‘ธปท.’ ยกระดับจัดการ ‘บัญชีม้า’ ให้ธนาคารอายัด ‘บัญชีม้า’ เป็นระดับ ‘บุคคล’ ป้องกัน ‘ม้าวน’-เข้มงวดเปิดบัญชีใหม่ พร้อมเพิ่มทางเลือก ‘ล็อควงเงิน’ ห้ามทำธุรกรรมออนไลน์ เพิ่มระบบ ‘โอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ'
.....................................
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยระหว่างการแถลงเรื่อง ‘การยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน’ ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงินมาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในการดำเนินการสำคัญ ได้แก่ การออก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566
โดยมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งของ พ.ร.ก.ดังกล่าว เพื่อจัดการบัญชีม้าที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรับเงินและถ่ายโอนเงินจากการกระทำผิด และแลกเปลี่ยนเส้นทางเงินผ่านระบบ Central Fraud Registry (CFR) เพื่อสนับสนุนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่และอายัดบัญชีผู้ต้องสงสัย รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) สายด่วน 1441 นอกจากนี้ พ.ร.ก. ยังได้กำหนดโทษเอาผิดกับบัญชีม้าให้ชัดเจนขึ้น
อย่างไรก็ดี การจัดการกับบัญชีม้ายังมีข้อจำกัด ในครั้งนี้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมกันยกระดับการจัดการบัญชีม้าให้เข้มงวดขึ้น เช่น ทำให้การเปิดบัญชีม้าทำได้ยาก และหากเปิดบัญชีม้าได้ก็จะอยู่นาน ทั้งนี้ เพื่อให้ธนาคารป้องกันความเสี่ยงและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ที่เกิดกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะดูแลให้กระทบประชาชนผู้สุจริตน้อยที่สุด รวมทั้งการมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ดูแลลูกค้าที่ปลอดภัยมากขึ้น
ด้าน น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปัญหาภัยทุจริตทางการเงินยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565-31 พ.ค.2567 มีจำนวนคดีหลอกลวงสะสม 5.4 แสนคดี ซึ่ง 40% เป็นการหลอกลวงซื้อสินค้า แต่อีก 60% หรือประมาณ 3 แสนคดี เป็นคดีหลอกโอนเงิน คดีหลอกให้กู้เงิน และแอปพลิเคชั่นดูดเงิน ซึ่งสร้างความเสียหายสูงถึง 6.3 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่เดือน มี.ค.2566-เม.ย.2567 มีการอายัดบัญชีม้ารวมเกือบ 2 แสนบัญชี และกว่า 30% เป็นบัญชีเปิดใหม่ เพื่อใช้ในการหลอกลวงโอนเงินฯ
“พวกหลอกโอนเงิน มีคดีประมาณ 3 แสนเคส แต่ละเคสส่วนใหญ่จะใช้บัญชีม้า 5 ทอด การจับและอายัดได้เพียง 2 แสนบัญชี จึงเป็นจำนวนบัญชีที่ไม่เยอะ เนื่องจากการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ยังมีข้อจำกัดอยู่ เช่น การแชร์ข้อมูลและการใช้ข้อมูลทำได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถใช้ในการตรวจจับหรือป้องกันได้ ใช้ได้แค่เฉพาะจับโจร จับมิจฉาชีพที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้ใช้ในเชิงป้องกัน หรือเมื่อยืนยันได้แล้วว่า เป็นบัญชีม้า ก็อายัดบัญชีได้ 3 วัน และ 7 วัน เท่านั้น
อีกทั้งวิธีการจัดการแต่ละแบงก์ก็แตกต่างกัน ทำให้เกิด ‘ม้าหมุน’ หรือ ‘ม้าวน’ คือ ม้าที่มีการยืนยันและถูกอายัดจากธนาคารหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไปเปิดบัญชีกับอีกธนาคารหนึ่งได้ ทำให้เกิดการวนเวียน ซึ่งเราคิดว่าเราทำได้ดีกว่านี้ จึงเป็นที่มาการจัดการบัญชีม้า ที่ต้องกระชับพื้นที่และเข้มข้นมากกว่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ม้าหมุนวนเวียนไปได้ โดยเฉพาะม้าที่เกิดคดีขึ้นแล้ว รวมทั้งทำให้ประชาชนมีเครื่องมือการใช้โมบายแบงก์กิ้งและดิจิทัลได้ปลอดภัยมากขึ้น” น.ส.ดารณี ระบุ
น.ส.ดารณี กล่าวว่า ในการยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินในครั้งนี้ ประกอบด้วยมาตรการ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การยกระดับการจัดการบัญชีม้า โดยปรับจากการดำเนินการระดับ ‘บัญชี’ เป็นระดับ ‘บุคคล’ รวมถึงการจัดการบัญชีต้องสงสัยได้เร็วขึ้น และดำเนินการเข้มข้นขึ้นทั้งบัญชีในปัจจุบันและการเปิดบัญชีใหม่ มีรายละเอียด ดังนี้
1.การกวาดล้างบัญชีม้าในระบบ ด้วยการจัดการทุกบัญชีในทุกธนาคารของเจ้าของบัญชีต้องสงสัย โดยธนาคารจะใช้ข้อมูลจาก 3 แหล่ง ได้แก่ 1.ฐานข้อมูลของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งภายในเดือน ก.ค.2567 ปปง.จะประกาศรายชื่อทุกสัปดาห์ๆละ 4,000 ชื่อ จากปัจจุบันที่ประกาศทุกๆ 2 สัปดาห์ๆละ 2,000 ชื่อ 2.ฐานข้อมูลจากระบบ Central Fraud Registry ซึ่งจะมีข้อมูลรายชื่อผู้ที่ถูกแจ้งความหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในเส้นทางเงินทุจริตในทุกธนาคาร
และ 3.ข้อมูลบัญชีที่ธนาคารตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัย เช่น บัญชีที่โอนเงินเข้า-ออกมูลค่าน้อยในเวลาสั้นๆ หลายครั้งก่อนมีเงินโอนเข้า-ออกมูลค่าสูง เพื่อจัดระดับความเสี่ยงในการดำเนินการกับบัญชีเหล่านั้น ซึ่งทุกธนาคารจะมีมาตรฐานเดียวกัน เช่น การระงับการใช้บัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทันที พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามระดับความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้การกวาดล้างบัญชีม้าทำได้ครอบคลุมและรวดเร็วขึ้น
“ที่ผ่านมา เราจัดการบัญชีม้า เป็นบัญชีๆ เมื่อรู้ว่าเป็นบัญชีของธนาคารนี้ก็ระงับแค่ของธนาคารนี้ แต่ต่อไปนี้จะระงับเป็นรายชื่อบุคคล ไม่ว่าม้าจะเปิดบัญชีที่ธนาคารไหนก็ตาม ถ้าระบุตัวตนได้ว่าอยู่ในเส้นทางการเงิน ทุกบัญชีของคนชื่อนี้หรือม้าตัวนี้จะถูกอายัดทั้งแถว และเราจะมีการกระบวนที่ชี้ว่าใครเป็นความเสี่ยง ‘ม้า’ ได้รวดเร็วและครอบคลุมขึ้น” น.ส.ดารณี กล่าว
2.การเพิ่มความเข้มงวดในการเปิดบัญชีใหม่ให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีพฤติกรรมผิดปกติ เพื่อป้องกันการเกิดบัญชีม้าใหม่ โดยธนาคารจะตรวจสอบความเสี่ยงของลูกค้าจากฐานข้อมูล 3 แหล่งข้างต้น หากพบลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงมาเปิดบัญชี ทุกธนาคารต้องดำเนินการตามระดับความเสี่ยงด้วยมาตรฐานเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับเข้มข้น ไม่ให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ ให้เปิดบัญชีแบบมีเงื่อนไขไม่ให้ใช้บริการผ่านช่องทาง mobile banking ไปจนถึงการปฏิเสธไม่ให้เปิดบัญชีทุกช่องทาง ทั้งแบบออนไลน์และที่สาขา
“เราตกลงกันทั้งอุตสาหกรรมว่า กลุ่มม้าดำ คือ ผู้ที่มีรายชื่อใน ปปง. การมาเปิดบัญชี ทุกธนาคารต้องเช็ครายชื่อนี้ และต้องพิจารณาว่า ไม่เปิดบัญชี ไม่ให้เปิดบัญชีได้โดยง่าย ถ้าต้องเปิด เพราะต้องใช้เพื่อยังชีพ จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เงินมีที่มาที่ไป มีวัตถุประสงค์อย่างไร จะไม่สามารถเปิดได้ง่าย กลุ่มม้าเทา หรือผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องในเส้นทางเงินทุจริต ถ้าจะเปิดบัญชีใหม่ ก็ต้องมาปลดล็อคที่สาขา ไม่สามารถเปิดบัญชีผ่านระบบออนไลน์ได้
ต้องมายืนยันตัวตนที่สาขา แต่ไม่ง่าย เพราะคุณได้ไปอยู่ในเส้นทางเงินเหล่านี้แล้ว เช่น ต้องพิสูจน์ตัวตนที่เข้มข้นขึ้น พิสูจน์วัตถุประสงค์การใช้เงิน พิสูจน์ที่มาของเงิน เพื่อจำกัดความเสียหายตรงนี้ไว้ได้ และกลุ่มม้าน้ำตาล หรือบัญชีที่มีพฤติกรรมโอนเงินเข้า-ออกน้อยๆ หลายๆครั้ง และระยะสั้นๆ ซึ่งมิจฉาชีพที่ใช้เทสดูว่าบัญชีโดนล็อคหรือเปล่า ถ้าธนาคารเห็นพฤติกรรมนี้ จะมีการดำเนินการตามความเสี่ยงแต่ละระดับในมาตรฐานเดียวกัน” น.ส.ดารณี กล่าว
น.ส.ดารณี ระบุว่า ในการนี้ ธปท. ได้ออกหนังสือเวียน เรื่อง การเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการบัญชีเงินฝาก หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีลูกค้ามีความเสี่ยงสูงหรือใช้บัญชีที่มีลักษณะหรือพฤติกรรมผิดปกติ เพื่อให้ธนาคารนำข้อมูลรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงในระบบ CFR มาใช้ข้ามธนาคาร เพื่อดำเนินการกับบัญชีต้องสงสัยได้ครอบคลุมและรวดเร็ว รวมทั้งเป็นมาตรฐานเดียวกัน
กลุ่มที่ 2 การมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลธุรกรรมของลูกค้าให้ปลอดภัยมากขึ้น นั้น ธปท. กำหนดให้ธนาคารมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลให้ลูกค้าใช้บริการดิจิทัลได้ปลอดภัยขึ้น ได้แก่ การล็อควงเงินที่ห้ามทำธุรกรรมออนไลน์ โดยการปลดล็อควงเงินดังกล่าวให้ทำได้ยากขึ้น และ/หรือการปรับลดวงเงินต่อครั้งในการสแกนใบหน้าการทำธุรกรรมบน mobile banking ต่ำกว่า 50,000 บาท
นอกจากนี้ ธนาคารแต่ละแห่งจะเสนอบริการเพื่อดูแลลูกค้าเพิ่มเติมได้ เช่น การโอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ (double authorisation) การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
“บริการที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินตกลงกันไว้ว่า จะต้องมีทางเลือก ถ้าลูกค้าหรือประชาชนไม่อยากใช้ทางเลือกเหล่านี้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ถ้าลูกค้า ประชาชนที่รู้สึกว่าอยากมีเครื่องมือเหล่านี้ จะต้องมีได้ โดยจะเริ่มเห็นการให้บริการเหล่านี้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2567” น.ส.ดารณี กล่าว
ทั้งนี้ ธปท. มุ่งหวังว่ามาตรการครั้งนี้ จะช่วยจำกัดเส้นทางเดินเงินของกลุ่มมิจฉาชีพ และดูแลให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น โดย ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามประเมินผลของมาตรการ รวมถึงพร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการให้เท่าทันกับภัยรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบการเงินดิจิทัล ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่มั่นคงและยั่งยืนของประเทศต่อไป
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ออกมาตรการจัดการภัยการเงิน-โอนเงินผ่าน‘โมบายแบงก์กิ้ง’เกิน 5 หมื่น ต้องสแกนใบหน้า