‘ธปท.’ เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจไทย ก.ย.67 ชะลอตัวจากเดือนก่อน เหตุ ‘การส่งออกสินค้า-การบริโภคเอกชน’ ลดลง คาดจีดีพีไตรมาส 3/67 เติบโตใกล้ 3%
..........................................
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย.2567 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย.2567 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าที่ลดลง หลังเร่งไปมากในเดือนก่อน ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนลดลง โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว
อย่างไรก็ดี รายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับดีขึ้น ด้านการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากโครงการด้านคมนาคมทางรางเป็นสำคัญ
ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ หมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นตามราคาผัก และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากทั้งรายรับภาคท่องเที่ยว รวมถึงการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจ ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน
ขณะที่ตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อนตามการจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและบริการ โดยภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวการจ้างงานปรับดีขึ้น ขณะที่ภาคก่อสร้างและการค้าปรับแย่ลง สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้นบ้าง
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2567 โดยรวม ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและการบริโภคเอกชนปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากไตรมาสก่อนจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูป
“คาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3/2567 ก็น่าจะใกล้ๆ 3% เพราะหลายตัวก็เป็นไปตามที่คาดไว้” น.ส.ชญาวดี กล่าว และว่า ในส่วนผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมต่อเศรษฐกิจไทยนั้น แม้ว่าจะมีความเสียหายเกิดขึ้น และหนักอยู่บ้าง แต่เมื่อหักลบกับตัวเลขการซ่อมสร้างที่จะเกิดขึ้นแล้ว ผลกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมคงมีไม่มากนัก
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป ยังมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังทยอยฟื้นตัว แต่มีบางอุตสาหกรรมที่จะยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต 2.การใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และ3.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
“ความเสี่ยงในช่วงไตรมาสที่ 4/2567 หลักๆเราพยายามดูว่า การส่งออกและการผลิตที่เราคิดว่า จะไปต่อได้และทยอยฟื้นตัวนั้น จะมีแรงส่งมากน้อยแค่ไหน และต้องติดตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐว่าจะทำให้ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งติดตามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรออกมาอีก โดยปัจจัยเหล่านี้มีผลทั้งบวกและลบต่อภาพเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4/2567 ได้” น.ส.ชญาวดี กล่าว
สำหรับผลกระทบจากการโอนเงิน 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง 1.45 ล้านคน ต่อเศรษฐกิจ นั้น น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า การโอนเงินที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ย.2567 ทำให้การใช้จ่ายในเรื่องการอุปโภคบริโภค รวมถึงการซื้อของใช้ภายในบ้านของประชาชนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังไม่มาก โดยในช่วงเดือน ต.ค.2567 น่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องติดตามเครื่องชี้ในเดือน ต.ค.2567 ต่อไป
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย.2567 เทียบกับเดือนก่อน มีดังนี้
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวดโดยเฉพาะ 1) ยานยนต์ ตามการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะไปยังตลาดอาเซียนและออสเตรเลีย 2) สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป ที่ลดลงหลังเร่งส่งออกไปในเดือนก่อนตามอุปทานที่ขาดแคลนในประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะการส่งออกยางไปอินเดีย และน้ำตาลไปกัมพูชา และ 3) เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมีภัณฑ์ ตามการส่งออกปิโตรเคมีไปจีนที่ลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การส่งออกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ปรับเพิ่มขึ้นตามการส่งออกไปตลาดอาเซียน สอดคล้องกับแนวโน้มการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มทยอยปรับดีขึ้น
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดจาก 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไต้หวัน รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 2) สินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์จากไต้หวัน และ 3) สินค้าอุปโภคและบริโภค ตามการนำเข้าโทรศัพท์จากจีน และผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลงมาก ตามยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ด้านการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนลดลงจากปริมาณการใช้น้ำมัน
อย่างไรก็ดี ยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เงินโอน 10,000 บาท) ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดบริการทรงตัว สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องตามความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วม ค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ที่ปรับลดลงตามการผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะเพื่อจำหน่ายในประเทศ หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ลดลงตามการผลิตน้ำมันปาล์มที่วัตถุดิบน้อยลง และอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่อุปสงค์คู่ค้าชะลอตัว อย่างไรก็ดี การผลิตหมวดปิโตรเลียมปรับเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลังหลังอยู่ในระดับต่ำในเดือนก่อนหน้า
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัว โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าสินค้าทุนในหมวดโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รวมถึงเครื่องมือและเครื่องจักรที่ใช้ในงานทั่วไปเป็นสำคัญ ด้านยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศทรงตัวจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลงเล็กน้อย สำหรับการลงทุนด้านก่อสร้างปรับลดลงจากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ ขณะที่ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นจากหมวดซีเมนต์และเครื่องสุขภัณฑ์
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอการเดินทางเพื่อรอท่องเที่ยวช่วงเทศกาลหยุดยาววันชาติจีน (Golden Week) อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติปรับเพิ่มขึ้น อาทิ มาเลเซียและเกาหลีใต้ สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อทริปที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวระยะยาว (long-haul)
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าบำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล และค่าตอบแทนพนักงานของรัฐ ด้านรายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายโครงการลงทุนด้านคมนาคมและชลประทาน อย่างไรก็ตาม รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากการเบิกจ่ายโครงการด้านคมนาคมทางรางและสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดหลัก โดยหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ หมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นตามราคาผัก และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากทั้งรายรับภาคท่องเที่ยวและการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจ
ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อน โดยภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวการจ้างงานปรับดีขึ้น ขณะที่ภาคก่อสร้างและการค้าปรับแย่ลง สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้นบ้าง ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกช่องทาง โดยเฉพาะการระดมทุนผ่านสินเชื่อภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นหลังลดลงในช่วงก่อนหน้า จากสินเชื่อธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ขนส่ง รวมถึงอสังหาริมทรัพย์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจปิโตรเลียมและวัสดุก่อสร้างปรับลดลง
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับแรงกดดันจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น
ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าที่เร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ประกอบกับได้รับผลดีจากปัจจัยชั่วคราวในบางสินค้า รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวสูงจากทั้งรายจ่ายลงทุนและประจำ หลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ ประกอบกับและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายรับภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนลดลงเล็กน้อย ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่าไตรมาสก่อนจากหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและผลของฐานราคาน้ำมันเบนซินและค่าไฟฟ้าที่สูงในปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูป
ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลงเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและบริการ สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับลดลง
อ่านประกอบ :
‘แบงก์ชาติ’รับดูแล‘ค่าเงินบาท’ดัน‘ทุนสำรองฯ’เพิ่ม-ชี้เศรษฐกิจ ส.ค.67 ทรงตัวจากเดือนก่อน
ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย ก.ค.67 ดีขึ้น-‘ลงทุนเอกชน’กลับมาขยายตัว ‘ผู้บริโภค’กังวลค่าครองชีพ
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย มิ.ย.67 ชะลอตัว-ย้ำปัจจัย‘เชิงโครงสร้าง’ถ่วง‘ส่งออก’ฟื้นตัวช้า
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ค.67 ชะลอตัวจากเดือนก่อน จับตาส่งออกฟื้นช้า-ลุ้นรัฐเร่งเบิกจ่ายฯ
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ เม.ย.67 ดีขึ้น มองGDPไตรมาส 2 โตเกิน 1.5%-แจง'คลัง'ไม่ทบทวนเกณฑ์ LTV
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ มี.ค.ชะลอตัว คาดGDPไตรมาส 1/67 โต 1%-เผยตั้งแต่ต้นปี'บาท'อ่อน 7.8%
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย ก.พ.67 ขยายตัวต่ำ-ย้ำจุดยืนแจก‘หมื่นดิจิทัล’พุ่งเป้ากลุ่มเปราะบาง
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ม.ค.67 โตต่ำ-‘ตลาดแรงงาน’แย่ลง ลุ้น‘ภาคส่งออก-ภาคผลิต’ฟื้นตัวต่อเนื่อง
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ธ.ค.ขยายตัว‘ชะลอลง’ จ่อหั่นจีดีพีปี 66 โตต่ำกว่า 2.4%-ทบทวนตัวเลขปี 67
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ย.66 ‘ทรงตัว’-มองปี 67 ยังเติบโตได้ จากอุปสงค์ในประเทศ-ส่งออกฟื้น
‘ธปท.’คาดจีดีพีไตรมาส 4 โต 3.7% ชี้เศรษฐกิจ ต.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-เงินเฟ้อลด
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจ ก.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว จับตาสงคราม‘ฮามาส-อิสราเอล’-นโยบายรัฐบาล
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจเดือน ส.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตา'ส่งออกฟื้น-นโยบายรัฐบาล-ภัยแล้ง'
‘ธปท.’ชี้ตั้งรัฐบาลลากยาว 10 เดือน กระทบเชื่อมั่น-เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.อยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ส่งออกมีสัญญาณดี! ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย พ.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตานโยบายรัฐบาลใหม่