ส่งแชร์ต่อเพียบหนังสือดีเอสไอ ตอบศาลอาญา กรณีขอหลักฐานสอบคดี GGC ขายน้ำมัน B100 PTTOR แต่ให้ได้แค่สรุปข้อเท็จจริง เผยมีชี้พฤติกรรมผู้บริหารบริษัทเกี่ยวข้องเข้าข่ายกระทำความผิดซ้ำๆ เป็นปกติธุระ-รวมกรณีซื้อน้ำมันปาล์มดิบอินโดฯ ด้วย ขอเอกสารหลายหน่วยงานไม่ได้ ด้านอธิบดี ยุทธนา แพรดำ ยันยังไม่ได้สรุปสำนวนกล่าวหาใคร-แต่รับมีจนท.ไปเบิกความชั้นศาลแล้ว -คน ปตท. เชื่อผู้ร้องเรียน-ฟ้องศาล กลุ่มเดียวกัน ออกมาตรการป้องกันปัญหาซ้ำรอยอดีตแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ขณะนี้ได้มีผู้นำข้อมูลหนังสือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งตอบกลับศาลอาญา กรณีมีหมายเรียกพยานเอกสาร สรุปข้อเท็จจริง สรุปบันทึกถ้อยคำพยานบุคคล และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในเรื่องสืบสวนประเด็นที่บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาขบ) (GGC) ลดราคาขายน้ำมัน B100 ให้กับบริษัท ปตท น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) ในไตรมาสที่ 2/2566 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.1260/2567 ลงวันที่ 14 ส.ค.2567 มาส่งแชร่ต่อในโลกออนไลน์
อย่างไรก็ดี ดีเอสไอ ไม่ได้ส่งมอบข้อมูลเอกสารหลักฐานทั้งหมดให้ต่อศาล เนื่องจากอยู่การสืบสวนคดี การเปิดเผยข้อมูลตามที่มีหมายเรียกมาทั้งหมด อาจส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมาย แต่สามารถเปิดเผยเฉพาะสรุปข้อเท็จจริงได้เท่านั้น
@ ดีเอสไอ แจ้งศาลอาญา ให้ได้แค่ สรุปข้อเท็จจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือ ดีเอสไอ แจ้งตอบกลับศาลอาญา ที่มีการนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ระบุว่า ขณะนี้ สำนวนการสืบสวนคดีอยู่ระหว่างดำเนินการ การเปิดเผยข้อมูลตามที่มีหมายเรียกมาทั้งหมด อาจส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมาย อาศัยอำนาจตามคำสั่งกรมสอบสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 67/2562 เรื่อง มาตรการรักษาความลับข้อมูลในสำนวน ลงวันที่ 22 มกราคม 2566 คณะพนักงานสืบสวนได้พิจารณาแล้วจึงอนุญาตเปิดเผยเฉพาะสรุปข้อเท็จจริง ส่วนสรุปบันทึกถ้อยคำพยานบุคคล และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เห็นควรอนุญาตเปิดเผยเมื่อสำนวนการสืบสวนนี้เสร็จสิ้นแล้ว (ดูหนังสือประกอบ)
@ สรุปประเด็นซื้อน้ำมันปาล์มดิบอินโดฯ - ลดราคาขายน้ำมัน B100
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการเปิดเผยข้อมูล หนังสือ ดีเอสไอ แจ้งตอบกลับศาลอาญาดังกล่าวแล้ว ยังมีการนำเอกสารสรุปข้อเท็จจริง จำนวน 12 แผ่น ของดีเอสไอ ที่แจ้งตอบกลับศาลอาญา มาเปิดเผยด้วย
โดยมีสาระสำคัญว่า ดีเอสไอรับเรื่องกรณีร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหาร กรรมการ และผู้ที่เกี่ยวข้องของบริษัทในเครือ ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกันกระทำความผิดตามผิดดามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และประมวลกฎหมายอาญาเป็นเรื่องสืบสวนที่ 69/2566 ซึ่งจากการร้องทุกข์กล่าวหา พบประเด็นร้องเรียนที่สำคัญและอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน 2 กรณี คือ
1. กรณีเรื่องการซื้อน้ำมันปาล์มดิบในราคาที่สูงเกินกว่าราคาท้องตลอด และก่อให้เกิดความเสียหายต่อ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาขบ) (GGC)
2. กรณีเรื่อง บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) ลดราคาขายน้ำมัน B100 ให้กับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) ในราคา 3 บาท ต่อลิตร ไตรมาสที่ 2/2566
สำหรับกรณีการซื้อน้ำมันปาล์มดิบในราคาที่สูงเกินกว่าราคาท้องตลอด และก่อให้เกิดความเสียหายต่อ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาขบ) (GGC) นั้น ในเอกสารดีเอสไอ มีการสรุปประเด็นว่า คณะพนักงานสืบสวน มีเหตุอันควรเชื่อว่าการกระทำของผู้เกี่ยวข้อง มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด ในการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และความเสียหายจึงมีลักษณะกระทำความผิดซ้ำๆ เป็นปกติธุระ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามนัย มาตรา 3 (18) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากปรากฎพยานหลักฐานที่ชัดเจนตามผลการสอบข้อเท็จจริงและความเสียหายที่เกิดขึ้นของบริษัทไทยโอลีโอเคมี จำกัด ลงวันที่ 31 มีนาคม 2552 และรายงานเรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบ และการขายผลิตภัณฑ์ ในปี 2550 - มีนาคม 2552 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2552 และคำขอรับหนังสืออนุญาตการขนย้ายน้ำมันปาล์ม และประกาศกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
เมื่อข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ปรากฏตามพยานหลักฐานข้างต้น พนักงานสืบสวนจึงได้ทำหนังสือขอต้นฉบับเอกสารดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ และเอกสารที่เกี่ยวข้องที่มีการ กระทำความผิด ไปที่ PTT , PTTGC, GGC และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีหน่วยงานจัดเอกสารที่ร้องขอมาให้แต่อย่างใด
ดังนั้น พนักงานสืบสวน จึงเชื่อตามพยานหลักฐานและบันทึกถ้อยคำของพยาน อดีตผู้บริหารระดับสูง บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด ที่ปรากฎในสำนวนการสืบสวนปรากฏตามผลการสอบสวนฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2552 และรายงานเรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบ และการขายผลิตภัณฑ์ในปี 2550 - มีนาคม 2552 ฉบับลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2552 ที่มีการย้ายผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวออกจากตำแหน่งทันที ตามการเสนอของอดีตผู้บริหารระดับสูง บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) ซึ่งอยู่ในผลการสอบสวน ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2552
ส่วน กรณี บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) ลดราคาขายน้ำมัน B100 ให้กับบริษัท ปตท น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) ในราคา 3 บาท ต่อลิตร ไตรมาสที่ 2/2566 นั้น
มีการสรุปประเด็น ว่า จากข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบสวน มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้บริหารของบริษัท PTTOR มีการครอบงำบริษัท GGC โดยพยานหลักฐานเชื่อว่ามีการโทรศัพท์สั่งการให้ออกหนังสือลดราคาจริง ระหว่างผู้บริหาร PTTOR และผู้บริหาร GGC และไม่ได้เป็นการเจรจาการค้าโดยปกติทั่วไประหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และเชื่อว่าการขายโดยลคราคา 3 บาทต่อลิตร จากราคาประกาศของสำนักงานนโยบายบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงหลังงาน ทำให้บริษัท GGC ขายโดยขาดทุนเพราะได้วิเคราะห์ผลประกอบการจากงบกำไรขาดทุนของบริษัท GGC ว่าการทำธุรกิจขาย B100 ขาดทุนจริงเพราะลดราคาขาย B100 มีการร่วมกันกำหนดราคาขาย สมยอมราคา หรือ ฮั้วราคา โดยให้ บริษัท GGC ขายในราคาที่ขาดทุน เป็นการโอนกำไรของบริษัท GGC มายังบริษัท PTTOR ซึ่งทั้ง 2 บริษัท เป็นบริษัทในเครือของบริษัท ปตท. ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้บริษัท GGC ขาดทุนขั้นต้นในสายผลิตภัณฑ์ B100 ทันที เข้าข่ายการกระทำความผิดในลักษณะการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน หรือการถ่ายโอนกำไรระหว่างกันของบริษัทเครือ หรือ Transfer Pricing อันการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 281/2 มาตรา 309 และ มาตรา 311 และเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC)
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการสรุปข้อเท็จจริงทางคดีดังกล่าว ดีเอสไอ ยังระบุว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ของผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ได้แจ้งเรื่องให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ คู่ขนานกับการสืบสวนสอบสวนด้วย ประกอบกับความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานในความผิดฐานฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ 2542 จึงได้แจ้งให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยอีกทางหนึ่งด้วย
@ อธิบดี 'ยุทธนา' ยันยังไม่ได้สรุปสำนวน-แต่รับมีจนท.ไปเบิกความชั้นศาล
ขณะที่ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สำนักข่าวอิศราว่า เท่าที่ตรวจสอบกรณีเป็นผู้มาร้องดีเอสไอให้สืบสวนเรื่องการทุจริตการซื้อน้ำมันปาล์มดิบของบริษัทที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวน ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มีการส่งข้อมูลให้ ก.ล.ต. ขณะเดียวกันผู้เสียหายก็ไปฟ้องตรงที่ศาลอาญา ศาลก็เรียกผู้สืบสวนดีเอสไอ ไปเบิกความที่ศาลแล้ว
“กรณีนี้ผู้สืบสวนดีเอสไอ น่าจะมีการสรุปข้อมูลไป แต่ผมยังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียด ฟังข้อมูลคราวๆ แต่เจ้าตัวน่าจะไปเบิกความที่ศาลแล้ว”พันตำรวจตรี ยุทธนาระบุ
เมื่อถามว่า การสอบสวนคดีของดีเอสไอ จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่
พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ ตอบว่า ยังตอบไม่ได้ ต้องขอถามกองคดีความมั่นคงก่อน ขอตรวจสอบข้อมูลก่อน
เมื่อถามว่า ปัจจุบันมีการส่งแชร์ต่อข้อมูลว่า มีการสรุปสำนวนเชื่อว่าผู้บริหารระดับสูง ของ ปตท. และ (PTTOR) พัวพันทุจริตฟอกเงินและฉ้อโกงประชาชน
พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ ตอบว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่เป็นการสรุปสำนวนของดีเอสไอ อาจจะเป็นผู้สอบสวนไปให้ข้อมูลที่ศาลเรื่องการสอบสวน แต่ดีเอสไอยังไม่ได้มีการสรุปสำนวนการสอบสวนในคดีอาญา เป็นแค่ชั้นสืบสวน ยังไม่ใช่สำนวนการสอบสวนที่จะไปกล่าวหาใคร
@ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ
ด้าน ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ โฆษกดีเอสไอกล่าวถึงกรณีมีการแชร์ข้อความดังกล่าวว่า เป็น "ความจริงครึ่งเดียว" ข้อเท็จจริงคือ คดีดังกล่าวยังไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษ อยู่ระหว่างสืบสวน ซึ่งยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ ต้องนำเรียนอธิบดีก่อน และที่สำคัญ คือ เป็นเรื่องของตลาดทุน จึงค่อนข้างอ่อนไหว ทั้งนี้ จะแถลงรายละเอียดอย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังจากอธิบดีมอบหมาย
@ คน ปตท. เชื่อคนร้องเรียน ดีเอสไอ ฟ้องศาล กลุ่มเดียวกัน
ด้าน แหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัท ปตท. กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า กลุ่มบุคคลที่นำข้อมูลเรื่องนี้มาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียขณะนี้ น่าจะเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันกับที่ไปยื่นเรื่องเรียนต่อดีเอสไอ และยื่นฟ้องคดีต่อศาล โดยในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล น่าจะมีการขอใช้อำนาจศาล แจ้งไปยังดีเอสไอ เพื่อขอข้อมูลการสอบสวนในคดีนี้ทั้งหมด และนำมาเผยแพร่ต่อในโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างกระแสกดดันทางสังคมกับปตท.
แหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัท ปตท. ยังกล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บุคคลกลุ่มเดียวกันนี้เกี่ยวข้องกับกรณี “สต๊อกลม” ของ GGC มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท บางคดียังคงอยู่ในกระบวนการสอบสวนซึ่งดำเนินไปอย่างล่าช้าในหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่บางคดีศาลได้มีคำพิพากษาแล้วว่า อดีตผู้บริหารของ GGC และผู้ค้าร่วมกันกระทำความผิดในกรณีดังกล่าว
"นอกจากนี้ บุคคลกลุ่มดังกล่าวยังมีพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์จากการขายไบโอดีเซลให้กับกลุ่ม ปตท. ในราคาสูงกว่าปกติ ซึ่งกลุ่มผู้บริหาร ปตท. ได้ดำเนินมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวอีก เช่น การปฏิเสธการฮั้วประมูลไบโอดีเซล รวมถึงการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาคดีในกรณีสต๊อกลม " แหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัท ปตท. ระบุ
แหล่งข่าวรายนี้ ยังกล่าวอ้างว่า อย่างไรก็ตาม บุคคลกลุ่มซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ได้ดำเนินการตอบโต้ โดยมีการใช้ทนายความดำเนินการในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการเข้าซื้อหุ้นในกลุ่ม ปตท. จำนวน 100 หุ้น แม้ว่าจะไม่มีประวัติการลงทุนในตลาดหุ้นมาก่อน จากนั้นได้มีการยื่นข้อร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ โดยเน้นที่ผู้บริหาร ปตท. ที่มีบทบาทในการดำเนินมาตรการดังกล่าว ส่วนข้อร้องเรียนที่มีการยื่นเรื่องซึ่งอ้างสถานะการเป็นผู้ถือหุ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางแห่งได้ดำเนินการตรวจสอบแล้ว และไม่พบข้อบกพร่องหรือประเด็นที่มีมูลความผิดแต่อย่างใด
อ่านข่าวประกอบ :
- คุก‘อดีตผู้บริหาร’-ให้ชดใช้ค่าเสียหาย! GGCแจงความคืบหน้าคดี‘วัตถุดิบคงคลัง’หาย 2.1 พันล.
- ใครเป็นใคร! เปิดตัวกลุ่มเอกชน ก.ล.ต. กล่าวโทษร่วม'อดีตบิ๊ก GGC'ทุจริต 2.1 พันล.?
- ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตกก.-ผู้บริหาร GGC ทุจริต-พบเมียรองเลขาฯป.ป.ช.เกี่ยวข้อง