ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค.อยู่ใน ‘ทิศทางฟื้นตัว’ จากแรงส่ง ‘ภาคท่องเที่ยว-การบริโภคเอกชน’ ระบุ 'ส่งออก' มีสัญญาณฟื้นตัว หลังตัวเลข ‘เดือนต่อเดือน’ เริ่มเป็นบวก พร้อมจับตา 3 ปัจจัย ‘เศรษฐกิจโลก-นโยบายรัฐบาลใหม่-ค่าครองชีพสูง’
.......................................
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน พ.ค.2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.2566 ยังคงอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยมีปัจจัยหลักๆจากแรงส่งของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคเอกชนมีการปรับเพิ่มขึ้นทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุน
ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าเริ่มมีการทยอยฟื้นตัว เพราะแม้ว่าการส่งออกเมื่อเทียบกันแบบปีต่อปีจะยังติดลบที่ 5.9% แต่หากเทียบกันแบบเดือนต่อเดือนจะเริ่มเห็นการฟื้นตัว โดยการส่งออกในเดือน พ.ค.2566 ขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (เม.ย.2566) ซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-23 พ.ค.2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 10.67 ล้านคน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลง ประกอบกับมีผลของฐานสูงในปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อย แต่ยังเห็นระดับราคาในบางสินค้าที่ยังเพิ่มขึ้น เช่น หมวดอาหาร ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อย
นายสักกะภพ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.2566 และในระยะต่อไป ยังมีแนวโน้มทยอยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัว รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ทยอยฟื้นตัว ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่ยังไม่แน่นอนและผันผวน 2.การจัดตั้งและนโยบายของรัฐบาลใหม่ และ 3.ผลของค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.2566 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราว อาทิ การจัดกิจกรรมในช่วงเลือกตั้ง การเลื่อนเบิกจ่ายวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาจากเดือนก่อน ประกอบกับมีช่วงวันหยุดยาว ด้านปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นทั้งการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยพิเศษที่ทำให้มีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเครื่องบิน ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำตามการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและชลประทาน ส่วนรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านพลังงานและสาธารณูปโภค
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วฟื้นตัวจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะยานยนต์ สินค้าเกษตรแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกทุเรียนปรับลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดลงมากในเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การผลิตปิโตรเลียมลดลงจากปัจจัยชั่วคราวที่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง อาทิ ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก และเคมีภัณฑ์ และจากสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฟฟ้าที่เร่งนำเข้าไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวด อาทิ การนำเข้าเครื่องบิน และคอมพิวเตอร์เป็นสำคัญ
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง ยุโรปที่ไม่รวมรัสเซีย และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวบางสัญชาติปรับลดลงบ้าง อาทิ อินเดีย และมาเลเซีย ซึ่งเร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนทรงตัวจากเดือนก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตาม 1) ค่าไฟฟ้าที่ปรับลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ 2) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และ 3) ผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากผลของฐานสูงในราคาเครื่องประกอบอาหารเป็นสำคัญ
ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ และรายจ่ายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน
อ่านประกอบ :
เศรษฐกิจไทย เม.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว 'ธปท.'เกาะติดความไม่แน่นอนจัดตั้ง'รัฐบาลใหม่'
'แบงก์ชาติ' เผยเศรษฐกิจไทย มี.ค.66 ชะลอตัวจากเดือนก่อน หลัง 'ส่งออก-ลงทุนเอกชน' ลดลง
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ ก.พ. ดีขึ้นจากเดือนก่อน-'ดุลบัญชีเดินสะพัด'พลิกบวก 1.3 พันล้านดอลล์
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ม.ค.66 ดีขึ้น ลุ้นครึ่งปีหลัง‘ส่งออก’ฟื้น-ยันดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวน
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ธ.ค.65 ฟื้นต่อเนื่อง-คาด‘เงินเฟ้อทั่วไป’กลับสู่กรอบฯครึ่งหลังปี 66
‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทย พ.ย.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตาผลกระทบ 4 ปัจจัย
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66