงตามการนำเข้าโทรศัพท์จากจีน ขณะที่สินค้าไม่คงทนลดลงตามการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม อย่างไรก็ดี หมวดสินค้าทุนเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์จากจีนเป็นสำคัญ
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงจากฐานที่ต่ำในปีก่อนที่ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ล่าช้า โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวเล็กน้อย ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมเป็นสำคัญ
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่มตามน้ำตาล หลังจากได้เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า และอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่สินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง และหมวดยานยนต์ จากทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ อย่างไรก็ดี การผลิตบางหมวดปรับเพิ่มขึ้นบ้าง อาทิ ปิโตรเลียม และแผงวงจรรวม
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดอาหารสดลดลงตามราคาผัก เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากหมวดอาหารเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งผ่านราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากผลของภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า
สำหรับภาวะตลาดแรงงานโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการจ้างงานในภาคบริการ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ชดเชยกับการจ้างงานในภาคการค้ารถยนต์และการผลิตวัสดุก่อสร้างที่ปรับลดลง
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่กลับมาสมดุล จากดุลบริการภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าที่ลดลง ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกช่องทาง โดยการระดมทุนผ่านสินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นจากธุรกิจกลุ่มโฮลดิ้งและภาคการผลิต ขณะที่ตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจในภาคบริการและก่อสร้างเป็นสำคัญ และตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจในภาคบริการเพื่อขยายกิจการ
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ในเดือนพฤศจิกายน 2567 เฉลี่ยอ่อนค่าลง ตามความไม่แน่นอนของขนาดการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกอบกับตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งอาจส่งผลต่อภาคการค้าและการท่องเที่ยวของไทย
อ่านประกอบ :
IMF มองจีดีพีไทยปีหน้าโต 2.9% แนะ‘กนง.’ลดดบ.อีก 1 ครั้ง-‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ต.ค.67 ดีขึ้น
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย ก.ย.67 ชะลอลงจากเดือนก่อน-คาดจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัวใกล้ 3%
‘แบงก์ชาติ’รับดูแล‘ค่าเงินบาท’ดัน‘ทุนสำรองฯ’เพิ่ม-ชี้เศรษฐกิจ ส.ค.67 ทรงตัวจากเดือนก่อน
ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย ก.ค.67 ดีขึ้น-‘ลงทุนเอกชน’กลับมาขยายตัว ‘ผู้บริโภค’กังวลค่าครองชีพ
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย มิ.ย.67 ชะลอตัว-ย้ำปัจจัย‘เชิงโครงสร้าง’ถ่วง‘ส่งออก’ฟื้นตัวช้า
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ค.67 ชะลอตัวจากเดือนก่อน จับตาส่งออกฟื้นช้า-ลุ้นรัฐเร่งเบิกจ่ายฯ
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ เม.ย.67 ดีขึ้น มองGDPไตรมาส 2 โตเกิน 1.5%-แจง'คลัง'ไม่ทบทวนเกณฑ์ LTV
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ มี.ค.ชะลอตัว คาดGDPไตรมาส 1/67 โต 1%-เผยตั้งแต่ต้นปี'บาท'อ่อน 7.8%
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย ก.พ.67 ขยายตัวต่ำ-ย้ำจุดยืนแจก‘หมื่นดิจิทัล’พุ่งเป้ากลุ่มเปราะบาง
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ม.ค.67 โตต่ำ-‘ตลาดแรงงาน’แย่ลง ลุ้น‘ภาคส่งออก-ภาคผลิต’ฟื้นตัวต่อเนื่อง
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ธ.ค.ขยายตัว‘ชะลอลง’ จ่อหั่นจีดีพีปี 66 โตต่ำกว่า 2.4%-ทบทวนตัวเลขปี 67
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ย.66 ‘ทรงตัว’-มองปี 67 ยังเติบโตได้ จากอุปสงค์ในประเทศ-ส่งออกฟื้น
‘ธปท.’คาดจีดีพีไตรมาส 4 โต 3.7% ชี้เศรษฐกิจ ต.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-เงินเฟ้อลด
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจ ก.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว จับตาสงคราม‘ฮามาส-อิสราเอล’-นโยบายรัฐบาล
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจเดือน ส.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตา'ส่งออกฟื้น-นโยบายรัฐบาล-ภัยแล้ง'
‘ธปท.’ชี้ตั้งรัฐบาลลากยาว 10 เดือน กระทบเชื่อมั่น-เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.อยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ส่งออกมีสัญญาณดี! ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย พ.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตานโยบายรัฐบาลใหม่