‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจเดือน ม.ค.67 ขยายตัวต่ำ ขณะที่ ‘ตลาดแรงงาน’ ปรับตัวแย่ลง จับตา ‘ภาคส่งออก-ภาคผลิต’ ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ พร้อมแจงเกณฑ์ส่งเสริม 'SFIs-บบส.' ตั้ง JVAMC บริหารหนี้ด้อยคุณภาพ
.................................
เมื่อวันที่ 29 ก.พ. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และโฆษก ธปท. เปิดเผยในงาน ‘BOT Monthly Briefing โฆษกพบสื่อ’ ประจำเดือน ก.พ.2567 ว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค.2567 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่โดยรวมการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากปีก่อนน้อยลง แต่หลายอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้าง
ด้านการลงทุนภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง
ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดอาหารสดจากราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง โดยการจ้างงานในภาคการผลิตโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงลดลง และเริ่มเห็นการลดลงของการจ้างงานในภาคบริการบางสาขา สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลการค้าเป็นสำคัญ แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล
“เศรษฐกิจในเดือน ม.ค.2567 ถามว่าดีขึ้นไหม ก็ต้องบอกว่า ดีขึ้นจากเดือน ธ.ค.2566 แต่เราต้องจับตามอง เพราะมันขึ้นมาจริง แต่ก็ขยายตัวได้ต่ำ อย่างการลงทุนภาคเอกชน ชัดมาก เพราะขึ้นมา จากที่มันลงไป และมีหลายตัวที่เรากำลังจับตามอง แม้กระทั่งการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนว่าไม่ลงต่อแล้ว แต่ต้องดูว่า มันพักฐานแล้วกลับขึ้น หรือลงไปอีก อันนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ แต่ถ้าเทียบกับช่วงก่อนหน้าถือว่าดีขึ้นบ้าง” น.ส.ชญาวดี
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ.2567 น่าจะยังมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภค แต่ยังคงต้องติดตามว่าแรงส่งจากการส่งออกสินค้าจะไปต่อได้หรือไม่ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวขึ้นมาหรือไม่ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของการค้าโลก 2.ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ 3.การจ้างงาน และ4.นโยบายของภาครัฐ
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มีดังนี้
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้าโดยเฉพาะ 1) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกข้าวขาวไปยังอินโดนีเซีย ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย 2) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จากการส่งออกอุปกรณ์สื่อสารไปฮ่องกงและสหภาพยุโรป และ 3) ผลิตภัณฑ์เคมีและเคมีภัณฑ์ ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์เคมีไปยังอินเดียและญี่ปุ่น แม้การส่งออกปิโตรเคมีไปจีนยังลดลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การส่งออกในบางหมวดปรับลดลง อาทิ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์ไปอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนามและมาเลเซีย น้ำมันดีเซลไปอาเซียน และชิ้นส่วนประกอบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (solar cell) ไปสหรัฐฯ
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนน้อยลง โดยการผลิตหมวดยานยนต์หดตัว แต่ปรับดีขึ้นบ้างจากการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อส่งมอบ ประกอบกับหมวดปิโตรเลียมหดตัวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นชั่วคราวเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การผลิตในบางหมวดขยายตัวจากปีก่อน อาทิ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม สอดคล้องกับยอดขายเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น และหมวดยางและพลาสติก จากสินค้าคงคลังของประเทศคู่ค้าที่เริ่มปรับลดลง
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้น หลังลดลงในเดือนก่อน ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าทุน รวมถึงการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานเป็นสำคัญ สะท้อนความต้องการลงทุนที่มีอยู่ต่อเนื่อง
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ลดลง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติทั้งจากด้านปริมาณและราคา และสินค้าอุปโภคบริโภคตามการนำเข้าสินค้าเวชภัณฑ์ รวมถึงผักผลไม้และรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการและสินค้าไม่คงทนในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการภาครัฐทั้งการอุดหนุนราคาพลังงานและการลดหย่อนภาษี ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นตามยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวลาว ยุโรปไม่รวมรัสเซีย และอินเดีย อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ จีนและมาเลเซีย ชะลอลงบ้าง ส่วนหนึ่งเพื่อรอเที่ยวช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยว และจำนวนวันพักเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะยาวต่อนักท่องเที่ยวระยะสั้น
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังหดตัวสูงตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และจากรายจ่ายประจำที่หดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาที่ต่ำกว่าปีก่อน สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและพลังงาน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดอาหารสดจากราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับราคาไข่ไก่และข้าวที่ปรับลดลง ด้านหมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อน แม้ราคาในหมวดอาหารสำเร็จรูปและหมวดเครื่องใช้ส่วนตัวยังปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง โดยการจ้างงานในภาคการผลิต โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงลดลง และเริ่มเห็นการลดลงของการจ้างงานในภาคบริการบางสาขา
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลการค้า แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดปรับคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ช้าออกไป หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด
@แจงเกณฑ์จัดตั้ง JVAMC บริหารหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี
ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศหลักเกณฑ์ส่งเสริมการร่วมลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและช่วยเหลือลูกหนี้ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) ร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุน เพื่อดำเนินกิจการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (JVAMC)
“JVAMC จะรับซื้อรับโอนหนี้ NPLs หรือ NPA (ทรัพย์สินรอการขาย) ที่เป็นลูกหนี้รายย่อยหรือเอสเอ็มอีจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจเท่านั้น กำหนดมูลหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท และเนื่องจากเป็นมาตรการชั่วคราว JVAMC ที่ตั้งขึ้นจะต้องเคลียร์ทรัพย์สินที่ซื้อมาให้แล้วเสร็จภายใน 15 ปี โดยสามารถยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2567 ทั้งนี้ หาก SFIs และ AMC เจ้าไหนพร้อมแล้ว ก็จับมือกันแล้วมายื่นขอจดทะเบียนได้แล้วในตอนนี้” น.ส.สุวรรณี กล่าว
น.ส.สุวรรณี ระบุว่า ในการจัดตั้ง JVAMC นั้น ธปท.ได้ตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า JVAMC มีหน้าที่ต้องช่วยเหลือลูกหนี้ NPLs ที่รับซื้อรับโอนมาอย่างน้อย 1 ครั้ง และ JVAMC ต้องมีข้อเสนอแนวทางในการผ่อนชำระหนี้ให้กับลูกหนี้หลังจากซื้อหนี้มาแล้ว ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าจะมี SFIs ร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ เข้ามายื่นขอจดทะเบียนจัดตั้ง JVAMC อย่างน้อย 1 แห่ง
“ธปท.หวังว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยทำให้ลูกหนี้ของ SFIs ยังคงได้รับความช่วยเหลือต่อเนื่อง มีลักษณะการช่วยเหลือที่ยืดหยุ่นขึ้น และทำให้ SFIs สามารถบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเอาความเชี่ยวชาญของ AMC เข้ามาช่วย รวมทั้งเมื่อ SFIs เคลียร์หนี้สินออกไปอีกที่หนึ่งแล้ว ตัว SFIs จะสามารถดำเนินการได้ตามพันธกิจของ SFIs มากขึ้น” น.ส.สุวรรณี กล่าว
@ออกประกาศฉบับใหม่ ทบทวนแนวทางกำกับ D-SIBs
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ในวันนี้ (29 ก.พ.) ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ธปท. เรื่อง แนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (D-SIBs) เพื่อยกระดับการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ ให้มีความมั่นคงและมีความสามารถในการรองรับความเสียหายจากการดำเนินการได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการทบทวนแนวทางดังกล่าวจะทบทวนทุกๆ 3 ปี
สำหรับประกาศ ธปท. เรื่อง แนวทางการระบุและการกำกับดูแล D-SIBs ในครั้งนี้ ธปท. ได้ปรับปรุงแนวทางการระบุธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ โดยเพิ่มปัจจัยพิจารณาภายใต้กรอบการชี้วัดเดิม เช่น (1) ด้านความเชื่อมโยงทางอ้อมระหว่างธนาคารพาณิชย์ผ่านการให้สินเชื่อหรือลงทุนกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบการเงิน (systemically important corporation) รายเดียวกัน
และ (2) ด้านการทดแทนกันได้ โดยพิจารณาถึงการเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญให้กับธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย และระดับความสำคัญในการให้บริการทางการเงินพื้นฐานผ่าน mobile banking ซึ่งหากบริการดังกล่าวหยุดชะงักจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการในวงกว้างด้วย
ทั้งนี้ การปรับแนวทางการประเมินครั้งนี้ เพื่อให้สามารถสะท้อนถึงความสำคัญต่อระบบได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเงิน (financial landscape) ในระยะข้างหน้า และความสำคัญของการทำธุรกรรมดิจิทัลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งความสำคัญเชิงระบบในมิติอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยแนวทางการประเมินใหม่จะเริ่มใช้สำหรับการประเมิน D-SIBs ประจำปี 2567 เป็นต้นไป
น.ส.สุวรรณี ระบุว่า สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (D-SIBs) ปัจจุบันมี 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคากรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทยธนชาต
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ธ.ค.ขยายตัว‘ชะลอลง’ จ่อหั่นจีดีพีปี 66 โตต่ำกว่า 2.4%-ทบทวนตัวเลขปี 67
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ย.66 ‘ทรงตัว’-มองปี 67 ยังเติบโตได้ จากอุปสงค์ในประเทศ-ส่งออกฟื้น
‘ธปท.’คาดจีดีพีไตรมาส 4 โต 3.7% ชี้เศรษฐกิจ ต.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-เงินเฟ้อลด
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจ ก.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว จับตาสงคราม‘ฮามาส-อิสราเอล’-นโยบายรัฐบาล
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจเดือน ส.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตา'ส่งออกฟื้น-นโยบายรัฐบาล-ภัยแล้ง'
‘ธปท.’ชี้ตั้งรัฐบาลลากยาว 10 เดือน กระทบเชื่อมั่น-เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.อยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ส่งออกมีสัญญาณดี! ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย พ.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตานโยบายรัฐบาลใหม่
เศรษฐกิจไทย เม.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว 'ธปท.'เกาะติดความไม่แน่นอนจัดตั้ง'รัฐบาลใหม่'
'แบงก์ชาติ' เผยเศรษฐกิจไทย มี.ค.66 ชะลอตัวจากเดือนก่อน หลัง 'ส่งออก-ลงทุนเอกชน' ลดลง
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ ก.พ. ดีขึ้นจากเดือนก่อน-'ดุลบัญชีเดินสะพัด'พลิกบวก 1.3 พันล้านดอลล์
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ม.ค.66 ดีขึ้น ลุ้นครึ่งปีหลัง‘ส่งออก’ฟื้น-ยันดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวน
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ธ.ค.65 ฟื้นต่อเนื่อง-คาด‘เงินเฟ้อทั่วไป’กลับสู่กรอบฯครึ่งหลังปี 66
‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทย พ.ย.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตาผลกระทบ 4 ปัจจัย
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’