สนง.ส่งเสริมสหกรณ์ พื้นที่ 1 ‘กสส.’ ส่งหนังสือแจ้ง ‘สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ’ สอบลักษณะต้องห้าม กรรมการ ‘สอ.จฬ.’ หากขาดคุณสมบัติต้องพ้นตำแหน่งทันที ขณะที่ ‘รองประธาน สอ.จฬ.’ ยันแผนเข้าซื้อ ‘ตึกยูทาวเวอร์’ ไม่ทำให้สหกรณ์ฯเสียหาย
...................................
จากกรณีที่นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ ได้ทำหนังสือบันทึกข้อความที่ กษ 1115/3293 เรื่อง ขอหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงการดำเนินงานและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2564 ลงวันที่ 6 มิ.ย.2565 แจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยหนังสือระบุว่า
คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สอ.จฬ.) ชุดที่ 52 และ 53 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้ชดใช้ความเสียหายต่อ สอ.จฬ. กรณีอนุมัตินำเงินไปฝากหรือให้เงินกู้กับสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ มีลักษณะต้องห้ามตามนัยกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ พ.ศ.2564 ข้อ 9 (7) จึงต้องถือปฏิบัติในการแจ้งเหตุในการพ้นจากตำแหน่งกรรมการทันทีตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 11
และปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีอดีตกรรมการฯ สอ.จฬ. ชุดที่ 52 และ 53 จำนวน 5 ราย ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการฯ สอ.จฬ. ชุดปัจจุบัน ได้แก่ รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ (ประธานกรรมการ) นายประเสริฐ บุญสมบูรณ์สกุล (รองประธานกรรมการ) นายเริงศักดิ์ บุญบรรดาลชัย (เหรัญญิก) นายณรงค์ เพชรสุก (เลขานุการ) และนายสำลี เหลาชัย (กรรมการ) นั้น (อ่านประกอบ : เปิดบันทึก‘นายทะเบียน’ ชี้ ปธ.-4 กรรมการ‘สอ.จฬ.’พ้นตำแหน่ง ก่อนเคาะซื้อตึกยูทาวเวอร์)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ส.ค. นายประเสริฐ บุญสมบูรณ์สกุล รองประธานกรรมการฯ สอ.จฬ. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ แจ้งให้กรรมการ สอ.จฬ. รายใด พ้นจากการดำรงตำแหน่งกรรมการ สอ.จฬ. แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565 นายพีระพงศ์ วาระเสน นักวิชาการสหกรณ์ ชำนาญการพิเศษ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ได้ทำหนังสือที่ กษ 1109/2420 เรื่อง ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ถึง สอ.จฬ. โดยขอให้ สอ.จฬ. ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของกรรมการ สอ.จฬ. ว่า เป็นไปตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 9 (7) หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการ สอ.จฬ. จะตรวจสอบเรื่องนี้ และรายงานผลการตรวจสอบไปยังสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ภายใน 30 วัน
“หากสหกรณ์ฯ (สอ.จฬ.) ตรวจสอบพบว่า กรรมการดำเนินการชุดปัจจุบันมีลักษณะต้องห้ามฯ สหกรณ์ต้องมีหนังสือแจ้งเหตุลักษณะต้องห้ามดังกล่าว ให้กรรมการผู้นั้นทราบ และให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และพ้นจากตำแหน่งทันทีตามกฎกระทรวงฯข้อ 11 รวมทั้งรายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ทราบภายใน 30 วัน” นายประเสริฐ กล่าวถึงเนื้อหาของหนังสือที่ กษ 1109/2420 เรื่อง ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ลงวันที่ 16 ส.ค.2565
นายประเสริฐ กล่าวถึงกรณีที่เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2565 คณะกรรมการ สอ.จฬ. มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น (สคจ.) ซึ่งกำหนดให้ สอ.จฬ. ไประดมเงินฝากจากสหกรณ์เจ้าหนี้ของ สคจ. ในวงเงิน 2,500 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้ออาคารยูทาวเวอร์จาก สคจ. ว่า เรื่องนี้ คณะกรรมการ สอ.จฬ. ยังไม่ได้มีมติว่า สอ.จฬ.จะระดมเงินฝากเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพียงแต่เห็นชอบในหลักการโครงการ และยังอยู่ระหว่างหารือรายละเอียด
ทั้งนี้ หากในท้ายที่สุดคณะกรรมการ สอ.จฬ. มีมติเห็นชอบรายละเอียดโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นแล้ว คณะกรรมการฯ จะต้องเสนอเรื่องไปให้คณะอนุกรรมการลงทุนพิจารณา จากนั้นจึงจะนำเสนอโครงการฯให้ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพิจารณาลงมติในวันที่ 29 ก.ย.2565 ซึ่งหากที่ประชุมใหญ่ไม่ให้ความเห็นชอบ โครงการฯก็เดินหน้าไม่ได้ และในขั้นตอนการระดมเงินฝากเจ้าหนี้ของ สคจ. ทั้ง 71 แห่ง นั้น หาก สอ.จฬ. ไม่สามารถระดมเงินฝากได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งเบื้องต้นจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท สอ.จฬ. ก็สามารถยกเลิกโครงการฯได้
นายประเสริฐ ย้ำด้วยว่า แผนการเข้าซื้ออาคารยูทาวเวอร์จาก สคจ. ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จะไม่ทำให้ สอ.จฬ. ได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน เพราะจากการที่ สอ.จฬ. ได้ว่าจ้างให้บริษัท ที.เอ. มาเนจเม้นท์ คอร์โปชั่น (1999) จำกัด ทำการประเมินราคาอาคารยูทาวเวอร์ พร้อมที่ดินที่เป็นที่ตั้งอาคารเนื้อที่ 28 ไร่ 3 งาน พบว่าราคาประเมิน ณ วันที่ 14 ม.ค.2564 อยู่ที่ 3,525.55 ล้านบาท ไม่ใช่ 2,000 ล้านบาท ตามที่ผู้ร้องเรียนอ้าง
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า วันนี้ (22 ส.ค.) ได้มีเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามาที่สำนักงาน สอ.จฬ. เพื่อขอข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ หลังจากเมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565 มีผู้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อขอให้นายทะเบียนสหกรณ์พิจารณาใช้อำนาจสั่งการลงโทษประธานและกรรมการดำเนินการ สอ.จฬ. ชุดปัจจุบัน เนื่องจากมีพฤติการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายให้กับ สอ.จฬ. และสมาชิกสหกรณ์ฯ
อ่านประกอบ :
เปิดบันทึก‘นายทะเบียน’ ชี้ ปธ.-4 กรรมการ‘สอ.จฬ.’พ้นตำแหน่ง ก่อนเคาะซื้อตึกยูทาวเวอร์
ร้อง'นายทะเบียน' ลงโทษกก.'สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ' ปมอนุมัติซื้อตึกยูทาวเวอร์ 2.5 พันล.