ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ส.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้ ‘อุปสงค์ในประเทศ-การลงทุนเอกชนแผ่ว’ จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง การฟื้นตัวการส่งออก-นโยบายรัฐบาล-ภัยแล้ง’
...................................
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ส.ค.2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.2566 ยังคงอยู่ในทิศทางฟื้นตัวตามรายรับในภาคการท่องเที่ยว รวมถึงกิจกรรมในภาคบริการที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนแม้จะลงชะลอลงบ้าง หลังจากเร่งขยายตัวในเดือนก่อน
ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำลดลง ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวจากรายจ่ายประจำ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากหมวดพลังงาน ตามราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและหมวดอาหารสดปรับลดลง ตามราคาอาหารสำเร็จรูป และราคาเนื้อสัตว์จากอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น ด้านตลาดแรงงานยังปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าเป็นสำคัญ
ดร.สักกะภพ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือน ก.ย.2566 และในระยะต่อไป น่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ตามอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การฟื้นตัวของการส่งออก นโยบายของรัฐบาล และผลกระทบของภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอญนีโญ่ที่มีต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ส.ค.2566 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนหลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงานนอกภาคเกษตร รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่กลับมาเพิ่มขึ้น หลังการจัดตั้งรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน อย่างไรก็ดี การลงทุนในหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างลดลง หลังเร่งไปมากในเดือนก่อน
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการส่งออกหมวดสินค้าเกษตรแปรรูปลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรลดลงตามการส่งออกทุเรียนไปจีน หลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดปรับดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และเครื่องใช้ไฟฟ้า
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง รวมทั้งเชื้อเพลิง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับเพิ่มขึ้นตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการผลิตหมวดที่ปรับดีขึ้นได้แก่ 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มตามการผลิตน้ำตาล 2) หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ตามรอบการผลิต และ 3) หมวดเคมีภัณฑ์ตามการผลิตปุ๋ยเคมี อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าหมวดยานยนต์ลดลง จากการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะหลังเร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงส่งผลให้ชาวจีนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวในหลายสัญชาติปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี และออสเตรเลีย ตามอุปสงค์การเดินทางท่องเที่ยวที่ยังมีต่อเนื่อง สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายประจำตามการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนบุคลากร รวมถึงเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคม หลังเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากผลของฐานสูง ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากหมวดพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซิน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและหมวดอาหารสดปรับลดลง ตามราคาอาหารสำเร็จรูป และราคาเนื้อสุกรตามอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจาก 1) ตลาดปรับเพิ่มการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ 2) การอ่อนค่าของค่าเงินหยวนตามตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ต่ำกว่าตลาดคาด และ 3) ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาด
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ชี้ตั้งรัฐบาลลากยาว 10 เดือน กระทบเชื่อมั่น-เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.อยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ส่งออกมีสัญญาณดี! ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย พ.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตานโยบายรัฐบาลใหม่
เศรษฐกิจไทย เม.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว 'ธปท.'เกาะติดความไม่แน่นอนจัดตั้ง'รัฐบาลใหม่'
'แบงก์ชาติ' เผยเศรษฐกิจไทย มี.ค.66 ชะลอตัวจากเดือนก่อน หลัง 'ส่งออก-ลงทุนเอกชน' ลดลง
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ ก.พ. ดีขึ้นจากเดือนก่อน-'ดุลบัญชีเดินสะพัด'พลิกบวก 1.3 พันล้านดอลล์
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ม.ค.66 ดีขึ้น ลุ้นครึ่งปีหลัง‘ส่งออก’ฟื้น-ยันดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวน
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ธ.ค.65 ฟื้นต่อเนื่อง-คาด‘เงินเฟ้อทั่วไป’กลับสู่กรอบฯครึ่งหลังปี 66
‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทย พ.ย.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตาผลกระทบ 4 ปัจจัย
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’