"...สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพิ่งทำสัญญาว่าจ้าง บริษัทเรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SME เป็นคู่สัญญาจัดทำโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เครื่อนที่ วงเงิน 430,000,000 บาท ตรงกับข้อมูลที่ เพจเฟซบุ๊ก ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย นำเสนอข้อมูลไปก่อนหน้านี้..."
กรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่ส่งผลทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนมายังประเทศไทย สร้างความโกลาหลแตกตื่นให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คือ ระบบแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนรับทราบจากหน่วยงานราชการ
ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อความและภาพเกี่ยวกับงบประมาณระบบเตือนภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่ในปี 2568 ใช้งบประมาณ 507 ล้านบาท แต่ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนเหตุการณ์แผ่นดินไหว
มีรายละเอียด ดังนี้
ปี 2565 = 124 ล้าน
ปี 2566 = 113.2 ล้าน
ปี 2567 = 124 ล้าน
ปี 2568 = 507.45 ล้าน
1.เป็นงบเช่าใช้บริการสื่อสารโทรคมนาคมสำหรับอุปกรณ์เตือนภัย 45.50 ล้านบาท/ปี
2.งบเช่าใช้บริการรับ-ส่งสัญญาณเตือนภัยสำรอง 26.44 ล้าน/ปี
3.งบโครงการบำรุงรักษาระบบส่งข้อมูลเพื่อการเตือนภัย 4.96 ล้าน/ปี
ที่เหลือก็เป็นงบซ่อมบำรุงทั่วไป แต่เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ เรา ประชาชน แทบไม่ได้รับการแจ้งเตือน อย่างทันท่วงทีจากหน่วยงานเหล่านี้ ตามกันต่อ กสทช. กรมอุตุนิยมวิทยา และ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพิ่งทำสัญญาว่าจ้าง บริษัทเรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SME เป็นคู่สัญญาจัดทำโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ วงเงิน 430,000,000 บาท ตรงกับข้อมูลที่ เพจเฟซบุ๊ก ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย นำเสนอข้อมูลไปก่อนหน้านี้
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ติดต่อไปยัง นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นข้างต้น
โดยนายภาสกร แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่า "ขอไปตรวจสอบข้อมูลก่อน ขณะนี้กำลังยุ่งอยู่กับหน้างาน"
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 รัฐบาลได้เผยแพร่ข่าว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาการเตือนภัย SMS ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กรบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)เข้าร่วม
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสอบถามในที่ประชุมถึงการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหว (28 มีนาคม 2568) ซึ่งพบข้อจำกัดใน 2 ประเด็น คือ 1. มีการดำเนินการช้าในช่วงสรุปข้อความ และ 2. มีความล่าช้า ในขั้นตอนการส่งข้อความ
ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สรุปผลการหารือที่ประชุม 3 ฝ่าย ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ว่า ปภ. จะดำเนินการทำระบบปฏิบัติการใหม่ในเรื่องการเตือนภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และให้กำหนดไทม์ไลน์ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แล้วจะใช้เวลาอย่างไร กี่นาที เพื่อที่จะได้เกิดความรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ขณะที่ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม NT TRUE AIS ให้ความมั่นใจในการหาแนวทางสื่อสาร ใช้เป็นระบบสำรอง ก่อนที่จะมีการใช้ระบบ Cell Broadcast
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า เมื่อเกิดเหตุ ควรจะแจ้งเตือนภายในเวลา 5 นาที ซึ่งตนเองเห็นใจและเข้าใจว่าข้อมูลต้องชัดเจน แต่เหตุแผ่นดินไหวเกิดแล้ว ข้อความส่งได้เลย ซึ่งการส่ง SMS เป็นหนึ่งในเครื่องมือเชิงรุกในตอนนี้ เพื่อการแจ้งเตือนว่ามีแผ่นดินไหว เมื่อเช้าตนเองได้ให้สัมภาษณ์ และโพสต์ในโซเชียลมีเดีย สื่อสารว่า เมื่อเช้าไม่ใช่แผ่นดินไหว ต้องช่วยสื่อสารทุกรูปแบบ เพื่อแจ้งยืนยันถึงสถานการณ์ ไม่ให้ประชาชนสับสนเกิดความตื่นตระหนก
นายกรัฐมนตรี กำชับถึงความชัดเจนของหน่วยงานหลัก หรือเจ้าภาพงาน จะกำหนดขั้นตอน (flow) ในการแจ้งเตือนประชาชนในอนาคตให้ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน ซึ่งระบบเตือนภัยต้องครอบคลุมและสามารถจำแนกประเภทของภัยได้อย่างชัดเจน ตามข้อแนะนำของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่แบ่งภัยออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ภัยธรรมชาติ มีหลายระดับของการเตือนภัย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ 2) ภัยไซเบอร์ การโจมตีที่ส่งผลกระทบต่อระบบสำคัญ เช่น โรงพยาบาล สายการบิน และระบบสื่อสาร จำเป็นต้องมีการเตรียมการรับมือที่มีประสิทธิภาพ และ 3) ภัยที่เกิดจากมนุษย์ เช่น ไฟไหม้ หรือเหตุการณ์ก่อการร้าย เป็นต้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งหน้าที่ และขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
1. ให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำแผนและมาตรการป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ ระบบ work flow ให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกหน่วยงานเข้าใจตรงกัน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ก่อน และหลังระบบ Cell Broadcast
2. ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หามาตรการในการประสานงานกับกรมอุตุนิยมวิทยา กสทช. เรื่องการส่งข้อความเตือนภัยให้ชัดเจน
3. ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งออกมาตรการข้อกำหนดต่าง ๆ ในการตรวจสอบอาคารสูง เพื่อให้ได้มาตรฐาน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการระบบ Cell Broadcast ให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม พร้อมเปิดรับข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนเกี่ยวกับการพัฒนาระบบส่งข้อความหรือแนวทางอื่น ๆ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ การใช้งบประมาณเรื่องการเตือนภัยในภาพรวม ว่า คุ้มค่า เหมาะสม มีพิรุธอะไรหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป