‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค.67 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน มองจีดีพีไตรมาส 1/67 ขยายตัว 1% ระบุตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาท ‘อ่อนค่า’ 7.8% สอดคล้องทิศทาง ‘ดอกเบี้ยเฟด-ดอลลาร์ฯ’
................................
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน BOT Monthly Briefing ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน มี.ค.2567 ว่า เศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค.2567 ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน (ก.พ.2567) จากอุปสงค์ในประเทศและภาคท่องเที่ยวที่ลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อผ่านมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-receipt หมดลง
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน สอดคล้องกับที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า จะเห็นเศรษกิจไตรมาส 1/2567 ขยายตัว 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) แต่เมื่อเทียบกับปีก่อน อัตราการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าเศรษกิจไตรมาส 1/2567 จะขยายตัว 1% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) โดยแรงขับเคลื่อนมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคบริการ และการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามการทยอยลงทุนของธุรกิจใหม่ๆ การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมทรงตัว โดยบางอุตสาหกรรมยังได้รับแรงกดดันจากการค้าโลกที่ฟื้นตัวช้าและปัจจัยเชิงโครงสร้าง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนลดลงจากการซื้อสินค้าคงทน แม้การบริโภคสินค้าไม่คงทนยังขยายตัวได้ดีจากไตรมาสก่อน ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ ในเดือน มี.ค. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากเดือนก่อน จากหมวดอาหารสดที่ผลของฐานสูงในปีก่อนเริ่มหมดไป ประกอบกับราคาผักและผลไม้เพิ่มขึ้น และจากหมวดพลังงานที่ราคาน้ำมันเบนซินปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาในหมวดของใช้ส่วนตัวลดลงตามการทำโปรโมชันของผู้ประกอบการ
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้า ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังต้องติดตามการจ้างงานในภาคการผลิต สำหรับไตรมาสที่ 1 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นตามรายรับภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ตลาดแรงงานปรับแย่ลงเล็กน้อยตามการจ้างงานในภาคการผลิตเป็นสำคัญ
นางปราณี กล่าวว่า ในระยะต่อไปมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.ผลการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ประกาศใช้แล้ว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ 2.การฟื้นตัวของการส่งออก 3.การฟื้นตัวของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 4.การขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งยังคุกรุ่นอยู่
เมื่อถามว่า เศรษฐกิจไตรมาส 1/2567 ที่คาดว่าจะขยายตัวต่ำ จะทำให้ ธปท.ต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้หรือไม่ นางปราณี กล่าวว่า ภาพเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2567 ที่ออกมานั้น เป็นไปตามที่ ธปท.ประเมินไว้ และสอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจที่ ธปท.ประเมินไว้ว่าเศรษฐกิจปี 2567 จะขยายตัวที่ 2.6% ยังไม่ได้มีปัจจัยทั้งด้านบวกและด้านลบที่ทำให้ ธปท.ต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้
“ถ้าข้อมูลไตรมาส 1 ประมาณนี้ ตัวเลข 2.6% ที่ประมาณการไว้ ก็ยังอยู่ในวิสัยที่เราประเมินไว้ แต่ก็ต้องขอดูตัวเลขจริงของสภาพัฒน์ที่จะออกมาในวันที่ 20 พ.ค.นี้ก่อน” นางปราณี กล่าว
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มีดังนี้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม โดยเฉพาะมาเลเซียและกลุ่มตะวันออกกลางที่เริ่มเข้าสู่เทศกาลถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน และนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงบ้างหลังเร่งไปในช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือนก่อนแต่ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวเมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่แล้ว
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน จากมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-receipt ที่หมดลง ด้านการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ยังคงลดลงจากสถาบันการเงินที่ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ สำหรับการใช้จ่ายในหมวดบริการลดลงหลังจากเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แต่กังวลเรื่องค่าครองชีพเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันเบนซิน
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงต่อเนื่องตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ดี พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะพื้นที่ฯ เพื่ออุตสาหกรรมและโรงงาน และเพื่อการพาณิชย์
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงในหลายหมวด ตามการผลิตรถยนต์และวัสดุก่อสร้างที่อุปสงค์ในประเทศลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับการผลิตน้ำตาลที่ปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงมาก จากปัญหาภัยแล้ง และหลายสินค้าได้เร่งผลิตไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นมที่เร่งผลิต ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นราคาสินค้า รวมทั้งการผลิตปุ๋ยเคมีขณะที่การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนทรงตัวจากเดือนก่อน
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นในหลายหมวด หลังปรับลดลงในเดือนก่อน โดยเฉพาะ 1) ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามการส่งรถกระบะไปออสเตรเลียและตะวันออกกลางและการส่งออกยางล้อไปสหรัฐฯ 2) ปิโตรเลียม ตามการส่งออกไปเวียดนาม และมาเลเซีย และ 3) ผลิตภัณฑ์เคมีและปิโตรเคมี ตามการส่งออกไปอินเดียและจีน ทั้งนี้ แม้การส่งออกไปจีนจะเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำเทียบกับในอดีต ขณะที่การส่งออกเหล็กปรับลดลงตามการส่งออกไปออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ หลังจากเร่งไปในเดือนก่อน
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติรวมทั้งการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคลดลงตามการนำเข้าอัญมณีและเฟอร์นิเจอร์เป็นสำคัญ
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่หดตัวสูงตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และรายจ่ายประจำที่หดตัวจากการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานด้านการศึกษาตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ประกอบกับมีผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีการใช้จ่ายเพื่อการจัดการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากเดือนก่อนจากหมวดอาหารสดที่ผลของฐานสูงในปีก่อนเริ่มหมดไป ประกอบกับราคาผักและผลไม้เพิ่มขึ้น และจากหมวดพลังงานที่ราคาน้ำมันเบนซินปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาในหมวดของใช้ส่วนตัวลดลงตามการทำโปรโมชันของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในหมวดอาหาร อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหารบริโภคนอกบ้านยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนทั้งการจ้างงานในภาคการผลิตและภาคบริการ
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน เกินดุลเล็กน้อยใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจลดลงตามการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ของธุรกิจในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ เนื่องจากมีหุ้นกู้ครบกำหนดจำนวนมากและได้เร่งระดมทุนไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอีกระยะหนึ่ง และยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาต่ำกว่าคาด
@เผยตั้งแต่ต้นปี‘เงินบาท’อ่อนค่า 7.8%
ด้าน นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาท ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทิศทางของสินทรัพย์ทั่วโลกจะเคลื่อนไหวตามทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นหลัก ในขณะที่เฟดมีการส่งสัญญาณว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายนานกว่าขึ้น และตลาดก็ตีความแบบนั้น อีกทั้งมีสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เพิ่มเสี่ยงขึ้นมา
นายสักกะภพ กล่าวต่อว่า เดิมตลาดคาดการณ์ในช่วงปลายปีที่แล้วว่า ณ สิ้นปีนี้ ดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะลงมาอยู่ที่ 3.75% แต่ตอนนี้ตลาดคาดว่าดอกเบี้ยจะลดลงมาอยู่ที่ 5% คือ เฟดลดดอกเบี้ยครั้งเดียว จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 6 ครั้ง ในขณะที่ตัว Dot Plot ของเฟดเอง ก็อยู่ที่ 4.625% หรือลดดอกเบี้ย 2-3 ครั้งเท่านั้น ซึ่งตรงนี้เอง ทำให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (Year to date) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า 4.4% เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น
อีกทั้งการคาดการณ์ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ยังทำให้ Yield ของสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งทำให้ราคาทองคำและน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี ถ้ามาดูภาพรวมค่าเงินบาท จะเห็นว่า ค่าเงินบาทปรับตัวสอดคล้องกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น โดยเงินที่อ่อนค่ามากที่สุด คือ เงินเยนที่อ่อนค่าไป 9.6% เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) จะขึ้นหรือดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ช้ากว่าที่ตลาดเคยคาดไว้
“ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเมื่อวานนี้ เงินบาทอ่อนค่า 7.8% ซึ่งอ่อนค่าลงค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าไปดูไส้ใน จะเห็นว่าการอ่อนค่าของค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 1/2567 นั้น เป็นการอ่อนค่านำค่าเงินสกุลอื่น เพราะตอนนั้น นอกจากเรื่องเฟดแล้ว ยังมีเรื่องภายในประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจของไทยที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ทำให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา ค่าเงินบาทอ่อนค่ากลางๆ หรือน้อยกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค โดยในช่วงเดือน เม.ย. เงินบาทอ่อนค่า 1.7% เทียบกับสกุลเงินอื่นๆที่อ่อนค่ามากกว่า และส่วนใหญ่แล้ว ในช่วงไตรมาสที่ 2 จะเป็นช่วงที่บาทค่อนข้างอ่อนค่าตามปัจจัยฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ่ายเงินปันผล หรือนักท่องเที่ยวเข้ามาน้อย เพราะเป็นช่วง low season ซึ่งเป็นช่วงที่กดดันค่าเงินบาทอยู่แล้ว
และถ้ามองไปข้างหน้า เมื่อปัจจัยที่เป็นปัจจัยชั่วคราวปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปันผล และเรื่องนักท่องเที่ยว ก็จะทำให้ปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาทในแง่ขาอ่อน ลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นอกจากนี้ แม้ว่าค่าเงินบาทจะมีความผันผวนค่อนข้างสูง แต่ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ความผันผวนของค่าเงินบาทปรับลดลง โดยมีความผันผวนในระดับกลางๆเมื่อเทียบกับภูมิภาค” นายสักกะภพ กล่าว
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย ก.พ.67 ขยายตัวต่ำ-ย้ำจุดยืนแจก‘หมื่นดิจิทัล’พุ่งเป้ากลุ่มเปราะบาง
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ม.ค.67 โตต่ำ-‘ตลาดแรงงาน’แย่ลง ลุ้น‘ภาคส่งออก-ภาคผลิต’ฟื้นตัวต่อเนื่อง
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ธ.ค.ขยายตัว‘ชะลอลง’ จ่อหั่นจีดีพีปี 66 โตต่ำกว่า 2.4%-ทบทวนตัวเลขปี 67
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ย.66 ‘ทรงตัว’-มองปี 67 ยังเติบโตได้ จากอุปสงค์ในประเทศ-ส่งออกฟื้น
‘ธปท.’คาดจีดีพีไตรมาส 4 โต 3.7% ชี้เศรษฐกิจ ต.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-เงินเฟ้อลด
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจ ก.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว จับตาสงคราม‘ฮามาส-อิสราเอล’-นโยบายรัฐบาล
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจเดือน ส.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตา'ส่งออกฟื้น-นโยบายรัฐบาล-ภัยแล้ง'
‘ธปท.’ชี้ตั้งรัฐบาลลากยาว 10 เดือน กระทบเชื่อมั่น-เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.อยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ส่งออกมีสัญญาณดี! ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย พ.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตานโยบายรัฐบาลใหม่
เศรษฐกิจไทย เม.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว 'ธปท.'เกาะติดความไม่แน่นอนจัดตั้ง'รัฐบาลใหม่'
'แบงก์ชาติ' เผยเศรษฐกิจไทย มี.ค.66 ชะลอตัวจากเดือนก่อน หลัง 'ส่งออก-ลงทุนเอกชน' ลดลง
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ ก.พ. ดีขึ้นจากเดือนก่อน-'ดุลบัญชีเดินสะพัด'พลิกบวก 1.3 พันล้านดอลล์