เผย ‘อัยการ’ ทำคำฟ้องคดีทุจริตยักยอกทรัพย์ ‘สอ.จฬ.’ 1.4 พันล้านบาท เสร็จแล้ว รอส่งฟ้องศาลฯ ยันส่งฟ้องทัน 7 มี.ค.66 แน่นอน ขณะที่ ‘อัยการเจ้าของคดี’ นัด ‘ดีเอสไอ’ หารือ 3 มี.ค.นี้
.........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ส่งสำนวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 40/2564 กรณีทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (สอ.จฬ.) จำนวน 1 ราย ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และ 354 มูลค่าความเสียหายประมาณ 1,400 ล้านบาท ไปให้สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาตามกฎหมายต่อไป นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ล่าสุด (2 มี.ค.) มีรายงานว่าในวันที่ 3 มี.ค.นี้ พนักงานอัยการเจ้าของคดี สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้นัดหารือกับทีมสอบสวนของ DSI เข้าหารือเกี่ยวกับคดีพิเศษที่ 40/2564 หลังจากก่อนหน้านี้ทางอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ได้ให้ความเห็นต่อสำนวนในคดีนี้ไปแล้ว โดยขั้นตอนหลังจากนั้นจะมีการออกหมายเรียกจำเลยต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับคดีพิเศษที่ 40/2564 กรณีทุจริตใน สอ.จฬ. ซึ่งมูลค่าความเสียหาย 1,400 ล้านบาท นั้น คดีจะหมดอายุความในวันที่ 7 มี.ค.2566
แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า คดีพิเศษที่ 40/2564 กรณีการทุจริตใน สอ.จฬ. ที่ทางดีเอสไอได้ส่งสำนวนมาให้อัยการนั้น ขณะนี้อัยการทำคำฟ้องทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างรอฟ้อง ซึ่งคดีนี้จะหมดอายุความในวันที่ 7 มี.ค.2566 เนื่องจากกฎหมายเขียนไว้ว่าหากวันสุดท้ายเป็นวันหยุดสามารถฟ้องในวันรุ่งขึ้นได้ จึงขอยืนยันว่าคดีนี้ส่งฟ้องศาลฯได้ทันแน่นอน ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไร ไม่สามารถเปิดเผยได้
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา ตัวแทนสมาชิก สอ.จฬ. ในนามกลุ่มสมาชิกสอดส่องสหกรณ์ฯ ได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด โดยขอให้อัยการสูงสุดกำกับดูแลคดีเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ซึ่งมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งฟ้องของอัยการคดีพิเศษ โดยเฉพาะคดีพิเศษที่ 40/2564 ที่กำลังจะขาดอายุความในวันที่ 6 มี.ค.2566
“ข้าพเจ้าขออนุญาตเรียนว่า การที่ผู้ต้องหาทั้งสอง ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหาร สอ.จฬ. ทำธุรกรรมที่ไม่ชอบมาพากลกับสหกรณ์อื่น 3 แห่ง ดังกล่าวข้างต้น โดยการแก้ไขหลักเกณฑ์ให้เอื้อต่อการทำธุรกรรมดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ สอ.จฬ. และมวลสมาชิกประมาณ 11,500 คน เป็นอย่างยิ่ง ประการแรกคือ จำนวนเงินที่นำไปฝากและหรือให้กู้แก่สหกรณ์ทั้งสามเป็นจำนวนเงินสูงถึงประมาณ 2,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้ได้รับการผ่อนชำระคืนมาเพียงประมาณ 15% เท่ากับตั้งแต่ พ.ศ.2556 จนถึงปัจจุบัน สอ.จฬ. ขาดเงินทุนเป็นเงินจำนวนมากที่อาจนำไปบริหารให้เกิดประโยชน์
ประการที่สอง โดยระเบียบของกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์จำเป็นต้องทยอยตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากธุรกรรมดังกล่าว ตั้งแต่ พ.ศ.2559-ปัจจุบัน ซึ่งต้องนำมาหักออกจากรายได้ ทำให้ผลกำไรสุทธิแต่ละปีลดลง เป็นเหตุให้สมาชิกได้รับเงินปันผลลดลงจากภาวะปกติ 1-2% อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี
โดยเหตุที่ได้เรียนมาข้างต้น จึงใคร่ขอความกรุณาให้ท่านโปรดพิจารณากำกับดูแลคดีดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมและบรรเทาความเสียหายของสมาชิก สอ.จฬ. รวมทั้งมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้บริหารสหกรณ์น้อยใหญ่ทั่วประเทศในการใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายไปในทางมิชอบ ระบบสหกรณ์จึงจะเป็นประโยชน์ร่วมกันของมวลสมาชิกตามหลักการที่แท้จริง ขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้” หนังสือของตัวแทนกลุ่มสมาชิกสอดส่องสหกรณ์ฯ ลงวันที่ 20 ก.พ.2566 ระบุ
อ่านประกอบ :
DSI ส่งสำนวนฟ้องคดียักยอกทรัพย์ สหกรณ์จุฬาฯ เสียหาย 1.4 พันล้าน
เลือกตั้งกรรมการ‘สอ.จฬ.’ชุดใหม่ ส่อวุ่น! สมาชิกฯค้านโหวต 4 รายชื่อ เหตุมีลักษณะต้องห้าม
สั่งคณะกรรมการ‘สอ.จฬ.’แก้ไขบกพร่อง หลังใช้เงินลงทุนเกินกรอบที่ได้รับอนุมัติเกือบ 5 พันล.
ฉบับเต็ม! เปิดคำสั่ง ‘นายทะเบียนสหกรณ์’ ให้ 5 กรรมการ ‘สอ.จฬ.’ หยุดปฏิบัติหน้าที่
'รองนายทะเบียนสหกรณ์' สั่งยับยั้ง'มติบอร์ด สอ.จฬ.' ระดมเงิน 3 พันล.ซื้อ'ตึกยูทาวเวอร์'
ร้อง‘นายทะเบียน’เร่งรัดสอบคุณสมบัติกก.‘สอ.จฬ.’-ท้วงซื้อตึกยูทาวเวอร์ 3.5 พันล.ส่อขัดกม.
ประเสริฐ บุญสมบูรณ์สกุล : แจงปมร้อน ‘สอ.จฬ.’ ระดมเงินฝาก ซื้อ ‘ที่ดิน-ตึกยูทาวเวอร์’
'สอ.จฬ.'โชว์ราคาประเมินตึกยูทาวเวอร์พุ่ง 3.5 พันล.-บอร์ดฯรับลูกสอบ'ลักษณะต้องห้าม'กก.
เปิดบันทึก‘นายทะเบียน’ ชี้ ปธ.-4 กรรมการ‘สอ.จฬ.’พ้นตำแหน่ง ก่อนเคาะซื้อตึกยูทาวเวอร์
ร้อง'นายทะเบียน' ลงโทษกก.'สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ' ปมอนุมัติซื้อตึกยูทาวเวอร์ 2.5 พันล.