ธปท.เผยเศรษฐกิจไทย ธ.ค.66 ขยายตัว ‘ชะลอลง’ หลัง ‘รายได้นักท่องเที่ยว-ภาคส่งออก’ ชะลอ ขณะที่ ‘ภาคผลิต’ หดตัว จ่อหั่นคาดการณ์จีดีพีปี 66 เติบโตต่ำกว่า 2.4% แนะรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง หลัง ‘ส่งออกไทย’ โตช้ากว่าเพื่อนบ้าน-สินค้าไทยถูกแย่งส่วนแบ่งตลาด
.....................................
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และโฆษก ธปท. เปิดเผยในงาน ‘BOT Monthly Briefing โฆษกพบสื่อ’ ประจำเดือน ม.ค.2567 ว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ธ.ค.2566 และไตรมาส 4/2566 ขยายตัวชะลอลง ตามรายรับภาคการท่องเที่ยว และมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมหดตัว
โดยเป็นผลมาจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า และส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว อาทิ การที่เศรษฐกิจจีนพึ่งพาตนเองมากขึ้น ส่งผลให้เครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชนอยู่ในทิศทางชะลอลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการยังขยายตัวต่อเนื่อง และเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ตามมาตรการลดราคาน้ำมันเบนซินของภาครัฐและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับราคาหมวดอาหารสดลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัว ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน แต่เริ่มเห็นสัญญาณการจ้างงานในภาคการผลิตชะลอลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากไตรมาสก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือน ม.ค.2567 และในระยะถัดไป คาดว่าเศรษฐกิจยังคงได้รับแรงส่งจากการท่องเที่ยวและการบริโภค แต่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออก ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกโลก 2.ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ 3.นโยบายของภาครัฐ
น.ส.ชญาวดี ระบุด้วยว่า จากเครื่องชี้และตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ธ.ค.2566 ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2566 จะขยายตัวต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนจะปรับตัวเลขเป็นเท่าไหร่ และอย่างไร คงต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วยพิจารณาอีกครั้ง โดยจะมีการประชุม กนง. ในวันที่ 7 ก.พ.นี้
“ตัวเลข (จีดีพี) คงต้องรอการทบทวนจาก กนง. ด้วย แต่เครื่องชี้ต่างๆ คงไม่หนีจากกระทรวงการคลังมาก เพราะเรามีการแชร์ข้อมูลกับระหว่างหน่วยงาน” น.ส.ชญาวดี กล่าว และ "จากข้อมูลมันคงต่ำกว่าที่คาดไว้พอสมควร ส่วนจะได้ 2% หรือไม่ได้ 2% นั้น คงรอ กนง. และถ้ามีการทบทวนตัวเลขในปี 2566 ก็ต้องไปทบทวนตัวเลขในปี 2567 ด้วย เพราะตัวเลขปี 2566 เป็นตัวตั้งต้นของปี 2567 ถ้าจุดตั้งต้นต่ำ แรงส่งก็จะแผ่วลงบ้าง ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน ต้องทบทวนอีกครั้ง”
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ธปท.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัว 2.4% ส่วนปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.2% แต่หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล คาดว่าเศรษฐกิจปี 2567 จะขยายตัวที่ 3.8% ขณะที่เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงการคลังได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวได้เพียง 1.8% และปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.8%
@เศรษฐกิจโทย‘โตต่ำ-โตช้า’สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง
ด้าน นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขจีดีพี (Real GDP) ของประเทศไทยและประเทศอื่นในภูมิภาค พบว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 แล้ว แต่การเติบโตต่ำและช้ากว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยวัฏจักร และปัจจัยเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย สะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกของไทยที่เติบโตช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค
“ที่ผ่านมา โลกเจอกับวัฏจักรการค้าที่ฟื้นตัวได้ช้า แต่ถ้าเทียบการส่งออกของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว จะเห็นว่า เราค่อนข้างโตช้ากว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ตรงนี้ส่อเค้าถึงอาการว่า เราอาจมีปัญหาเชิงโครงสร้างในบางสินค้า และจำเป็นต้องเร่งแก้ไข ซึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ไม่ใช่เพิ่งเกิด มีมานานแล้ว แต่ในช่วงหลังโควิด จะเห็นผลกระทบรุนแรงขึ้น สะท้อนได้จากการผลิตภาคอุตสาหกรรม และความสามารถในการส่งออกบางสาขา” นางปราณี ระบุ
นางปราณี ยังยกตัวอย่างสินค้าของไทยที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่น ข้าว และสิ่งทอ เป็นต้น และ สินค้าของไทยบางอย่าง มีส่วนแบ่งตลาดลดลงมาก เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเป็นผลจากความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง
นางปราณี กล่าวต่อว่า ในภาคการท่องเที่ยวนั้น แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยยังแข่งขันได้ สะท้อนจากส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 ที่ไทยยังรักษาส่วนแบ่งตลาดฯได้ 12% แต่ก็มีประเด็นในเรื่องค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ซึ่งทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยลดลง และยังมีความเสี่ยงว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย กำลังเริ่มตีตื้นขึ้นมา
นอกจากนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า มีแนวโน้มว่าผู้ผลิตไทยมีความเสี่ยงจะเปลี่ยนแปลงไม่ทันโลกใหม่ที่มาเร็ว และแรงกว่าคาด จาก 1.กระแส Digital economy ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางหมวด เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีใหม่ อย่าง Solid state drive 2.กระแสความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะระหว่างจีนกับสหรัฐ และ 3.กระแส Green economy
“มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยค่อนข้างมีความท้าทายมากว่า เราจะเติบโตไปได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเราไม่มีการปรับตัวในภาคการผลิต” นางปราณี กล่าว
ขณะที่ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/2566 และในช่วงที่ผ่านมานั้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัว แต่เป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้า โดยเครื่องยนต์หลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกไม่ค่อยดีนัก และส่งผลมายังภาคการผลิต ทำให้ตัวเลขภาคการผลิตทั้งปี 2566 น่าจะติดลบ และยังสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย
“แม้ว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มมีการฟื้นตัวมาแล้ว แต่การผลิตและการส่งออกของเราฟื้นตัวค่อนข้างช้ามาก และถ้ามองไปข้างหน้า ถึงแม้ว่าในปีนี้ เครื่องยนต์เศรษฐกิจจะกลับมามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคที่ยังมีแรงส่งที่ยังดีอยู่ และเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่ยังมีคำถามว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีประโยชน์กับเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน ถ้าเรายังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ จึงเป็นสิ่งที่ทางการต้องมีนโยบายเข้ามาดูแลปัญหานี้” นายสักกะภพ กล่าว
@ดัชนีการผลิตอุตสาหกรรม-การลงทุนเอกชน ‘ลดลง’
รายงานข่าวแจ้งว่า ธปท.ได้เผยแพร่รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ธ.ค.2566 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนมี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการส่งออกลดลงในหลายสินค้าตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งการส่งออกและผลจากปัญหาภัยแล้ง โดยการส่งออกข้าวขาวไปอินโดนีเซียและแอฟริกาใต้ลดลงตามผลผลิตข้าวที่ลดลง ส่วนการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์ไปญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ลดลงเช่นกัน ขณะที่การส่งออกปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ลดลงต่อเนื่อง หลังจีนหันมาผลิตในประเทศเองมากขึ้น รวมทั้งความต้องการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ในอาเซียนลดลง
อย่างไรก็ดี การส่งออกในบางหมวดยังปรับเพิ่มขึ้น อาทิ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์ไปออสเตรเลีย น้ำมันดีเซลไปอาเซียน และฮาร์ดดิสไดรฟ์ไปฮ่องกงและจีนตามรอบการส่งมอบสินค้า
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ ตามการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดปิโตรเลียมและหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ลดลงจากการทยอยระบายสินค้าคงคลังของผู้ผลิต หลังได้ผลิตไปมากในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี หมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น ตามการผลิตน้ำตาลเป็นสำคัญ
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลง หลังจากเร่งไปแล้วในช่วงก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้า โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่ยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศปรับเพิ่มขึ้น สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้น
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะ 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน 2) เชื้อเพลิง ตามการนำเข้าน้ำมันดิบ และ 3) สินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือ และรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน หลังเร่งนำเข้ามามากในเดือนก่อนสำหรับงานมหกรรมยานยนต์
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลง โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับดีขึ้นต่อเนื่อง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนี่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะสัญชาติจีน ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการยื่นวีซ่า อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ ยุโรป และสหรัฐฯ ชะลอลงเล็กน้อยหลังเร่งไปในเดือนก่อน สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัวตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และการลงทุนรัฐวิสาหกิจหดตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านพลังงานและสาธารณูปโภค ขณะที่รายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษา และการเบิกจ่ายงบกลางสำหรับเป็นเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อนจากราคาหมวดอาหารสด ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และจากราคาหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว ด้านตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณการจ้างงานในภาคการผลิตชะลอลง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นจากทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดว่าสิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ย.66 ‘ทรงตัว’-มองปี 67 ยังเติบโตได้ จากอุปสงค์ในประเทศ-ส่งออกฟื้น
‘ธปท.’คาดจีดีพีไตรมาส 4 โต 3.7% ชี้เศรษฐกิจ ต.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-เงินเฟ้อลด
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจ ก.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว จับตาสงคราม‘ฮามาส-อิสราเอล’-นโยบายรัฐบาล
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจเดือน ส.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตา'ส่งออกฟื้น-นโยบายรัฐบาล-ภัยแล้ง'
‘ธปท.’ชี้ตั้งรัฐบาลลากยาว 10 เดือน กระทบเชื่อมั่น-เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.อยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ส่งออกมีสัญญาณดี! ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย พ.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตานโยบายรัฐบาลใหม่
เศรษฐกิจไทย เม.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว 'ธปท.'เกาะติดความไม่แน่นอนจัดตั้ง'รัฐบาลใหม่'
'แบงก์ชาติ' เผยเศรษฐกิจไทย มี.ค.66 ชะลอตัวจากเดือนก่อน หลัง 'ส่งออก-ลงทุนเอกชน' ลดลง
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ ก.พ. ดีขึ้นจากเดือนก่อน-'ดุลบัญชีเดินสะพัด'พลิกบวก 1.3 พันล้านดอลล์
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ม.ค.66 ดีขึ้น ลุ้นครึ่งปีหลัง‘ส่งออก’ฟื้น-ยันดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวน
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ธ.ค.65 ฟื้นต่อเนื่อง-คาด‘เงินเฟ้อทั่วไป’กลับสู่กรอบฯครึ่งหลังปี 66
‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทย พ.ย.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตาผลกระทบ 4 ปัจจัย
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’