ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ.67 ขยายตัวในระดับต่ำ แม้ ‘ภาคบริการ’ ยังขยายตัวต่อเนื่อง ย้ำจุดยืนแจกเงิน ‘ดิจิทัลวอลเลต’ 1 หมื่นบาท ควรพุ่งเป้า 'กลุ่มเปราะบาง'
..................................
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน BOT Monthly Briefing โฆษกพบสื่อ เดือน มี.ค.2567 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.2567 โดยรวมยังขยายตัวในระดับต่ำ โดยภาคบริการยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ด้านการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นในบางหมวด
ขณะที่การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากหลายกลุ่มสินค้ายังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิง โครงสร้างการผลิตของไทย ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเงินเฟ้อทั่วไปน้อยลง จากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวลดลงเล็กน้อย ตามราคาอาหารในหมวดพื้นฐาน จากผลของฐานที่สูงในปีก่อน ตลาดแรงงานทรงตัวจาก เดือนก่อนโดยการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงถูกชดเชยด้วยการจ้างงานในภาคบริการ
ส่วนการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อ ตราสารหนี้และตราสารทุน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตาม ดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.2567 ยังมีแรงส่งจากการท่องเที่ยว แต่ยังคงต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ส่วนความเสี่ยงที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของการค้าโลก โดยเฉพาะการค้าที่เกี่ยวกับภาคการผลิต 2.ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ3.การใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลยืนยันว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ธปท.มีจุดยืนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้อย่างไร น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า “มุมมองไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เราเห็นความจำเป็นในเรื่องการช่วยเหลือกลุ่มที่เป็นกลุ่มเปราะบาง และเป็น targeted (กำหนดเป้าหมาย) เพราะเป็นสิ่งที่เขาต้องการ และจะเป็นประโยชน์กับเขา
แต่ถ้าแตกในเรื่องการบริโภคออกมา พบว่าจะมีกลุ่มที่รายได้กลับมาเกินจุดก่อนโควิดไปแล้ว และรายได้อาจยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มนี้ หากได้ไป ในแง่ประโยชน์หรือผลลัพธ์ที่จะได้ ถ้าเราดู value for money อาจไม่ได้เยอะขนาดนั้น มันคงต้องดูในแง่ผลที่จะเกิดขึ้นในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เท่ากันทั้งหมด แต่มีกลุ่มที่มีความจำเป็นและควรจะได้รับการดูแล ซึ่งก็คือกลุ่มเปราะบาง แต่การพิจารณารายละเอียดต่างๆ คงต้องรอวันที่ 10 เม.ย.”
เมื่อถามว่า กรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติตรึงค่าไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2567เฉลี่ยไว้ที่ 4.18 บาท/หน่วย จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกได้หรือไม่ ว่า ธปท.ได้นำเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในประมาณการเงินเฟ้อแล้ว ซึ่งถ้ามองไปข้างหน้า น่าจะยังเห็นอัตราเงินเฟ้อทั้งไปติดลบอีก 2 เดือน และในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.2567 จะเริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวก
น.ส.ชญาวดี ยังกล่าวถึง ธปท. เชิญธนาคารพาณิชย์และชมรมที่เกี่ยวข้อง เข้ามาหารือเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรูดบัตรเครดิต เพื่อซื้อสินค้าออนไลน์จากร้านค้าต่างประเทศ ในอัตรา 1% ว่า ได้คุยกับทางชมรมฯ และขอให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวออกไป 3 เดือน หรือจนถึงเดือน ก.พ.2567 เพื่อให้ชมรมฯหรือผู้ให้บริการสื่อสารกับผู้บริโภคให้เข้าใจมากขึ้น และมีเวลาปรับตัว รวมทั้งสื่อสารทางเลือกอื่นๆให้ผู้บริโภครับทราบด้วย
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มีดังนี้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะ 1) จีน ซึ่งได้รับผลดีจากมาตรการวีซ่าฟรีและเทศกาลตรุษจีน (2) มาเลเซีย จากการท่องเที่ยวก่อนการถือศีลอดในช่วงรอมฎอนที่เร็วกว่าปกติในปีนี้ และ 3) ญี่ปุ่น หลังชะลอไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับมีวันหยุดยาว
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์จากการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะการนำเข้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่ขยายตัวสูง อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทรงตัวแม้พื้นที่ฯ เพื่ออุตสาหกรรมและโรงงานเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราวตามการเร่งผลิตปิโตรเลียม หลังปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในเดือนก่อน ประกอบกับการผลิตหมวดเคมีภัณฑ์ที่ปรับดีขึ้น จากการผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น สอดคล้องกับการส่งออกไปจีนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการผลิตหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูปและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดยานยนต์ลดลง จากทั้งการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่าย ในหมวดบริการและสินค้าไม่คงทน ส่วนหนึ่งยังได้รับผลดีจากมาตรการภาครัฐทั้งการอุดหนุนราคาพลังงานและการลดหย่อนภาษีต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลง โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะ 1) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารไปสหรัฐฯ รวมถึงการส่งออกแผงวงจรรวมและฮาร์ดดิสไดรฟ์ไปจีนและฮ่องกง 2) ยานยนต์ตามการส่งรถกระบะไปออสเตรเลียเป็นสำคัญ และ 3) ปิโตรเลียม จากการส่งออกไปอาเซียน
อย่างไรก็ดี การส่งออกในบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ การส่งออกน้ำตาลไปอาเซียน แผงเซลล์แสงอาทิตย์ (solar cell) ไปสหรัฐฯ และเครื่องปรับอากาศไปยุโรป
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าสินค้าทุนโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์จากไต้หวันและเครื่องจักรจากยุโรป และสินค้าอุปโภคและบริโภค ตามการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สินค้าเวชภัณฑ์เครื่องสำอาง และอาหาร
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังหดตัวสูงตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และรายจ่ายประจำที่หดตัว จากผลของฐานสูงในปีก่อนตามการเลื่อนเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาเป็นสำคัญ รวมถึงปีก่อนมีการเบิกจ่ายในมาตรการลดค่าไฟฟ้าและโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว จากผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคม
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญจาก ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อย ตามราคาอาหารในหมวดพื้นฐานจากผลของฐานสูงในปีก่อน แม้ราคาในหมวดอาหาร อาทิ เครื่องดื่มไม่มี แอลกอฮอล์และอาหารบริโภคนอกบ้านยังเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
ด้านตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงถูกชดเชยด้วยการจ้างงานในภาคบริการ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลตามดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งสินเชื่อ ตราสารหนี้ และตราสารทุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนขยายกิจการ และจ่ายคืนหนี้บางส่วน
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดปรับคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯที่ช้าออกไป หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยออกมาต่ำกว่าคาด
@ย้ำ 1 เม.ย.ดีเดย์แก้หนี้เรื้อรัง
ด้าน น.ส.อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งภายใต้มาตรการฯนี้ เจ้าหนี้ต้องแจ้งเตือนลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นเรื้อรัง หรือกำลังจะเป็นหนี้เรื้อรัง ผ่าน SMS พร้อมทั้งเสนอมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ฯให้สามารถปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี โดยต้องแจ้งให้เสร็จภายใน 30 เม.ย.2567 รวมทั้งต้องมีช่องทาง Call center ให้ลูกหนี้ติดต่อด้วย
“ถ้าหาก (ลูกหนี้) ติดต่อไปแล้ว หรือติดต่อแบงก์แล้วพบว่า สิ่งที่แบงก์ทำ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์แบงก์ชาติ อย่างแรกให้ร้องเรียนไปได้เลย เพราะทั้งแบงก์และนอนแบงก์ จะมีระบบรับเรื่องร้องเรียนของเขา และถ้าร้องเรียนแล้วยังไม่ได้ เงียบ อย่างไรก็ไม่ยอมปรับ ก็ให้ร้องเรียนมาที่ ธปท. ผ่านสายด่วน 1213” น.ส.อรมนต์ กล่าว (อ่านประกอบ : ‘ธปท.’ดีเดย์แก้หนี้เรื้อรัง 1 เม.ย. ปิดจบใน 5 ปี-ยกเคสโชว์ลดภาระ‘ดอกเบี้ย’นับหมื่น)
(อรมนต์ จันทพันธ์)
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ม.ค.67 โตต่ำ-‘ตลาดแรงงาน’แย่ลง ลุ้น‘ภาคส่งออก-ภาคผลิต’ฟื้นตัวต่อเนื่อง
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ธ.ค.ขยายตัว‘ชะลอลง’ จ่อหั่นจีดีพีปี 66 โตต่ำกว่า 2.4%-ทบทวนตัวเลขปี 67
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ย.66 ‘ทรงตัว’-มองปี 67 ยังเติบโตได้ จากอุปสงค์ในประเทศ-ส่งออกฟื้น
‘ธปท.’คาดจีดีพีไตรมาส 4 โต 3.7% ชี้เศรษฐกิจ ต.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-เงินเฟ้อลด
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจ ก.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว จับตาสงคราม‘ฮามาส-อิสราเอล’-นโยบายรัฐบาล
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจเดือน ส.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตา'ส่งออกฟื้น-นโยบายรัฐบาล-ภัยแล้ง'
‘ธปท.’ชี้ตั้งรัฐบาลลากยาว 10 เดือน กระทบเชื่อมั่น-เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.อยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ส่งออกมีสัญญาณดี! ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย พ.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตานโยบายรัฐบาลใหม่
เศรษฐกิจไทย เม.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว 'ธปท.'เกาะติดความไม่แน่นอนจัดตั้ง'รัฐบาลใหม่'
'แบงก์ชาติ' เผยเศรษฐกิจไทย มี.ค.66 ชะลอตัวจากเดือนก่อน หลัง 'ส่งออก-ลงทุนเอกชน' ลดลง
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ ก.พ. ดีขึ้นจากเดือนก่อน-'ดุลบัญชีเดินสะพัด'พลิกบวก 1.3 พันล้านดอลล์
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ม.ค.66 ดีขึ้น ลุ้นครึ่งปีหลัง‘ส่งออก’ฟื้น-ยันดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวน
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ธ.ค.65 ฟื้นต่อเนื่อง-คาด‘เงินเฟ้อทั่วไป’กลับสู่กรอบฯครึ่งหลังปี 66
‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทย พ.ย.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตาผลกระทบ 4 ปัจจัย
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’