‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย.66 ยังอยู่ในทิศทาง ‘ฟื้นตัว’ จาก ‘นักท่องเที่ยวต่างชาติ-ไทย’ ที่ปรับดีขึ้น พร้อมจับตา 3 ความเสี่ยง ‘เศรษฐกิจการเงินโลก-การจัดตั้งรัฐบาล-ค่าครองชีพสูง’ ประเมินการส่งออกเดือน ก.ค.น่าจะยัง ‘ติดลบ’ อยู่ แต่จะดีขึ้นในช่วงปลายปี ระบุหากจัดตั้ง ‘รัฐบาลใหม่’ ลากยาวอีก 10 เดือน จะกระทบ 'ความเชื่อมั่น'
............................................
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน มิ.ย.2566 และไตรมาส 2/2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ รวมทั้งมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ ปรับเพิ่มขึ้นจากสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ
ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทรงตัว สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงหลังจากเร่งไปแล้วในเดือนก่อน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดอาหารสดเป็นสำคัญ ตามราคาเนื้อสุกรและผักสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัว สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าที่มูลค่าการส่งออกปรับดีขึ้น ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง ตามการส่งกลับกำไรและรายจ่ายทรัพย์สินทางปัญญาที่ลดลงจากเดือนก่อน
น.ส.ชญาวดี ระบุว่า ในส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 2/2566 นั้น จากเครื่องชี้ต่างๆจะเห็นได้ว่าปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย โดยภาคบริการและการบริโภคภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวได้ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการส่งออกสินค้าเกษตร แต่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 2/2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดตัวลดลง เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อน ประกอบกับเงินเฟ้อในหมวดพลังงานปรับตัวลดลง
น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.2566 และในระยะต่อไป ว่า ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะทยอยปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของภาคบริการ แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องติดตาม ได้แก่ 1.เรื่องเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังมีความผันผวนสูง 2.การจัดตั้งและนโยบายของรัฐบาลใหม่ และ3.ผลของค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงต่อกลุ่มที่มีความเปราะบาง
“ความเสี่ยงหลักๆที่ ธปท.จับตาอยู่ จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจการเงินโลก ซึ่งเรามองอยู่แล้วว่า เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่อยู่ที่ว่าจะชะลอเยอะกว่าที่เราคาดไว้หรือไม่ ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง คือ การจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น หากลากยาว และผลของค่าครองชีพที่ยังสูงอยู่ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อกลุ่มเปราะ แต่เราก็มีมาตรการที่จะออกมาดูแลเรื่องหนี้ครัวเรือนอยู่แล้ว”น.ส.ชญาวดี กล่าว
เมื่อถามถึงแนวโน้มการส่งออกในเดือน ก.ค.2566 จะเป็นอย่างไรนั้น น.ส.ชญาวดี ระบุว่า คาดว่าน่าจะยังเห็นการส่งออกติดลบอยู่บ้าง และจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นไปตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี
“ในช่วงนี้การส่งออกมีความเสี่ยงที่จะ soft ลงบ้าง ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนที่อาจจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด แต่เราก็ยังมีส่วนอื่นๆที่เข้ามาช่วย เช่น การบริโภคเอกชนที่ออกมาค่อนข้างดี เพราะฉะนั้น จึงขอให้ดูตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2/2566 ของสภาพัฒน์ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งเมื่อตัวเลขจริงออกมา จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าในช่วงที่เหลือของปีภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร” น.ส.ชญาวดี กล่าว
เมื่อถามสถานการณ์การเมืองในระยะต่อไปจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินอย่างไร น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ถ้าเป็นภาพที่มองไปข้างหน้า และมองความเสี่ยงต่างๆ คงต้องรอฟังในการแถลงผลประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 2 ส.ค.นี้ แต่หากมองจากประมาณการล่าสุด ธปท.คาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณจะล่าช้าออกไปบ้าง และคงต้องขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าว่าจะเป็นอย่าง แต่เรื่องเหล่านี้มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง
“ผลกระทบจะขึ้นอยู่กับระยะเวลา (ในการจัดตั้งรัฐบาล) อย่างไรก็ดี ในแง่การเบิกจ่ายงบประมาณ ถ้าเป็นเม็ดเงินงบประมาณจำ ก็ยังเบิกจ่ายได้ตามกรอบเดิม แต่ที่จะต้องล่าช้าออกไป คือ งบลงทุน ซึ่งถ้ายาวออกไปมากๆ ก็จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น” น.ส.ชญาวดี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป 10 เดือน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย.2566 และในช่วงไตรมาส 2/2566 มีดังนี้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียและจีน เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวบางสัญชาติ อาทิ ยุโรปและตะวันออกกลาง ปรับลดลงบ้างหลังจากเร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรตามการส่งออกทุเรียนไปจีน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามรอบการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐฯ และยุโรป อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรแปรรูปลดลงตามการส่งออกน้ำมันปาล์มไปอินเดีย และการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า จากที่เร่งไปแล้วในช่วงก่อน
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการผลิตปิโตรเลียมปรับเพิ่มขึ้นจากการกลับมาผลิตตามปกติ หลังปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในเดือนก่อน รวมทั้งการผลิตเหล็กปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการนำเข้าจากจีนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าบางหมวดปรับลดลง จากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง อาทิ น้ำตาล และผลิตภัณฑ์ยางเป็นสำคัญ
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด หลังปัจจัยชั่วคราวหมดลง ประกอบกับการเร่งส่งมอบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการทรงตัว ด้านปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นทั้งการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนที่เร่งไปมากในเดือนก่อน และการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่ลดลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากพื้นที่ฯ เพื่ออุตสาหกรรมและโรงงานเป็นสำคัญ
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการนำเข้า 1) สินค้าทุน หลังมีการเร่งนำเข้าเครื่องบินและคอมพิวเตอร์ในเดือนก่อน 2) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิง จากการนำเข้าเหล็กที่ลดลง และ 3) สินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยา อย่างไรก็ดี การนำเข้าเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำตามการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่เร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับผลของฐานสูงที่มีการเบิกจ่ายงบกลางเพื่อแก้ไขปัญหา COVID-19 ในปีก่อน และจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและชลประทานที่ได้เร่งเบิกจ่ายไปแล้ว สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการลงทุนด้านพลังงานและคมนาคม
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดอาหารสดเป็นสำคัญ ตามราคาเนื้อสุกรและผักสด เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหารเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัว สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากดุลการค้าที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง ตามการส่งกลับกำไรและรายจ่ายทรัพย์สินทางปัญญาที่ลดลงจากเดือนก่อน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนในเดือน มิ.ย.2566 เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง ตามค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่ในเดือน ก.ค.2566 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยสอดคล้องกับภูมิภาค
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคบริการและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากการผลิตยานยนต์และหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก
ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางและการลงทุนรัฐวิสาหกิจ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับเงินเฟ้อในหมวดพลังงานลดลง ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล จากการส่งกลับกำไรและรายรับด้านการท่องเที่ยวที่ลดลงตามฤดูกาล ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลลดลง
อ่านประกอบ :
ส่งออกมีสัญญาณดี! ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย พ.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตานโยบายรัฐบาลใหม่
เศรษฐกิจไทย เม.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว 'ธปท.'เกาะติดความไม่แน่นอนจัดตั้ง'รัฐบาลใหม่'
'แบงก์ชาติ' เผยเศรษฐกิจไทย มี.ค.66 ชะลอตัวจากเดือนก่อน หลัง 'ส่งออก-ลงทุนเอกชน' ลดลง
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ ก.พ. ดีขึ้นจากเดือนก่อน-'ดุลบัญชีเดินสะพัด'พลิกบวก 1.3 พันล้านดอลล์
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ม.ค.66 ดีขึ้น ลุ้นครึ่งปีหลัง‘ส่งออก’ฟื้น-ยันดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวน
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ธ.ค.65 ฟื้นต่อเนื่อง-คาด‘เงินเฟ้อทั่วไป’กลับสู่กรอบฯครึ่งหลังปี 66
‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทย พ.ย.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตาผลกระทบ 4 ปัจจัย
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’