“…แต่พฤติการณ์ที่จำเลย มีส่วนได้รับเงินค่านายหน้าตอบแทน จากการนำเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ไปฝากยังสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด บ่งชี้ให้เห็นได้ว่าการใช้ดุลพินิจ พิจารณามีมติอนุมัติให้นำเงินไปฝากดังกล่าวของจำเลย มีมูลเหตุจูงใจถึงผลประโยชน์ที่จำเลยอาจจะได้รับเข้ามาเกี่ยวข้อง…”
..........................................
จากกรณีที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บัญชา ชลาภิรมย์ อดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (สอ.จฬ.) ขุดที่ 53 เป็นจำเลย ในความผิดฐานยักยอก, เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นกระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้ สอ.จฬ. ได้รับความเสียหาย
กระทั่งต่อมาวันที่ 26 ก.ย.2567 ศาลอาญา ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.600/2566 โดยพิพากษาว่าจำเลย (บัญชา ชลาภิรมย์) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 (เดิม) ประกอบมาตรา 254 เดิม ตามคำฟ้องข้อ 2.1 ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี และยกฟ้องโจทก์ข้อที่ 2.1 ถึงข้อ 2.6 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ทั้งนี้ บัญชา ได้ยื่นขอปล่อยชั่วคราว (ขอประกันตัว) เพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลฯมีคำสั่งอนุญาตฯ นั้น (อ่านประกอบ : ‘ศาลอาญา’พิพากษาจำคุก‘อดีตประธาน สอ.จฬ.’ 5 ปี ยักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ เสียหาย 1.4 พันล้าน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุปรายละเอียดคำพิพากษาในคดีนี้ (คดีหมายเลขดำที่ อ 600/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อ 3052/2567) ดังนี้
@คกก.‘สอ.จฬ.’ชุด 53 เปลี่ยนเกณฑ์นำเงินไปฝาก‘สหกรณ์’อื่น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า สำหรับกรณีตามฟ้องข้อ 2.1 ได้ความจาก นาย ว. พยานโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2556 คณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 53 ซึ่งจำเลยเป็นประธานมีมติที่ประชุมครั้งที่ 1062/2556 เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณากรณีนำเงินไปฝากสหกรณ์อื่นซึ่งไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยตัดหลักเกณฑ์เดิมซึ่งต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินฝากออก ตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2/465 ถึง 2/458
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2556 คณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 53 ซึ่งจำเลยเป็นประธาน มีมติที่ประชุมครั้งที่ 1063/2556 อนุมัติให้ฝากเงินจำนวน 200,000,000 บาท กับ สหกรณ์เครดิตเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด ตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2/452 ถึง 2/451
และสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด จำนวน 200,000,000 บาท ลงวันที่ 6 มี.ค.2556 เข้าบัญชีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาตลาดไท บัญชีเลขที่ 152-1-16646-3 ตามสำเนาฝากเงินและใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2/445
ซึ่งปรากฏว่า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด เคยมีหนังสือเชิญสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ร่วมลงทุนในการฝากเงิน จำนวน 200,000,000 บาท เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2556 ตามสำเนาหนังสือเรื่องขอเชิญร่วมลงทุนเงินฝาก เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2/487
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2556 จำเลย เข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด และเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2556 คณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 53 ซึ่งจำเลย เป็นประธาน มีมติที่ประชุมครั้งที่ 1062/2556 ตัดหลักเกณฑ์เดิมซึ่งต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินฝากออก
จากนั้นมีการอนุมัติให้นำเงินไปฝากที่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด จำนวน 200,000,000 บาท อันเป็นช่วงระยะเวลาต่อเนื่องกัน
โดยเมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การฝากเงินกับสหกรณ์ประเภทอื่นที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ ตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2/468 หน้าหลัง ข้อ 3.1.2 ระบุว่า ต้องมีหลักทรัพย์จำนองเป็นประกันเงินฝาก
แตกต่างกับหลักเกณฑ์การฝากเงินกับสหกรณ์ประเภทอื่นที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ ในสมัยที่จำเลยเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการ ตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2/461 ซึ่งไม่ปรากฎหลักเกณฑ์ดังกล่าว
อันอาจมีผลให้การนำเงินไปฝากยังสหกรณ์อื่นสามารถกระทำได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์จำนองเป็นประกันเงินฝาก และอาจสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ที่จะได้รับเงินคืน
@พบหลักฐานโอนเงินเข้าบัญชีจำเลย 15 ล้าน
ทั้งได้ความจาก พ.ต.ท. ป. พยานโจทก์ว่า หลังจากสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด โอนเงินมายังสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด จำนวน 200,000,000 แล้ว ปรากฏว่ามีการโอนเงินต่อไปให้ นายจิรเดช วรเพียรกุล จำนวน 100,000,000 บาท และนายจิรเดช โอนเงินให้จำเลย 15,000,000 บาท ในวันเดียวกัน
สอดคล้องกับคำเบิกความของ นาง ด. พยานโจทก์ เจ้าหน้าที่ธนาคารผู้ตรวจสอบบัญชีเงินฝากของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด ว่า
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด เปิดบัญชีประเภทออมทรัพย์ ไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาตลาดไท เลขที่บัญชี 1521166463 ตามรายการเดินบัญชีเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 4.9/21 ถึงแผ่นที่ 4.9/22
และบัญชีประเภทกระแสรายวัน เลขที่บัญชี 152-6-00158-6 ตามรายการเดินบัญชี เอกสารหมายเลข จ.5 แผ่นที่ 4.9/21 ซึ่งทั้งสองบัญชีดังกล่าวมีการตั้งระบบอัตโนมัติเป็นบัญชีคู่โอน คือ เมื่อมีการสั่งจ่ายเช็ค ระบบจะตัดจากบัญชีออมทรัพย์เข้าบัญชีกระแสรายวันเพื่อสั่งจ่ายเช็ค
กรณีการฝากเงินเข้าบัญชีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด จำนวน 200,000,000 บาท เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2556 ตามรายการเดินบัญชีเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 4.9/23 ลำดับที่ 13 มาจากบัญชีกระแสรายวันของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด สาขาสุรวงศ์ โดยเป็นการสั่งจ่ายเช็ค
และในวันเดียวกัน มีการโอนเงินออกจากบัญชีออมทรัพย์ของสหกรณ์เครดิตยูเนียนมงคลเศรษฐี จำกัด จำนวน 100,000,000 บาท ไปบัญชีกระแสรายวันตามรายการเดินบัญชี เอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 4.9/23
เมื่อตรวจสอบรายการเดินบัญชีของบัญชีกระแสรายวันของสหกรณ์เครดิตยูเนียนมงคลเศรษฐี จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 4.9/21 พบว่า เป็นการตัดสั่งจ่ายเช็ค จำนวน 100,000,000 บาท หมายเลขเช็ค 207918 ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.5 เผ่นที่ 4.9/20
ซึ่งเป็นเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาตลาดไท ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด ลงวันที่ 22 ก.พ.2556 สั่งจ่ายนายจิรเดช วรเพียรกุล และประทับตรา Account Payee Only จึงต้องนำเช็คเข้าบัญชีของนายจิรเดชเท่านั้น โดยเช็คดังกล่าวนำไปขึ้นเงินเมื่อวันที่ 6 มี.ค.2556 ตามรายการเดินบัญชีเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 4.9/21
และได้ความจาก นางสาว ณ. พยานโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารผู้ตรวจสอบบัญชีเงินฝากของนายจิรเดช ในทำนองเดียวกันว่า ตามรายการเดินบัญชีและใบรับฝากเงินเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 4.11/10 และ 411/9 บัญชีเลขที่ 0950154245 ของนายจิรเดช มีรายการรับโอนเงิน 100,000,000 บาท
นายจิรเดชนำเช็คเลขที่ 207918 ลงวันที่ 22 ก.พ.2566 ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด มาขึ้นเงินเมื่อวันที่ 6 มี.ค.2556 ตามสำเนาเช็ค เอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 4.11/8 แล้วนายจิรเดช โอนเงินไปยังบัญชีเลขที่ 0520081803 ชื่อบัญชีจำเลย จำนวน 15,000,000 บาท ในวันเดียวกัน ตามรายการเดินบัญชี ใบถอนเงิน และใบรับฝากเงินเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 4.11/10 ,4.11/7 และ 4.11/6 ตามลำดับ
รวมทั้งได้ความจาก นาย ส. เจ้าหน้าที่ธนาคารผู้ตรวจสอบบัญชีธนาคารของจำเลย พยานโจทก์ว่า พยานตรวจสอบบัญชีเลขที่ 0520081803 ชื่อบัญชีจำเลย พบว่า มีการโอนเงินเข้าบัญชีจำเลย จำนวน 15,000,000 บาท เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2556 และ 2,000,000 บาท เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2556
โดยพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท. ป. เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่ ส่วนพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ธนาคาร ก็ไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียในคดีหรือมีความเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายใด จึงน่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริงที่เกิดขึ้น และข้อเท็จจริงเป็นไปตามเอกสารที่พยานทำการตรวจสอบ
@จูงใจหาเงินฝากให้‘สหกรณ์ฯมงคลเศรษฐี ’รับ‘ค่านายหน้า’ 3%
ทั้งจำเลยนำสืบรับว่า ได้รับโอนเงินจำนวนดังกล่าวจากนายจิรเดชจริง ซึ่งได้ความจากนายจิรเดช วรเพียรกุล พยานโจทก์ว่า ช่วงปี 2551 ถึง 2556 พยานทำหน้าที่ประสานหาเงินฝากให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด โดย นายศุภชัย จำชื่อสกุลไม่ได้ เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด
หากมีผู้ใดหรือสหกรณ์ใดนำเงินมาฝาก นายศุภชัย จะให้ค่าประสานงานเป็นค่านายหน้าตอบแทน 3 เปอร์เซ็นต์ โดยแบ่งให้เจ้าของเงินฝาก 1.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 1.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นของพยานกับจำเลย ซึ่งเป็นผู้ประสานแนะนำผู้นำเงินมาฝากที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด
พยาน เป็นผู้รับเช็คของสหกรณ์เครดิตมงคลเศรษฐี จำกัด ลงวันที่ 22 ก.พ.2556 จำนวนเงิน 100,000,000 บาท และนำเงินเข้าบัญชีของพยาน เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2556 ตามสำเนาเช็ค เอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 49/20
เพราะพยานได้รับความเชื่อถือจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด ให้เป็นคนกลาง โอนค่านายหน้าให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด นำเงินมาฝากที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด จำนวน 200,000,000 บาท
หลังจากพยานได้รับเงิน จำนวน 100,000,000 บาท แล้ว ในวันเดียวกันพยานโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลย จำนวน 15,000,000 บาท เป็นค่านายหน้าตอบแทนในการนำเงินมาฝาก และจำนวน 2,000,000 บาท เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2556
โดยไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ปากนี้เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย และจำเลยก็เบิกความรับว่า ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับนายจิรเดช ทั้งคำเบิกความดังกล่าวอาจส่งผลกระทบเป็นผลร้ายต่อตัวพยานเองได้ จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่านายจิรเดชจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำให้จำเลยต้องรับโทษทางอาญา น่าเชื่อว่าพยานเบิกความไปตามความจริงที่เกิดขึ้น มีน้ำหนักให้รับฟัง
แม้ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร พยานโจทก์ จะเบิกความอ้างว่า พยานสั่งจ่ายเงินจำนวน 100,000,000 บาท ให้นายจิรเดช เพราะขณะนั้นนายจิรเดช ประกอบธุรกิจบริษัท ยูแอร์ไลน์ จำกัด และกู้เงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด นายจิรเดช เป็นสมาชิกสมทบ จึงมีสิทธิกู้ยืมเงินได้ นายจิรเดช เป็นนายหน้าของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ไม่ได้เป็นนายหน้าของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด
แต่ก็ได้ความจาก นางสาว ธ. พยานโจทก์ว่า เมื่อปี 2556 นายศุภชัย ให้พยานจัดทำสัญญากู้ระหว่าง บริษัท ยูแอร์ไลน์ จำกัด กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด จำนวน 200,000,000 บาท และหนังสือเชิญชวนให้สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ฝากเงิน เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2556
ภายหลังจากมีเงินจำนวน 200,000,000 บาท ของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด โอนเข้ามายังสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด แล้ว ในวันเดียวกัน มีการสั่งจ่ายเช็คให้นายจิรเดช จำนวน 100,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 4.1/83 โดยบริษัทยูแอร์ไลน์ จำกัด ผู้กู้ แจ้งให้จ่ายเงิน 100,000,000 บาท แก่นายจิรเดช แต่นายจิรเดช ไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญากู้
จากการตรวจสอบภายหลัง พบว่าการให้บริษัท ยูแอร์ไลน์ จำกัด กู้ยืมเงิน และการจ่ายเงินให้นายจิรเดชไม่ผ่านมติที่ประชุมของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ผู้ตรวจบัญชีของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดวัดได้แจ้งให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด ดำเนินการแก้ไข
และได้ความจากนาย ท. พยานโจทก์เช่นเดียวกันว่า เมื่อปี 2556 พยานเป็นคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย จำกัด เคยนำเงิน 200,000,000 บาท มาฝากที่สหกรณ์เครดิตมงคลเศรษฐี จำกัด โดยการรับฝากเงินจำนวนดังกล่าว ไม่มีการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ และไม่ผ่านมติคณะกรรมการดำเนินการแต่อย่างใด
รวมทั้งการปล่อยเงินกู้ จำนวน 200,000,000 บาท ก็ไม่ผ่านมติคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด จึงส่อเป็นข้อพิรุธถึงข้อกล่าวอ้างเรื่องการให้กู้ยืมเงิน ทั้งนายศุภชัยเอง ก็เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการของทั้งสองสหกรณ์ดังกล่าว
ดังนั้น กรณีจึงมีความเป็นไปได้ที่นายจิรเดชจะกระทำการเป็นนายหน้าติดต่อให้สหกรณ์แห่งอื่น มาทำธุรกรรมกับสหกรณ์ทั้งสองแห่ง ที่พยานเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการ
@รับเงิน 15 ล. โยงอนุมัตินำเงิน‘สอ.จฬ.’ไปฝาก'มงคลเศรษฐี'
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาบัญชีเงินฝากของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด ก่อนได้รับเงินฝากจำนวน 200,000,000 บาท จากสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด พบว่า มีเงินคงเหลือในบัญชีเพียง 56,492,077.02 บาท ตามรายการเดินบัญชี เอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 49/23
หลังจากได้รับเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด แล้ว มีการโอนเงินต่อไปยังบัญชีของนายจิรเดช จำนวน 100,000,000 บาท ในวันเดียวกัน ซึ่งขณะนั้นบัญชีของนายจิรเดช มีเงินคงเหลือเพียง 1,740.93 บาท ตามรายการเดินบัญชี เอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 4.11/10 และนายจิรเดชโอนเงินต่อไปให้จำเลยในวันเดียวกัน 15,000,000 บาท
ส่อแสดงให้เห็นว่า เงินที่จำเลยได้รับนั้น มีความเชื่อมโยงมาจากเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ที่นำมาฝากกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด จริง
จึงเชื่อว่าเงินที่จำเลยได้รับจากนายจิรเดชดังกล่าวนั้น เป็นเงินค่านายหน้าตอบแทนจากการที่สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด นำเงินจำนวน 200,000,000 บาท มาฝากกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2556 ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 1063/2556 ของคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 53 ซึ่งมีจำเลยเป็นประธาน
เช่นนี้ เมื่อขณะเกิดเหตุ จำเลยเป็นคณะกรรมการดำเนินการ มีอำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด เอกสารหมาย จ.18 ข้อที่ 42 วรรคสาม ในการดูแลควบคุมการดำเนินงานโดยทั่วไปของสหกรณ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และดำเนินการอื่นๆตามที่ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งต่างๆ ของสหกรณ์
ทั้งประธานคณะกรรมการดำเนินการ ยังถือเป็นคณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสหกรณ์ และตามมติที่ประชุมใหญ่ กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความเจริญแก่สหกรณ์ทุกประการ ตามข้อบังคับข้อ 47 ซึ่งรวมทั้ง (13) พิจารณาจัดการฝากหรือลงทุนเงินของสหกรณ์ตามข้อ 67
และ (16) ดูแลการรับจ่ายเงินและการเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ ตลอดจนเงินสดของสหกรณ์ให้ถูกต้อง และข้อบังคับข้อ 67 เงินของสหกรณ์นั้น สหกรณ์อาจฝากหรือลงทุนได้ ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุของสหกรณ์ และภายใต้กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ โดยให้คำนึงถึงความมั่นคงและประโยชน์สูงสุดที่สหกรณ์หรือสมาชิกจะได้รับ
จำเลย จึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ผู้เสียหาย และถือเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน
แม้จะได้ความจาก นาง ร. พยานโจทก์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อและการลงทุนของ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ขณะเกิดเหตุ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จากการวิเคราะห์ความมั่นคงการให้สินเชื่อแก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด พบว่า มีความสามารถในการชำระในการชำระหนี้ก็ตาม
แต่นาง ร. ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านต่อไปด้วยว่า เมื่อพยานวิเคราะห์สินเชื่อและการลงทุนเสร็จ ก็ส่งให้คณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการจะมีมติอนุมัติตามที่พยานเสนอหรือไม่ก็ได้ คณะกรรมการดำเนินการจะนำผลการวิเคราะห์ไปประกอบการพิจารณาเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องถือตามที่พยานวิเคราะห์ และการตัดสินใจขึ้นอยู่กับคณะกรรมการดำเนินการ
ดังนั้น จำเลย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการ และถือเป็นคณะกรรมการดำเนินการผู้มีสิทธิออกเสียงลงมติ ยังคงเป็นผู้มีสิทธิใช้ดุลพินิจพิจารณาเรื่องการอนุมัติให้เงินฝากแก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด โดยการฝากหรือการลงทุนเงินของสหกรณ์นั้น จำเลย มีหน้าที่ต้องกระทำการ โดยคำนึงถึงความมั่นคงและประโยชน์สูงสุดที่สหกรณ์หรือสมาชิกจะได้รับ ตามข้อบังคับข้อ 67 ของสหกรณ์
แต่พฤติการณ์ที่จำเลย มีส่วนได้รับเงินค่านายหน้าตอบแทน จากการนำเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ไปฝากยังสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด บ่งชี้ให้เห็นได้ว่าการใช้ดุลพินิจ พิจารณามีมติอนุมัติให้นำเงินไปฝากดังกล่าวของจำเลย มีมูลเหตุจูงใจถึงผลประโยชน์ที่จำเลยอาจจะได้รับเข้ามาเกี่ยวข้อง
อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อผลประโยชน์ของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด อย่างร้ายแรง เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ และผิดต่อหน้าที่ของตนโดยทุจริตซึ่งจะต้องกระทำโดยคำนึงถึงความมั่นคงและประโยชน์สูงสุดที่สหกรณ์หรือสมาชิกจะได้รับ
อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด เนื่องจากปรากฏว่า ต่อมาสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ไม่ได้รับชำระเงินคืนและต้องดำเนินคดีกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด
@พิพากษาจำคุกจำเลย 5 ปี ผิดฐานยักยอกทรัพย์
ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า นายจิรเดช ว่าจ้างให้จำเลยทำโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามและโรงพยาบาลที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายจิรเดช เคยโอนเงินให้จำเลยเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยดังกล่าว ตามเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เอกสารหมาย ล.24 ถึง ล.31 คงมีเพียงตัวจำเลยเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ
ทั้งได้ความจาก พ.ต.ท. ป. ว่า พยานเคยตรวจสอบการอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน แต่ไม่ปรากฏว่ามีสถาบันอุดมศึกษาอิสลามที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดนครศรีธรรมราชช่วงปี 2551 ถึง 2556 ตามหนังสือเรื่องตรวจสอบการอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 4.9/6
อีกทั้งหากเป็นเงินที่นายจิรเดชโอนให้จำเลย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย ก็ไม่มีเหตุผลสมควรประการใด ที่นายจิรเดช ต้องเบิกความบ่ายเบี่ยงว่า เป็นเงินค่านายหน้าตอบแทนจากการนำเงินไปฝาก
และไม่ปรากฏว่าภายหลังจากเลิกโครงการ นายจิรเดชกับจำเลย เคยมีการเรียกร้องเงินคืนหรือค่าเสียหายจากการยกเลิกโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นเงินจำนวนมาก ข้อกล่าวอ้างของจำเลย จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมา
เมื่อรับฟังประกอบกันแล้ว มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของสหกรณ์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ตามฟ้องข้อ 2.1 ….
“พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 (เดิม) ประกอบมาตรา 354 (เดิม) ตามฟ้องข้อ 2.1 จำคุก 5 ปี ยกฟ้องโจทก์ ข้อ 2.2 ถึง 2.6 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” คำพิพากษาศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) คดีหมายเลขดำที่ อ 600/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อ 3052/2567 ลงวันที่ 26 ก.ย.2567 ระบุ
อนึ่ง เนื่องจากคดียังไม่ถึงที่สุด จำเลยจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และคดีนี้จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว
อ่านประกอบ :
‘ศาลอาญา’พิพากษาจำคุก‘อดีตประธาน สอ.จฬ.’ 5 ปี ยักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ เสียหาย 1.4 พันล้าน
ศาลฯนัดสืบ‘พยานจำเลย’คดียักยอกทรัพย์‘สอ.จฬ.’1.4 พันล.16 ก.ค.-สมาชิกฯเกาะติด 5 คดีสำคัญ
'อัยการ'ยื่นฟ้องแล้ว! คดี'อดีตปธ.สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ'ยักยอกทรัพย์ฯ เสียหาย 1.4 พันล้าน
‘อัยการ’ ยันส่งฟ้องคดียักยอกทรัพย์ฯ ‘สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ’ 1.4 พันล้าน ทัน 7 มี.ค.นี้
DSI ส่งสำนวนฟ้องคดียักยอกทรัพย์ สหกรณ์จุฬาฯ เสียหาย 1.4 พันล้าน
เลือกตั้งกรรมการ‘สอ.จฬ.’ชุดใหม่ ส่อวุ่น! สมาชิกฯค้านโหวต 4 รายชื่อ เหตุมีลักษณะต้องห้าม
สั่งคณะกรรมการ‘สอ.จฬ.’แก้ไขบกพร่อง หลังใช้เงินลงทุนเกินกรอบที่ได้รับอนุมัติเกือบ 5 พันล.
ฉบับเต็ม! เปิดคำสั่ง ‘นายทะเบียนสหกรณ์’ ให้ 5 กรรมการ ‘สอ.จฬ.’ หยุดปฏิบัติหน้าที่
'รองนายทะเบียนสหกรณ์' สั่งยับยั้ง'มติบอร์ด สอ.จฬ.' ระดมเงิน 3 พันล.ซื้อ'ตึกยูทาวเวอร์'
ร้อง‘นายทะเบียน’เร่งรัดสอบคุณสมบัติกก.‘สอ.จฬ.’-ท้วงซื้อตึกยูทาวเวอร์ 3.5 พันล.ส่อขัดกม.
ประเสริฐ บุญสมบูรณ์สกุล : แจงปมร้อน ‘สอ.จฬ.’ ระดมเงินฝาก ซื้อ ‘ที่ดิน-ตึกยูทาวเวอร์’
'สอ.จฬ.'โชว์ราคาประเมินตึกยูทาวเวอร์พุ่ง 3.5 พันล.-บอร์ดฯรับลูกสอบ'ลักษณะต้องห้าม'กก.
เปิดบันทึก‘นายทะเบียน’ ชี้ ปธ.-4 กรรมการ‘สอ.จฬ.’พ้นตำแหน่ง ก่อนเคาะซื้อตึกยูทาวเวอร์
ร้อง'นายทะเบียน' ลงโทษกก.'สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ' ปมอนุมัติซื้อตึกยูทาวเวอร์ 2.5 พันล.