"...เจ้าหน้าที่ของ มทร.อีสาน หรือตัวแทนเป็นผู้นำเอกสารกระดาษเปล่ามาให้พยานบุคคลลงลายมือชื่อ พร้อมแนบบัตรประจำตัวประชาชน ก่อนโครงการเสร็จสิ้น 2 - 3 วัน ซึ่งพยานจำยอดเงินที่ได้รับไม่ได้ แต่ยืนยันว่ามีการจัดทำอาหารให้กับมหาวิทยาลัยจริง และมีการจัดอบรมในช่วงเดือนมกราคม 2565 จำนวน 8 วันเท่านั้น..."
กรณี กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ทำหนังสือแจ้งผลการดำเนินการทางวินัยกรณีตรวจสอบโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ปีงประมาณ 2564 งบประมาณจำนวน 407,229,545 บาท ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ให้นายกสภามหาวิทยาลัยฯ รับทราบ โดย อว. เห็นสมควรให้ยุติการสอบสวน เนื่องจากเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัยในการดำเนินงานโครงการฯ
หลังจากก่อนหน้านี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 จังหวัดนครราชสีมา ตรวจสอบพบว่า กรณีนี้มีข้อบกพร่องเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าทุจริต พร้อมส่งเรื่องให้ ปลัด อว. ในฐานะผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับบุคลาการในสังกัดมหาวิทยาลัยฯ จำนวน 15 ราย
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า ในการตรวจสอบดำเนินงานโครงการฯ นี้ ของ สตง. พบปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายค่าใช้ในการฝึกอบรมฯ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเท็จ ทำให้ราชการเสียหาย รวมวงเงินกว่า 30 ล้านบาทด้วย และมีการส่งเรื่องให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนกฏหมายแล้ว
- อว.หักล้างสตง.! แจ้งสภาฯ มทร.อีสาน ยุติสอบ 'อธิการฯ-พวก' ทำโครงการอบรมอาชีพเกษตรฯ (1)
- เปิดรายงาน อว.หักล้าง สตง.แจ้งยุติสอบวินัย 'อธิการฯมทร.อีสาน-พวก' ใช้งบโครงการอบรมอาชีพฯ (2)
- เบื้องลึก! สตง.สอบมทร.อีสาน ใช้งบ 407 ล.มีเบิกเงินอบรมเท็จเสียหาย 30 ล.- ส่ง ป.ป.ช.ด้วย (3)
- คำต่อคำ : อธิการฯ มทร.อีสาน แจงปมสตง.สอบใช้งบ 407 ล.จัดอบรมอาชีพ-ทำตามข้อบังคับทุกอย่าง (4)
- ข้อมูลลับ! ป.ป.ช.สอบ มทร.อีสานใช้งบ 407 ล. 2 สำนวน จัดอบรมเท็จ-แจกปัจจัยการผลิตส่อทุจริต (5)
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลผลการตรวจสอบของ สตง. ในส่วนการจัดอบรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีการตรวจสอบพบหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน จำนวนผู้เข้าอบรม วันเวลาอบรมสถานที่อบรมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการบางช่วงเวลาไม่ตรงตามความเป็นจริง ประกอบกับผู้ประกอบการอาหารและผู้เข้ารับการอบรมมีการยืนยันข้อมูลว่าลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารไม่ใช่ลายมือชื่อของตน เป็นเหตุให้ราชการเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 16,923,810 บาท มาเสนอไปแล้ว
ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลในส่วนของการจัดอบรมภาคเหนือ ซึ่ง สตง. พบว่ามีปัญหาในลักษณะเดียวกัน เป็นเหตุให้ราชการเสียหาย จำนวน 13,296,580 บาท
ปรากฏรายละเอียดดังต่อไปนี้
ตามรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ระบุว่า ภาคเหนือ มีการจัดโครงการฝึกอบรม จำนวน 6 ทักษะอาชีพ ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนพิษณุโลก อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 24 - 31 มกราคม 2565 และวันที่ 1 - 23 กุมภาพันธ์ 2565 รวม 30 วัน ผู้เข้าอบรม จำนวน 10,000 คน
มีค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมตามหลักฐานการจ่ายจำนวน 17,626,180 บาท ประกอบด้วย ค่าอาหารและอาหารว่างและค่าเครื่องดื่ม จำนวน 9,526,580 บาท ค่าสมนาคุณวิทยากร จำนวน 1,499,200 บาท ค่าอาหารและค่าที่พักแบบเหมาจ่ายให้กับผู้เข้าอบรมจำนวน 6,567,400 บาท
แต่จากการตรวจสอบปรากฏว่า เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของ มทร.อีสาน มีการขอใช้สถานที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนพิษณุโลก เพื่อดำเนินโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม เพียงจำนวน 8 วัน ในช่วงวันที่ 8 - 15 มกราคม 2565 และมีผู้เข้าอบรมวันละ 500 คน รวมทั้งสิ้น 4,000 คน (500x8)
ขณะที่ พยานบุคคล ให้ถ้อยคำสอดคล้องต้องกันว่า ตนเป็นผู้มีชื่อในใบสำคัญรับเงินค่าอาหารและอาหารว่างและเครื่องดื่ม และเป็นผู้ประกอบอาหารให้กับโครงการฯ โดยพยานบุคคลเป็นลูกจ้างพยานบุคคลอีกราย แต่ลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานการจ่ายดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของพยานรายนี้ ยกเว้นแบบฟอร์มขอเบิกค่าอาหารและเครื่องดื่มบางฉบับ
พยานบุคคลอีกราย ยืนยันว่ามีทั้งที่เป็นลายมือชื่อของตน และไม่ใช่ลายมือชื่อของตนอยู่ในฉบับเดียวกันหรือเอกสารชุดเดียวกัน
โดยเจ้าหน้าที่ของ มทร.อีสาน หรือตัวแทนเป็นผู้นำเอกสารกระดาษเปล่ามาให้พยานบุคคลลงลายมือชื่อ พร้อมแนบบัตรประจำตัวประชาชน ก่อนโครงการเสร็จสิ้น 2 - 3 วัน ซึ่งพยานจำยอดเงินที่ได้รับไม่ได้ แต่ยืนยันว่ามีการจัดทำอาหารให้กับมหาวิทยาลัยจริง และมีการจัดอบรมในช่วงเดือนมกราคม 2565 จำนวน 8 วันเท่านั้น แต่ไม่มีการจัดอบรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2565
ส่วนพยานบุคคล ในฐานะวิทยากรให้ถ้อยคำสอดคล้องต้องกันว่ามีการอบรมตามวันเวลา และสถานที่ที่ปรากฏในใบเสร็จรับเงินค่าสมนาคุณวิทยากรจริง ซึ่งเป็นการให้ถ้อยคำยืนยันว่าได้รับเงินค่าสมนาคุณของวิทยากร และไปเป็นวิทยากร ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนพิษณุโลก ในวันที่ไม่มีการอบรมจริง ซึ่งถ้อยคำของพยานบุคคลหลายรายดังกล่าวขัดแย้งกับหลักฐานการขอเดินทางไปราชการของพยานบุคคลที่มีการขออนุมัติเดินไปราชการเพื่อดำเนินโครงการอบรม ในช่วงวันที่ 10 - 19 มกราคม 2565 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนพิษณุโลก ซึ่งข้อมูลการขอเดินทางไปราชการดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการใช้สถานที่ของศูนย์ฯ จึงเชื่อว่ามีการอบรมในช่วงวันที่ 8 - 15 มกราคม 2565 เท่านั้น
ขณะที่จากการสุ่มสอบถามผู้เข้าอบรมภาคเหนือ มีผู้ให้ข้อมูล จำนวน 52 คน ว่า ตนเข้าเข้าอบรมโครงการ ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนพิษณุโลก จำนวนเพียง 1 วัน มีจำนวน 12 คน และตนไม่ได้เข้าร่วมอบรมและลายมือชื่อในเอกสารของตน มีจำนวน 40 คน
จากการพิเคราะห์พยานหลักฐานดังกล่าวมีน้ำหนักเพียงพอให้เชื่ออย่างสมเหตุสมผลว่า มหาวิทยาลัยฯ โดยเจ้าหน้าที่รายหนึ่ง ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ และผู้ยืมเงินของทางราชการ ได้จัดโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ภาคเหนือ ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนพิษณุโลก อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ 8 - 15 มกราคม 2565 รวม 8 วัน และสามารถประมาณค่าใช้จ่ายและจำนวนผู้เข้าอบรม ได้ตามหนังสือชี้แจงของศูนย์ฯ พยานบุคคล และพยานหลักฐานอื่นในสำนวน ว่า มีผู้เข้าร่วมอบรม จำนวน 4,000 คน มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เป็นค่าที่พักแบบเหมาจ่าย จำนวน 2,000,000 บาท ค่าอาหารและอาหารว่าง จำนวน 2,080,000 บาท คำสมนาคุณวิทยากร จำนวน 249,600 บาท รวมเป็นค่าใช้จ่ายสูงสุดที่สามารถเบิกจ่ายเงินกับทางราชการได้ จำนวน 4,329,600 บาท
การเจ้าหน้าที่ของ มทร.อีสาน ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการและผู้ยืมเงินของทางราชการ ได้จัดทำหรือนำหลักฐานการจ่ายที่มีการระบุ จำนวนผู้เข้าอบรม วันเวลาอบรม สถานที่อบรม และค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ระหว่างวันที่ 24 - 31 มกราคม 2565 และวันที่ 1 - 23 กุมภาพันธ์ 2565 รวม 30 วัน จำนวน 17,626,180 บาท ซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริง มาประกอบการส่งใช้เงินยืมของทางราชกร ประกอบกับผู้ประกอบอาหารและผู้เข้าอบรมก็มีการยืนยันว่าลายมือชื่อในเอกสารไม่ไช่ลายมือชื่อของตน
ดังนั้น พยานหลักฐานจึงน่าเชื่อว่า ในช่วงวันที่ 24 - 31 มกราคม 2565 และวันที่ 1 - 23 กุมภาพันธ์ 2565 มหาวิทยาลัยฯ ไม่มีการจัดอบรมจริง
ส่วนในช่วงวันที่ 8 - 15 มกราคม 2565 มีการดำเนินโครงการจัดอบรม ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนพิษณุโลกจริง แต่ผู้รับผิดชอบโครงการไม่นำส่งหลักฐานการจ่ายตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงมาส่งใช้เงินยืมตามระเบียบของทางราชการ
เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ (17,626,180 - 4,329,600) จำนวน 13,296,580 บาท (นับรวมความเสียหายในส่วนการจัดอบรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ๋านวน 16,923,810 บาท จะอยู่ที่ตัวเลข 30 ล้านบาท )
**********
ทั้งหมดนี้ เป็นรายละเอียดผลการตรวจสอบโครงการอบรมฯ เท็จ ในส่วนของภาคเหนือ ที่ สตง.ตรวจสอบพบ และส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. รับไปดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนแล้ว
อย่างไรดี ในการสอบสวนโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ปีงประมาณ 2564 ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานนอกจากข้อกล่าวหากรณีการเบิกจ่ายเงินค่าอาหาร ค่าสมนาคุณวิทยากร และค่าใช้จ่ายของผู้อบรมเป็นเท็จแล้ว
ยังมีกรณีกล่าวหาการแจกปัจจัยการผลิต เช่น ปุยอินทรีย์ ขี้ค้างคาว กากน้ำตาล ถังหมัก เป็นต้น ไม่ครบถ้วนถูกต้อง ณ ศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนเขต 8 ไม่มีการระบุรายการจำนวนปัจจัยที่แต่ละกลุ่มได้รับ ทำให้มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ารายการของที่ได้รับสนับสนุนไม่ถูกต้อง อันมีลักษณะเป็นการทุจริตอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง ขอเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย
หากมีข้อมูลเพิ่มเติม สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแลว้า การสอบสวนคดีนี้ ปัจจุบันคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ได้มีการสรุปผลชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ผู้เกี่ยวข้องทุกรายยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่