‘ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ’ ชี้กำไรธุรกิจกระจุกตัวสูง-กระจายผลประโยชน์ ‘ไม่ทั่วถึง’ ขณะที่เกือบ 1 ใน 3 ของภาคอุตสาหกรรม ยังอยู่ใน ‘โลกเก่า’ ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลำบาก
....................................
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ ‘Towards a more resilient future ปรับโหมดนโยบายการเงินสู่เศรษฐกิจยั่งยืน’ ในงานสัมมนา Thailand Next Move 2024 : The Next Wealth and Sustainability จัดโดยวารสารการเงินธนาคาร ตอนหนึ่งว่า หากเศรษฐกิจไทยจะมั่งคั่งและยั่งยืนได้ จะต้องมี ‘resilience’ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การมีเสถียรภาพ (stability) เท่านั้น
“เรื่อง resilience ไม่ใช่แค่เรื่องเสถียรภาพ คำว่าเสถียรภาพ สำหรับผม คือ คำว่า stability อารมณ์เหมือนว่าทุกอย่างมันนิ่ง เจอโน่นนี่แล้วทนทาน แต่ resilience มันมีความหมายที่กว้างกว่านั้น มีองค์ประกอบ เรื่องความทนทาน แต่ทนทานใน sense ที่ว่า ถ้าบริบทเปลี่ยนไป สิ่งที่ทำยังเหมาะสมกับสถานการณ์ที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปได้ ต้องมี sense ของความยืดหยุ่น และมี sense ว่า ล้มแล้วลุกขึ้นได้เร็ว” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า องค์ประกอบของ resilience ในมุมมองของ ธปท. มี 3 เรื่อง คือ เรื่องแรก เป็นเรื่องเสถียรภาพ (stability) เช่น มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพการเติบโตในระยะยาวในระดับ 3-4% เงินเฟ้ออยู่ในระดับเหมาะสม คือ อยู่ในกรอบ 1-3% และอย่าทำให้เกิดความไม่สมดุลทางด้านการเงิน (financial imbalance) มากจนเกินไป เช่น การที่ดอกเบี้ยต่ำนานๆ และทำให้พฤติกรรม search for yield เป็นต้น
เรื่องที่สอง การมีภูมิคุ้มกันทางการเงิน (buffer) ซึ่งการมีกันชนที่ดีนั้น งบดุลแต่ละที่ต้องแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นงบดุลของประเทศ ภาครัฐ หนี้สาธารณะต้องไม่สูงเกินไป ฝั่งระบบธนาคารพาณิชย์ ทุน และระดับการสำรองฯต้องมีเพียงพอ ส่วนภาคธุรกิจนั้น สัดส่วนหนี้ต่อทุนไม่ควรสูง และในภาคครัวเรือน หนี้ไม่ควรสูงจนเกินความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงการมี policy space คือ มีกระสุนที่เพียงพอทั้งในฝั่งการเงินและการคลัง
นอกจากนี้ จะต้องมีทางเลือกอื่นๆ (option) เพื่อรองรับความเสี่ยงและ shock ต่างๆที่จะเกิดขึ้นโดยคาดไม่ถึง คือ ต้องมีถนนหลักและถนนรอง หากถนนหลักมีปัญหา ก็สามารถใช้ถนนรองได้
เรื่องที่ 3 ต้องมีการเติบโตจากโอกาสใหม่ (digital & transition) เพราะเศรษฐกิจที่จะ resilient ได้ จะต้องมีการสร้างโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะการสร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจ SMEs
“ถ้าเราอยากเป็นเศรษฐกิจที่ resilient ต้องมี growth ต้องมีโอกาสใหม่ๆที่เกิดขึ้น แล้วบริบทของไทย ถ้าทุกอย่างมันนิ่ง การเติบโตมันไม่พอ ไม่ได้สร้างโอกาสใหม่ให้คน อันนี้ก็ไม่ resilient ท้ายที่สุด ก็ไม่สามารถทำให้เราก้าวไปถึงความมั่นคงที่ยั่งยืนได้ เพราะการมีโอกาสใหม่ๆจะช่วยให้ครัวเรือน หรือธุรกิจต่างๆ มีความหวัง มีโอกาสเห็นแนวทางที่จะเดินต่อไปได้ ซึ่งการสร้างโอกาส ต้องเป็นโอกาสใหม่ๆ เพราะถ้ายังโตไปแบบเดิมๆ ไปแบบเดิม ยิ่งวันยิ่งลำบาก
กระแสอันหนึ่งที่เราทราบกันดี คือ กระแสความยั่งยืน ตัวเลขมันฟ้องว่า ถ้าเราไม่ปรับตัวให้รองรับกระแสเรื่องความยั่งยืน เราก็จะโตแบบเดิมลำบาก เช่น 1 ใน 3 ของแรงงานไทยอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งจะถูกกระทบจากสภาวะโลกร้อน เกือบๆ 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมของเรา ยังอยู่ในอุตสาหกรรมสไตล์ ‘โลกเก่า’ อาทิ ปิโตรเคมี ยานยนต์ หรือถ้าจะโต โดยพึ่งเครื่องยนต์เดิมๆ ก็ลำบาก
แต่อีกอันที่เห็นได้ชัด คือ การโตแบบเดิม จะส่งผลประโยชน์ในรูปแบบที่ ‘ทั่วถึง’ อย่างที่มันควร ก็ไม่ได้ โดยที่ผ่านมาเรามักใส่ใจเรื่องตัวเลขการเติบโต แต่ไม่ได้ใส่ใจว่าการเติบโตมันตกไปอยู่ที่ไหน ตกอยู่กับใคร ถ้าผลประโยชน์ของการเติบโตอยู่ในวงที่แคบ ก็เหมือนกับเราเติบโตบนฐานที่แคบ โอกาสที่มันจะ resilient ก็ลำบาก
ถ้าดูตัวเลขในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจมันไปที่ไหน ซึ่งถ้าเราดูในอดีตที่ผ่านมา โดยกำหนดดัชนีไว้ที่ 100 เราจะเห็นว่า รายได้ประชาชาติ (net national income) ไม่หักเงินเฟ้อ เราโตมาเกือบ 3 เท่า หรือจาก 100 ในปี 2001 (พ.ศ.2544) มาเป็น 298 ในปี 2021 (พ.ศ.2564) ฟังดูแล้วโอเค แต่ตอนที่ไล่ไปดูว่าไปที่ไหน เราจะเห็นภาพที่สะท้อนว่า ประโยชน์ของการเติบโตต่างๆ ไม่ได้มีกระจายเท่าที่ควร
รายได้ภาครัฐโตจาก 100 มาเป็น 247 หรือเพิ่มขึ้นมา 2.47 เท่า รายได้ที่มากับพวกแรงงาน เพิ่มขึ้นจาก 100 มาเป็น 274 เพิ่มขึ้นมา 2.74 เท่า แต่ตัวที่ใหญ่ที่สุด คือ กำไรของบริษัทที่โตขึ้นจาก 100 มาเป็น 482 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า และถ้าไปดูการกระจายกำไรของบริษัท เราจะเห็นว่า SMEs บ้านเรา โอกาสเติบโตและเข้าถึงกำไรที่ไม่ได้สูงขนาดนั้น การกระจุกตัวของกำไรของภาคธุรกิจที่สูง ก็เป็นประเด็น
ถ้าเราไม่สามารถเติบโตในรูปแบบใหม่ ที่จะกระจายความเจริญ กระจายประโยชน์ของการเจริญเติบโตต่างๆได้ โอกาสที่เศรษฐกิจไทย จะโตแบบ resilient จริงๆ ทนทานจริงๆ บนฐานที่มันกว้าง ก็จะเป็นไปได้ลำบาก” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า บทบาทของ ธปท.ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบ resilient มากขึ้น นั้น อันแรก คือ การกำหนดนโยบายให้เหมาะสม มีการผสมผสานนโยบายการเงินและมาตรการการเงิน ที่เอื้อให้เศรษฐกิจโตได้อย่าง resilient เช่น การทำให้นโยบายต่างๆกลับสู่ภาวะปกติ (policy normalization) ซึ่งสิ่งที่เราทำ คือ การขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม และยังเอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษกิจ เป็นต้น
อันที่สอง สร้างภูมิคุ้มกัน ต้องสร้างความแข็งแกร่งของบดุลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งระบบธนาคารพาณิชย์ เรื่องหนี้ครัวเรือน ต้องทำให้ครัวเรือนสามารถปิดจบหนี้ได้ เป็นต้น และอันที่สาม การสร้างทางเลือกที่มากขึ้น เช่น ผลักดันการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขาย อาทิ เยน หยวน ริงกิต รูเปียห์ และการสร้างกลไกการชำระเงินต่างๆ รวมถึงการสร้างโอกาสในเรื่องดิจิทัล เรื่อง Green และเรื่อง transition
อ่านประกอบ :
3 กรรมการ'กนง.'ฝั่ง'แบงก์ชาติ' มองทิศทาง'ดอกเบี้ยนโยบาย' ท่ามกลาง'ปัจจัยเสี่ยง-แรงกดดัน'
‘ธปท.’เล็งหั่นGDPปี 67 หากแจก‘เงินดิจิทัล’ไม่ถึง 5.6 แสนล.-เก็บ'ลูกกระสุน'รับความเสี่ยง
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : เรื่องเสถียรภาพ เราจะชะล่าใจไม่ได้
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำเหยียบคันเร่งกระตุ้นศก.‘อาจไม่จำเป็น’-ชี้เป้าแก้‘จุดอ่อน’เชิงโครงสร้าง
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : เงินเฟ้อที่สูงมาก-หนี้สินที่คุมไม่ได้ ย่อมเสี่ยงเกิดวิกฤติ ศก.
‘ผู้ว่าฯธปท.’แนะรัฐบาล‘พักหนี้ฯ-แจกเงินดิจิทัล’เฉพาะกลุ่ม-ย้ำไม่เปลี่ยน‘นโยบายการเงิน’
ปีนี้โต3%กลางๆ! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำศก.ฟื้นต่อเนื่อง-เปลี่ยนโจทย์นโยบายการเงินเป็น‘landing’
เงินเฟ้อลงชั่วคราว! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ส่งสัญญาณยังไม่หยุดขึ้นดบ.-ห่วงตั้งรบ.ช้ากระทบเชื่อมั่น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำระบบการเงินไทย‘มีเสถียรภาพ-ทำงานได้ดี’-ขอ‘นายแบงก์’ร่วมแก้หนี้ครัวเรือน
ต้องเน้นเสถียรภาพ! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ห่วงนโยบาย‘พรรคการเมือง’มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’