‘ธปท.’ เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจไทย เม.ย.67 ดีขึ้น จาก ‘ภาคบริการ’ ที่ขยายตัว ขณะที่ ‘การบริโภค-ลงทุนเอกชน’ ฟื้นตัว มองจีดีพีไตรมาส 2/67 โตดีกว่าไตรมาสแรก ระบุทำจดหมายชี้แจง 'ก.คลัง' ยืนยันเกณฑ์ LTV ปัจจุบัน เหมาะสมแล้ว
.......................................
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน BOT Monthly Briefing ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน เม.ย.2567 ว่า จากเครื่องชี้ เศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.2567 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามภาคบริการที่ยังขยายตัว สอดคล้องกับรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากลดลงในเดือนก่อน
สำหรับการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า สอดคล้องกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ ปรับเพิ่มขึ้นจากการส่งออกที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐยังคงหดตัวจากรายจ่ายของรัฐบาลกลางตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวสูงตามการเร่งเบิกจ่ายในโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ
“ภาพใหญ่ของการส่งออก เราไม่ได้มองดีอยู่แล้ว เราไม่ได้มองสูง และจริงๆแล้วที่ตัวเลข (เดือน เม.ย.) ออกมาเป็นบวก เราไม่ได้เซอร์ไพรส์อะไร เราคาดว่าจะเป็นบวกอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ค่อนข้างต่ำ แล้วมีเรื่องที่เรามองไว้อยู่แล้วว่า มีปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งบางอุตสาหกรรม และบางอุตสาหกรรมน่าจะกลับมาตามวัฏจักรที่เราคาดไว้ เช่น เราจะเห็นว่าอิเล็กทรอนิกส์เริ่มกลับมา สินค้าเกษตรก็ยังไปได้อยู่ ซึ่งตัวเลขที่ กนง.ให้ครั้งล่าสุด ตัวเลขไม่ได้สูง แค่ขยายตัว 2% ในแง่มูลค่า หรืออยู่ในระดับกลางหรือออกไปแนวต่ำเมื่อเทียบกับตลาด” นายสักกะภพ กล่าว
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาขยายตัวเป็นบวก จากหมวดอาหารสด ตามราคาผักและเนื้อสุกร และจากหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล จากผลของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่สิ้นสุดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสมดุลโดยดุลการค้าเกินดุล ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยจากการจ้างงานในภาคบริการเป็นสำคัญ
นายสักกะภพ ระบุว่า เมื่อมองไปในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวยังมีอยู่และเป็นแรงส่งที่สำคัญ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังเป็นตัวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี มีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.ผลของการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการของภาครัฐ 2.การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการผลิต โดยเศรษฐกิจโลกที่เห็นสัญญาณฟื้นตัวแล้วนั้น จะมีผลดีต่อการส่งออกไทยอย่างไรยังเป็นคำถาม และ 3.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
ส่วนกรณีที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบุว่า เตรียมหารือกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. เกี่ยวกับการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1-3% นั้น นายสักกะภพ กล่าวว่า เรื่องการพิจารณากรอบเงินเฟ้อ มีกรอบระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจนทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งในช่วงครึ่งหลังของปีนั้น จะเป็นการกำหนดกรอบเงินเฟ้อระยะปานกลางหรือในช่วงปีหน้าหรือปีถัดไป
“เรื่องกรอบเงินเฟ้อ มีการดูอย่าต่อเนื่องอยู่แล้ว แบงก์ชาติมีการติดตามต่อเนื่อง มีกระบวนการที่เราจัดทำร่วมกับกระทรวงการคลัง” นายสักกะภพ กล่าว และว่า “เงินเฟ้อในที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับต่ำนั้น แบงก์ชาติพยายามบอกหลายครั้งแล้วว่า คงจะเห็นเงินเฟ้อติดลบในช่วงที่ผ่านมา และถ้าจำกันได้ในการแถลงของ กนง. ครั้งล่าสุด เราค่อนข้างมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะเป็นบวกในเดือน พ.ค. แต่เดือน เม.ย.กลับมาเป็นบวกแล้ว และในเดือน พ.ค. เราก็คาดว่าตัวเลขน่าจะเป็นบวก”
นายสักกะภพ กล่าวว่า แม้ว่า ธปท.มองว่าเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ 0.6% แต่ในช่วงที่ปลายปีนี้ จะเห็นตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มกลับเข้าสู่กรอบล่าง ในขณะที่การทำนโยบายการเงินนั้น ธปท. จะมองแนวโน้มไปข้างหน้า
นายสักกะภพ กล่าวถึงกรณีที่สำนักวิจัยเศรษฐกิจหลายสำนักฯออกมาปรับลดคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีในปี 2567 ลง ว่า ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 ที่ออกมา โดยขยายตัวได้ถึง 1.5% นั้น เป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะขยายตัว 0.8% และสูงกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 1% ด้วย ทั้งนี้ เมื่อจุดตั้งต้นของปีดีกว่าที่ ธปท.คาดไว้ ก็ทำให้ ธปท.อุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง แต่คงต้องรอดูพัฒนาการในช่วงไตรมาส 2
“เราลุ้นค่อนข้างเยอะว่าตัวเลขไตรมาส 1 เป็นอย่างไร ซึ่งก็อุ่นใจไปนิดหนึ่ง แต่เราคงต้องรอดูในแง่พัฒนาการในช่วงไตรมาส 2 เพราะมันเป็นจุด turning point (จุดเปลี่ยน) ตัวเลขหลายๆตัว เริ่มกลับมาเป็นบวก เราก็อยากจะเห็นว่า มันกลับมาเป็นบวกอย่างยั่งยืน ชัดเจน มากน้อยขนาดไหน” นายสักกะภพ กล่าวและว่า “ที่เราเคยคุยกันไว้ ถ้าดูตัวเลข (จีดีพี) เป็นปีต่อปี เราคาดว่าตัวเลขไตรมาส 2 จะดีกว่าไตรมาสแรก”
ส่วนข้อเสนอให้ ธปท.ทบทวนมาตรการ Loan to Value หรือ LTV เพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ นั้น นายสักกะภพ กล่าวว่า ธปท.ได้มีจดหมายชี้แจงไปยังกระทรวงคลังแล้ว โดย ธปท. ดูภาพรวมของมาตรการ LTV มาตลอด และเห็นว่า มาตรการ LTV ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีความเหมาะสมแล้ว และเป็นระดับที่ผ่อนคลายมากแล้ว
“ในภาพใหญ่ ในแง่ของตัว LTV เราคุยกันเยอะ เราประเมินว่าตัว LTV ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ณ ตอนนี้ คำถามคือว่าทำไม หนึ่ง LTV ของบ้านหลังแรก จริงๆเราให้เป็น 110% ด้วย เรายอมให้กู้ซื้อมากกว่าราคา เอาไปซื้อเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้น จริงๆแล้ว ถ้าลองไปดู ปัญหาที่ทำให้ปล่อย (สินเชื่อ) ไม่ค่อยดี เป็นบ้านที่มีราคาต่ำ เป็นบ้านหลังแรกที่มีการ rejection (ปฏิเสธ) ส่วนใหญ่อยู่ตรงนั้น
LTV ณ จุดนี้ มันผ่อนคลายมากๆ ส่งเสริมด้วยซ้ำไป สำหรับการกู้ซื้อบ้านหลังแรก ส่วนการกู้บ้านหลังที่สอง ก็มีตั้งแต่ 70-90% ขึ้นอยู่กับราคา ถ้าเกิน 10 ล้านบาทก็อยู่ที่ 70% ถ้าไม่เกิน 10 ล้านบาท ก็อยู่ที่ 90% ถือว่าเรตตรงนี้ต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ประเทศอื่นบางที่อยู่ที่ 50-70% เท่านั้นเอง ตรงนี้ จึงต้องดูในแง่ภาพรวม การที่เราปล่อยตัว LTV ให้สูงขึ้น คนที่กู้บ้านหลังแรกจะลำบากขึ้น เพราะราคาจะปรับสูงขึ้น จึงต้องดูสมดุลต่างๆ ดังนั้น ภายใต้ภาวะปัจจุบัน ในแง่ LTV ยังคงเหมาะสมอยู่ แต่ถ้ามีข้อมูลใหม่เข้ามา ก็จะมีการพิจารณาต่อเนื่อง” สักกะภพ กล่าว
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มีดังนี้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมหลังออกจากเทศกาลถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน โดยเฉพาะจากมาเลเซียและตะวันออกกลาง ประกอบกับนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียปรับเพิ่มขึ้นหลังลดลงในเดือนก่อน
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดหลัก หลังชะลอลงในช่วงก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายหมวดบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามภาคการท่องเที่ยว ด้านหมวดสินค้าไม่คงทนปรับเพิ่มขึ้น ตามยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับหมวดสินค้าคงทนปรับเพิ่มขึ้น
ส่วนหนึ่งจากการส่งมอบรถยนต์ที่สั่งจองในงานจัดแสดงรถยนต์ (Motor Show) อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลในประเด็นเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในประเทศ
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้นตามการยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนปรับลดลงจากหมวดคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ด้านการลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงาน และเพื่อที่อยู่อาศัย
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 1) หมวดยานยนต์ ตามการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก ทั้งนี้ แม้การผลิตรถยนต์จะปรับดีขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ 2) หมวดอาหารและเครื่องดื่ม จากน้ำตาล น้ำมันปาล์ม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สอดคล้องกับกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น และ 3) หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศจากอุปสงค์ในประเทศที่สภาพอากาศร้อนกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดปิโตรเลียมปรับลดลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการส่งออกที่ลดลง
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายหมวด โดยเฉพาะ 1) อิเล็กทรอนิกส์ ตามการส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์สื่อสารไปสหรัฐฯ และฮ่องกงเป็นสำคัญ 2) ยานยนต์ ตามการส่งออกรถกระบะไปอาเซียนและออสเตรเลีย และรถยนต์นั่งไปอาเซียน และ 3) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกทุเรียนไปจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าในบางหมวดปรับลดลงจากเดือนก่อน อาทิ หมวดปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะ 1) เชื้อเพลิง ตามการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ 2) วัตถุดิบขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากเร่งไปมากในช่วงก่อน รวมถึงการนำเข้าเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี และ 3) สินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์หลังเร่งไปมากในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคปรับเพิ่มขึ้น จากการนำเข้ารถยนต์เพื่อจัดแสดงและจำหน่ายในงานมอเตอร์โชว์ และจากหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสำคัญ
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่หดตัวสูงตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวสูงตามการเร่งเบิกจ่ายในโครงการด้านสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกจากหมวดอาหารสดตามราคาผักที่ผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศที่ร้อน และเนื้อสุกรที่อุปทานลดลง และจากหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลจากผลของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่สิ้นสุดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวเท่าเดือนก่อน
ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากการจ้างงานในภาคบริการ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสมดุลโดยดุลการค้าเกินดุล ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในทุกช่องทาง โดยการระดมทุนผ่านตราสารหนี้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจพลังงานเป็นสำคัญ
ด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก และการระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากธุรกิจในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค การเงิน อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากปัจจัยด้านต่างประเทศเป็นหลัก จากการที่ตลาดเลื่อนการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกไป และมีความกังวลต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่อาจยกระดับความรุนแรง
อ่านประกอบ :
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ มี.ค.ชะลอตัว คาดGDPไตรมาส 1/67 โต 1%-เผยตั้งแต่ต้นปี'บาท'อ่อน 7.8%
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย ก.พ.67 ขยายตัวต่ำ-ย้ำจุดยืนแจก‘หมื่นดิจิทัล’พุ่งเป้ากลุ่มเปราะบาง
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ม.ค.67 โตต่ำ-‘ตลาดแรงงาน’แย่ลง ลุ้น‘ภาคส่งออก-ภาคผลิต’ฟื้นตัวต่อเนื่อง
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ธ.ค.ขยายตัว‘ชะลอลง’ จ่อหั่นจีดีพีปี 66 โตต่ำกว่า 2.4%-ทบทวนตัวเลขปี 67
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ พ.ย.66 ‘ทรงตัว’-มองปี 67 ยังเติบโตได้ จากอุปสงค์ในประเทศ-ส่งออกฟื้น
‘ธปท.’คาดจีดีพีไตรมาส 4 โต 3.7% ชี้เศรษฐกิจ ต.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-เงินเฟ้อลด
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจ ก.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว จับตาสงคราม‘ฮามาส-อิสราเอล’-นโยบายรัฐบาล
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจเดือน ส.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตา'ส่งออกฟื้น-นโยบายรัฐบาล-ภัยแล้ง'
‘ธปท.’ชี้ตั้งรัฐบาลลากยาว 10 เดือน กระทบเชื่อมั่น-เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.อยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ส่งออกมีสัญญาณดี! ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย พ.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตานโยบายรัฐบาลใหม่
เศรษฐกิจไทย เม.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว 'ธปท.'เกาะติดความไม่แน่นอนจัดตั้ง'รัฐบาลใหม่'
'แบงก์ชาติ' เผยเศรษฐกิจไทย มี.ค.66 ชะลอตัวจากเดือนก่อน หลัง 'ส่งออก-ลงทุนเอกชน' ลดลง
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ ก.พ. ดีขึ้นจากเดือนก่อน-'ดุลบัญชีเดินสะพัด'พลิกบวก 1.3 พันล้านดอลล์