"...มีการกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องมีการจัดฝึกอบรม จัดประชุมสัมมนารับฟังความเห็นงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดให้มีการเดินทางศึกษาดูงานระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ ณ ประเทศในทวีปยุโรป อย่างน้อย 2 ประเทศ ในส่วนของระบบ CBE และ CBC ที่มีการใช้งานระยะแจ้งเตือนภัย (CELL BROADCAST) ตามที่ ปภ.กำหนด โดยมีผู้ศึกษาดูงานอย่างน้อย จำนวน 10 คน ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 9 วัน โดยจะต้องอำนวยความสะดวกประสานสถานที่ศึกษาดูงาน และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตลอดการเดินทาง เพื่อศึกษากระบวนการการแจ้งเตือนที่เป็นมาตรฐานสากล ของหน่วยงานรัฐบาล กับเทคโนโลยีของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วย..."
กรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การจัดทำโครงการระบบแจ้งเตือนภัยของหน่วยงานภาครัฐ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่ส่งผลทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนมายังประเทศไทย แต่ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า
หนึ่ง.
เพจเฟซบุ๊ก ชมรมSTRONG ต้านทุจริตประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อความและภาพเกี่ยวกับงบประมาณระบบเตือนภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่ในปี 2568 จำนวน 5 โครงการ ใช้งบประมาณ 507 ล้านบาท แต่ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนเหตุการณ์แผ่นดินไหว
ก่อนหน้านี้ ปี 2565 ดำเนินงาน 6 โครงการ ใช้งบประมาณ 124 ล้านบาท, ปี 2566 ดำเนินงาน 6 โครงการ ใช้งบประมาณ 113.2 ล้านบาท, ปี 2567 ดำเนินงาน 4 โครงการ ใช้งบประมาณ จำนวน 124 ล้านบาท
รวมวงเงินงบประมาณเกือบ 900 ล้านบาท
สอง.
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบบยืนยันข้อมูลพบว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพิ่งทำสัญญาว่าจ้าง บริษัทเรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SME เป็นคู่สัญญาจัดทำโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ วงเงิน 430,000,000 บาท
สาม.
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ว่า "ขอไปตรวจสอบข้อมูลก่อน"
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ วงเงิน 430,000,000 บาท ที่ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัทเรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568
พบข้อมูลเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
1. หลักการและเหตุผลทำโครงการฯ
ในเอกสารทีโอที ของ ปภ. ระบุ หลักการและเหตุผล ว่า ปัจจุบันระบบการติดต่อสื่อสารส่วนบุคคลได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก ประชาชนทุกคนสามารถโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างทั่วถึง จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี พ.ศ.2563 มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 60.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 94.8 ของจำนวนประชากร ซึ่งกล่าวได้ว่าประชากรเกือบทั้งหมดมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งพกพาไว้ประจำตัวตลอดเวลา
จากเหตุผลดังกล่าวที่ประชากรส่วนใหญ่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตัวอยู่เสมอ การให้โทรศัพท์เป็นสื่อกลางในการแจ้งเตือนภัยพิบัติ เหตุฉุกเฉิน หรือเตือนเหตุการณ์ต่างๆ จะเป็นช่องทางที่ข้อความแจ้งเตือนภัยจะสามารถเข้าถึงประชาชนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบดังกล่าวที่มีใช้งานกันในหลายประเทศและเป็นสากลได้แก่ ระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ที่สามารถส่งข้อความถึงผู้พกพาโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่เป้าหมาย เข้าถึงประชนทุกคนในพื้นที่เป้าหมายโดยไม่มีข้อจำกัดว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์จะเป็นรายใด และไม่มีปัญหากรณีที่มีการใช้โทรศัพท์หนาแน่น จึงเป็นการเดิมเต็มช่องว่างของเครือข่ายการแจ้งเตือนด้วยเทคโนโลยีเดิม เช่น ไซเรนเตือนภัย หอกระจายข่าว การแจ้งเตือนภัยผ่านวิทยุ หรือโทรทัศน์ ซึ่งอาจไม่ทั่วถึงและไม่ทันเหตุการณ์เพียงพอ
ดังนั้นการแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงเป็นทางออกที่จะสามารถส่งข้อความไปยังประชาชนจำนวนมากได้ไม่เพียงแต่แจ้งเตือนเท่านั้น ระบบนี้ยังสามารถส่งข้อความที่จำเป็นให้ประชาชนเฝ้าระวังและปฏิบัติได้ทันทีอีกด้วยระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เป็นระบบที่เพิ่มศักยภาพให้ผู้ที่มีหน้าที่ทำการแจ้งเตือนภัย ทำการส่งข้อความเตือนภัยได้อย่างทั่วถึงผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3G, 4G และ 5G โดยข้อความเตือนภัยสามารถเข้าถึงประชาชนในบริเวณที่ต้องการได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที เพราะใช้เทคโนโลยีการกระจายสัญญาณ (Broadcasting) จึงทำให้การส่งข้อความเตือนภัยสามารถถึงผู้รับได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ซึ่งแตกต่างกับบริการส่งข้อความสั้น (Short Message Service :SMS) ที่เป็นการส่งข้อความแบบบุคคลต่อบุคคล (point-to-point connection) ทําให้เกิดการหน่วงของข้อมูลและใช้ช่องสัญญาณในการส่งข้อความมากกว่า
ทั้งนี้ระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) สามารถกระจายข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและในพื้นที่ที่ต้องการแจ้งเตือนนั้นจะไม่ถูกกระทบต่อความหนาแน่นของการใช้สัญญาณเพราะระบบ Cell Broadcast จะใช้ช่องสัญญาณที่มีการเตรียมไว้เพื่อเหตุฉุกเฉิน แยกจากช่องสัญญาณปกติทำให้ไม่เกิดการติดขัดของข้อมูล ทำให้แจ้งเตือนได้อย่างรวดเร็ว
2. รายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้าง
จากการตรวจสอบเอกสารจักซื้อจัดจ้างโครงการฯ นี้ พบว่าได้รับจัดสรรงบประมาณ 449,995,000 บาท กำหนดราคากลาง 449,482,790 บาท เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2567
สืบราคากลางจากเอกชน 3 ราย คือ บริษัทเรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัทเอส ดี เอ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท แซทคอมส์ กรุ๊ป จำกัด (ดูเอกสารประกอบ)
มีการออกประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมการเสนอราคา เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 ให้ยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ระหว่างเวลา 09.00 น. ถึง 12.00 น.
กำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นเสนอราคา อาทิ เป็นนิติบุคคลผู้มีอาชีพรับจ้างงานที่ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้ยื่นข้อเสนอราคารายอื่น ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานประเภทเดียวกันกับผลงานที่ประกวดราคาจ้าง ในวงเงินไม่น้อยกว่า 140,000,000 บาท และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรง กับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่กรมเชื่อถือ โดยเป็นผลงานภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ โดยต้องแนบหนังสือรับรองผลงานพร้อมสำเนาสัญญาทั้งฉบับ รวมทั้งสัญญา แก้ไขเพิ่มเติม (ถ้ามี) มาพร้อมกับการยื่นข้อเสนอ กรณีผู้ยื่นข้อเสนอเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งยังไม่มีการรายงานงบการเงิน ให้พิจารณาการกำหนดมูลค่าของทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระมูลค่าแล้ว ณ วันที่ยื่นข้อเสนอไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
ส่วนเรื่องหลักประกันการเสนอราคา กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องวางหลักประกันการเสนอราคา จำนวน 22,499,750 บาท ผู้ชนะต้องทำสัญญาจ้างตามแบบสัญญาภายใน 7 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับแจ้ง และต้องวางหลักประกันสัญญา
ปภ. ยังระบุระยะเวลาดำเนินการการภายใน 480 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา จ่ายเงินตามงวดงานที่กำหนด ต้องทำประกันความชำรุดบกพร่องของระบบที่พัฒนาและติดตั้งในโครงการทั้งหมดในสัญญาเป็นเวลา 1 ปี ต้องรีบจัดการซ่อมแซม แก้ไขให้ระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้การได้ดีดังเดิมภายใน 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องมีการจัดฝึกอบรม จัดประชุมสัมมนารับฟังความเห็นงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดให้มีการเดินทางศึกษาดูงานระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ ณ ประเทศในทวีปยุโรป อย่างน้อย 2 ประเทศ ในส่วนของระบบ CBE และ CBC ที่มีการใช้งานระยะแจ้งเตือนภัย (CELL BROADCAST) ตามที่ ปภ.กำหนด โดยมีผู้ศึกษาดูงานอย่างน้อย จำนวน 10 คน ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 9 วัน โดยจะต้องอำนวยความสะดวกประสานสถานที่ศึกษาดูงาน และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตลอดการเดินทาง เพื่อศึกษากระบวนการการแจ้งเตือนที่เป็นมาตรฐานสากล ของหน่วยงานรัฐบาล กับเทคโนโลยีของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
3. ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง
โครงการฯ นี้ มีเอกชน 3 ราย เข้ารับ/ซื้อซองเอกสาร คือ บริษัทเรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัทเอส ดี เอ กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและเทคนิคทั้งหมด (บริษัทเรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัทเอส ดี เอ กรุ๊ป จำกัด เป็นเอกชน 2 รายที่เป็นแหล่งสืบราคากลาง)
บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เสนอราคา 433,400,000 บาท
บริษัท เอส.ดี.เอ.กรุ๊ป จำกัด เสนอราคา 445,000,000 บาท
บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 398,700,000 บาท
บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับการคัดเลือก เหตุผลเป็นผู้มีคุณสมบัติเเละข้อเสนอทางด้านเทคนิคถูกต้องครบถ้วนเเละเป็นผู้ชนะการเสนอราคาตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563
ประกาศผลการจัดซื้อจัดจ้างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568
ทำสัญญาว่าจ้างเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 วงเงินตามสัญญาจ้าง 430,000,000 บาท
ขณะที่วันทำสัญญาว่าจ้าง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 เกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดเหตุแผ่นดินไหว ในประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่ส่งผลทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนมายังประเทศไทย วันที่ 31 มีนาคม 2568 ประมาณ 4 วันเท่านั้น (นับจาก 28 มีนาคม 2568) (ดูเอกสารประกอบ)
จากข้อมูลรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ วงเงิน 430,000,000 บาท ที่ตรวจสอบพบข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า โครงการฯ นี้ เพิ่งจะได้ตัวผู้รับจ้างก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่กี่วันเท่านั้น จึงยังไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับปัญหาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว
แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ก่อนหน้าที่ ปภ. จะจัดทำโครงการฯ นี้ นับตั้งแต่ปี 2565 ปภ. ใช้งบประมาณในการดำเนินงานโครงการจัดทำระบบเตือนภัย ไปแล้วกว่า 361.2 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงปี 2560 สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบพบว่า ปภ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะประกวดราคาซื้อโครงการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัยเพิ่มเติมให้กับพื้นที่เสี่ยงภัยที่มีการร้องขอ (ระยะที่ 1) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ได้แก่ บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ส่งออก,ขายส่ง,ขายปลีก,ให้บริการ) โดยเสนอราคาต่ำสุด 70 ล้านบาท จากราคากลาง วงเงิน 73,194,200 บาท (บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก็เป็นผู้ชนะจัดจ้างโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ วงเงิน 430,000,000 บาท)
การจ้างเอกชนรับเหมาโครงการดังกล่าวของ ปภ. ประกอบด้วย
1. อุปกรณ์รับสัญญาณเตือนภัยและกระจายเสียงสำหรับหอกระจายข่าวแขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 20 ชุด
2. อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณเตือนภัย แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ จำนวน 70 ชุด
3. อุปกรณ์รับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียมและกระจายเสียงสำหรับหอเตือนภัยแขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 17 ชุด
4. อุปกรณ์สถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ จำนวน 2 ชุด
5. ก่อสร้างหอกระจายข่าว แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 20 แห่ง
6. ก่อสร้างหอเตือนภัย แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 17 แห่ง
ในขั้นตอนการสืบราคากลาง ปภ.สืบราคาจากเอกชน 3 รายคือ บริษัท ทยาเมลล์ จำกัด บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท เอส.ซี.จี.กรุ๊ป จำกัด
ในขั้นตอนการประกวดราคา มีผู้รับเอกสาร 12 ราย เสนอราคา 2 ราย ผู้เสนอราคาต่ำสุดในราคา 70.994,282 บาท ผลปรากฎว่า ปภ.ประกาศให้ บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ชนะวงเงิน 70 ล้านบาท (ดูเอกสารประกอบ)
ในรายละเอียดการประกวดราคา ปภ.สืบราคากลางจากเอกชน 3 ราย คือ บริษัท ทยาเมลล์ จำกัด บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท เอส.ซี.จี.กรุ๊ป จำกัด อยู่ที่ 11,873,600 บาท โดยมีผู้เสนอราคา 2 รายชื่อ บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท ท๊อปฟ์ มิลิแทรี่พาร์ท แอนด์ ฮาร์ดแวร์ จำกัด ก่อนที่ ปภ.ประกาศ บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ชนะทำสัญญาวันที่ 30 มี.ค.2560 และพบว่า เอกชน 3 รายคือ บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ท๊อปฟ์ มิลิแทรี่พาร์ท แอนด์ ฮาร์ดแวร์ จำกัด และ บริษัท ทยาเมลล์ จำกัด ยังถูกอ้างเป็นแหล่งที่มาของราคากลางในโครงการประกวดราคาจ้างการจ้างบำรุงรักษาระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบทีวีเครือข่ายวิทยุและหอกระจายข่าว ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ของ ปภ. วงเงิน 11,492,000 บาท ซึ่งจะมีการประกวดราคาในวันที่ 30 ต.ค.2560 นี้
บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ยังเป็นผู้ชนะ โครงการงานปรับปรุงซ่อมแซมทางด้านกายภาพของหอเตือนภัย แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ราคา 19.6 ล้านบาท เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2560 ต่อมา ปภ.ได้ ยกเลิกประกาศรายชื่อผู้ชนะการเสนอราคา เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2560 และโครงการดังกล่าวได้สืบราคาจาก บริษัท ทยาเมลล์ จำกัด บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท เอส.ซี.จี.กรุ๊ป จำกัด เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังเป็นผู้ชนะ ปรับปรุงเชื่อมโยงระบบสัญญาณเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดกระบี่ จำนวน 20 หอ วงเงิน 20 ล้านบาท เมื่อปี 2552 และ จ.ตรัง 2 แห่ง 4,750,000 บาท ไม่รวม ระบบสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ อื่นรวม 21 สัญญา กว่า 500 ร้อยล้านบาท
บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จดทะเบียนวันที่ 26 ต.ค. 2521 ทุนปัจจุบัน 50 ล้าน บาท ประกอบธุรกิจนำเข้า ค้าปลีกอุปกรณ์เตือนภัย ประมูลงานอะไหล่เครื่องบิน นายหน้าตัวแทน ที่ตั้งเลขที่ 99/178-182 ถนนเทศบาลสงเคราะห์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร นาย ระยอง สาหร่าย ถือหุ้นใหญ่และเป็นกรรมการ
จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบเพิ่มเติม มีข้อสังเกตเพิ่มเติมสำคัญ 2 ประการ คือ
1. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ปรากฏชื่อเป็นผู้ชนะงานระบบสัญญาณเตือนภัย ปภ. หลายโครงการ? รวมวงเงินหลายร้อยล้านบาท
2. ในช่วงเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา โครงการต่างๆ สามารถทำงานได้ตามปกติ มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่?
ทั้งหมดนี้ ดูเหมือนจะเป็นคำถามสำคัญที่ผู้บริหาร ปภ. จะต้องตอบคำถามชี้แจงข้อเท็จจริงให้สาธารณชนได้รับทราบโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานตรวจสอบแห่งใด ออกมาระบุว่า การจัดซื้อจัดจ้าง โครงการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัย ของปภ. ที่บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับไปมีปัญหาความไม่โปร่งใส ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด
บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ปภ. รวมถึงผู้เกี่ยวข้องยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่