ศาลฯนัดสืบ ‘พยานจำเลย’ คดียักยอกทรัพย์ฯ ‘สอ.จฬ.’ 1.4 พันล้าน 16-17 ก.ค.นี้ ขณะที่ ‘สมาชิก’ ทำหนังสือถึง ‘ปธ.-กรรมการ สอ.จฬ.’ ใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบในการดำเนินคดี 5 คดีสำคัญ
....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2566 พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายบัญชา ชลาภิรมย์ อดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (สอ.จฬ.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานยักยอก, เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นกระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้ สอ.จฬ. ได้รับความเสียหายประมาณ 1,446 ล้านบาท โดยศาลอาญารับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.600/2566 นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลฯได้สืบพยานโจทก์ปากสุดท้าย คือ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่รับผิดชอบคดีตั้งแต่รับเป็นคดีพิเศษจนถึงสั่งฟ้อง หลังจากก่อนหน้านี้ได้สืบพยานฝ่ายโจทก์ไปแล้วประมาณ 10 ปาก เช่น อดีตหัวหน้าฝ่ายนิติกร สอ.จฬ. ,อดีตหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อและการลงทุน และผู้ประเมินหลักทรัพย์ เป็นต้น โดยในวันที่ 16-17 ก.ค.2567 ศาลฯมีกำหนดสืบพยานฝ่ายจำเลย ก่อนจะมีคำสั่งต่อไป
สำหรับคดีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา ได้ส่งสำนวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 40/2564 กรณีทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด จำนวน 1 ราย ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และ 354 โดยจากการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่า ผู้ต้องหา (นายบัญชา ชลาภิรมย์) ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหาร สอ.จฬ. ชุดที่ 53
ได้มีการอนุมัตินำเงินไปฝาก/ให้กู้แก่ 3 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนียนมงคลเศรษฐี จำกัด ,สหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ จำกัด และสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด ซึ่งผู้ต้องหาได้กระทำ โดยอาศัยที่ตนมีอำนาจหน้าที่ โดยการครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352
และยักยอกทรัพย์สินที่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 และได้กระทำในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 354 ด้วย มูลค่าความเสียหายกว่า 1,400 ล้านบาท
ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ ได้ส่งสำนวนคดีพิเศษพร้อมตัวผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2566 และต่อมาวันที่ 3 มี.ค.2566 พนักงานอัยการ ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลอาญา ซึ่งศาลอาญา รับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.600/2566 ทั้งนี้ จำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ และมีสิทธิ์ต่อสู้คดีตามกฎหมายต่อไป (อ่านประกอบ : 'อัยการ'ยื่นฟ้องแล้ว! คดี'อดีตปธ.สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ'ยักยอกทรัพย์ฯ เสียหาย 1.4 พันล้าน)
รายงานข่าวแจ้งว่า จากรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของ สอ.จฬ. สำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2566 พบว่า สอ.จฬ. ได้ตั้งค่าเผื่อเงินฝากสงสัยจะสูญ กรณีสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ จำกัด (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) เต็มจำนวน 955.1 ล้านบาท โดยค่าเผื่อฯดังกล่าว คำนวนจากยอดหนี้ตามคำพิพากษา 1,063.15 ล้านบาท หักด้วยหลักทรัพย์ที่นำมาจำนองเฉพาะที่ดิน 2 แปลง มูลค่าคงเหลือจากขายทอดตลาด 108.04 ล้านบาท
ส่วนลูกหนี้เงินให้กู้และเงินฝาก รายสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด ซึ่ง สอ.จฬ. ได้ฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.2712/2565 ทุนทรัพย์ที่ฟ้อง 1,291.27 ล้านบาท นั้น ศาลล้มละลายกลางได้มีคำพิพากษาตามหมายเลขคดีแดงที่ พก58/2566 ลงวันที่ 27 ก.ย.2566 ให้สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นฯ ชำระเงินต้นจำนวน 963.54 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 3% ต่อปีให้ สอ.จฬ. ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 มียอดคงเหลือ 1,012.75 ล้านบาท และตั้งค่าเผื่อฯแล้ว 77.83 ล้านบาท
นอกจากนี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด มียอดหนี้คงค้างกับ สอ.จฬ. เป็นเงิน 934.92 ล้านบาท โดยหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้มีหลักประกัน โดย สอ.จฬ. ได้ให้บริษัทเอกชนประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่จำนองเป็นหลักประกัน ณ วันที่ 10 พ.ย.2560 มีมูลค่า 2,074.4 ล้านบาท และเนื่องจากหลักทรัพย์จำนองสามารถนำร้อยละ 70 ของหลักทรัพย์มาหักต้นเงินและดอกเบี้ยคงค้างได้ ทำให้ สอ.จฬ.ไม่ต้องตั้งค่าเผื่อฯในส่วนนี้
อย่างไรก็ตาม จากรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของ สอ.จฬ. ดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกยอดหนี้คงค้างหรือค่าเผื่อฯ รายสหกรณ์เครดิตยูเนียนมงคลเศรษฐี จำกัด แต่อย่างใด
@สมาชิกฯเกาะติด 5 คดีสำคัญ
ขณะที่ สมาชิก สอ.จฬ. รายหนึ่งได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการและคณะกรรมการดำเนินการ สอ.จฬ. ลงวันที่ 23 พ.ค.2567 โดยเรียกร้องให้ประธานและคณะกรรมการ สอ.จฬ.ชุดใหม่ ศึกษาและใช้วิจารณญาณอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับการดำเนินคดีต่างๆของ สอ.จฬ. รวม 5 คดี ทั้งการอุทธรณ์คดี การของบังคับขายทอดตลอดทรัพย์จำนอง ตลอดจนการประนีประนอมยอมความ
“เนื่องด้วยในขณะนี้ คดีความต่างๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สอ.จฬ.) และสหกรณ์อื่น ในระหว่าง พ.ศ.2551-2556 อยู่ในช่วงเสร็จสิ้นการพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือใกล้เสร็จสิ้น ซึ่งเท่าที่กลุ่มสมาชิกสอดส่องสหกรณ์ฯ ทราบข้อมูล มีดังนี้
1.คดีแพ่ง สอ.จฬ.-โจทก์ สหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ (สค.นพเก้า)-จำเลย เป็นการฟ้องร้องเรียกหนี้ค้างชำระ โจทก์ คือ สอ.จฬ. ชนะคดี ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด น่าสังเกตว่า บริษัทเอกชนประเมินราคาทรัพย์จำนอง คือ ที่ดินที่จังหวัดมหาสารคามในขณะทำธุรกรรมทางการเงินใน พ.ศ.2556 ประมาณ 1,800 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในการนำทรัพย์จำนองมาขายทอดตลาด สำนักงานบังคับคดีมหาสารคาม ตั้งราคาขายประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งในปลายปี 2566 ประกาศขายทอดตลาดรอบที่หนึ่ง 6 ครั้ง ราคาแต่ละครั้งลดลงตามระเบียบของกรมบังคับคดี จนถึงครั้งที่ 6 ราคาลดลงเหลือ 70% ก็ยังขายได้เพียง 2 แปลงเล็ก ได้รับเงินประมาณ 2 ล้านบาท ส่วนที่ดินแปลงใหญ่ไม่มีผู้สู้ราคา
อนึ่ง เมื่อต้นปี 2567 ผู้ชำระบัญชีของ สค.นพเก้า แจ้ง สอ.จฬ. ว่า มีผู้สนใจซื้อทรัพย์จำนองดังกล่าว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
2.คดีแพ่ง สอ.จฬ.-โจทก์ อดีตกรรมการ 21 คน-จำเลย กรณีทำธุรกรรมเงินฝากกับสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ โดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์เสียหาย อยู่ในขั้นตอนที่ศาลแพ่งจะสืบพยานในส่วนจำเลยที่ 11 อีกครั้ง ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ รวมทั้งสืบพยานในส่วนจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของศาลแพ่ง ในเดือนมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นศาลชั้นต้นจะอ่านคำพิพากษาคดีนี้
3.คดีแพ่งในศาลล้มละลายกลาง สอ.จฬ.-โจทก์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น(สค.จ)-จำเลย เป็นการฟ้องร้องเรียกหนี้ค้างชำระ โจทก็คือ สอ.จฬ. ชนะคดี ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด น่าสังเกตว่า ในขณะทำธุรกรรมทางการเงินกับ สค.จ ใน พ.ศ.2553 กรรมการดำเนินการ ของ สอ.จฬ. เป็นผู้ประเมินราคาทรัพย์จำนอง (ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง รวมอาคารหลัก คือ ยูทาวเวอร์) ประมาณ 1,400 ล้านบาท
และ สอ.จฟ. ได้ใช้ราคาประเมินนี้ในการเพิ่มเงินกู้และเงินฝากให้ สค.จ เต็มจำนวน ใน พ.ศ.2556 อย่างไรก็ตาม ราคาประเมิน โดยสำนักงานบังคับคดี กรุงเทพมหานคร ใน พ.ศ 2567 สำหรับการเตรียมขายทรัพย์จำนองดังกล่าว ได้ราคาเพียง 900 ล้านบาทเศษ
4.คดีแพ่ง สอ.จฬ.-โจทก์ ชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทย (ชส.ธนกิจ)-จำเลย เป็นการฟ้องร้องเพื่อเรียกคืนหนี้ค้างชำระ สอ.จฬ. ชนะคดีและได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอยึดทรัพย์ของลูกหนี้ของ ชส.ธนกิจ ศาลยกคำร้อง สอ.จฬ. จึงเปลี่ยนเป็นการยื่นคำร้องต่อศาล ขออายัดสิทธิเรียกร้องของ ชส.ธนกิจ ในการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้จากบุคคลภายนอก ซึ่งศาลนัดฟังคำสั่งในเดือนกรกฎาคม 2567
5.คดีอาญา อัยการ-โจทก์ อดีตประธานกรรมการ สอ.จฬ. ในช่วง พ.ศ.2556 -จำเลย เป็นคดีที่พนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เสนอสำนวนให้อัยการยื่นฟ้องจำเลย ในฐานความผิดยักยอกทรัพย์ ในกรณีการทำธุรกรรมทางการเงินกับสามสหกรณ์ คือ สค.นพเก้า สค.จ. และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี ในขณะนี้เสร็จสิ้นการเบิกความพยานโจทท์ ศาลจะกำหนดวันเบิกความจำเลยและพยานจำเลยต่อไป
ทั้งนี้ ท่านในฐานะประธานกรรมการและท่านอื่นๆ ในฐานะกรรมการดำเนินการย่อมทราบว่า การที่ยังไม่สามารถเรียกคืนเงินจากการทำธุรกรรมเหล่านี้ เป็นเหตุให้ สอ.จฬ.ต้องตั้งคำเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ในกรณี สค.นพเก้า เป็นจำนวนรวม 955 ล้านบาทเศษ ในกรณี ชส.ธนกิจ เป็นจำนวนรวม 347 ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ การค้างชำระหนี้ของ สค.จ ประมาณหนึ่งพันล้านบาท ก็อาจคำนวณได้ว่าทำให้ สอ.จฬ. ไม่สามารถคืนเงินกู้จำนวนดังกล่าวให้ธนาคาร ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารจนถึงปัจจุบัน เป็นเงินรวมประมาณ 220 ล้านบาท
ค่าเผื่อจะสูญและดอกเบี้ยดังกล่าว เฉพาะการทำธุรกรรมกับ 3 สหกรณ์นี้ ต้องทยอยตั้งเป็นค่าใช้จ่ายของแต่ละปี รวมทั้งสิ้นเป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับตัวเลขจำนวนนี้ไปเฉลี่ยลดทอนกำไรสุทธิของ สอ.จฬ. ในแต่ละปีอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่งผลกะทบให้เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนของสมาชิกลดต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (โดยสมมติฐานจากทุนเรือนหุ้นในปัจจุบัน - กำไรสุทธิ เพิ่ม/ลด 145 ล้านบาท = เงินปันผล เพิ่ม/ลด 1%)
โดยเหตุนี้ ...จึงใคร่ขอให้ทุกท่าน ซึ่งอาสารับเลือกตั้งเข้ามาเป็นคณะกรรมการดำเนินการชุดปัจจุบัน โปรดศึกษาคดีความดังกล่าวข้างต้นด้วยความเอาใจใส่ และใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบในการแสดงความคิดเห็นและการลงมติเพื่อดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับคดีความเหล่านี้ ด้วยอำนาจหน้าที่ของท่านตามข้อบังคับของ สอ.จฬ. ข้อที่ 47(17) ซึ่งรวมถึงการอุทธรณ์คดี การขอบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง
ตลอดจนการประนีประนอมยอมความ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งข้อบังคับและระเบียบของ สอ.จฬ. โดยพึงกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของ สอ.จฬ. และมวลสมาชิก มิใช่ผลประโยชน์ส่วนตนของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง” หนังสือฯระบุ
ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2566 สอ.จฬ. มีสมาชิก 15,592 ราย โดยสหกรณ์ฯแห่งนี้ มีสินทรัพย์รวม 35,760 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินลงทุน 25,005 ล้านบาท ,เงินให้กู้แก่สมาชิก 5,483 ล้านบาท และเงินให้สหกรณ์อื่นกู้ยืม 3,404 ล้านบาท เป็นต้น ส่วนหนี้สินมีจำนวน 17,727 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินรับฝากฯรวม 14,908 ล้านบาท และเงินเบิกเกินบัญชีจากธนาคารและเงินกู้ยืมระยะสั้น 2,710 ล้านบาท เป็นต้น โดยมีส่วนทุนของสหกรณ์ 18,003 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
'อัยการ'ยื่นฟ้องแล้ว! คดี'อดีตปธ.สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ'ยักยอกทรัพย์ฯ เสียหาย 1.4 พันล้าน
‘อัยการ’ ยันส่งฟ้องคดียักยอกทรัพย์ฯ ‘สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ’ 1.4 พันล้าน ทัน 7 มี.ค.นี้
DSI ส่งสำนวนฟ้องคดียักยอกทรัพย์ สหกรณ์จุฬาฯ เสียหาย 1.4 พันล้าน
เลือกตั้งกรรมการ‘สอ.จฬ.’ชุดใหม่ ส่อวุ่น! สมาชิกฯค้านโหวต 4 รายชื่อ เหตุมีลักษณะต้องห้าม
สั่งคณะกรรมการ‘สอ.จฬ.’แก้ไขบกพร่อง หลังใช้เงินลงทุนเกินกรอบที่ได้รับอนุมัติเกือบ 5 พันล.
ฉบับเต็ม! เปิดคำสั่ง ‘นายทะเบียนสหกรณ์’ ให้ 5 กรรมการ ‘สอ.จฬ.’ หยุดปฏิบัติหน้าที่
'รองนายทะเบียนสหกรณ์' สั่งยับยั้ง'มติบอร์ด สอ.จฬ.' ระดมเงิน 3 พันล.ซื้อ'ตึกยูทาวเวอร์'
ร้อง‘นายทะเบียน’เร่งรัดสอบคุณสมบัติกก.‘สอ.จฬ.’-ท้วงซื้อตึกยูทาวเวอร์ 3.5 พันล.ส่อขัดกม.
ประเสริฐ บุญสมบูรณ์สกุล : แจงปมร้อน ‘สอ.จฬ.’ ระดมเงินฝาก ซื้อ ‘ที่ดิน-ตึกยูทาวเวอร์’
'สอ.จฬ.'โชว์ราคาประเมินตึกยูทาวเวอร์พุ่ง 3.5 พันล.-บอร์ดฯรับลูกสอบ'ลักษณะต้องห้าม'กก.
เปิดบันทึก‘นายทะเบียน’ ชี้ ปธ.-4 กรรมการ‘สอ.จฬ.’พ้นตำแหน่ง ก่อนเคาะซื้อตึกยูทาวเวอร์
ร้อง'นายทะเบียน' ลงโทษกก.'สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ' ปมอนุมัติซื้อตึกยูทาวเวอร์ 2.5 พันล.