‘พิสิฐ ลี้อาธรรม’ อดีต รมช.คลัง ยื่นหนังสือถึง ‘ผู้ว่าฯ สตง.’ ขอให้ใช้อำนาจตามกฎหมาย ตรวจสอบ-ยับยั้งโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชี้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ-กระทบภาระการคลังประเทศ
....................................
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.คลัง เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจการแผ่นดิน (สตง.) โดยขอให้มีการตรวจสอบและให้คำแนะนำต่อรัฐบาลจากการมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต (Digital Wallet) เนื่องจากหากมีการนำมติ ครม.ดังกล่าวไปปฏิบัติจะสร้างความเสียหายและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างร้ายแรง
อีกทั้งยังส่งผลต่อภาระทางการคลังของประเทศ และเป็นที่เชื่อได้ว่าหากดำเนินโครงการดังกล่าวไปแล้ว อาจจะทำให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินในกรณีนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง และทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐ
ดังนั้น จึงขอความอนุเคราะห์ผู้ว่าฯ สตง. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ดำเนินการตรวจสอบและให้คำแนะนำต่อรัฐบาล ในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ให้ถูกต้องและเกิดความคุ้มค่า ซึ่งจะเป็นการยับยั้งความเสียหายต่อไป อีกทั้งยังเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานฯ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 8 และมาตรา 27 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561
สำหรับหนังสือของนายพิสิฐ มีเนื้อหาว่า “ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet โดยเป็นการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)
โดยแถลงว่า คณะรัฐมนตรีให้มีมติล้มเลิกข้อเสนอแนวทางเดิมที่จะมีการตราพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงินจำนวน 560,000 ล้านบาท และเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามนัยพระราชบัญญัติหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 โดยมีการกำหนดแนวทางจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินโครงการดังกล่าว ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้แทน
1) ตัดลดงบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 172,300 ล้านบาท
2) ขยายการขาดดุลงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
3) พิจารณาขอยืมเงินจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 175,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนของรัฐบาลได้อ้างเหตุผลในการดำเนินโครงการดังกล่าวโดยยืนยันว่า เป็นไปเพื่อเป็นกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นวิกฤต ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ขยายตัวดีขึ้น อันเนื่องมาจากประชาชนกลุ่มเป้าหมายจะได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคกับบรรดาร้านค้าหรือผู้ประกอบการ
ในการดำเนินการเช่นนี้ ยังไม่มีความชัดเจนในแผนงานและทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากวงการต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งจากนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน การธนาคาร นักกฎหมาย เป็นต้น อีกทั้งการดำเนินนโยบายประชานิยมเช่นว่านี้ ยังก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐเป็นจำนวนมหาศาล นั้น
ในการนี้ ข้าพเจ้าในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาด้านการคลังมามากกว่า 50 ปี มีความเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้นนี้ หากมีการนำไปปฏิบัติจะสร้างความเสียหายและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังส่งผลต่อภาระทางการคลังของประเทศ ซึ่งเป็นที่เชื่อได้ว่าหากดำเนินโครงการดังกล่าวไปแล้ว อาจจะทำให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินในกรณีนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง และทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐ โดยมีเหตุผลประการสำคัญ ดังนี้
1) การตัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 จำนวน 172,300 ล้านบาท จะมีผลกระทบต่อการทำงานของระบบงบประมาณ ซึ่งล่าช้ามากว่าครึ่งค่อนปีแล้ว ทำให้เงินหมุนเวียนของรายจ่ายลดลง วิธีการแบบนี้จะเป็นเสมือนหนึ่ง คนไข้ต้องการเลือด แทนที่หมอจะไปนำเลือดจากภายนอกมาฉีดให้ กลับสูบเลือด จากคนไข้เพื่อฉีดกลับเข้าไปใหม่ จึงไม่มีผลสุทธิในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่อ้างแต่ประการใด และยังมีความเสียหายจากความล่าช้าของการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ทั้งที่หน่วยงานราชการต่างๆ เตรียมการเบิกจ่ายแล้วตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ
2) การขยายวงเงินขาดดุล 152,700 ล้านบาท และต้องก่อหนี้เงินกู้ทั้งจำนวนเพื่อมาใช้ ก็จะมีลักษณะเดียวกับข้อเสนอก่อนหน้าที่จะมีการตรา พ.ร.บ.กู้เงิน แต่ได้รับเสียงคัดค้าน จึงต้องพับเรื่องการตรา พ.ร.บ. ออกไป สำหรับวงเงินงบประมาณ พ.ศ.2568 คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 อนุมัติตามที่ 4 หน่วยงานนำเสนอในการกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้ 3,600,000 ล้านบาท ขาดดุล 713,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอำนาจตาม มาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
แต่จากการประชุมของ 4 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ใช้เวลาเพียง 20 นาที จึงเป็นการรวบรัดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีด้วยการให้ก่อหนี้เพิ่มเต็มจำนวนที่เพิ่ม จึงทำให้ต้องขาดดุลเพิ่มเป็น 865,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลงบประมาณที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยมีการนำเสนอวงเงินงบประมาณของประเทศ จึงอาจส่งผลในทางการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีจำกัด
เพราะรัฐบาลต้องไปออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินจากระบบธนาคาร ทำให้วงเงินที่ธนาคารจะปล่อยให้กู้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจลดลง ดังนั้น สินเชื่อครัวเรือนและธุรกิจจะมีความฝืดเคืองมากขึ้น เพราะรัฐบาลดึงเงินในระบบออกไปใช้เป็นจำนวนมหาศาล
3) การยืมเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 175,000 ล้านบาท จะมีผลทำให้ ธ.ก.ส. ไม่สามารถให้สินเชื่อแก่เกษตรกรตามภาระหน้าที่ของธ.ก.ส. ตามกฎหมาย จากงบการเงิน ธ.ก.ส. ล่าสุด ปรากฏว่า ธ.ก.ส.มีเงินสดเพียง 20,000 ล้านบาท หากจะให้รัฐบาลยืมเงิน จำนวน 175,000 ล้าน ซึ่งยังมีปัญหาข้อกฎหมายว่าทำได้หรือไม่ ก็จะทำให้ ธ.ก ส. ต้องเรียกคืนเงินสินเชื่อเกษตรกรและการลงทุนอื่นของ ธ.ก.ส. กลับมา ซึ่งจะสร้างความเดือนร้อนให้กับเกษตรกรที่ถูกเรียกเงินคืน และจะไม่มีเงินสินเชื่อใหม่ให้แก่เกษตรกร อันจะเป็นการสร้างความเสียหายอย่างมากแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ ด้วยวิธีการหาแหล่งเงินใหม่ทั้งสามประการข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเชิงลบ มากกว่าประยชน์ที่รัฐบาลได้กล่าวอ้างว่าจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว ทั้งความเชื่อมั่นในระบบการเงินการคลังไทยที่เคยมีมาอาจจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จนส่งการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ที่สำคัญ คือ เงินจำนวนกว่า 500,000 ล้านบาท ที่จะจ่ายออกไปนั้น จะเป็นหนี้สาธารณะที่ชนรุ่นหลังต้องมาชดใช้พร้อมดอกเบี้ย เช่นเดียวกับความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวที่ยังเป็นภาระของรัฐบาล และ ธ.ก.ส. นับแสนๆ ล้านบาทในปัจจุบัน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าจึงขอความอนุเคราะห์ให้ท่านและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบและให้คำแนะนำต่อรัฐบาล ในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Walle) ให้ถูกต้องและเกิดความคุ้มค่ ซึ่งจะเป็นการยับยั้งความเสียหายต่อไป อีกทั้งยังเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานท่าน ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 8 และมาตรา 27 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 ดังต่อไปนี้
มาตรา 8 “....เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงิน การคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงิน การคลังของรัฐ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง ต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา...."
มาตรา 27 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้....(4) ให้คำปรึกษา แนะนำ หรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปตาม กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งการให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐในการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับ การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน....”
ทั้งนี้ ข้าพเจ้ายินดีที่จะให้ความร่วมมือ หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมประการใดจากข้าพเจ้า และหากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ได้ผลเป็นประการใด โปรดมีหนังสือแจ้ให้ข้าพเจ้าได้รับทราบความคืบหน้าและผลการดำเนินดังกล่าว ในฐานะประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอันเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของรัฐบาลต่อไปด้วย”
อ่านประกอบ :
ฉบับเต็ม! เปิดหนังสือ 4 หน่วยงาน ข้อห่วงใยแจก'หมื่นดิจิทัล'-‘ธปท.’หวั่นไทยถูกหั่นเครดิต
ครม.อนุมัติหลักการ‘ดิจิทัลวอลเลต’-สั่ง‘คลัง’หารือ‘กฤษฎีกา’ปมใช้เงิน‘ธ.ก.ส.’
เปิดรายละเอียดงบปี 68 เทงบกลางฯ 1.52 แสนล.เติม‘หมื่นดิจิทัล’-หั่น‘มหาดไทย’ 5.6 หมื่นล้าน
เปิดงบดุล'ธ.ก.ส.'ล่าสุด ก่อนรบ.จ่อกู้โปะ'ดิจิทัลวอลเลต'-พบค้างหนี้จำนำข้าว 2.26 แสนล้าน
‘ศิริกัญญา’ ห่วงดิจิทัลวอลเลตไม่มีรายละเอียดเพิ่ม ทำหนี้สาธารณะจะชนเพดาน 70%
'เศรษฐา' ประกาศแจกเงินหมื่น 50 ล้านคน ไตรมาส 4 ปี 67 เปิดแหล่งเงินไร้กู้
เช็ก'ฐานะการคลัง'ล่าสุด ก่อน'รบ.'เคาะแหล่งเงิน'หมื่นดิจิทัล'-'ธปท.-สศช.'เตือนลดขาดดุลงบฯ
เพิ่มรายจ่ายปีงบ 68 เป็น 3.75 ล้านล.! ครม.ไฟเขียว‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ฉบับใหม่
‘จุลพันธ์’ยันไม่เกิน 10 เม.ย.ได้ข้อสรุป‘ดิจิทัลวอลเลต’-กางไทม์ไลน์แจก 1 หมื่นภายในปีนี้
เปิดผลศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ฉบับ‘สตง.’ชี้ 3 ความเสี่ยงการคลัง เสนอใช้‘งบปกติ’แจก 1 หมื่น
‘เศรษฐา’ แย้ม 1-2 สัปดาห์นี้ นัดประชุมบอร์ดเงินหมื่นดิจิทัลวอลเลต
ครม.รับทราบ 8 ข้อเสนอแนะ‘ป.ป.ช.’ป้องกันทุจริต'ดิจิทัลวอลเลต'-มอบ'คกก.นโยบายฯ'หาข้อยุติ
ระมัดระวังไม่ให้ระบบศก.เสียหาย! สตง.ชี้ความเสียงแจกเงินดิจิทัล แผนใช้หนี้ต้องชัดเจน
บอร์ดเงินหมื่นตั้ง 2 คณะทำงาน ผ่าข้อเสนอ ‘กฤษฎีกา-ป.ป.ช.’
‘เศรษฐา’ รับหนังสือ ป.ป.ช.เตือน ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ถึงมือแล้ว
ป.ป.ช.แนะ 8 ข้อนโยบายดิจิทัลวอลเลต-ปัดชี้นำให้ทำตาม รบ.ที่แล้ว ปมเสนอให้แจกเงินเป็นงวด
ฉบับสมบูรณ์! เปิดข้อเสนอแนะป้องทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ เสียงเตือนจาก‘ป.ป.ช.’ถึง‘รบ.เศรษฐา’
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(จบ) ธปท.ย้ำ‘ดิจิทัลวอลเลต’ต้องไม่สร้าง‘เงินใหม่’-เตือนเสี่ยงทุจริต
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(2) สศช.ห่วง‘ดิจิทัลวอลเลต’ดันหนี้สูง ฉุดเครดิตปท.-ชี้ศก.ไม่วิกฤติ
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(1) ‘คลัง’เตือน‘ดิจิทัลวอลเลต’กระตุ้นศก.ระยะสั้น-หนี้ปท.พุ่ง 66.65%
เปิด 9 ข้อเสนอแนะฯป้องกันทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชง‘บอร์ด ป.ป.ช.’เคาะอีกครั้งใน 2 สัปดาห์