'ธปท.' เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค.ปรับตัวดีขึ้น ส่วนเดือน พ.ย. มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จับตาความเสี่ยงโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบ มองจีดีพีทั้งปี 64 อาจขยายตัวสูงกว่า 0.7% เล็กน้อย
..............................
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน ต.ค.2564 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค.2564 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ การส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามภาวะอุปสงค์ที่ฟื้นตัว
ส่วนปัญหา supply distruption ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงต้องติดตามปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และตู้คอนเทนเนอร์ ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนแม้จะลดลงบ้าง หลังจากเร่งไปในเดือนก่อน แต่ทิศทางยังคงเป็นขาขึ้น เพียงแต่กิจกรรมอาจจะเกิดขึ้นเหลื่อมเดือน
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาผักที่ผลผลิตได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้น แต่กำลังการผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้น ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง แม้ปรับดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อน ตามดุลรายได้ บริการ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลง
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ย.2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีสถานการณ์ที่ต้องติดตาม ได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ และปัญหา supply distruption ที่แม้ว่าจะคลี่คลายไปบางส่วน แต่บางเรื่องยังต้องติดตามต่อไป เช่น ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งต้องติดตามราคาพลังงานและวัตถุดิบที่อยู่ในระดับที่สูง ซึ่งแม้ว่าเรามองว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นชั่วคราว แต่คงต้องดูสถานการณ์ตลาดโลกด้วย
“เงินเฟ้อในปีหน้า ถ้าดูจากประมาณการก็ไม่ได้สูง อาจจะสูงกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย แต่ไม่เยอะ อันนี้จึงเป็นการเพิ่มขึ้นชั่วคราว และถ้าไปดู core inflation (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน) จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังค่อยๆเริ่มฟื้น ยังไม่เยอะจนกระทั่งการส่งผ่านไปทำให้ราคาปรับขึ้นสูง และผู้ประกอบการเองก็ไม่ได้รับราคาขึ้นไปเยอะ เพราะมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่ในต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวเรา จึงเป็นเรื่องของอุปสงค์ แต่ของเรายังค่อยๆทยอยฟื้น ซึ่งเรายังลุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อน แต่ประเทศอื่นเขาฟื้นไปก่อน พอเขาฟื้นได้เร็วกว่า ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อมากกว่า” น.ส.ชญาวดี กล่าว
เมื่อถามว่า การพบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ จะเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า วันนี้ภาพของ โอไมครอน ยังเห็นไม่ชัดเจน และแม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังต้องการเวลาในการดูพัฒนาการและความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ก่อน ดังนั้น ในการประเมินผลกระทบจะต้องดูความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ว่ามากหรือน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา และต้องดูว่ามาตราควบคุมการแพร่ระบาดเป็นอย่างไร
“ไม่ใช่แต่ ธปท. แต่คิดว่าหลายๆฝ่ายคงจับตามองพัฒนาการในเรื่องนี้ และข่าวก็ออกมาว่านักวิทยาศาสตร์ของ WHO ต้องการเวลา 2-3 สัปดาห์ในการประเมินภาพก่อน อย่างไรก็ดี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งหน้า จะมีการดูเรื่องนี้ด้วยนี้ และเมื่อถึงตอนนั้นน่าจะเห็นภาพชัดขึ้นบ้าง แต่ครั้งนี้ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าทางการของหลายๆประเทศออกมาเร็วกว่าเมื่อครั้งเดลตาระบาด จึงเป็นสัญญาณที่ดีว่า ถ้ามีอะไรขึ้นมา ก็จะดูแลได้รวดเร็วขึ้น ขณะที่บริษัทผลิตวัคซีนก็พยายามหาสูตร และบางบริษัทออกมาพูดแล้ว” น.ส.ชญาวดี ระบุ
น.ส.ชญาวดี ยังระบุว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวที่ 0.7% ตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ หรืออาจขยายตัวสูงกว่า 0.7% ได้เล็กน้อย เนื่องจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3/2564 ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ ส่วนกรณีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน นั้น หากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หรือเห็นถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้จริงๆ ก็คงเป็นในปีหน้า และตอนนี้เหลือเพียง 1 เดือนก็จะสิ้นปีแล้ว หากจะมีผลกระทบบ้าง ก็คงไม่มาก
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค.2564 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้าต่อเนื่องทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทยอยฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการภาครัฐยังช่วยพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง
มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การส่งออกปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดปรับลดลงหลังจากที่เร่งขึ้นในเดือนก่อน อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด ตาม
1) อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัว 2) สถานการณ์การแพร่ระบาดในโรงงานในไทยที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และ 3) ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่คลี่คลายลงบ้าง
มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและด้านราคา รวมทั้งการนำเข้าสินค้าทุนจากการนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ขณะที่การนำเข้าหมวดอื่นๆ โดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากหลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่
การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2564 ประกาศใช้ล่าช้า และการเบิกจ่ายในปีนี้ของหน่วยงานภาครัฐที่ทำได้ค่อนข้างดี
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนตามหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะยอดจดทะเบียนรถยนต์ที่ลดลงหลังจากเร่งขึ้นในเดือนก่อน สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงเล็กน้อยตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาผักที่ผลผลิตได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง แม้ปรับดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่ปรับลดลง และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ปรับดีขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อน ตามดุลรายได้ บริการ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ.
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ประเมินน้ำท่วมปี 64 ฉุดจีดีพี 0.1% เผยเศรษฐกิจ ก.ย.ดีขึ้น-เปิดปท.ฟื้นเชื่อมั่น
‘ธปท.’ ดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ส.ค.ลงต่อ-ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5%-คาดศก.ไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีปีนี้โต 0.7%
ธปท.เผยเศรษฐกิจ ก.ค.ชะลอตัว จับตา ‘ส่งออกแผ่ว-โควิดกลับมาระบาด-กำลังซื้ออ่อนแอ’
‘ธปท.’ ยันไม่เคยบังคับแบงก์ ‘แฮร์คัต’ หนี้-พบสัญญาณสินเชื่อ ‘รายย่อย’ เปราะบางขึ้น
รื้อสินเชื่อฟื้นฟู-พีโลน! ‘กนส.’ไฟเขียวมาตรการช่วยลูกหนี้-ลดนำส่งเงิน FIDF ถึงปี 65
เปิดรายงาน กนง. : 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ-ห่วง 'ล็อกดาวน์' นาน ผลกระทบมากขึ้น
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :'หลุมรายได้'อาจมีขนาด 2.6 ล้านล.-จำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้น
ทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง! ‘ผู้ว่าฯธปท.’หนุนรัฐบาลกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้าน แก้วิกฤติโควิด
แฮร์คัตหนี้-ลดดอกเบี้ย! ธปท.จ่อออกมาตรการจูงใจแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ‘รายย่อย-SME’
มติ 4 ต่อ 2! ‘กนง.’ เสียงแตกคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-หั่นจีดีพีปีนี้โตแค่ 0.7%
กำลังซื้ออ่อนแอ-ครัวเรือนไม่เชื่อมั่น! ธปท.เผยบริโภคเดือน มิ.ย.หด-เกาะติด'ล็อกดาวน์'
ฉุดจีดีพีร่วง 0.8-2%! ธปท.ประเมินผลกระทบ ‘ล็อกดาวน์’-เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้ากว่าคาด
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/