"...ไม่มีใครรู้ชื่อจริงว่าชื่อโสภณ และก็ไม่มีใครรู้ว่าทำงานเกี่ยวกับบริษัทจีน ส่วนฐานะของนายโสภณนั้นก็ถือว่าปกติ ....อย่างไรก็ตามหลังมีข่าวเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหว ชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่าไม่พบตัวนายโสภณมาเป็นระยะเวลาสองวันแล้ว..."
ในการเปิดข้อมูลเอกชน 7 ราย ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ วงเงิน 2,136 ล้านบาท ที่พังถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหว เพื่อนำไปสู่การหาคำตอบถึงเงื่อนปมสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ อาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ดังกล่าว พังถล่มลงมา ว่าเป็นเพราะ "แผ่นดินไหว" หรือ ความผิดพลาดในการออกแบบสร้างอาคาร กันแน่ ซึ่งปัจจุบันอยู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เอกชนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างอาคารแห่งนี้ มี 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
หนึ่ง : เอกชนที่ได้รับงานออกแบบอาคาร สตง. วงเงิน 73 ล้านบาท
มี 2 บริษัท คือ 1. บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และ 2. บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด
สอง : เอกชนที่ได้รับงานก่อสร้างอาคาร สตง. วงเงิน 2,136 ล้านบาท
มี 1 ราย คือ กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี (ประกอบไปด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด)
สาม : เอกชนที่ได้รับงานควบคุมงานก่อสร้างอาคาร สตง.วงเงิน 74.65 ล้านบาท
มี 1 ราย คือ กิจการร่วมค้า PKW (ประกอบไปด้วย บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด , บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด)
ทั้งนี้ ในประเด็นเกี่ยวกับที่มาที่ไปของ บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ตกเป็นเป้าถูกตรวจสอบจากสังคมมากที่สุดในเวลานี้
ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอไปแล้ว คือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ทุนจดทะเบียนล่าสุด 100,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ จังหวัดกรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการบริการด้านการทรัพยากรมนุษย์และรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัย สถานที่ทำการ ทางรถไฟ ทางรถสาธารณะ ทางรถไฟฟ้าใต้ดิน ปรากฏชื่อ นาย ชวนหลิง จาง และ นาย โสภณ มีชัย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 30 เมษายน 2567 ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนี สัญชาติจีนถือหุ้นใหญ่สุด หุ้นที่เหลืออยู่ในชื่อ นาย โสภณ มีชัย นาย ประจวบ ศิริเขตร นาย มานัส ศรีอนันท์
ภายหลังจากที่ สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อผู้บริหาร บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อขอสัมภาษณ์เป็นทางการแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อใครได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้เดินทางไปยังที่อยู่อาศัยของ นายโสภณ มีชัย นายประจวบ ศิริเขตร 2 ผู้ถือหุ้นคนไทย ในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่แจ้งไว้ในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ที่แจ้งไว้ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมระบุว่ามีสถานะเป็นนักธุรกิจทั้งคู่ (ดูภาพประกอบ)
เมื่อเดินทางไปถึงที่อยู่ของนายโสภณ พบว่า เป็นบ้านเดี่ยวความสูงสองชั้น มีรถจักรยานยนต์จอดอยู่ภายใน
จากการสอบถามข้อมูลเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ข้างเคียง ได้รับแจ้งว่า นายโสภณ มีชื่อเล่นว่าอั๋น ไม่มีใครรู้ชื่อจริงว่าชื่อโสภณ และไม่มีใครรู้ว่าทำงานเกี่ยวกับบริษัทจีน ส่วนฐานะของนายโสภณถือว่าปกติ มีภรรยาและมีลูกสามคน มีรถเก๋งใช้งานทั่วไป
อย่างไรก็ดี เพื่อนบ้านให้ข้อมูลว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ไม่พบตัวนายโสภณมาเป็นระยะเวลาสองวันแล้ว
ส่วนที่อยู่ของนายประจวบ ศิริเขตร ผู้ถือหุ้นชาวไทยอีกคนนั้น พบว่าที่อยู่เป็นที่ตั้งของบริษัททำธุรกิจส่งออก สอบถามข้อมูลพื้นที่ใกล้เคียง นายประจวบเป็นคนที่ทำหน้าดูแลตึกที่ติดป้ายว่าเป็นบริษัทเท่านั้น ส่วนตัวนายโสภณเองก็อาศัยอยู่แฟลตข้างๆ หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อช่วงสองวันก่อนทราบว่าย้ายกลับไปต่างจังหวัดแล้ว
เมื่อถามข้อมูลเกี่ยวกับตัวบริษัทเพิ่มเติม ทราบว่าบริษัทดังกล่าวนั้นเป็นที่เก็บเครื่องเซรามิก และตุ๊กตาเซรามิกต่างๆ
ขณะที่ ในช่วงเช้าวันที่ 2 เมษายน 2568 กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซีนัมเบอร์เทน (ไทย) ที่ประกอบไปด้วยบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้าง อาคาร สตง.ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจและพร้อมยืนยันว่าการจัดซื้อวัสดุในการก่อสร้างตึกได้มาตรฐานและผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจรับวัสดุ
"การจัดซื้อวัสดุและการก่อสร้างอาคารสำนักงานดังกล่าวได้ดำเนินการตามข้อกำหนดในสัญญาโครงการ (TOR) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรฐานทางวิศวกรรม และหลักปฏิบัติทางวิศวกรรมที่ดีอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของโครงการ สำหรับวัสดุที่ใช้ในโครงการนี้ เราได้คัดเลือกผู้ผลิตตามข้อกำหนดทางเทคนิคที่กำหนดไว้ โดยวัสดุก่อสร้างทั้งหมดได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจรับวัสดุ และต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวดก่อนนำเข้าสู่พื้นที่ก่อสร้างทุกครั้ง"
อย่างไรก็ดี ในแถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้ระบุคำชี้แจงถึงสาเหตุต้นต่อที่ทำให้อาคาร สตง. พังถล่มลงมาว่าเป็นเพราะอะไร
ทั้งหมด คือ ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นคนไทยจำนวนสองรายในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่สำนักข่าวอิศรา พอจะตรวจสอบไปในขณะนี้ หากมีข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอรายละเอียดในครั้งถัดไป
ส่วน นายโสภณ มีชัย นายประจวบ ศิริเขตร รวมถึง นาย มานัส ศรีอนันท์ ผู้ถือหุ้นคนไทยอีก 1 ราย หากทราบข่าวแล้ว และมีความประสงค์จะชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นทางการสามารถติดต่อกลับมาที่สำนักข่าวอิศรา ได้ตลอดเวลา
อ่านประกอบ :
- เคียงข่าว :พลิกข้อมูลอาคาร 2 พันล. สตง.ถล่ม หลังเหตุแผ่นดินไหว เพิ่งตรวจรับงาน 20 กว่า%
- สตง.นัดประชุมด่วนอาคาร 2 พันล.ถล่ม เทคนิคสร้างตึกสมัยใหม่ต้นต่อปัญหาจริงหรือไม่
- รอผลสอบคณะทำงานชุดนายกฯ 5 วันก่อน! สตง.งดแถลงข่าวปมอาคาร 2 พันล.ถล่ม ทำเอกสารแจงแทน
- ข้อสังเกตเบื้องต้นการพังทลายของโครงสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่จากแผ่นดินไหว
- เคียงข่าว :พลิกข้อมูลอาคาร 2 พันล. สตง.ถล่ม หลังเหตุแผ่นดินไหว เพิ่งตรวจรับงาน 20 กว่า%
- ทักท้วงมาตลอด! ACT พบข้อผิดสังเกตอาคาร สตง. ถล่ม ก่อสร้างล่าช้า หยุดงานเป็นช่วงๆ
- เปิดคำชี้แจง สตง.ตึก 2 พันล.ไม่มีแก้ไขแบบโครงสร้าง พัสดุผ่านทดสอบ-ร่วม ACT ป้องกันทุจริต