‘ธปท.’ มองการเติบโตของ ‘เศรษฐกิจไทย’ โน้มเข้าสู่ระดับศักยภาพในช่วงปลายปี ขณะที่ ‘เงินเฟ้อ’ กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1% ตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ เตือนปรับ ‘กรอบเงินเฟ้อ’ อาจทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจ ‘ไม่ราบรื่น’ คาด ส่งออก' ครึ่งปีหลังดีขึ้น
....................................
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยภายในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2567 โดยระบุว่า ณ จุดนี้ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวมาได้ระดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ที่เศรษฐกิจขยายตัวเร่งขึ้นจากฐานที่ต่ำ และในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า เศรษฐกิจไทยจะโน้มเข้าสู่ศักยภาพในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นในแง่การขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และภาวะการเงินโดยรวม
อย่างไรก็ดี ยังคงมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ทั้งในมิติสาขาเศรษฐกิจ มิติกลุ่มอาชีพ และมิติระหว่างผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยฉุดรั้งจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการกระจายรายได้ที่ยังไม่ดี
“ที่ผ่านมา จุดตั้งต้นต่ำ และเร่งตัวขึ้น แล้วค่อยๆโน้มเข้าสู่ศักยภาพ ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยก็ฟื้นอย่างนั้น แต่เราไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจดีในภาพใหญ่ เพราะมีตัวที่เป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจที่เราเผชิญ เช่น ปัจจัยเชิงโครงสร้างและการกระจายรายได้ที่ยังไม่ดี เป็นประเด็นปัญหาที่เราต้องแก้ไขกันต่อไป” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวถึงการแจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเลตในช่วงไตรมาส 4/2567 ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ ว่า ตัวเลขที่ ธปท. ประเมินไว้ ไม่ได้แตกต่างจากตัวเลขของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.25% มากนัก อย่างไรก็ตาม ผลของโครงการดิจิทัลวอลเลต ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นปีหน้ามากกว่า และโดยรวมแล้วจะมีผลต่อเศรษฐกิจประมาณ 0.3-0.4%
เมื่อถามว่า เงินเฟ้อของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในระดับต่ำมากนั้น เป็นเพราะการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงไปเกินไปหรือไม่ และยังฉุดรั้งเป้าหมายที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่านี้ในอนาคต นายปิติ กล่าวว่า “เงินเฟ้อในดุลยภาพจะเป็นเท่าไหร่ ไม่ค่อยเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจเท่าใดนัก เศรษฐกิจจะโต 2% 5% 7% ก็สามารถรองรับเงินเฟ้อที่ 1% ก็ได้ 2% ก็ได้ เงินเฟ้อจึงเป็นตัวรอง ไม่ได้กำหนดปัจจัยพื้นฐานของศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ส่วนระดับเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศกำหนดไว้ ก็เพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวตามศักยภาพ ไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่ถ้าเงินเฟ้อสูงเกินไป ก็จะมาพร้อมกับความผันผวนค่อนข้างเยอะ พอผันผวน ก็ทำให้การวางแผนของทุกคนยากขึ้น นี่คือเหตุผลข้อที่ 1 ที่เราไม่ต้องการให้เงินเฟ้อสูงเกินไป อันที่สอง จะสร้างการโอนย้ายความมั่งคั่งระหว่างคน เช่น ภาษีของเรา ถ้ารายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท จะจ่ายภาษีเท่านี้ ถ้ารายได้มากกว่า 5 หมื่นบาทจ่ายเท่านี้ ซึ่งถ้าเงินเฟ้อสูงขึ้นไปเรื่อยๆ คนที่มีรายได้ 5 หมื่นบาท แต่จริงๆแล้วมีอำนาจซื้อแค่ 30,000 บาท การที่เงินเฟ้อสูงจึงสร้างความบิดเบือน
ถามว่าเงินเฟ้อของไทยที่ต่ำมาในอดีต เป็นอะไรที่แปลกประหลาดหรือเปล่า ขอเรียนว่า ไม่ได้แปลกประหลาด เพราะบริบทโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และก็คล้ายๆกับปัจจุบัน คือ ที่เงินเฟ้อไทยต่ำ เงินโลกต่ำ ก็เป็นเพราะจีนเข้ามาระบบการค้าโลก ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน และกำลังเกิดขึ้นอีกระลอกหนึ่ง โดยจะเห็นชัดเจนว่ามีแรงกดดันสินค้าบางหมวดหมู่ให้ต่ำ อัตราโลกเงินโลกต่ำ อัตราเงินเฟ้อไทยก็ต่ำไปด้วย อัตราเงินเฟ้อของเพื่อนบ้านก็ต่ำด้วย ส่วนเพื่อนบ้านที่เงินเฟ้อเขาสูง เขาเองมองว่าเป็นปัญหา เขาอยากให้เงินเฟ้อต่ำกว่านี้”
นายปิติ ย้ำว่า “กรอบเงินเฟ้อที่ 1-3% และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้วเงินเฟ้อของเราอยู่ที่ 2% ก็ค่อนข้างสอดคล้องกับสิ่งที่เหมาะสมกับประเทศไทย”
@ย้ำกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ทำหน้าที่ได้ดี
ด้าน นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายหรือสูงกว่า 1% ตั้งแต่ไตรมาส 4/2567 หรือตั้งแต่เดือน ต.ค.2567 เป็นต้นไป ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย นอกจากนี้ กรอบเงินเฟ้อปัจจุบันที่อยู่ที่ 1-3% ยังทำหน้าที่ได้ดี แม้ว่าในบางช่วงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับสูง
“แม้ในช่วงที่เงินเฟ้อสูง เช่น ในเดือน ส.ค.2565 ซึ่งเราเห็นพีคของเงินเฟ้อทั่วไปที่ประมาณเกือบ 8% แต่หลังจากนั้น ใช้เวลาไม่ถึง 7 เดือน เงินเฟ้อทั่วไปก็กลับเข้าสู่กรอบได้ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบัน ทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดี และถ้ามองในแง่การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลาง ก็ค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยอยู่ที่ 2% จึงเป็นสัญญาณว่า การดำเนินนโยบายการเงินและในแง่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกกลาง เราค่อนข้างดี” นายสุรัช กล่าว
นายสุรัช กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอให้มีการปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ว่า “เรื่องเงินเฟ้อ เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ประการแรก เศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน ระดับราคาได้สูงขึ้นมาเยอะแล้ว ตั้งแต่หลังโควิด การปล่อยให้เงินเฟ้อต่อปี สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จะเป็นสิ่งที่ไปทำลาย disposable income ของครัวเรือน และปัจจุบันเศรษฐกิจก็มีกลุ่มเปราะบาง ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้นดังกล่าว ก็เกรงว่าจะเป็นตัวที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ smooth (ราบรื่น) เท่าที่ควร
ประเด็นที่สอง การที่เราปล่อยให้เงินเฟ้อปรับเปลี่ยนไปจากโหมดปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปได้ แต่ข้อดีของเงินเฟ้อไทย คือ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง ค่อนข้างคงที่ที่ระดับ 2% ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายการเงินมีความตั้งใจรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และที่ผ่านมากรอบนี้ ก็ทำหน้าที่ได้ดี การไปปรับเปลี่ยนอะไร ก็อาจทำให้เกิดการหลุดลอยไปจากหลักที่ดีอยู่แล้ว และเป็นการไปเปิด pandora box เปล่าๆ อีกทั้งเงินเฟ้อในปัจจุบันก็มีแนวโน้มเข้าเป้าหมายอยู่แล้ว”
นายสุรัช กล่าวด้วยว่า ในด้านภาวะการเงินและเสถียรภาพการเงินนั้น กลไกสินเชื่อยังทำงานได้ปกติ โดยสินเชื่อธุรกิจโดยรวมยังคงขยายตัว และสินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวชะลอลง ขณะที่กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (Debt Deleveraging) ยังดำเนินการต่อเนื่อง ส่วนในด้านคุณภาพสินเชื่อแม้ด้อยลงบ้าง แต่เป็นปรับขึ้นอย่างช้าๆ และต้องมีการติดตามคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนรายได้น้อยและ SMEs บางกลุ่ม ต่อไป
“ถ้าเราคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเกินไป การก่อหนี้ก็เร่งขึ้น แม้ว่าจะช่วยในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นบ้าง แต่แน่นอนว่าจะมีผลข้างเคียงที่เราต้องติดตาม รวมถึงในแง่ ‘กันชน’ ที่เราอาจต้องใช้ในยามจำเป็น ต้องหมดไป โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันที่ 2.5% ถือว่าสอดคล้องกับเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพในระยะยาวด้วย’ นายสุรัช กล่าว
นายสุรัช กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการ กนง. ยังคงสนับสนุนมาตรการของ ธปท. ในการดำเนินการมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน เช่น การแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง การผลักดันให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อตามความสามารถการชำระหนี้ของผู้กู้ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ โดยในช่วงไตรมาส 1/2567 ระบบสถาบันการเงินมีการปรับโครงสร้างหนี้สะสม 3.7 ล้านบัญชี มูลค่าภาระหนี้ 9.2 แสนล้านบาท
@ธปท.ชี้แต่ละ‘ภาคเศรษฐกิจ’มีการฟื้นตัวไม่เท่ากัน
ขณะที่ นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.6% โดยมีแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณบวก คือ การฟื้นตัวของภาคการผลิตและการส่งออกในบางหมวด แต่ยังมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าและต้องติดตามพัฒนาการต่อไป
ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2/2567 จะขยายตัว 2% ,ไตรมาส 3/2567 ขยายตัวใกล้ๆ 3% และไตรมาส 4/2567 ขยายตัวที่เกือบ 4% จากนั้นในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 3% ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับศักยภาพเศรษฐกิจไทย
“แรงส่งอีกอันหนึ่ง จะมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี มีผลบังคับใช้ เราก็คาดว่าจะมีการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ และจากการติดตามข้อมูลของเราพบว่า ยังเป็นไปตามที่เราคาดว่ามีการเร่งเบิกจ่าย แต่ยังต้องติดตามเรื่องการส่งออกและการผลิต ซึ่งเรามองว่าจะมีการขยายตัวในระดับต่ำ จากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถด้านการแข่งขัน
ทำให้เราคาดว่าการส่งออกจะค่อยๆทยอยดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี จากความต้องการสินค้าโลกที่ปรับดีขึ้น และวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมา แต่ไทยอาจได้ประโยชน์ไม่มากนัก เนื่องจากไทยไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงๆ อย่าง AI Chips และบางหมวดสินค้าอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้ายานยนต์จะมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากความต้องการในต่างประเทศที่ชะลอลง” นางปราณี กล่าว
นางปราณี ยังระบุว่า แม้ว่าภาคการส่งออกจะทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่รวมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ยังไปได้ดี และมีแรงสนับสนุนจากการขยายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แต่กลุ่มเครื่องนุ่งห่มและกลุ่มปิโตรเคมียังต้องเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขัน โดยกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีปัญหาในเรื่องต้นทุนที่แข่งขันไม่ได้ และมีสินค้าจากจีนเข้ามาแข่ง ส่วนปิโตรเคมี มีปัญหาความต้องการนำเข้าจากจีนที่ชะลอลง และยังมีอุปทานส่วนเกินของจีนที่เข้ามาเป็นคู่แข่งทั้งในตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ
ในขณะที่กลุ่มยานยนต์และกลุ่มโซลาเซลล์มีแรงกดดันเพิ่มเติม โดยในหมวดยานยนต์นั้น อุปสงค์ในตลาดส่งออกเริ่มชะลอลง โดยเฉพาะในอาเซียน ส่วนกลุ่มโซลาเซลล์จะได้รับผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ทางการค้า
“ในปีหน้าตลาดออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดรถกระบะของเรา จะกำหนดเรื่องการปล่อยคาร์บอน ถ้าเราไม่ปรับโครงสร้างการผลิต ต่อให้ค่าเงินอ่อน ก็ไม่ได้ช่วยให้เราส่งออกได้เพิ่มขึ้น เราเคยวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตพบว่า ในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนมากๆ การส่งออกไม่ได้ไปกับค่าเงินบาทที่อ่อน แต่เป็นเรื่องอุปสงค์ของตลาดโลกที่มีผลมากกว่า การที่ค่าเงินบาทอ่อน ไม่ได้ช่วยเรื่องการส่งออกมากนัก แม้ว่าจะมีข้อดีตรงที่ผู้ส่งออกจะแปลงเงินดอลลาร์มาเป็นเงินบาทได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มสภาพคล่องระยะสั้น
ดังนั้น จริงๆแล้ว ตัวศักยภาพในการแข่งขัน การผลิต เป็นเรื่องสำคัญมากกว่า ต้องให้ความสำคัญตรงนั้น และถ้ามองผลกระทบข้างเคียงจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ก็พบว่าจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของการผลิตต่างๆปรับสูงขึ้นด้วย สุดท้ายแล้ว ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนก็จะหายไปอยู่ดี และจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจด้วย หากเรายอมให้เงินเฟ้อสูงๆในประเทศ ประชาชนจะมีความเดือดร้อนเนื่องจากราคาสินค้าต่างๆปรับตัวเพิ่มขึ้น” นางปราณี กล่าว
นางปราณี ยังระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจไม่เท่ากัน โดยภาคการท่องเที่ยวไปได้ดี แต่ภาคการผลิตและภาคส่งออกขยายตัวในระดับต่ำ ส่งผลให้การฟื้นตัวของรายได้และการจ้างงานของแต่ละเช็กเตอร์แตกต่างกัน นอกจากนี้ การฟื้นตัวยังมีความแตกต่างกันเชิงกลุ่มอาชีพ พื้นที่ และกลุ่มรายได้ ซึ่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และความเชื่อมั่น
อ่านประกอบ :
มติ 6 ต่อ 1! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ชี้สอดคล้องการขยายตัวศก.-กังวล‘หนี้ครัวเรือน’สูง
มติ 5 ต่อ 2 เสียง! 'บอร์ด กนง.' เสียงแตก คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5%-มอง GDP ปี 67 โต 2.6%
'นายกฯ'เรียกร้อง'ธปท.'นัดประชุม'กนง.'ก่อนกำหนด ถกลด'ดอกเบี้ย'หลังมีข้อมูลใหม่'สภาพัฒน์'
มติ 5 ต่อ 2! 'กนง.'เสียงแตก คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปี 67 โตไม่เกิน 3%
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 2.4%
3 กรรมการ'กนง.'ฝั่ง'แบงก์ชาติ' มองทิศทาง'ดอกเบี้ยนโยบาย' ท่ามกลาง'ปัจจัยเสี่ยง-แรงกดดัน'
เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น! กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ2.5%-มองGDPปีนี้โต 2.8%
สู่ระดับ 2.25%! 'กนง.'มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%-มอง'เงินเฟ้อ'มีความเสี่ยงด้านสูง
มติเอกฉันท์! ‘กนง.’เคาะขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ 2% มองเศรษฐกิจอาจโตเกินคาด-จับตาเงินเฟ้อ
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%สู่ระดับ 1.75% สกัดเงินเฟ้อ-จับตาตลาดการเงินโลกผันผวน
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด