IMF มองเศรษฐกิจไทยฟื้น ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ คาดปีหน้าจีดีพีโต 2.9% จาก ‘การใช้จ่ายภาครัฐ-ลงทุนเอกชน’ แนะ ‘กนง.’ ลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ขณะที่ ‘ธปท.’ ชี้เศรษฐกิจ ต.ค. ดีขึ้นจากเดือนก่อน จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยง
..............................................
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11-26 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะผู้แทนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เดินทางเข้ามามาประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดย IMF ได้หารือกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรวมถึง ธปท. และภาคเอกชน เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับนโยบายภาครัฐที่สำคัญ
โดย IMF ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป จากแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว แม้ว่าในช่วงแรกการใช้จ่ายของภาครัฐจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2567 ไม่มากนัก จากการเบิกจ่ายที่ล่าช้า ทั้งนี้ IMF คาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.7% และในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.9% จากการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่จะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีขึ้น
“การมองภาพนี้ของ IMF สอดคล้องกับการประมาณการของหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งรวมถึง ธปท. เอง” น.ส.ชญาวดี กล่าว
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในด้านความเสี่ยงนั้น IMF มองว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการค้าโลก ที่จะส่งผลไปทั้งโลก ภูมิภาค และไทย ผ่านการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ปรับลดลง ,ความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อและภาวะการเงินในประเทศ และภาระหนี้ของเอกชนที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ส่วนความกังวลด้านนโยบายเศรษฐกิจ IMF มองว่า เมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวได้แล้ว นโยบายในระยะต่อไปต้องหันมาเน้นการสร้าง Policy Space ให้มากขึ้น โดยในส่วนนโยบายการคลัง อาจลดการขยายตัวให้น้อยกว่าแผนที่คาดไว้ได้ ซึ่งจะยังทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ และช่วยรักษา Policy Space ไว้ หรืออาจจัดสรรงบประมาณบางส่วนไปลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพและปฏิรูปการคุ้มครองทางสังคม เพื่อทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วถึง และลดสัดส่วนหนี้สาธารณะ
น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ในด้านนโยบายการเงิน นั้น IMF เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา และ IMF มองว่าอาจลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้อีก เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เนื่องจากความเสี่ยงในการก่อหนี้ใหม่จะมีไม่มาก เพราะสินเชื่อชะลอตัว
“ตอนหารือกัน เรามองตรงกันว่า เป็นเรื่องการปรับให้อยู่ในภาวะ Neutral ภาวะปกติ ไม่ได้เป็น Easing Cycle อันนี้เห็นตรงกัน และช่วงของการประเมินจะคล้ายๆกัน แต่อาจมีบวกลบกันบวก ซึ่ง IMF บอกว่า ถ้าปรับลดลงซักครั้งหนึ่ง ก็น่าจะได้ และแนะนำให้ ธปท. เตรียมพร้อมและปรับนโยบายในลักษณะที่เป็น Data และ Outlook dependent เพื่อรองรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ กนง.” น.ส.ชญาวดี กล่าว
สำหรับนโยบายในภาคการเงิน IMF สนับสนุนแนวทางและมาตรการการบังคับใช้หลักเกณฑ์ Responsible Lending และการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหา moral hazard รวมถึงเน้นเรื่องการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน พร้อมทั้งแนะนำให้พัฒนากระบวนการล้มละลายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถจัดการหนี้ได้
นอกจากนี้ IMF มีข้อเสนอแนะว่า ประเทศไทยต้องเน้นนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งเสริมการแข่งขัน การเปิดกว้าง และการเพิ่มความซับซ้อนของสินค้าส่งออก ซึ่งจะทำให้สินค้าของไทยแข่งขันได้มากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากเรื่องดิจิทัล รวมถึงเพิ่มและพัฒนาทักษะใหม่ให้กับแรงงาน การเปิดเสรีภาคบริการเพิ่มขึ้น การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะฝั่งดิจิทัลและ Green เป็นต้น
น.ส.ชญาวดี ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการบริหารจัดการภัยทุจริตการทำธุรกรรมทางการเงิน ว่า ข้อมูล ณ เดือน ต.ค.2567 มีการระงับบัญชีม้า (ม้าดำ ม้าเทา และม้าน้ำตาล)เพื่อตัดเส้นทางการเดินงานของมิจฉาชีพสะสม โดยเป็นการระงับบัญชีม้าระดับบุคคลสะสม จำนวน 1.17 แสนรายชื่อ จำนวนบัญชีสะสม 1.4 ล้านบัญชี (อ่านประกอบ : ‘ธปท.’ยกเครื่องอายัด‘บัญชีม้า’เป็นระดับ‘บุคคล’-เพิ่มทางเลือก‘ล็อควงเงิน’ห้ามทำธุรกรรมฯ)
@เศรษฐกิจ ต.ค.ดีขึ้น จาก‘ท่องเที่ยว-บริโภค-ส่งออก’
ด้าน นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ต.ค.2567 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค.2567 โดยรวม ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการเงินโอน 10,000 บาท สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการค้าที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น ตามการส่งออกที่ไม่รวมรถยนต์และอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในบางภาคส่วนยังชะลอตัวจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยลง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงาน จากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ อย่างไรก็ดี หมวดอาหารสดลดลงจากราคาผักตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว โดยหมวดอาหารปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดที่ไม่ใช่อาหารปรับลดลง ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลใกล้เคียงเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลลดลง จากการส่งกลับกำไรที่ลดลงหลังเร่งไปในเดือนก่อนหน้า ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลงจากการจ้างงานในภาคบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ ภาคการค้า และก่อสร้าง สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น
นางปราณี กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป กิจกรรมการทางเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริหาร ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ดี มีบางอุตสาหกรรมที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการแข่งขันที่สูง ส่งผลให้รายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังคงเปราะบาง
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายการค้าของสหรัฐ ที่จะส่งผลต่อการส่งออกและภาคการผลิต และ 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
“แม้ว่าการส่งออกจะดีขึ้น แต่มีอีกขาที่ต้องดู คือ การนำเข้าที่สูงขึ้นเหมือนกัน ประมาณการที่เรามองไว้ปีนี้ที่ 2.6% โดยไตรมาส 1 โต 1% ไตรมาส 2 โต 2% ไตรมาส 3 โต 3% และไตรมาส 4 โต 4% ตอนนี้ก็ยังเป็นภาพนั้นอยู่ รวมทั้งจะต้องดูการระบายสต็อกของภาคเอกชนด้วย เพราะถึงแม้ว่าฝั่งการบริโภคและการลงทุน จะมา แต่ก็ยังมีเรื่องการไม่ผลิตใหม่ โดยใช้วิธีระบายสต็อกสินค้า ตรงนี้ทำให้ประมาณการจีดีพีโดยรวมน่าจะยังใกล้เคียงกับที่เราคาดไว้” นางปราณี ระบุ
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค.2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มีดังนี้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซียและจีนชะลอลงส่วนหนึ่งจากปัจจัยในประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวหลายสัญชาติ อาทิ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และนักท่องเที่ยวระยะยาว (long-haul) โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนียังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้รายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวพำนักในไทยสะสม ที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มยุโรป รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อวันที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เงินโอน 10,000 บาท) โดยการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นใน 1) หมวดสินค้าไม่คงทน จากปริมาณการใช้น้ำมันและยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว และยาสูบ 2) หมวดสินค้าคงทน ตามยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล
3) หมวดสินค้ากึ่งคงทน จากปริมาณการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะเสื้อผ้า และ 4) หมวดบริการ จากหมวดโรงแรมและภัตตาคาร สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่ลดลง
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากหมวด 1) เคมีภัณฑ์ ตามการผลิตยา 2) เครื่องใช้ไฟฟ้า สอดคล้องกับการส่งออกเครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอุปสงค์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและการซื้อทดแทนหลังน้ำท่วมคลี่คลาย และ 3) หมวดอาหารและเครื่องดื่ม จากอาหารสัตว์สำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์นม
อย่างไรก็ตาม การผลิตลดลงในบางหมวด อาทิ ปิโตรเลียม จากปริมาณสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ตามการส่งออกที่ชะลอลง
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าไปยังทวีปอเมริกาเหนือ และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ตามการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปยังตลาดอาเซียน ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปลดลง หลังปัญหาการขาดแคลนอุปทานของประเทศคู่ค้าคลี่คลายต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมันปาล์มและยางไปอินเดีย และน้ำตาลไปกัมพูชา รวมถึงหมวดยานยนต์ลดลงตามการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะไปยังตลาดอาเซียนและออสเตรเลีย
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ในทุกหมวดจาก 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมทั้งการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไต้หวัน 2) สินค้าอุปโภคและบริโภค ตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือจากจีน รวมถึงผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม และ 3) สินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าเครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์จากญี่ปุ่นและจีน
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดหลัก โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับเพิ่มขึ้นตาม 1) การนำเข้าสินค้าทุน โดยเฉพาะหมวดเครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้ในงานทั่วไป มอเตอร์ไฟฟ้า และเรือ 2) ยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ จากเครื่องจักรและเครื่องมือทั่วไป และ 3) ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นตามรถแทรกเตอร์
สำหรับการลงทุนด้านการก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ อิฐบล็อก ซีเมนต์ และพื้นสำเร็จรูปคอนกรีต รวมถึงพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างปรับดีขึ้นจากพื้นที่ฯ เพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่ออุตสาหกรรมและโรงงาน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าจัดการเรียนการสอนของหน่วยงานด้านการศึกษา และการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ
ด้านรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงจากการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของหน่วยงานด้านคมนาคมและด้านการศึกษา สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวจากการเบิกจ่ายในโครงการด้านการสื่อสารและสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงานจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่หมวดอาหารสดลดลงจากราคาผักตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว โดยราคาอาหารปรับสูงขึ้น แต่ราคาของใช้ส่วนตัวปรับลดลง
ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลลดลง จากการส่งกลับกำไรที่ลดลงหลังเร่งไปในเดือนก่อนหน้า
ตลาดแรงงานปรับแย่ลงจากการจ้างงานในภาคบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ ภาคการค้ายานยนต์ และก่อสร้าง สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น
ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และการค้า ขณะที่การระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจขนส่ง รวมถึงการระดมทุนผ่านสินเชื่อภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและร้านอาหาร
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ในเดือนตุลาคม 2567 เฉลี่ยอ่อนค่าลง ตามความไม่แน่นอนของขนาดการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย ก.ย.67 ชะลอลงจากเดือนก่อน-คาดจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัวใกล้ 3%
‘แบงก์ชาติ’รับดูแล‘ค่าเงินบาท’ดัน‘ทุนสำรองฯ’เพิ่ม-ชี้เศรษฐกิจ ส.ค.67 ทรงตัวจากเดือนก่อน
ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย ก.ค.67 ดีขึ้น-‘ลงทุนเอกชน’กลับมาขยายตัว ‘ผู้บริโภค’กังวลค่าครองชีพ
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย มิ.ย.67 ชะลอตัว-ย้ำปัจจัย‘เชิงโครงสร้าง’ถ่วง‘ส่งออก’ฟื้นตัวช้า
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ค.67 ชะลอตัวจากเดือนก่อน จับตาส่งออกฟื้นช้า-ลุ้นรัฐเร่งเบิกจ่ายฯ
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ เม.ย.67 ดีขึ้น มองGDPไตรมาส 2 โตเกิน 1.5%-แจง'คลัง'ไม่ทบทวนเกณฑ์ LTV
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ มี.ค.ชะลอตัว คาดGDPไตรมาส 1/67 โต 1%-เผยตั้งแต่ต้นปี'บาท'อ่อน 7.8%
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย ก.พ.67 ขยายตัวต่ำ-ย้ำจุดยืนแจก‘หมื่นดิจิทัล’พุ่งเป้ากลุ่มเปราะบาง
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ม.ค.67 โตต่ำ-‘ตลาดแรงงาน’แย่ลง ลุ้น‘ภาคส่งออก-ภาคผลิต’ฟื้นตัวต่อเนื่อง
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ธ.ค.ขยายตัว‘ชะลอลง’ จ่อหั่นจีดีพีปี 66 โตต่ำกว่า 2.4%-ทบทวนตัวเลขปี 67
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ย.66 ‘ทรงตัว’-มองปี 67 ยังเติบโตได้ จากอุปสงค์ในประเทศ-ส่งออกฟื้น
‘ธปท.’คาดจีดีพีไตรมาส 4 โต 3.7% ชี้เศรษฐกิจ ต.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-เงินเฟ้อลด
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจ ก.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว จับตาสงคราม‘ฮามาส-อิสราเอล’-นโยบายรัฐบาล
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจเดือน ส.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตา'ส่งออกฟื้น-นโยบายรัฐบาล-ภัยแล้ง'
‘ธปท.’ชี้ตั้งรัฐบาลลากยาว 10 เดือน กระทบเชื่อมั่น-เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.อยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ส่งออกมีสัญญาณดี! ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย พ.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตานโยบายรัฐบาลใหม่